โรคติดต่อ ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องระวัง เพื่อไม่ให้ลูกป่วยหนัก วันนี้เราจึงรวม โรคติดต่อ ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องระวัง พร้อมวิธีการป้องกัน ไปดูกันเลยค่ะ
โรคติดต่อ ที่พ่อแม่ควรเฝ้าระวัง
โรคติดต่อ
โรคมือ เท้า ปาก
เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Enterovirus (EV) หรือ Coxackie ซึ่งแพร่เชื้อออกมาในน้ำลายและอุจจาระผู้ป่วย การรับเชื้อสามารถรับผ่านทางปากจากการปนเปื้อนเชื้อที่มือ ของเล่น น้ำ อาหาร โดยผู้ป่วยแพร่เชื้อได้ 2-3 วัน ก่อนมีอาการจนถึง 1-2 สัปดาห์ หลังมีอาการจะพบเชื้อในอุจจาระได้หลายสัปดาห์หรือเป็นเดือนและหลังได้รับเชื้อ 3-6 วันจะปรากฏอาการ ส่วนมากมักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี
อาการโรคมือ เท้า ปาก
มีไข้ ผื่นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ปาก ลิ้น เหงือก อาการจะหายไปเอง ภายใน 7-10 วัน ผู้ป่วยอาจมีอาการแทรกซ้อนซึ่งพบได้น้อยมาก เช่น สมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ดังนั้นหากเด็กมีอาการของโรคมือเท้าปากให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์
การป้องกัน
- ไม่สัมผัสใกล้ชิดเด็กที่ป่วย
- สอนเด็กล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ
- ป้องกันการแพร่เชื้อโดยไม่ใช้อุปกรณ์และภาชนะในการรับประทานและดื่มน้ำร่วมกับผู้อื่น
- ควรแยกเด็กไม่ควรพาไปเที่ยว อาจจะแพร่เชื้อไปสู่เด็กอื่นได้
- เด็กวัยเรียน ควรหยุดเรียน 1 สัปดาห์ ตั้งแต่เริ่มมีผื่น
โรคเฮอร์แปงไจนา (Herpangina)
โรคติดต่อได้จากการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย สารคัดหลั่ง และอุจจาระ ของคนที่มีเชื้อ เพราะบางครั้งอาจสัมผัสแล้วนำมือเข้าปาก แล้วเผลอรับประทานเข้าไป สามารถทำให้ติดเชื้อได้ ทั้งนี้ผู้ป่วยจะมีอาการหลังได้รับเชื้อประมาณ 3–14 วัน ซึ่งผู้ป่วยที่ติดเชื้อจะแพร่เชื้อได้ตั้งแต่วันแรกที่ติดเชื้อไปจนกว่าจะหายจากโรค คือประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ นับจากติดเชื้อกลุ่มเสี่ยงของโรคนี้จะเป็นมากในเด็กที่อายุน้อยกว่า 10 ปี
อาการของโรคเฮอร์แปงไจนา
โดยทั่วไปอาการไม่รุนแรง แต่อาจมีไข้เฉียบพลัน ไข้อาจสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะ ปวดตามตัว อาจมีอาเจียน และอาการเด่นคือจะมีอาการเจ็บบริเวณเพดานปากและคอนำมาก่อน ต่อมา(ภายใน 1 วัน) จะมีจุดแดงๆ บริเวณเพดานอ่อน ลิ้นไก่ และอาจมีตุ่มแดงที่ทอนซิล หรือบริเวณในลำคอด้วยก็ได้ อาจเป็นแผลเล็กๆ ตรงกลางตุ่มน้ำนั้น หรืออาจมีการอักเสบรอบๆ แผลได้ จำนวน 5 – 10 ตุ่ม ไข้จะลดลงภายใน 2–4 วัน แต่แผลอาจคงอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์
การป้องกัน
- ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่และน้ำสะอาด
- ระวังการสัมผัสน้ำลาย น้ำมูก ข้าวของเครื่องใช้ของเด็กที่เป็นโรค ซึ่งรวมทั้งของเล่นต่างๆ ด้วย
- หากเด็กป่วยให้งดไปโรงเรียน 7 วัน
โรคไข้เลือดออก
โรคติดต่อ
เป็นโรคภาวะติดเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue) โดยมี “ยุงลาย” เป็นพาหะนำโรค คือเมื่อยุงลายที่มีเชื้อไวรัสไข้เลือดออกกัดคน จะถ่ายทอดเชื้อให้คนทำให้เกิดอาการ ยุงลายนี้มักจะเพาะพันธุ์ตามแหล่งน้ำนิ่งในบริเวณบ้าน เช่นตุ่มน้ำ โอ่งน้ำ หรือหลุมที่มีน้ำขัง เป็นต้น
อาการของโรคไข้เลือดออก
มีอาการไข้สูงลอยอย่างต่อเนื่อง 39-41 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 2-7 วัน หน้าแดง ปวดศีรษะ ปวดกระดูก ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ หรือใต้ชายโครงขวา มีเลือดออก และในรายที่อาการรุนแรงอาจพบว่ามีอาการอาเจียนเป็นเลือดเกิดขึ้น หากมีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์ทันที
