ปัญหาของคุณแม่ทำงานที่ต้องกลายเป็นคุณแม่นักปั๊มไปด้วย อุตส่าห์ปั๊มน้ำนมได้ตั้งเยอะแล้ว แต่ทำไม ลูกไม่ยอมกินนมสต๊อก ที่คุณแม่เตรียมไว้ให้ละค่า
ลูกไม่ยอมกินนมสต๊อก ทำไงดี
เคล็ดลับที่คุณหมอสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ แนะนำให้กับคุณแม่ที่กำลังเผชิญกับปัญหานี้กันอยู่
- ทารกที่อายุน้อยกว่า 1 ขวบ ลองให้เริ่มต้นกินนมสต๊อกผสมกับนมที่ปั๊มใหม่ หรือนมที่ลูกกินอยู่ ในอัตราส่วน 10:90 แล้วค่อย ๆ เพิ่มสัดส่วนทีละน้อย ค่อย ๆ ป้อนแบบค่อยเป็นค่อยไปค่ะ
- สำหรับทารกที่โตกว่า 1 ขวบ ให้ลองใช้วิธีเดียวกับด้านบน แต่ถ้าไม่สำเร็จ ให้ลองน้ำนมสต๊อกผสมกับน้ำผลไม้หรือน้ำหวานเพื่อลดกลิ่นหืนของนมสต๊อกลง
- นำนมสต๊อกมาดัดแปลงทำอาหารหรือของหวาน เช่น ไอติมนมแม่ ทำเป็นน้ำแข็งใสใส่น้ำหวาน ข้าวตุ๋นกับไข่แดง ฟักทองนึ่งราดนมแม่ ข้าวตุ๋นนมแม่ ฯลฯ โดยนำนมสต๊อกที่ละลายแล้วมาราดบนอาหารที่ปรุงเสร็จ
- ไม่แนะนำให้ดื่มนมอื่นควบคู่กันไปกับการดื่มนมสต็อก เพราะจะยิ่งลดโอกาสให้ลูกดื่มนมสต็อกมากกว่าเดิม
- หลัง 6 เดือนถ้าลูกยอมดื่มนมสต๊อกได้ 2-3 ออนซ์ ก็ถือว่าโอเคแล้วค่ะ เพราะว่าสามารถทานอาหารเสริมในมื้ออื่นได้แล้ว และถ้าถึงวันที่เต้าไม่มีนมให้ลูกในตอนกลางคืน เจ้าตัวน้อยจะยอมดื่มนมสต็อกเพิ่มขึ้นมาได้เอง ตามสัญชาตญาณของเด็กนั้นไม่มีทางปล่อยให้ตัวเองอด เพียงแต่ว่าจะหิวมากหรือน้อยเท่านั้นเอง ดังนั้นแม้ว่าลูกจะกินนมสต๊อกน้อยหรือไม่ยอมกินบ้างในตอนกลางวัน และดูดนมจากเต้าในตอนกลางคืนก็เพียงพอต่อความต้องการ เพียงแต่ถ้าคุณแม่ยังต้องการให้ลูกกินนมแม่ในระยะยาวต่อไป คุณแม่ต้องไม่หยุดปั๊มนมตอนกลางวัน เพราะถ้าหยุดปั๊มร่างกายจะผลิตน้ำนมได้น้อยลง ทำให้ลูกไม่พอดื่มในตอนกลางคืน
ทั้งนี้คุณแม่ต้องลองพยายามให้ลูกได้กินนมสต๊อกทุกวัน วันละนิดละหน่อย ดี ถ้าลูกเริ่มชิมกับรสชาติแล้ว ก็จะยอมกิน บางคนอาจต้องใช้ความพยายามอยู่หลายเดือนกว่าลูกจะยอมกินนมสต๊อก ที่สุดแล้วก็ทำให้แม่ได้สบายใจ ไม่ต้องทิ้งน้ำนมไปอย่างสูญเปล่า เพราะการลูกที่ได้กินนมแม่ไม่ว่าจะจากเต้าหรือด้วยวิธีไหนก็จะได้สุขภาพที่แข็งแรง ไม่ป่วยง่าย แถมประหยัดอะไรได้ตั้งหลายอย่างทั้งค่านม ค่ารักษาพยาบาลเวลาลูกป่วย
อย่างไรก็ตามคุณแม่อย่าเพิ่งกังวลไปถ้าลูกดื่มสต๊อกน้อย เพราะข้อดีคือ การที่นมสต็อกไม่หมดเร็วเกินไปจะทำให้ลูกได้ดูดกระตุ้นเต้าคุณแม่ในตอนกลางคืน ซึ่งเป็นการกระตุ้นน้ำนมได้ดีกว่าการใช้เครื่องปั๊มนม ในทางกลับกันถ้าลูกดูดนมสต๊อกเยอะในช่วงกลางวัน เมื่อลูกอิ่มก็ไม่อยากดูดเต้า ทำให้คุณแม่ต้องกลายเป็นนักปั๊มตัวจริง ซึ่งการผลิตน้ำนมจะไม่ยั่งยืนเหมือนกับการที่ลูกดูดจากเต้านะคะ.
