เราคลอดน้องวันที่ 14 ธันวา น้องออกมาร้องให้เสียงดังมาก เราก้อดีใจที่น้องออกมาแข็งแรง น้องหนัก 3345 กรัมค่ะ แต่พยาบาลบอกน้องหายใจหอบ สำลักขี้เทา น้องอยู่ห้องไอซียู 2 วัน น้องก็เสียค่ะ วินาทีที่เข้าไปเห็นหมอช่วยกันปั๊มหัวใจลูก มันเหมือนใจจะขาด ตอนนี้เรายังทำใจไม่ได้เลย สงสารลูกมาก ครอบครัวเรารอคอยน้องมาเกือบสิบปี น้องเป็นแก้วตาดวงใจเป็นทุก ๆ อย่างของครอบครัวเรา แต่ต้องมาเสียน้องไป เพราะการทำคลอดที่ช้า เรามานอนโรงพยาบาลตั้งแต่เริ่มปวดท้องสามทุ่ม มีเลือดออกแต่น้ำยังไม่เดิน ปากมดลูกเปิดแค่เซ็นเดียว พยาบาลก้อให้เรานอนรอไปเรื่อยๆ จนประมานตีสองเราปวดท้องถี่มากแล้วก้อปวดเบ่งตลอด เราก้อเรียกพยาบาลมาดู เขาบอกปากมดลูกเปิดแค่สองเซ็น เราเริ่มใจไม่ดีเราทนความเจ็บปวดได้ แต่ลูกเราหล่ะจะเป็นยังงัย เพราะเราเบ่งอยู่ตลอดทุก ๆ สองสามนาที เราปวดแบบนี้ตั้งแต่ตีสองถึงแปดโมงเช้า จนเราคลอดน้องออกมาเอง เจ็บปวดที่สุดคือตอนน้องมีชีวิตอยู่เราไม่ได้อุ้ม ไม่ได้หอมเลย ได้แต่นั่งมองทั้งน้ำตา หมอเอาตัวน้องมาให้เราอุ้มตอนที่น้องเสียแล้ว #การมารอคลอดที่โรงพยาบาลด้วยบัตร30บาทบางแห่งไม่ต่างอะไรกับการคลอดกับหมอตำแยแถวบ้านเลย T__T
ขอแสดงความเสียใจกับคุณแม่ Pumpui Arin และขอให้น้องกลับมาเกิดใหม่ตามที่คุณแม่หวังโดยเร็วนะคะ ขอเป็นกำลังใจให้คุณแม่และครอบครัวต่อไปค่ะ
ภาวะสูดสำลักขี้เทาในเด็กแรกเกิด คืออะไร สาเหตุและการป้องกันทำได้อย่างไร อ่านหน้าถัดไปได้เลยค่ะ
ขี้เทาคืออะไร?
ขี้เทาคือ อุจจาระของเด็กทารกแรกเกิด ซึ่งโดยปกติเด็กจะสร้างเองได้ตั้งแต่อยู่ในท้องคุณแม่ ตั้งแต่ประมาณช่วงเดือนที่ 2-3 ของการตั้งครรภ์ เด็กก็จะเริ่มสร้างขี้เทาออกมาในลำไส้ใหญ่อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจะอยู่ในนั้น ไม่ได้สร้างเรื่องอะไรให้เกิดปัญหาตามมาจนกว่าจะมีภาวะบางอย่างที่เกิดปัญหาขึ้น
สาเหตุของการเกิดภาวะสูดสำลักขี้เทาเกิดขึ้นได้อย่างไร
ส่วนใหญ่เกิดจากการที่มีการขาดเลือดไปเลี้ยงทารก อาจจะเกิดจากสาเหตุของโรคประจำตัวของคุณแม่ หรือสาเหตุของตัวทารกเองหรือสาเหตุจากอะไรก็ตามที่ไปทำให้เลือดไปเลี้ยงทารกผ่านสายสะดือแม่น้อยลงแล้วก็จะมีปฏิกิริยาทางระบบประสาทกระตุ้นทำให้เด็กมีการถ่ายขี้เทาออกมา ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะนี้มีหลายสาเหตุ เช่น ในคุณแม่ที่อาจจะพบปัญหาจากการเจ็บป่วยบางอย่างที่มีผลกระทบไปยังการไหลเวียนของเลือดที่ไปที่ลูกก็จะไปกระตุ้นให้มีภาวะนี้เกิดขึ้นได้
อันตรายจากภาวะนี้มากน้อยเพียงใด
ผลที่กระทบส่วนหนึ่งที่ก็คือ เมื่อเด็กทารกมีอายุครรภ์มากขึ้น สภาพเลือด หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหรือแม้กระทั่งสภาพของรกของตัวแม่เองจะเสื่อมสภาพไปด้วย อันตรายที่เกิดกับทารกเอง คือ มีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ และระบบไหลเวียนเลือด เด็กจะมีอาการหายใจหอบ เหนื่อย หายใจไม่สะดวก คือจะมีลักษณะเหมือนปอดอักเสบ เพราะว่าตัวขี้เทานี้มีลักษณะเหนียวมาก ถ้าเด็กสูดสำลักเข้าไปแล้ว โอกาสที่จะไปอุดตันทางเดินหายใจ ถุงลมเล็ก ๆ หรือระดับที่ลึกลงไปเรื่อย ๆ ในปอด ก็ค่อนข้างจะอันตราย ถ้าเป็นมาก ๆ บางครั้งก็จะทำให้เด็กขาดออกซิเจน แล้วก็จะไปกระทบต่อการไหลเวียนเลือดไปอีกต่อหนึ่ง
ภาวะสำลักขี้เทาสามารถป้องกันได้หรือไม่
สิ่งสำคัญที่สุดที่อยากจะแนะนำก็คือ คุณแม่ควรมาตรวจครรภ์แต่เนิ่น ๆ เพื่อให้สูติแพทย์ได้ดูแลตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ถ้ามีปัญหาหรือมีอาการผิดปกติอะไรก็ตามที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ จะได้มีการวางแผนล่วงหน้าและอาจจะมีการช่วยเหลือเพื่อลดความรุนแรงให้น้อยลง เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ การฝากครรภ์และมาตรวจครรภ์อย่างสม่ำเสมอ
ขอบคุณภาพและเรื่องราวจากคุณแม่ Facebook – Pumpui Arin
บทความอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
โรค PPHN ภาวะความดันเลือดในปอดสูงในทารกแรกเกิด
อะไรที่เรียกว่าปกติสำหรับทารกแรกเกิด?
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!