ครรภ์แฝดน้ำ คืออะไร?
ครรภ์แฝดน้ำ (hydramnio) เป็นภาวะที่มีน้ำคร่ำมากผิดปกติ จึงทำให้ท้องโตกว่าอายุครรภ์ เหมือนกับคุณแม่กำลังตั้งครรภ์แฝด แต่เมื่อทำการอัลตร้าซาวนด์จะพบว่า มีเด็กเพียงคนเดียว
บทความแนะนำ ชัด ๆ กับความแตกต่างของการทำอัลตร้าซาวด์แต่ละแบบ
น้ำคร่ำมากผิดปกติ สาเหตุเกิดจากอะไร?
ภาวะน้ำคร่ำมากผิดปกติ มีหลายสาเหตุ
- ความผิดปกติของคุณแม่ (พบได้ร้อยละ 20) คุณแม่เป็นเบาหวานแล้วควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี คุณแม่มักจะมีอาการปัสสาวะบ่อย ลูกน้อยในครรภ์ก็เช่นเดียวกัน เมื่อลูกปัสสาวะบ่อย ก็ทำให้ปริมาณน้ำคร่ำมากขึ้น
- ความผิดปกติของทารก (พบได้ร้อยละ 20) เช่น โครโมโซมผิดปกติ พิการทางสมอง ลำไส้อุดตัน ความผิดปกติของหัวใจ ก้อนเนื้องอก เด็กบวมน้ำ เป็นต้น
- ความผิดปกติของรก เช่น เนื้องอกที่รกบางแบบทำให้มีการสร้างน้ำคร่ำเพิ่มได้
- ครรภ์แฝดชนิดไข่ใบเดียวกัน (พบได้ร้อยละ 7) กรณีที่ทารกครรภ์แฝดมีการถ่ายเลือดให้กัน ก็อาจมีน้ำคร่ำมากผิดปกติได้
- ไม่ทราบสาเหตุ เป็นกลุ่มที่พบได้บ่อยที่สุด (เกิดได้ร้อยละ 60) จึงอาจเป็นความแปรปรวนของครรภ์ปกติ เนื่องจาก ตรวจไม่พบความผิดปกติของคุณแม่และทารกที่อาจเป็นสาเหตุครรภ์แฝดน้ำ ครรภ์แฝดน้ำในกลุ่มนี้มักไม่รุนแรงมาก คือระดับน้อยถึงปานกลาง
ปริมาณน้ำคร่ำ ควรมีเท่าไหร่?
ปริมาณของน้ำคร่ำ แตกต่างกันออกไปตามอายุครรภ์ คือ
- อายุครรภ์ 6 สัปดาห์ มีน้ำคร่ำ 8 มล.
- อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ มีน้ำคร่ำ 50-80 มล.
- อายุครรภ์ 16 สัปดาห์ มีน้ำคร่ำ 200 มล.
- อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ มีน้ำคร่ำ 400 มล.
- อายุครรภ์ 36-38 สัปดาห์ มีน้ำคร่ำ 1,000 มล.
- อายุครรภ์ 40 สัปดาห์ มีน้ำคร่ำน้อยกว่า 1,000 มล. เล็กน้อย
- หลัง 42 สัปดาห์ ปริมาณน้ำคร่ำลดลงเรื่อยๆ อาจจะพบเพียง 200-300 มล.
น้ำคร่ำมากผิดปกติ มีอาการอย่างไร?
คุณแม่อาจสังเกตจากการที่ท้องใหญ่กว่าอายุครรภ์ และรู้สึกว่าท้องโตขึ้นอย่างรวดเร็ว หายใจอึดอัด นอนราบไม่ได้ เมื่อคุณหมอสงสัยก็จะทำการตรวจยืนยันด้วยการอัลตร้าซาวนด์
ครรภ์แฝดน้ำ ส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์อย่างไร?
- คุณแม่มีอาการอึดอัด หายใจลำบากในช่วงก่อนคลอด
- ภาวะครรภ์แฝดน้ำจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด สายสะดือย้อย รกลอกตัวก่อนกำหนด ภาวะครรภ์เป็นพิษ การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ รวมถึงการตกเลือดหลังคลอด
- ส่วนนำของทารกไม่ใช่ท่าหัว เช่น ท่าก้น ท่าขวาง เพราะน้ำคร่ำที่มากเกินไป ทำให้ทารกมีพื้นที่ให้ลอยไปลอยมามาก เพิ่มอัตราการผ่าตัดคลอด
- อัตราตายปริกำเนิด จะเพิ่มขึ้น 2-5 เท่า ในรายที่น้ำคร่ำเยอะโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะในรายที่ทารกตัวโต
ครรภ์แฝดน้ำ มีวิธีการรักษาอย่างไร?
ครรภ์แฝดน้ำชนิดรุนแรงน้อยหรือเรื้อรัง ส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือมีไม่มาก ไม่จำเป็นต้องรักษา เพียงแต่ตรวจเช็คดูความผิดปกติที่อาจจะเกิดร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวาน หรือทารกในครรภ์ผิดปกติ แต่ถ้าคุณแม่หายใจลำบาก ปวดท้อง หรือเคลื่อนไหวลำบาก ควรจะให้นอนพักในโรงพยาบาล และพิจารณาเจาะน้ำคร่ำออกเพื่อลดปริมาณน้ำคร่ำลง
การป้องกัน ครรภ์แฝดน้ำ ทำได้หรือไม่?
สาเหตุส่วนใหญ่ของภาวะครรภ์แฝดน้ำ เกิดจากความผิดปกติของทารก จึงไม่สามารถป้องกันได้ ยกเว้นกรณีที่คุณแม่เป็นเบาหวาน หากสามารถควบคุมน้ำตาลให้ดีก็จะลดความเสี่ยงได้มาก รวมถึงการไปฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอ และแจ้งคุณหมอเมื่อรู้สึกถึงอาการผิดปกติ เพื่อให้สามารถตรวจพบความผิดปกติได้เร็วขึ้น และให้การดูแลที่เหมาะสมโดยเร็ว
ที่มา เพจใกล้มิตรชิดหมอ, medicine.cmu.ac.th

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!