“ลูกซน อยู่ไม่นิ่งเลย จะเป็นสมาธิสั้นไหมคะหมอ” เป็นคำถามที่ได้รับการขอคำปรึกษาบ่อยๆ จากคุณพ่อคุณแม่ และคุณครู ในปัจจุบัน ภาวะสมาธิสั้น เป็นภาวะที่คนทั่วไปให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ปกครองของเด็กอนุบาลและเด็กวัยเรียน
คำว่าสมาธิสั้น หมายถึง 3 กลุ่มอาการคือ
1. hyperactive คือ ความซน อยู่ไม่นิ่ง
2. inattention คือ ความไม่มีสมาธิ ไม่ใส่ใจรายละเอียด ไม่สามารถจดจ่อทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นาน
3. impulsivity คือ ความหุนหันพลันแล่น ไม่สามารถอดทน รอคอย ไม่คิดไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนทำ ภาวะสมาธิสั้นจึงส่งผลกระทบต่อการเรียนของเด็กเป็นอย่างมาก ซึ่งในปัจจุบัน พบภาวะสมาธิสั้นในเด็กวัยเรียนได้สูงถึง ร้อยละ 5-10 นั่นหมายความว่า ในห้องเรียนที่มีเด็กเรียน 30 คน จะต้องมีเด็กที่มีปัญหาสมาธิสั้น อย่างน้อย 2-3 คน
ในบรรดาเด็กที่มีอาการเข้าข่ายสมาธิสั้นนั้น เป็น “โรค” สมาธิสั้น ทั้งหมดหรือไม่หรือมีสิ่งใดที่ซ่อนอยู่จนเป็นสาเหตุให้มีอาการเหมือนสมาธิสั้น หรือที่เรียกว่า สมาธิสั้นเทียม ซึ่งพบว่าปัจจัยที่อาจเป็นสาเหตุมีดังต่อไปนี้
สาเหตุของ สมาธิสั้นเทียม
1 ยุคสมัยของ digital/internet
เด็กในยุคปัจจุบันจัดเป็นเด็ก generation Z (เกิดระหว่าง 2538-2552) ปัจจุบันเป็นช่วงวัยเริ่มเข้ามหาวิทยาลัย ส่วนเด็กวัยอนุบาลในปัจจุบัน จัดอยู่ใน generation a(alfa) คือเด็กที่เกิดหลังปี 2553 เป็นต้นมา เด็ก generation นี้เกิดมาพร้อมอินเตอร์เน็ตและความรวดเร็วของเทคโนโลยี ทำให้ไม่ถูกฝึกอดทนรอคอยสิ่งใดสิ่งหนึ่งนานๆ ในยุคก่อนเมื่อหิวข้าว คุณยายต้องก่อฟืน หุงข้าว เด็กถูกฝึกการอดทนรอคอยในชีวิตประจำวันโดยปริยาย แต่สำหรับยุคนี้ ทุกอย่างรวดเร็วเพียงปลายนิ้วสัมผัส ไม่กี่นาทีก็ได้ข้าวมารับประทานแล้ว เด็กยุคนี้จึงดูเหมือนสมาธิสั้นในแง่ของความหุนหันพลันแล่น ขาดความยับยั้งชั่งใจ ไม่สามารถอดทนรอสิ่งใดได้นานๆ อยู่นิ่งๆไม่เป็น
ในส่วนของเทคโนโลยียุคที่ internet รวดเร็ว และเด็กเข้าถึง tablet/smartphone ได้ทุกที่ทุกเวลา การเสพเทคโนโลยีดังกล่าว มีผลต่อสมาธิอย่างมาก เนื่องจาก เด็กถูกเร้าจากภาพที่เปลี่ยนเร็วและบ่อยในช่วงเป็นวินาที แสง สี เสียง ที่กระตุ้นประสาทสัมผัสตลอดเวลา ทำให้เด็กชินต่อสิ่งเหล่านี้ เมื่อต้องควบคุมตนเองให้จดจ่อในสิ่งเร้าที่ไม่กระตุ้นประสาทสัมผัสที่แรงพอ เช่น การสอนของครู การทำแบบฝึกหัดนานๆ ก็ไม่ชิน และไม่สามารถจดจ่อมีสมาธิได้จึงมีอาการคล้ายสมาธิสั้น ซึ่งแนวทางปฎิบัติทางกุมารแพทย์ แนะนำว่า เด็กที่อายุ น้อยกว่า 2 ปี ไม่ควรดูทีวี smartphone/tablet เลย
บทความแนะนำ แก้ปัญหาลดภาวะเสี่ยง “เด็กติดจอ” อย่างไรดี
2 เด็กปัญญาเลิศ (Gifted child)
