การนอนละเมอสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย ซึ่งอาจเกิดได้จากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ หากพ่อหรือแม่เป็นคนนอนละเมอ ลูกก็จะมีโอกาสประมาณร้อยละ 50 ที่จะนอนละเมอเช่นเดียวกัน ลูกชอบนอนละเมอ อาจเป็นปัญหา อย่าปล่อยให้เรื่องที่ดูเหมือนจะธรรมดาผ่านเลยไป
ลูกชอบนอนละเมอ ตื่นผวา เผลอๆไม่ใช่เรื่องธรรมดา มีผลทางอ้อมต่อพัฒนาการ!
การนอนละเมอ คือการพูดหรือทำกิริยาอาการต่าง ๆ ในขณะที่กำลังนอนหลับโดยไม่รู้ตัว เมื่อตื่นขึ้นมาก็จะจำอะไรไม่ได้ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงหลับลึก คือระยะหลังจากหลับไปแล้ว 2-3 ชั่วโมง
แม้ยังไม่มีรายงานแน่ชัดว่า การละเมอของเด็กหรือลูกตื่นขึ้นมาบ่อย ๆ ตอนกลางคืนจะมีผลต่อพัฒนาการที่เห็นเด่นชัดหรือไม่ แต่ในเด็กที่มีปัญหาการนอนและไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องนั้นจะส่งผลถึงพัฒนาการทางอ้อม จะทำให้ฮอร์โมนการเจริญเติบโต หรือ Growth Hormone ทำงานได้ไม่เต็มที่ จะทำให้เจ้าตัวเล็กตื่นนอนมาอย่างไม่สดชื่น ไม่มีสมาธิในการเรียน เล่นไม่สนุก หลับในห้องเรียน ฯลฯ มีผลต่อพัฒนาการด้านการเรียนรู้ ที่พ่อแม่จะต้องคอยสังเกตและแก้ไขแล้วล่ะ
การนอนละเมอของเด็ก ๆ นั้นอาจเกิดขึ้นได้จาก 2 สาเหตุ
- มีสิ่งเราที่กระตุ้นก่อนนอน เช่น การดูหนังผี สยองขวัญ ภาพน่ากลัว หรือกิจกรรมในตอนกลางวันที่ตื่นเต้นจนเกินไป ทำให้ลูกจำภาพฝังลึกแล้วเก็บไปนึกถึงในตอนนอน
- สำหรับเด็กบางคนอาจมีระบบประสาทที่ยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ จึงทำให้มักละเมอตื่นกลางดึก
อาการนอนละเมอที่มักเจอในเด็ก
#ละเมอฝันผวา
คือ อาการที่นอนหลับอยู่ดี ๆ แล้วตกใจตื่นขึ้นอย่างฉับพลัน บางครั้งก็หวีดร้องด้วย ซึ่งจะแตกต่างจากฝันร้ายตรงที่ลูกจะจดจำอะไรไม่ได้เลย ส่วนใหญ่จะเกิดในเด็กอายุ 4-7 ปี กรณีนี้เกิดขึ้นได้กับเด็กที่ระบบประสาทยังพัฒนาไม่เต็มที่ทำให้การจัดเรียงข้อมูลในสมองทำงานไม่เป็นระเบียบ ซึ่งอาการนี้อาจเกิดขึ้นได้ในวันที่ลูกรู้สึกเครียด มีปัญหาทางอารมณ์
เมื่อลูกผวาตกใจตื่นหรือพร้อมขึ้นมากับเสียงกรี๊ด หวีดร้อง ให้อุ้มลูกมากอดไว้ ลูบหัว ตบก้น โยกตัวเบา ๆ และปลอบโยนลูกให้นอนต่อ เพราะการละเมอลักษณะนี้เมื่อลูกตื่นขึ้นมาจะจำอะไรไม่ได้ และการใช้วิธีปลุกลูกให้ตื่นจากละเมอเพื่อมาสอบถามนั้นไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง แทนที่ลูกจะตื่นมาร้องแค่ 5 นาที อาจยิ่งทำให้มีอาการแบบนี้นานขึ้นไปอีกก็ได้