ลูกไม่กินนมสต๊อก ทำอย่างไรดี
“ลูกอายุ 1ปี 8เดือน ให้ทานนมแม่มาตลอด เมื่อตอนอายุ 1 ปี 6 เดือนได้ให้ฝึกดูดนมแม่ด้วยหลอด จะดูดแค่ 1-2 ออนซ์ก็จะไม่ดูดอีกเลย พอแม่เลิกงานก็จะดูดเต้าอย่างเดียว ให้ฝึกแบบนี้ได้เดือนนึง ก็ยังเป็นเหมือนเดิมบางครั้งก็จะไม่ดูดเลย แต่ถ้าเอานมกล่องให้ดูด หรือใส่แก้วก็ทานได้ปกติ เฉพาะนมฟรีซที่ไม่พอทาน ตอนนี้คนเลี้ยงก็ไม่เอานมฟรีซมาละลายให้ทานอีกเลย สั่งให้เลิกนมแม่ ตอนนี้แม่ไม่ได้ปั้มนมแล้ว เพราะนมสต๊อกเต็มตู้แล้ว หากวันไหนเลิกงานเร็วหรือวันหยุดก็จะเอานมฟรีซมาผสมกับผมไม้ปั่นให้ทาน หากอยู่เวรกลับบ้านดึกก็ปั้มนมครั้งเดียวไม่ให้คัดเต้า เป็นเพราะอะไรน้องถึงไม่ทาน มีวิธีไหนที่ช่วยได้บ้างค่ะ เสียดายนมสต๊อก กลัวว่าจะอายุก่อน”
แม่ทำงานนอกบ้าน ลูกควรกินนมสต๊อก ไม่เกินชม.ละออนซ์ ตลอดทุกช่วงอายุ เช่น ถ้าแม่ไม่อยู่บ้าน 10 ชม. ลูกควรกินนมไม่เกิน 10 ออนซ์ กินน้อยกว่าได้ค่ะ เช่น 5-10 ออนซ์ เด็กฉลาดๆไหวพริบดี มักจะกินน้อยกว่า เช่น อาจกินแค่ 2-3 ออนซ์ เพื่อเก็บท้องไว้รอกินนมจากเต้าซึ่งอร่อย ไม่เหม็นหืน
ข้อดี คือ ทำให้นมสต๊อกไม่หมดเร็วเกินไป และ ได้ดูดกระตุ้นเต้าตอนกลางคืน แม่จะได้ไม่ต้องตื่นขึ้นมาปั๊มนมกลางคือ คือให้ลูกดูดไปเลย นอนด้วยกันไปเลย ซึ่งจะกระตุ้นการสร้างน้ำนมได้ดีกว่าการใช้เครื่องปั๊ม แต่ถ้าในทางกลับกัน ลูกกินนมสต๊อกไปเยอะ นมสต๊อกจะหมดเร็ว ทำให้ต้องใช้นมผงก่อนเวลาอันควร เวลาแม่กลับจากที่ทำงาน ต้องการให้ลูกดูดเต้า ลูกจะอิ่มขวดแล้ว ไม่อยากดูดเต้า และเลิกเต้าไปในที่สุด ถ้าลูกไม่ดูดเต้า แม่ก็ต้องกลายเป็นแม่นักปั๊ม การผลิตน้ำนมจะไม่ยั่งยืนยาวนานเหมือนกับการที่ลูกดูดเต้า และ แม่นักปั๊มจะมีปัญหาท่อน้ำนมอุดตันได้ง่ายกว่า
เรื่องนมสต๊อกไม่มีที่เก็บ คุณแม่อยากจะลดรอบปั๊มหรือหยุดปั๊ม ป้าหมออยากให้คุณแม่คิดให้ถี่ถ้วน เพราะ ตอนนี้ดูเหมือนนมสต๊อกไม่พร่องไปเลย เพราะเรามีการรีฟิลตลอด แต่ถ้าเมื่อไรหยุดรีฟิล นมที่เห็นอยู่เต็มตู้ วูบเดียวก็หมดแล้ว เรื่องนมหมดอายุ ไม่ต้องกังวล เพราะถึงแม้จะเลยเวลาที่กำหนดไปแล้ว แต่ถ้าเราชิมดู ไม่เปรี้ยว ก็คือกินได้แน่นอน เคยมีกรณี เก็บไว้นาน 2-3 ปีในตู้แช่แข็ง เอามาชิมดู ไม่เปรี้ยว ก็กินได้ ไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด ลองคิดคำนวณดู ค่านมผง สูตรธรรมดา 3-4 พันบาทต่อเดือน ถ้าลูกแพ้นม ต้องไปกินสูตรพิเศษราคาจะสูงขึ้น เผลอๆถ้าแพ้ทุกสูตร ต้องไปกินนมกรดอะมิโน ค่าใช้จ่าย 2 หมื่นกว่าบาทต่อเดือน
