คุณแม่ ๆ ให้ เด็กกินอาหาร เสริมตอนกี่เดือน แล้วให้ลูกกินอะไรเป็นอย่างแรกกันบ้าง เป็นคำถามที่หลาย ๆ ท่านต่างก็สงสัย แต่โดยมากแล้ว เราจะเริ่มป้อนอาหารเสริมลูกตอนที่ลูกมีอายุได้ 6 เดือน โดยคุณแม่ควรป้อนอาหารชนิดใหม่ทีละชนิดทุก 2-3 วันเท่านั้น ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ลูกมีเวลารับรู้ถึงกลิ่นรสใหม่ ๆ และความหยาบ ความละเอียดของอาหารชนิดใหม่ นอกจากนี้ การป้อนอาหารให้ลูกทีละอย่าง จะช่วยให้คุณแม่รู้ว่าอาหารชนิดใดเป็นสาเหตุที่อาจทำให้ลูกเกิดการแพ้อาหารได้อีกด้วย
ให้ลูกกินอาหารเสริมตอนกี่เดือน ทารกกินข้าวกี่เดือน
ทารกกินข้าวกี่เดือน คุณแม่ควรใส่ใจกับความหยาบ ความละเอียด (Texture) ความข้น (Consistency) และปริมาณของอาหารที่ป้อนให้ลูก โดยเริ่มป้อนอาหารเสริมทีละน้อย ด้วยการป้อนอาหารบดเหลว ผสมนมแม่ ครั้งละ 1-2 ช้อนชา แล้วค่อย ๆ เพิ่มปริมาณและความหยาบของอาหาร เมื่อลูกอายุเพิ่มขึ้น และลูกสามารถกินอาหารหยาบได้มากขึ้น ในอาหารเสริมอุดมไปด้วยวิตามินหลากหลายชนิด ดังนี้
- ธาตุเหล็ก สารอาหารที่มีส่วนสำคัญทั้งในเรื่องของการเจริญเติบโตและพัฒนาการ การพัฒนาสมอง และระบบภูมิคุ้มกันของลูก
- DHA สารอาหารที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาสมองและสายตาของเด็ก เป็นโครงสร้างสำคัญของเซลล์สมองและจอประสาทตา
- วิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ วิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ มีส่วนสำคัญต่อพัฒนาการของลูก เช่นวิตามินบี ช่วยในเรื่องการทำงานของระบบประสาทและสมอง วิตามินซีช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน วิตามินเอช่วยบำรุงสายตา เป็นต้น
- จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ของร่างกายนั้น มีส่วนช่วยในเรื่องของระบบทางเดินอาหาร และระบบขับถ่ายของลูก เมื่อระบบขับถ่ายดี ก็จะส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแรง ทำให้ลูกมีพัฒนาการด้านอื่น ๆ ที่ไม่สะดุด
จะเห็นได้ว่า อาหารเสริมนั้นมีประโยชน์ต่อลูกมากมายเลยทีเดียว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณแม่ต้องใส่ใจในการเลือกและทำอาหารให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการ มีสารอาหารที่จำเป็นต่อลูกอย่างครบถ้วน เพื่อประโยชน์ที่ลูกจะได้รับอย่างเต็มที่ และเพื่อพัฒนาการที่ดีสมวัยของเขาค่ะ
อาหารเสริมมื้อแรกของลูก ให้กินอะไรก่อนดี
คุณแม่อาจจะเริ่มต้นจากให้ลูกได้ลองป้อนอาหาร อาทิเช่น ข้าวบดผสมนมแม่ หรือจะเป็นข้าวบดเพียงอย่างเดียว โดยเริ่มป้อนในปริมาณน้อย ๆ ก่อน จากนั้นจึงค่อยเพิ่มปริมาณขึ้นทีละน้อย ให้ลูกคุ้นเคย หลังจากนั้นก็อาจจะผสมข้าวบดเข้ากับอาหารชนิดอื่นบ้าง เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุที่จำเป็นและมีประโยชน์ต่อร่างกายเพิ่มขึ้น
โดยส่วนมากแล้วควรผสมข้าวบดกับผักให้ลูกกินก่อน เพื่อเป็นการปรับระบบรับรสและระบบย่อยอาหารของลูก โดยคุณแม่สามารถนำผักมาบดให้เหลวละเอียด แล้วก็สามารถนำมาผสมเข้ากับข้าวบด หรือโจ๊ก ป้อนให้ลูกกิน หรือผักบางชนิดก็สามารถนำมาบดแล้วป้อนให้ลูกกินโดยไม่ต้องผสมกับข้าว เช่น มันฝรั่งหวาน ฟักทอง อะโวคาโด เป็นต้น ซึ่งผักที่ควรนำมาป้อนให้ลูกกินก่อน มีดังนี้
- พืชผักชนิดกินหัว เช่น แครอท มันฝรั่งหวาน ฟักทอง และมันฝรั่งนึ่งจนสุก บดเหลว และกรองผ่านกระชอน โดยผักเหล่านี้เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด เนื่องจากมีรสหวานธรรมชาติ และเนื้อเนียนละเอียด
- ผักใบสีเขียว เช่น ผักปวยเล้ง หลังจากต้มหรือนึ่งจนสุกแล้วให้บดเหลว ซึ่งผักประเภทนี้เป็นผักที่นิยมให้เด็กวัยเริ่มอาหารเสริมกิน
- มะเขือเทศ การนำมาปรุงที่ถูกต้องสำหรับให้เด็กกิน คือให้ลอกเปลือกออก ผ่าคว้านเอาเมล็ดออก แล้วนำมาต้มหรือนึ่ง บดกรองเอาแต่เนื้อเนียนละเอียดให้ลูก.
