ลูกกลับหัว รู้สึกยังไง
เมื่อไหร่ลูกจะกลับหัว แล้วเวลา ลูกกลับหัว รู้สึกยังไง แม่ท้องแก่อยากรู้แล้วใช่ไหม ไปอ่านกัน
ลูกจะกลับหัวตอนไหน ลูกกลับหัวแล้ว รู้ได้อย่างไร
แม่ท้องที่กำลังก้าวเข้าสู่ไตรมาสสาม มักสงสัยว่า ลูกจะกลับหัวตอนไหน สัญญาณแบบไหนที่บ่งบอกว่า ลูกพร้อมจะอุแว๊ออกมาลืมตาดูโลก
ราวๆ อายุครรภ์ 33 สัปดาห์ หรือ 34 สัปดาห์ ลูกก็จะกลับหัวเพื่อเตรียมคลอด และทารกในครรภ์ก็จะคงท่านี้ไว้จนคลอด แต่มีข้อสังเกตว่า ถ้าเคยมีลูกมาแล้ว เป็นไปได้ว่า ลูกอาจจะกลับหัวเพียงไม่กี่วันหรือไม่กี่ชั่วโมงก่อนคลอด ทั้งนี้ หากทารกไม่ยอมกลับหัว แพทย์จะพยายามช่วยให้ทารกกลับหัว โดยหมุนเปลี่ยนท่าทารกด้วยการใช้มือดันทารกในครรภ์ผ่านหน้าท้อง หรือไม่ก็แนะนำให้แม่ทำกิจกรรมบางอย่างเพื่อให้ลูกกลับหัวอยู่ในท่าเตรียมคลอด
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าลูกกลับหัวแล้วจะถึงเวลาคลอดเลยทันทีทันใด แม่ท้องต้องใจเย็นๆ รอเวลาที่เหมาะสม ลูกจะออกมาเอง
ความรู้สึกของแม่ท้องเมื่อลูกกลับหัว
ท้องลด
ท้องของคุณแม่ได้ลดต่ำลง ท้องด้านบนจะไม่โย้ ถ้าแม่เริ่มรู้สึกว่าพุงไม่กลมดิ๊กเหมือนเดิม ก็เป็นสัญญาณว่าลูกน้อยกลับหัว ลองเทียบว่า อยู่ๆ ระยะห่างของหน้าอกกับมดลูกไม่เท่าเดิม หรือกว้างขึ้นนั่นเอง ลองถ่ายรูปตัวเองบ่อยๆ หรือให้คุณพ่อช่วยสังเกตอาการท้องลดต่ำลงของแม่ ก็จะรู้ว่านี่ลูกกลับหัวแล้วนะ
หายใจได้เต็มปอด
ด้วยน้ำหนักกดทับบริเวณท้องและปอดที่น้อยลง ช่วยลดอาการระหว่างตั้งครรภ์ที่เคยเกิดขึ้น โดยแม่ท้องจะหายใจได้เต็มปอด เพราะปอดขยายมากกว่าก่อนหน้านี้ที่ท้องค้ำอยู่
ปวดฉี่บ่อยกว่าเดิม
แม่ท้องไตรมาสสาม มักจะบ่นว่าเมื่อย และเหนื่อยที่จะต้องลุกๆ นั่งๆ เพราะปวดฉี่ถี่ขึ้น ด้วยกระเพาะปัสสาวะถูกเบียด พื้นที่เก็บปัสสาวะมีไม่เท่าเดิม ทำให้แม่ต้องไปเข้าห้องน้ำบ่อยๆ ยิ่งเมื่อเวลาลูกกลับหัว แม่จะยิ่งเข้าห้องน้ำบ่อยกว่าเดิม
อาการแสบร้อนกลางอกทุเลาลง
เมื่อลูกกลับหัว แม่ท้องจะเจริญอาหาร ทานข้าวได้มากขึ้น ไม่เหมือนกับก่อนหน้านี้ที่ทานอาหารได้ลำบาก ทานแล้วอิ่มเร็ว เพราะไม่มีแรงกดที่ท้อง นอกจากนี้ อาการแสบร้อนกลางอก หลังมื้ออาหารที่เคยเป็นบ่อยๆ ก็จะลดลงอีกด้วย