ลูกชอบละเมอแบบไหนที่แม่ควรระวังและแก้ปัญหาอย่างไรดี อ่านต่อหน้าถัดไปนะคะ >>
#ละเมอเดิน
อาการแบบนี้มักเกิดกับเด็กโต เป็นการละเมอเพื่อเดินไปรอบห้อง หรือเดินออกไปนอกห้องหรือนอกบ้านแบบที่ไม่รู้ตัว เมื่อตื่นขึ้นก็จำอะไรไม่ได้เช่นกัน ละเมอลักษณะนี้ถือว่าอันตรายต่อลูกมาก เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้ หากสังเกตว่าลูกมีการละเมอแบบนี้แต่ยังมีอาการไม่มาก คุณพ่อคุณควรปรับห้องนอนของลูกและสภาพแวดล้อมให้โล่งเพื่อป้องกันการเดินชนสิ่งกีดขวางหรือมุมโต๊ะที่อาจเป็นอันตราย ควรหลีกเลี่ยงเตียงสองชั้น ประตูหน้าต่างหรือระเบียงห้องต้องล็อคไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ละเมอเดินออกไปข้างนอก หากมีอาการมากก็ไม่ควรปล่อยให้ลูกนอนคนเดียว
ดูแลแก้ปัญหาลูกที่ชอบนอนละเมออย่างไรดี
พ่อแม่ต้องคอยสังเกต หากลูกมีอาการนอนละเมอ ซึ่งมักเกิดขึ้นในเวลาเดิมของทุกวัน ให้จดวันและเวลาไว้เพื่อนำมาดูว่าเกิดขึ้นกี่ครั้งใน 1 สัปดาห์ ถ้าเป็นบ่อยกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์ให้ลองปลุกลูกก่อนเวลาละเมอประมาณ 15 นาที แล้วปล่อยให้ตื่นสัก 5 นาที จากนั้นค่อยให้กล่อมให้ลูกนอนต่อ ทำอย่างนี้ติดต่อกันประมาณ 7-10 วัน อาการละเมอของลูกจะเริ่มน้อยลง
การละเมอสัปดาห์ละครั้งหรือเดือนละครั้งนั้นอาจเกิดขึ้นได้ถือเป็นเรื่องปกติของเด็ก อาจมีการละเมอฝันผวาเกิดขึ้นบ้างเป็นระยะ ๆ แต่จะค่อย ๆ ดีขึ้นไปตามวัย แต่หากลูกนอนละเมอ 3 ครั้งต่อสัปดาห์หรือมากกว่านั้นเป็นระยะ ๆ คืออาจเป็น ๆ หาย ๆ เป็นพัก ๆ ควรพาลูกไปปรึกษาแพทย์ เพราะผลจากการละเมอบ่อย ๆ จะทำให้เด็กพักผ่อนไม่เต็มที่ส่งผลต่อพัฒนาการทางอ้อมแบบที่กล่าวมาได้
พ่อแม่สามารถช่วยปรับพฤติกรรมการนอนให้กับลูก ๆ ได้ด้วยการทำให้ลูกนอนหลับอย่างมีความสุข หลีกเลี่ยงการกระตุ้นลูก หรือเปิดทีวีให้ลูกดูอะไรน่ากลัวก่อนเข้านอน ใช้การเล่านิทานน่ารัก ๆ หรือให้ลูกฟังเพลงผ่อนคลายก็จะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ลูกนอนหลับได้สบาย และควรพาลูกเข้าห้องน้ำก่อนนอน เพราะบางครั้งการละเมอฝันผวาก็เริ่มต้นจากการปวดปัสสาวะได้นะคะ.
ที่มา : www.manager.co.th
บทความใกล้เคียงที่น่าสนใจ :
คลิปน่ารัก ลูกนอนละเมอเรียกพ่อ เสียงดังฟังชัดมาก
ลูกนอนแบบไหน เรียกว่าผิดปกติ เรื่องที่พ่อแม่ทุกคนต้องรู้
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!