โดยอาหารมื้อแรกที่เหมาะสมสำหรับทารกทั้งชนิด และปริมาณเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนา และการเจริญเติบโตของร่างกายและสมอง คุณแม่ควรคำนึงถึงอาหารที่มีวิตามินเหล่านี้
- พลังงานและโปรตีน แหล่งอาหารในช่วงแรกเกิดถึง 4 เดือนที่ดีที่สุดคือนมแม่ หลังจากนั้นเพิ่มเติมจากไข่ เนื้อสัตว์ต่าง ๆ
- ธาตุเหล็ก ร้อยละ 90 ของธาตุเหล็กที่ทารกต้องการได้จากอาหารเสริมตามวัย ได้แก่ ตับ ไข่แดง เนื้อสัตว์ ดังนั้น หลังอายุ 4 เดือน ทารกที่ทานแต่นมจึงเสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็ก
- ไอโอดีน ช่วยการทำงานของต่อมไธรอยด์ ช่วยในการพัฒนาสมอง และการเจริญเติบโตของร่างกาย ควร ใช้เกลือไอโอดีนในการปรุงอาหาร
- แคลเซียม จำเป็นในการสร้างกระดูกและฟัน ส่วนใหญ่ได้รับจากนม
- สังกะสี ช่วยการเจริญเติบโต สร้างภูมิคุ้มกันโรคให้ร่างกาย มีมากในเนื้อสัตว์ และอาหารทะเล
- วิตามินเอ เสริมสร้างเซลล์และระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยเกี่ยวกับการมองเห็น แหล่งอาหารสำคัญคือ ตับ ไข่แดง ผักใบเขียวเข้ม และผักผลไม้สีเหลืองแสด
คำแนะนำในการให้อาหารทารก
การให้อาหารทารกให้ถูกต้อง เพียงพอและเหมาะสมตามวัยจะช่วยให้ทารกมีการเจริญเติบโตดี และมีพัฒนาการที่ดี ลดความเสี่ยงต่อการแพ้อาหาร มีนิสัยการบริโภคที่ดีต่อไป
1. เริ่มให้อาหารทีละน้อยในระยะแรก เพื่อให้ทารกฝึกการใช้ลิ้น ริมฝีปากและการกลืน
2. เริ่มให้ทีละอย่าง และเว้นระยะ 1-2 สัปดาห์ ก่อนเริ่มให้อาหารชนิดใหม่ เพื่อสังเกตอาการแพ้
3. จัดอาหารให้หลากหลายชนิด เพื่อสร้างความคุ้นเคย
4. จัดชนิดอาหารให้เหมาะสมตามวัย เนื่องจากระบบการย่อยและการดูดซึมยังไม่สมบูรณ์
5. เนื้อสัมผัสของอาหาร จัดให้เหมาะกับการพัฒนาการของเด็กทารกเริ่มจากอาหารเหลว กึ่งเหลว กึ่งแข็ง อ่อนนิ่มและหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ
6. ไม่ปรุงอาหารรสจัด เช่น หวาน เค็ม เปรี้ยว เผ็ด
7. เน้นความสะอาดของวัตถุดิบและภาชนะใส่อาหาร
ทำอย่างไรเมื่อลูกปฏิเสธอาหาร
เวลาที่คุณแม่ป้อนอาหารให้ลูกนั้น สิ่งที่คุณแม่ต้องเตรียมรับมือไว้อีกหนึ่งเรื่องนั่นก็คือ ลูกอาจจะปฏิเสธการทานอาหารได้ ซึ่งปัญหานี้เป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กที่กำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นอาหารเสริม ซึ่งสิ่งที่คุณแม่ต้องทำเมื่อลูกปฏิเสธอาหาร นั่นก็คือ
- อย่าบังคับให้ลูกกินอาหารต่อหากลูกปฏิเสธ เนื่องจากการกระทำเช่นนี้อาจทำให้ลูกรู้สึกไม่ดีกับอาหาร