หมายถึง เด็กที่มีระดับสติปัญญา (IQ) สูงกว่า 130 เด็กกลุ่มนี้จะรู้สึกว่าบทเรียน ง่ายเกินไป สิ่งที่ครูสอนรู้หมดแล้ว ทำให้ไม่สนใจที่จะเรียน เมื่อเกิดความเบื่อจึงทำกิจกรรมอื่นระหว่างเรียน บางรายลุกเดินไปมา ทำให้ดูเหมือนไม่มีสมาธิจดจ่อ
3 บทเรียนเกินอายุพัฒนาการ
ในยุคแห่งการแข่งขัน โรงเรียนบางโรงเรียน จัดหลักสูตรให้ยากเกินวัยเพื่อสนับสนุนการสอบเข้าในโรงเรียนต่างๆ ในเด็กที่ยังไม่พร้อมจึงทำไม่ได้ ส่งผลให้ไม่อยากเรียน จึงไม่มีสมาธิในการเรียน ในเด็กที่ถูกบังคับเรียน อาจยิ่งทำให้มีความเหนื่อยล้าจากการเรียน ส่งผลให้รู้สึกต่อต้านการเรียน จึงไม่ตั้งใจ จนดูเหมือนสมาธิสั้นได้
4 ปัญหาด้านอารมณ์
ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ซึมเศร้า หรือวิตกกังวล เด็กจะไม่แสดงออกเหมือนผู้ใหญ่ แต่จะมีลักษณะของความซน หงุดหงิดง่าย ไม่มีสมาธิ
5 ความบกพร่องด้านการเรียนรู้เฉพาะด้าน (Learning disability, LD)
LD เป็นความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ เด็กไม่สามารถเข้าใจ การอ่าน เขียน หรือคำนวณได้ แม้ว่าระดับสติปัญญาปกติ ความบกพร่องอาจเป็นเพียงด้านใดด้านหนึ่ง หรือมีความบกพร่องทุก ด้านร่วมกันก็ได้ เมื่อเรียนไม่เข้าใจทำให้เด็กดูเหมือนไม่มีสมาธิ ทำให้มีอาการเหมือนสมาธิสั้นตามมา
6 โรคทางกายอื่น ได้แก่
- ความบกพร่องประสาทสัมผัส ด้านการมองเห็น และการได้ยิน โดยที่เด็กไม่เคยบอกใคร เด็กจะรู้สึกว่า เรียนไม่ค่อยรู้เรื่อง ฟังไม่ชัด มองกระดานไม่เห็น ส่งผลให้ไม่สนใจการเรียนจึงมีอาการคล้ายสมาธิสั้น
- โรคที่ทำให้มีปัญหาด้านการนอน นอนหลับไม่สนิท เช่น ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจเรื้อรัง (obstructive sleep apnea) ทำให้ในช่วงเวลากลางวันรู้สึกง่วงนอน อ่อนเพลีย ควบคุมตนเองไม่ได้
- ภาวะเป็นพิษจากสารตะกั่ว ทำให้มีอาการเหมือนสมาธิสั้นได้
- ได้รับยาบางตัว เช่น ยากันชักบางตัว มีผลข้างเคียงทำให้มีอาการเหมือนสมาธิสั้น
- เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ทำให้เด็กถูกรบกวนสมาธิจากตัวโรค การรักษา การหยุดเรียนบ่อย มีความกังวล จึงไม่สามารถมีสมาธิจดจ่อกับการเรียนได้
สิ่งที่แตกต่างระหว่าง สมาธิสั้นเทียม จากภาวะ สมาธิสั้น
เมื่อได้รับการดูแลและแก้ไขต้นเหตุแล้ว อาการสมาธิสั้นเทียมจะหายไป ในขณะที่ โรคสมาธิสั้น จะเป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุ ต้องรักษาด้วยการกินยาสมาธิอย่างต่อเนื่อง บางรายอาจต้องกินยาจนถึงวัยผู้ใหญ่ ต้องการการปรับพฤติกรรม และการดูแลอย่างต่อเนื่องค่ะ
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
สมองเสื่อมจากการเสพติดจอ
4 วิธีฝึกลูกเดินทางได้ ไม่ง้อแท็บเล็ต
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!