การป้องกัน
- ป้องกันได้โดยไม่ให้ยุงกัด
- ปิดภาชนะขังน้ำให้มิดชิด ป้องกันไม่ให้ยุงลายลงไปวางไข่
- เปลี่ยนน้ำในแจกัน ถังเก็บน้ำ ทุก 7 วัน เพื่อตัดวงจรลูกน้ำที่จะกลายเป็นยุง
- ปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะใส่น้ำถาวร เช่น ปลาหางนกยูง ปลากัด ปลากระดี่
- ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้ปลอดโปร่ง ลมพัดผ่าน และปฏิบัติเป็นประจำจนเป็นนิสัย
โรคเยื้อหุ้มสมองอักเสบ
เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส
อาการโรคเยื้อหุ้มสมองอักเสบ
เมื่อเด็กติดเชื้ออาจมีอาการไข้สูง ซึม ชักเกร็ง แขนขาอ่อน พ่อแม่ต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดเพราะเด็กเล็กไม่สามารถบอกอาการได้ หากมีอาการดังกล่าวควรรีบมาพบแพทย์
การป้องกัน
- เนื่องจากเชื้อนิวโมคอคคัสเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ฉะนั้นจึงควรเลี่ยงพาเด็กไปในที่แออัด หรือหากเลี่ยงไม่ได้ควรใส่หน้ากากอนามัย
- ฉีดวัคซีนเสริมภูมิต้านทาน โดยฉีดเมื่ออายุ 2, 4, และ 6 เดือน และกระตุ้นซ้ำเมื่ออายุ 12-15 เดือน
- ถ้าเริ่มฉีดในเด็กอายุ 7-11 เดือน ให้ฉีด 2 ครั้งห่างกันสองเดือน และกระตุ้นซ้ำเมื่ออายุ 12-15 เดือน
- ส่วนเด็กอายุ 1-5 ปีที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนนี้ให้ฉีดครั้งเดียว ยกเว้นในเด็กที่มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรง โดยให้ฉีดสองครั้งห่างกันสองเดือน
โรคอีสุกอีใส
โรคติดต่อ
หลายครอบครัวคงคุ้นเคยกับโรคนี้กันดีเพราะเป็นโรคที่เกิดขึ้นบ่อยและเป็นกันบ่อย เมื่อเป็นแล้วมักจะติดกันเป็นทอด ๆ โดยเฉพาะการติดต่อจากเพื่อนที่โรงเรียน
อาการของโรคอีสุกอีใส
ผู้ป่วยจะมีไข้ เป็นผื่นแดง และมีตุ่มน้ำใสเกิดขึ้นตามตัว โดยเริ่มจากบริเวณท้อง ลามไปตามต้นแขน ขา และใบหน้า หลังจากนั้นจะเกิดเป็นสะเก็ด และแผลเป็นขึ้นได้ มักหายได้เองประมาณ 2–3 สัปดาห์
การป้องกัน
- อย่าให้ลูกเข้าใกล้ผู้ป่วย ล้างมือบ่อย ๆ
- ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ซึ่งมีประสิทธิภาพค่อนข้างดี เริ่มฉีดในเด็กตั้งแต่ 1 ขวบเป็นต้นไป และจะกระตุ้นอีกครั้งในตอน 4 ขวบ ซึ่งเป็นวัคซีนเสริม ยังไม่กำหนดเป็นมาตรฐานที่เด็กทุกคนจะต้องฉีด
โรคไข้หวัดใหญ่
โรคไข้หวัดใหญ่ หรือ Influenza เป็นโรคที่พบบ่อยในคนทุกเพศทุกวัย พบได้เกือบทั้งปี เพราะไทยอยู่ในเขตร้อนชื้น แต่จะเป็นมากในช่วงฤดูฝน ซึ่งบางปีอาจจะพบการระบาด ซึ่งเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ
อาการของโรคไข้หวัดใหญ่
- เป็นไข้เฉียบพลัน
- แพทย์มักจะให้การวินิจฉัยเด็กที่มีอาการตัวร้อนมา 2–3 วัน โดยไม่มีอาการอย่างอื่นชัดเจนว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ ซึ่งบางครั้งก็อาจพบการผิดพลาดได้
การป้องกัน
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ควรฉีดประมาณ 1–2 เดือนก่อนฤดูกาลระบาดของโลกในทุก ๆ ปี
- สามารถฉีดได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป
- คนป่วยพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปสู่คนอื่น รวมถึงใส่หน้ากากอนามัยและล้างมือ
- ทานอาหารให้ถูกสุขอนามัย
ที่มา : (bangkokhospital),(phyathai)
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง :
เด็กป่วยหน้าฝน RSV ไข้หวัดใหญ่ เฮอร์แปงไจน่า โรคหน้าฝนที่ทารกเด็กเล็กต้องระวัง
วิธีป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่มากับฝน ถ้าไม่อยากให้ลูกป่วย ต้องทำแบบนี้!
อาการมือเท้าปาก แผลร้อนใน ในเด็กโรคยอดฮิตของเด็กทุกวัยหน้าตาเป็นยังไง?
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!