ลูกกลับหัวเป็นแบบไหน ? ใครไม่เคยคลอดลูก จะไม่มีโอกาสได้รู้ว่า ความรู้สึกตอนจะคลอดเป็นแบบไหน รวมทั้งสัญญาณที่บอกว่าลูกพร้อมออกมาแล้วนะ เป็นยังไง?
ลูกกลับหัวเป็นแบบไหน รู้สึกยังไงนะ?
- ท้องลดต่ำลง
- หายใจสะดวกขึ้น
- กินได้เยอะขึ้น
- เข้าห้องน้ำบ่อยขึ้น
- แรงกดที่อุ้งเชิงกรานจะเพิ่มขึ้น
- ท้องผูกหรือริดสีดวงทวาร
- เจ็บท้องหลอก
- ปวดหลัง
- ตกขาวเปลี่ยนไป
- หุบขาได้ยากขึ้น
เมื่อมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้น ว่าที่คุณแม่รู้สึกอย่างไรบ้าง ไปอ่านกันค่ะ
สัญญาณที่บอกว่า ลูกกลับหัวแล้วนะ
สัญญาณหนึ่งที่สังเกตได้ชัดเจน เมื่อลูกน้อยกลับหัวแล้ว คือ สังเกตที่พุงของคุณแม่นั่นเองค่ะ หากท้องลดต่ำลง นั่นคือสัญญาณบอกว่า ลูกน้อยกลับหัว เมื่อท้องลดต่ำ ระยะห่างระหว่างมดลูก กับหน้าอกของคุณแม่จะเพิ่มขึ้น บางครั้งอาจเป็นเรื่องยาก ที่คุณแม่ท้องจะสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงนี้ คุณแม่อาจขอให้คุณพ่อช่วยสังเกต เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่พุงของคุณแม่แทนค่ะ
ให้คุณแม่สังเกตที่การหายใจค่ะ หากคุณแม่รู้สึกว่าหายใจสะดวกขึ้น เมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ในไตรมาสสาม อาจเป็นเพราะลูกน้อยกลับหัวแล้ว จึงไม่มีแรงกดที่ปอดของคุณแม่
หลังจากที่ลูกน้อยกลับหัว คุณจะรู้สึกว่ากินง่ายขึ้น ต่างจากก่อนหน้านี้ในไตรมาสสาม ที่จะรู้สึกว่าการกินอาหารให้หมดจานนั้นช่างยากเย็น ทั้งนี้ก็เพราะว่า ไม่มีแรงกดที่ท้องแล้ว และคุณยังสังเกตได้ว่า อาการแสบร้อนกลางอกหลังอาหาร ก็ลดลงอีกด้วย
คุณแม่สังเกตไหมว่าเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้น ? ในช่วงไตรมาสสาม คุณแม่จะเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้น แต่ในช่วงที่ลูกกลับหัว คุณแม่จะเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้นอีกค่ะ นั่นเป็นเพราะว่า เมื่อลูกกลับหัวจะไปเพิ่มแรงกดที่กระเพาะปัสสาวะนั่นเอง
-
แรงกดที่อุ้งเชิงกรานจะเพิ่มขึ้น
แรงกดที่ปอด และที่ท้องจะลดลงเมื่อลูกกลับหัว แต่จะไปเพิ่มแรงกดที่อุ้งเชิงกรานแทนค่ะ อันที่จริงแรงกดที่เชิงกรานจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากตอนนี้กระดูกเชิงกรานต้องรับน้ำหนักทั้งหมด คุณแม่จะรู้สึกเมื่อยมากเมื่อยืนนาน ๆ ซึ่งเป็นเรื่องปกติหลังจากที่ลูกกลับหัว คุณแม่จึงควรพักผ่อนให้มาก ๆ รวมถึงพักเท้าให้ผ่อนคลายสบายขึ้นค่ะ
เมื่อลูกน้อยของคุณกลับหัวจะเพิ่มแรงกดที่กระดูกเชิงกราน และทวารหนัก ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการท้องผูก ริดสีดวงทวาร คุณแม่ควรดื่มน้ำมาก ๆ และกินอาหารที่มีเส้นใย เพื่อหลีกเลี่ยงอาการท้องผูก และริดสีดวงทวาร
เป็นเรื่องธรรมดาที่คุณแม่จะรู้สึกถึงการหดรัดตัวของมดลูกมากผิดปกติ เมื่อลูกกลับหัว คุณแม่จำนวนไม่น้อยที่คิดว่าอาการเช่นนี้ หมายถึงสัญญาณคลอด แต่จริงๆ แล้ว การหดตัวนี้เป็นเพียงการเตรียมมดลูกให้พร้อมสำหรับการคลอดที่ใกล้เข้ามา การหดตัวของมดลูกยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ปากมดลูกของคุณบางลงก่อนการคลอด ซึ่งคุณแม่จะสังเกตได้ว่า การหดตัวในครั้งนี้จะยังไม่มีความสม่ำเสมอ ต่างจากการเจ็บท้องคลอดจริง ที่มดลูกจะมีการหดตัวอย่างสม่ำเสมอค่ะ