- ควรปล่อยให้ลูกได้พักจากกินอาหาร รอให้เขาพร้อมแล้วค่อยลองป้อนอาหารให้ลูกใหม่
- การให้อาหารเสริมจะทานแทนนมแม่หนึ่งมื้อ ซึ่งหากมื้อนี้ลูกไม่ทานอาหาร ควรให้ลูกทานนมแม่ แล้วไปเริ่มอาหารเสริมใหม่ในมื้อถัดไป
นอกจากนี้ เด็กบางคนจำเป็นต้องใช้เวลาในการปรับตัวให้คุ้นเคยกับความหยาบ/ละเอียด สีสัน และรสชาติที่หลากหลายของอาหารชนิดใหม่ ๆ นานกว่าคนอื่น ดังนั้น คุณแม่ต้องใจเย็น ๆ พอ ๆ กับการพิถีพิถันในเรื่องของการทำอาหารให้ลูก เพราะพฤติกรรมการกินของเด็กแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน บางคนกินเก่ง กินเร็ว แต่เด็กบางคนอาจกินช้า กินยาก หรือเลือกกิน ซึ่งคุณแม่ควรสังเกตพฤตกรรมการกินของลูก หากอาหารที่ลูกกินนั้นใช้เวลาป้อนเป็นเวลานาน อาจหมายถึงเด็กไม่ชอบอาหารชนิดนั้น หรือยังไม่หิวจริง ๆ ก็ได้
ข้อควรระวังเป็นอย่างมากของคุณแม่คือ การแพ้อาหารในทารก ปัจจุบันอาหารอาหารทารกมีทั้งในรูปของนม (นมวัว) และอาหารเสริม การแพ้โปรตีนในนมวัว มักเกิดช่วงอายุ 1-4 เดือน อาการคือ คัดจมูก อาเจียน ปวดท้อง มีผื่นขึ้นตามผิวหนัง การแพ้อาหารสามารถเกิดขึ้นได้กับทารก ดังนั้นอาหารแต่ละชนิดที่จะเริ่มให้ครั้งแรกต้องให้ทีละน้อย 1-2 ช้อนเล็กก่อน ดูการยอมรับว่าแพ้หรือไม่ เช่น ไข่ เริ่มไข่แดงก่อน ไข่ ขาวเริ่มเมื่ออายุ 7 เดือน ถ้าแพ้ไข่ขาว จะเกิดผื่นที่หน้าทั้ง 2 ข้างแก้ม ภายใน 1-2 สัปดาห์ เรียกว่า “ขี้กลากน้ำนม” ก็ควรเริ่มให้ไข่ขาวเมื่ออายุ 1 ปี แต่ไข่แดงให้ได้
นอกจากนี้ต้องสังเกตการแพ้อาหารร่วมด้วย เด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน หากพบสารแพ้กลูเตน (เป็นโปรตีน ในอาหารที่ทำจากข้าวสาลี, ข้าวบาร์เลย์, ข้าวโอ๊ต) เด็กจะมีอาการท้องเสียเรื้อรัง เพราะเยื่อบุลำไส้ถูกทำลาย ปัจจุบันที่ฉลากจะระบุว่ามีกลูเตนอยู่ด้วยหรือไม่ ถ้าเด็กแพ้นมผสม ถั่วลิสง ช็อกโกแลต หรืออาหารทะเลอาการคือ ผื่นคันที่แก้ม หลังหูและตามข้อพับ แต่ถ้าทารกไม่มีอาการแพ้อาหารสามารถค่อยเพิ่มอาหารใหม่ โดยควรให้ติดต่อกัน 2 สัปดาห์ แล้วค่อยเปลี่ยนจะเป็นการป้องกันการแพ้อาหารลูกได้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
แม่กับยายสามีป้อนกล้วยให้ลูก 1 เดือน จะเตือนยังไงดี
เลี้ยงลูกในห้องแอร์ ลูกจะติดแอร์ไหม ออกข้างนอกยาก เป็นเด็กขี้โรคหรือเปล่า
ลูกแรกเกิดเป็นสิว ทารกเป็นตุ่มหนอง แม่ใช้อะไรทาได้ไหม หรือปล่อยให้หายเอง
ที่มา : si.mahidoltmwa
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!