ปวดถ่วงบริเวณเชิงกราน
แม่จะรู้สึกได้ถึงแรงกดที่อุ้งเชิงกราน เพราะกระดูกเชิงกรานต้องรับน้ำหนักทั้งหมดของทารกในครรภ์ที่เติบโตขึ้น ทำให้แม่ปวดเมื่อยเมื่อต้องยืนนานๆ เป็นเรื่องปกติหลังจากลูกกลับหัวแล้ว แม่ท้องไตรมาสสุดท้ายจึงต้องดูแลตัวเองอย่างดี พักผ่อนมากๆ นอนให้เพียงพอ พักเท้าให้ผ่อนคลายเสมอๆ
ในทางตรงข้าม หลังจากที่ลูกกลับหัว แรงกดที่ปอดและที่ท้องจะลดลงแทน
ปวดหลัง
สาเหตุมาจากลูกน้อยที่ตัวใหญ่ขึ้นตามเวลา ทำให้ศูนย์กลางแรงโน้มถ่วงของร่างกายได้เปลี่ยนตำแหน่ง ส่งผลให้แม่มีอาการปวดหลังช่วงล่าง
เมื่อกำหนดคลอดใกล้เข้ามา แรงกดบริเวณหลังจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากลูกกลับหัวลงสู่อุ้งเชิงกราน ด้วยกล้ามเนื้อหน้าท้องที่ยืดขึ้น แม่จึงแอ่นหลังเพื่อให้ร่างกายสมดุล เป็นสาเหตุให้มีอาการปวดหลังเพิ่มขึ้น
แม่จะหุบขาได้ยาก
จากแรงกดจำนวนมากลงมาอยู่ที่กระดูกเชิงกราน แม่ท้องแก่มักจะหุบขาได้ยากขึ้น และสังเกตได้ง่ายๆ ว่า เวลาเดินเหินจะไม่เหมือนเดิม
ลักษณะตกขาวได้เปลี่ยนไป
ใกล้ถึงเวลาคลอด มูกที่ปิดปากมดลูกจะค่อยๆ เลื่อนหลุดออก เมื่อลูกน้อยกลับหัว มูกจะข้นและเหนียวหนึบกว่าช่วงอื่นๆ แม่ลองสังเกตถึงความเปลี่ยนแปลง อาจจะเห็นว่า มูกมีเลือดปนมาในตกขาว แต่อย่าเพิ่งกังวลไปค่ะ เพราะเกิดจากหลอดเลือดแตกเนื่องจากปากมดลูกบางลงเท่านั้นเอง
เจ็บท้องหลอก
การหดรัดตัวของมดลูกมากผิดปกติจะเกิดเมื่อลูกกลับหัว ไม่ใช่สัญญาณเตือนของการใกล้คลอดนะคะ แต่การหดตัวนั้นเป็นเพียงการเตรียมมดลูกให้พร้อม ช่วยให้ปากมดลูกบางลงก่อนการคลอด แต่การเจ็บท้องหลอกนั้น มดลูกจะหดรัดตัวไม่สม่ำเสมอ จึงแตกต่างจากการเจ็บท้องคลอดของจริง
สำหรับแม่ที่ลูกกลับหัวแล้ว อย่าลืมไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง และปรึกษาแพทย์ทันทีเมื่อลูกดิ้นน้อย หรือมีอาการผิดปกติระหว่างตั้งครรภ์อื่นๆ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
แม่ท้องแรกรู้ได้ยังไงว่าแบบนี้คือ น้ำคร่ำแตก ไปโรงพยาบาลได้แล้ว
เจ็บท้องหลอกVSเจ็บท้องจริง แม่ท้องต้องดูยังไง
สัญญาณอันตรายใกล้คลอด โค้งสุดท้ายก่อนเป็นแม่คน
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!