เมื่อลูกน้อยกลับหัวลงสู่อุ้งเชิงกราน คุณแม่ควรสังเกตถึงแรงกดบริเวณหลัง เมื่อกำหนดคลอดใกล้เข้ามา ลูกน้อยจะตัวโตขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ศูนย์กลางแรงโน้มถ่วงของร่างกายคุณแม่เกิดการเปลี่ยนตำแหน่ง เนื่องจากกล้ามเนื้อหน้าท้องที่ยืดขึ้น และคุณแม่ต้องแอ่นหลัง เพื่อให้ร่างกายสมดุล คุณแม่จึงมักมีอาการปวดหลังช่วงล่าง เมื่อลูกน้อยกลับหัวแล้ว
มูกที่ปิดปากมดลูกจะหลุดออก เมื่อลูกน้อยกลับหัวสู่อุ้งเชิงกราน คุณแม่อาจจะสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของมูกนี้ ซึ่งอาจจะข้น และเหนียวหนึบกว่าช่วงเวลาอื่น ๆ คุณแม่บางคน อาจมีเลือดปนมาในตกขาวได้เช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากหลอดเลือดแตก เนื่องจากปากมดลูกบางลงนั่นเอง
อีกสัญญาณหนึ่งที่สังเกตได้ชัดเจน เมื่อแรงกดลงจำนวนมากลงมาอยู่ที่กระดูกเชิงกราน จึงทำให้คุณแม่หุบขาได้ยากขึ้นตามไปด้วย
แล้วถ้าหากลูกไม่กลับหัว จะทำอย่างไร
บทความ : ลูกไม่กลับหัวน่ากลัวกว่าที่คิด แม่ท้องต้องระวัง
ช่วงไตรมาส 3 จะมีร้อยละ 5 ของคนท้อง ที่ลูกไม่ยอมกลับหัว เพื่ออยู่ในท่าเตรียมคลอด นั่นหมายความว่าทารกยังอยู่ในท่านั่ง และตำแหน่งของเท้าอยู่ช่วงเชิงกราน โดยปกติแล้วก่อนที่เด็กจะคลอด หัวของเด็กจะลดต่ำลง และกลับหัวมาอยู่บริเวณเชิงกรานของว่าที่คุณแม่ในช่วงสัปดาห์ที่ 34
สัญญาณที่บอกว่า ลูกไม่กลับหัว
โดยทั่วไปแล้ว เด็กในครรภ์จะยังไม่นับว่าเป็นทารกท่าก้น (ทารกท่าก้น คือ เด็กทารกในครรภ์ที่หันก้น หรือ ขา ส่วนใดส่วนหนึ่งไปทางด้านล่างของมดลูก ในขณะที่ศีรษะของเด็ก อยู่ตรงส่วนบนของมดลูก) จนกระทั่งอายุครรภ์ราว 35 – 36 สัปดาห์ เมื่อเด็กหันศีรษะลง จึงเป็นสัญญาณว่า ใกล้ถึงเวลาคลอดเต็มที ในช่วงก่อน 35 สัปดาห์นั้น นับว่าเป็นปกติที่เด็กจะหันศีรษะลง หรือตะแคงข้าง แต่เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น ทารกมีขนาดตัวใหญ่ขึ้น เมื่อนั้นเจ้าตัวน้อยในครรภ์จะไม่เหลือพื้นที่มากพอให้กลับตัว ลงมาอยู่ในท่าที่พร้อมสำหรับการคลอด
สาเหตุที่ลูกไม่กลับหัว
มีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเกิดทารกท่าก้น เช่น มีการตั้งท้องมาแล้วหลายครั้ง มีประวัติคลอดยากในท้องก่อน ๆ การตั้งครรภ์แฝด คุณแม่มีปริมาณน้ำคร่ำที่มาก หรือ น้อยเกินไป การมีเนื้องอกมดลูก หรือ มดลูกที่รูปร่างผิดปกติ ภาวะรกเกาะต่ำ และการคลอดก่อนกำหนด แม้ว่าแพทย์จะไม่สามารถวินิจฉัยสาเหตุที่แน่ชัดว่า ทำไมทารกจึงไม่กลับหัว แต่ก็สามารถบอกท่าของทารกในครรภ์ ให้กับคุณแม่ได้ โดยการตรวจทางหน้าท้อง เพื่อคลำท่าของทารก และยืนยันท่าของทารก ด้วยการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง หรือ อัลตร้าซาวน์ ในกรณีที่ตรวจพบว่าทารกยังคงอยู่ในท่าก้น ที่อายุครรภ์ 36 สัปดาห์ สูติแพทย์อาจทำการหมุนเปลี่ยนทารกจากท่าก้น ให้เป็นท่าศีรษะจากภายนอก (external cephalic version) ซึ่งสามารถทำได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 37 สัปดาห์เป็นต้นไป ก่อนมีการเจ็บครรภ์คลอด น้ำเดิน หรือไม่มีข้อห้ามใด ในการคลอดทางช่องคลอด
อย่างไรก็ตาม คุณแม่ และคนรอบข้างต้องหมั่นสังเกตการเปลี่ยนแปลงของครรภ์ หากมีความผิดปกติจะได้พบแพทย์ได้ทันท่วงทีนะคะ
ที่มา : www.healthline.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
อาการใกล้คลอด เป็นอย่างไร 10 สัญญาณบ่งบอกว่าลูกใกล้มาแล้ว
ลูกไม่กลับหัวน่ากลัวกว่าที่คิด แม่ท้องต้องระวัง
ลูกไม่กลับหัว แพทย์ช่วยกลับหัวอย่างไร
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!