นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ ได้เปิดเผยผ่านเนชั่นทีวีว่า โรคตาขี้เกียจหรือโรคตามัว เป็นโรคที่ทำให้ตาของเด็กมัวลงถ้าไม่ได้รับการตรวจรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เด็กตามัวแบบถาวรได้ และจะไม่สามารถแก้ไขได้เมื่อโตขึ้น
โดยปกติแล้วการพัฒนาของสายตาจะสมบูรณ์เต็มที่เมื่อมีอายุได้ 10 ปี และสายตาจะคงที่จนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่ซึ่งความผิดปกติของตาตั้งแต่เด็กจึงมีผลอย่างมากต่อการมองเห็นไปตลอดชีวิต การตรวจตาในเด็กเพื่อค้นหาความผิดปกติจึงมีความสำคัญมาก และเนื่องจากเด็กไม่สามารถบอกความผิดปกที่เกิดขึ้นกับตนเองได้เหมือนผู้ใหญ่ ผู้ปกครองจึงควรสังเกตความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นกับลูก ๆ เอง
ลักษณะอาการ ตาขี้เกียจ ที่สำคัญ
– ถ้าหากลูกยังอยู่ในวัยเด็กเล็ก คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตตาของลูก ถ้าหากลูกตาดำสั่นหรือเด็กไม่จ้องหน้า และจะร้องไห้เมื่อถูกปิดตา1ข้าง หรือมีความพยายามดึงมือที่ปิดตาออกเสมือนเขาไม่สามารถมองเห็นได้หรืออาจมองเห็นไม่ชัด
– สำหรับในเด็กโต ผู้ปกครองสามารถทดลองโดยการปิดตาทีละข้างสลับกันเด็กจะมองเห็นภาพไม่ชัดเจนเหมือนคนปกติ ควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยความผิดปกติที่เกิดขึ้น
สาเหตุของภาวะสายตาขี้เกียจ แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ
กลุ่มที่ 1 เกิดจากความบกพร่องของอวัยวะรับภาพและแปลผลภาพเป็นกลุ่มที่รักษาได้น้อยมาก หรือไม่ได้เลยตัวอย่างของโรคในกลุ่มนี้เช่นโรคประสาทตาฝ่อเป็นต้น
กลุ่มที่ 2 เกิดจากการบดบังภาพที่เข้าสู่จอประสาทตาเป็นกลุ่มที่พบได้บ่อยเช่นโรคตาเข หรือตาเหล่โรคสายตาสั้น-ยาว – เอียง แบบไม่สมมาตร โรคที่ทำให้แสงผ่านเข้ามาในตาไม่ดีเช่นโรคต้อกระจกแต่แรกเกิด โรคเลือดออกในน้ำวุ้นลูกตา หนังตาตกเป็นต้น
วิธีแก้ไข โรคตาขี้เกียจ
1. การแก้ไขที่สาเหตุ เช่นถ้าเด็กมีปัญหาสายตาสั้นยาวไม่เท่ากันมากๆ ก็แก้ไขได้ด้วยการใช้แว่นเพื่อให้ตาทั้งสองข้างมองเห็นชัดๆ เท่ากันหรือใกล้เคียงกัน
2. กระตุ้นให้เด็กใช้ตาข้างที่เป็นโรคตาขี้เกียจมากขึ้น ซึ่งมีหลายวิธีที่นิยม กันคือปิดตาข้างที่มองเห็น เพื่อที่จะให้เด็กใช้สายตาข้างที่ขี้เกียจมากขึ้น
3.บำบัดสายตา เป็นการฟื้นฟูตาขี้เกียจด้วยการใช้เครื่องมือฝึกกล้ามเนื้อตาและโปรแกรมการฝึกบริหารกล้ามเนื้อตาด้วยคอมพิวเตอร์
ข้อสังเกต โรคตาขี้เกียจ
1. เด็กควรได้รับการสังเกตดวงตาตั้งแต่แรกคลอด โดยดูลักษณะขนาดของดวงตาทั่วๆไปว่าปกติหรือไม่ หรือในดวงตาของเด็กนั้นมีอะไรที่มาปิดตาดำหรือไม่
2. เมื่อเด็กมีอายุ 2-3 เดือน ผู้ปกครองควรต้องสังเกตว่า เด็กจ้องมองเวลาให้นมได้หรือไม่ เมื่อเด็กยังทำไม่ได้ควรต้องปรึกษาแพทย์
3. เมื่อเด็กอายุ 6 เดือน ควรจ้องมองตามวัตถุได้แล้ว และตาของเด็กปกติจะสามารถจ้องมองนิ่ง ๆ และจับวัตถุได้
4. เมื่ออายุ 3 ปี เด็กจะมีสายตาใกล้เคียงกับผู้ใหญ่ ผู้ปกครองสามารถตรวจสอบได้โดยใช้แผ่นภาพเป็นรูปภาพหรือรูปสัตว์ที่เด็กคุ้นเคยขนาดต่างๆกัน และให้เด็กดูระบอกถึงขนาด ซึ่งจะสามารถวัดระดับการมองเห็นของเด็กได้ รวมถึงการตรวจดูว่าตาเหล่หรือไม่
ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองท่านใดตรวจสอบแล้วพบว่าลูกหรือหลานของเรามีอาการดังกล่าว หรือไม่แน่ใจว่าจะเป็นหรือไม่ ควรรีบปรึกษาจักษุแพทย์เลยจะดีกว่านะคะ
ที่มา: Nation TV
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง:
ระวังตาติดเชื้อและตากุ้งยิงในเด็ก!
เมื่อลูกเป็นตาแดง
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!