ลูกยอมกิน 2-3 ออนซ์ ก็ถือว่าโอเคแล้ว เขาจะกินข้าว ผลไม้ให้อิ่มช่วงกลางวัน สิ่งมีชีวิตไม่มีวันปล่อยให้ตัวเองอด เขาหิวแค่ไหนก็จะกินแค่นั้น ไม่ต้องสรรหานมอื่นมาแทนที่นมแม่ แต่ถ้าวันที่ไม่มีนมเต้าตอนกลางคืนให้กินแล้ว เด็กฉลาดๆคนนี้ จะยอมกินนมสต๊อกเพิ่มขึ้นมาได้เอง ยกตัวอย่าง หลานป้าหมอ ณ.วันที่แม่เลิกเต้าแล้ว หลานก็กินเพ่ิมขึ้นมาเป็น 20 ออนซ์ต่อวัน วูบเดียวนมสต๊อกที่มีเต็มตู้ก็หมด ทำให้ต้องเสียเงินไปเสียนมอื่น สูญเสียเงินทองโดยใช่ที่ ตอนนั้นป้าหมอบอกน้องสาวว่า ถ้ายังมีแรงปั๊มนม ก็ปั๊มให้เยอะๆเก็บไว้ก่อน ยิ่งเยอะยิ่งดี ถึงตู้เต็ม ซื้อตู้แช่ ก็ยังคุ้มกว่า ต้องไปเสียเงินซื้อนมผง เพราะ ถ้าเราเลิกใช้ตู้แช่แล้ว ยังขายต่อได้ แต่แค่ได้ใช้เก็บนมมาหลายปีก็คุ้มค่าตู้แช่แล้ว ที่สำคัญคือ เด็กที่กินนมแม่ จะแทบไม่ป่วยเลย แต่ถ้ากินนมผง จะป่วยบ่อยกว่าอย่างชัดเจน
หรือ ถึงแม้ว่าจะไม่กินนมสต๊อกเลย เพราะกินข้าวกินผลไม้จนอิ่มแล้ว จะกินนมแม่เฉพาะกลางคืน ก็เพียงพอกับความต้องการค่ะ แต่มีข้อแม้ว่า คุณแม่ต้องไม่หยุดปั๊มนมตอนกลางวัน เพราะถ้าหยุดปั๊ม การสร้างนมจะลดลง ทำให้ไม่พอลูกกินตอนกลางคืน ถึงแม้ปั๊มแล้วไม่ได้ใช้ ก็ควรปั๊มค่ะ ถ้าปั๊มไหว แต่ถ้าสรรหาวิธีใช้ในนมสต๊อกรูปแบบต่างๆ คุณแม่หลายคนก็ทำได้ ถ้าตั้งใจทำจริงจัง
ไม่แนะนำให้กินนมอื่นควบคู่กันไป เพราะจะยิ่งทำให้โอกาสที่ลูกจะกลับมากินนมสต๊อก ยิ่งน้อยลง เพราะเขาเปรียบเทียบรสชาติได้ แต่ถ้าไม่รู้จักนมอื่นเลย ณ.วันที่ต้องกินนมสต๊อก ก็จะยอมกินได้จนหมด อาจเอามากินแบบไอติม ผสมน้ำหวานนิดหน่อย ขูดกินเป็นเกล็ดน้ำแข็ง หรือ ผสมผลไม้ อโวคาโด กินแบบเย็นๆจะเหม็นหืนน้อยกว่ากินแบบอุ่นๆ ลองฝึกกินหลายๆแบบ เช่น ดูดหลอด ช้อนตัก ไซริงจ์ ดื่มถ้วยน่ารักๆ ใครมีไอเดียเก๋ๆ มาแชร์กันได้นะคะ
แต่ถ้าเป็นกรณีแม่ฟลูไทม์ อยู่บ้านเลี้ยงลูกตลอด ถ้าไม่ได้ฝึกลูกให้กินนมสต๊อกเป็นอย่างจริงจัง ก็จะมีปัญหานมสต๊อกไม่ได้ใช้อยู่ดี ดังนั้นไม่จำเป็นต้องปั๊มเอาไว้เยอะๆ เหมือนคุณแม่ที่ทำงานนอกบ้านค่ะ
บทความโดย พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ
www.doctorbreastfeeding.com
www.breastfeedingthai.com
บทความใกล้เคียงที่น่าสนใจ :
วิธีจัดเรียงและเก็บสต๊อกนมแม่ในตู้แช่พื้นที่น้อย
เน้นย้ำชัดๆ นมแม่สำคัญ แชร์ได้แชร์เลย 20+ เรื่องจริงสำหรับแม่ที่ เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ต้องรู้!!
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!