สธ.ห่วงเด็กป่วยคอตีบเพิ่ม เตือนแม่พาลูกฉีด วัคซีนโรคคอตีบ
สิ่งหนึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องจำให้ขึ้นใจ คือ ถึงเวลาที่จะพาลูกไปรับวัคซีนเพื่อให้ครบถ้วนตามเกณฑ์แล้วหรือยัง เพราะการได้รับวัคซีนที่จำเป็นจะช่วยให้ลูกน้อยมีภูมิคุ้มกันต่อโรคต่างๆ ที่ดีนะคะ ยกตัวอย่างข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้แนะนำผู้ปกครองให้นำบุตรหลานรับวัคซีนรวมสำหรับป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยักให้ครบตามช่วงเวลาที่กำหนด เพราะจากการพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์คาดว่ามีโอกาสจะพบผู้ป่วยคอตีบเพิ่มมากขึ้น
โรคคอตีบ คืออะไร
โรคคอตีบ (Diphtheriae) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (Corynebacterium diphtheriae) บริเวณที่ติดเชื้อมักจะเป็นในระบบทางเดินหายใจ ต่อมทอนซิล ลำคอ กล่องเสียงหรือจมูก พบมากในเด็กก่อนและระยะต้น ๆ ของวัยเรียน คือช่วงอายุ 2-5 ปี หรือพบมากในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี
โรคคอตีบ มีอาการอย่างไร
อาการของโรคคอตีบคือ จะมีไข้ เจ็บในหลอดคอ ปวดศีรษะ น้ำมูกไหล อ่อนเพลีย ถ้าเป็นคอตีบของกล่องเสียง จะมีอาการบวมมาก อาจทำให้หายใจไม่ออก ทำให้เด็กเล็กๆ เสียชีวิตได้ง่าย นอกจากนี้โรคแทรกซ้อนก็น่ากลัวค่ะ โดยอาจเกิดโรคหัวใจอักเสบ หรือมีอาการอักเสบของประสาทสมอง โรคอัมพาตเนื่องจากพิษทางประสาท
ซึ่งจากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคคอตีบตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 ถึงปัจจุบันพบผู้ป่วยยืนยันและเข้าข่ายโรคคอตีบ จำนวน 7 ราย และเสียชีวิต 2 รายแล้วค่ะ
การป้องกัน โรคคอตีบ ทำอย่างไร
ขอแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่พาลูกน้อยไปรับการฉีดวัคซีนรวมสำหรับป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยักให้ครบดังนี้ คือ
- ฉีดเข็มแรกเมื่อลูกอายุ 2-3 เดือน
- ฉีดเข็ม 2 และ 3 ห่างกันเข็มละ 2 เดือน
- แล้วฉีดกระตุ้นหลังเข็มสุดท้ายประมาณ 1 ปี
- จากนั้นเว้นไปฉีดกระตุ้นอีกทีตอนลูกอายุ 4-6 ปี
และเมื่อลูกอายุ 11-12 ปีควรจะได้รับวัคซีนรวมป้องกัน 3 โรคเดิม หรือจะเป็นวัคซีนรวมที่ป้องกันเฉพาะโรคคอตีบและบาดทะยักก็ได้อยู่ค่ะ จากนั้นก็ควรกระตุ้นด้วยวัคซีนรวมสำหรับป้องกันโรคคอตีบและบาดทะยักทุกๆ 10 ปีนะคะ
อย่างไรก็ตามนอกจากการฉีดวัคซีนแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรจะป้องกันทั้งลูกและตัวเอง โดยหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่มีคนแออัดหนาแน่น ล้างมือบ่อยๆ และคอยสังเกตอาการของโรค คือมีไข้ เจ็บคอ มีแผ่นขาวในช่องปาก ถ้าพบก็ควรไปหาหมอทันที หรือโทรปรึกษาสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 นะคะ
ที่มา:
– สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย
– สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กรมควบคุมโรค
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
ตารางวัคซีน และการเลือกวัคซีนรวมให้ลูกเจ็บตัวน้อยลง
อัพเดท! วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีชนิดเชื้อเป็น ประสิทธิภาพดีกว่าเดิม
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!