ประสบการณ์น้องแพ้ยาของคุณแม่เมย์และน้องนาย อายุ 11 เดือน ซึ่งทานยาลดไข้ชนิดหนึ่งเข้าไป แล้วเกิดอาการแพ้ยาอย่างหนักมาก เกิดอะไรขึ้น? ไปอ่านกันเลยค่ะ
แม่เมย์มีลูกสองคนค่ะ คนโตอายุ 4 ขวบและคนเล็กอายุ 11 เดือนชื่อน้องนายค่ะ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาน้องนายมีไข้รุมๆ พอตกกลางคืนไข้ขึ้น ตัวร้อน ไอ และมีน้ำมูก คุณแม่จึงป้อนยาลดไข้ให้น้อง พอสายๆ วันอาทิตย์ น้องยังตัวร้อนอยู่ คุณพ่อจึงป้อนยาลดไข้และยาไอบูโปรเฟนครึ่งช้อนชา (ยาตัวนี้จริงๆ เป็นของลูกคนโต แม่เมย์ได้มาตอนพาลูกคนโตไปหาหมอค่ะ) จากนั้นแม่เมย์และคุณพ่อก็ออกไปทำงานข้างนอกจึงพาน้องนายไปฝากเลี้ยงค่ะ
แม่เมย์กับคุณพ่อออกไปธุระได้ประมาณ 2 ชั่วโมง คนเลี้ยงก็โทรมาบอกว่าน้องแพ้ยา ตอนแรกที่ได้ยินคุณแม่เราก็นึกว่าแพ้ยาปกติ ไม่น่าเป็นอะไรมากมาย เพราะยังได้ยินเสียงน้องสดใสอยู่ พอช่วง 5 โมงเย็นเรากลับไปรับลูก เห็นหน้าบวมตาบวมอย่างนั้น แม่เมย์ช็อคมาก ยืนร้องไห้เลยค่ะ รีบพาลูกมาหาหมอทันที
อ่านต่อได้ในหน้าถัดไป >>>>>>
คนเลี้ยงเล่าว่าให้ฟังว่า น้องนายตัวร้อน เลยให้กินข้าว แล้วก็กินยาไอบูโปรเฟนประมานครึ่งช้อนชา ตอนแรกยังไม่เป็นเยอะขนาดนี้ แต่สังเกตเห็นว่าน้องนายดูดน้ำได้ไม่ดี หกออกนอกขวด น้ำลายไหลตลอดเวลา เหมือนควบคุมปากและลิ้นไม่ได้ พอมาดูก็เห็นว่าปากน้องบวมขึ้นนิดหน่อย หลังจากนั้นผ่านไปไม่ถึงสิบนาที ทั้งตาทั้งปากบวมขึ้นอย่างน่ากลัว จึงรีบโทรไปหาแม่เมย์ค่ะ
แม่เมย์พาน้องมาที่โรงพยาบาล คุณหมอเห็นอาการน้องปุ๊บก็สั่งเข้าห้องฉุกเฉินทันทีค่ะ คุณหมอฉีดยาแก้แพ้ให้สองตัว ตัวแรกจะฉีดให้ทุก 6 ชั่วโมงและอีกตัวจะฉีดทุก 4 ชั่วโมง
หลังแอดมิทได้หนึ่งวัน หน้าน้องเป็นปกติ หายบวมแล้วค่ะ แต่ยังต้องแอดมิทต่อเพราะหลอดลมอักเสบและปอดอักเสบ คุณหมอให้ใบเตือนเรื่องยาเก็บไว้ ให้พกติดกระเป๋าไว้เลยค่ะ
ยาไอบูโปรเฟน (Ibuprofen)
ทั้งนี้ยาไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) เป็นยาในกลุ่มยาแก้ปวด แปลเป็นไทยได้ว่า “ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่ยาสเตียรอยด์” มีสรรพคุณ ในการแก้ปวดระดับน้อยถึงปานกลาง สามารถใช้บรรเทาอาการปวดจากข้ออักเสบ ปวดประจำเดือน และใช้เป็นยาลดไข้ได้ นอกจากนี้ทางการแพทย์ยังนำไปใช้รักษาอาการปวดจากโรคข้อบางชนิดและบรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรน ไอบูโปรเฟนจัดเป็นยาอันตรายและมีผลข้างเคียงมากมาย จึงไม่ควรซื้อยากินเอง ขนาดของยาที่รับประทานในผู้ใหญ่และเด็กมีขนาดที่ต่างกัน ดังนั้นจึงควรได้รับคำแนะนำการใช้ยาจากแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น
ดิเอเชี่ยนพาเร้นท์ต้องขอขอบคุณคุณแม่เมย์ที่แบ่งปันประสบการณ์ให้พวกเราได้ระมัดระวังในการใช้ยากับลูกๆ ด้วยนะคะ
ที่มา: facebook ขวัญตา ขยายศรี
บทความที่น่าสนใจ
ป้องกันลูกชักจากไข้สูง: อันตรายจากการเป็นไข้มีมากกว่าที่คิด
ยาลดไข้สำหรับเด็ก เลือกใช้ให้ฉลาดและปลอดภัย
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!