รู้จัก& เข้าใจ เมื่อลูกเป็นแอสเพอร์เกอร์ซินโดรม
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น อธิบายถึงแอสเพอร์เกอร์ซินโดรม ไว้ว่า
1. แอสเพอร์เกอร์ซินโดรมเป็นความบกพร่องของพัฒนาการรูปแบบหนึ่ง อยู่ในกลุ่มเดียวกับโรคออทิสติกร่วมกับมีพฤติกรรมหมกมุ่น ทำซ้ำๆ ไม่ค่อยยืดหยุ่น ทำให้เกิดผลทางด้านลบต่อการดำรงชีวิต การเรียน การทำงาน และการเข้าสังคม
2. เด็กที่เป็นแอสเพอร์เกอร์ซินโดรมส่วนใหญ่จะสามารถพูดคุยสื่อสารปกติ แต่ไม่เข้าใจลูกเล่น สำนวน มุกตลกต่าง ๆ
3. มีระดับสติปัญญาปกติ ความจำดีแต่มีปัญหาในการประยุกต์ใช้เหมือนกับหน่วยความจำในคอมพิวเตอร์เก็บข้อมูลได้ดี รายละเอียดครบถ้วน แต่นำออกมาใช่ร่วมกันไม่ได้
4. แอสเพอร์เกอร์ซินโดรม เป็นกลุ่มอาการที่คล้ายๆ ออทิสติก แต่ไม่เหมือนกันทีเดียว คือ พัฒนาการด้านภาษาจะดีกว่าออทิสติก และมีระดับสติปัญญาที่ปกติ หรือสูงกว่าปกติ พบว่า มีการทำงานของสมองบางตำแหน่งผิดปกติ แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าสาเหตุเกิดจากอะไร
5. ในปัจจุบันยังไม่มียาใดที่ใช้รักษาอาการแอสเพอร์เกอร์ซินโดรม ให้หายเป็นปกติ เด็กเหล่านี้ส่วนใหญ่เมื่อได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง และให้ความรู้ความเข้าใจ ให้คำแนะนำแก่พ่อแม่ รวมทั้งทางโรงเรียน ในการปรับตัวและการปรับพฤติกรรมของเด็ก ก็สามารถช่วยให้เด็กเหล่านี้อยู่ร่วมในสังคมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขเช่นเดียวกับเด็กปกติได้
พฤติกรรมของเด็กที่เป็นแอสเพอร์เกอร์ซินโดรม
1. เด็กที่เป็นแอสเพอร์เกอร์ซินโดรม การพูดและการใช้ภาษาได้ตามปกติ แต่มักจะไม่เข้าใจเนื้อหาที่ลึกซึ้งหรือความหมายโดยนัยที่แฝงอยู่ เช่น สำนวน ลูกเล่นต่าง ๆในคำพูด
2. มักจะมีพฤติกรรมที่แตกต่างไปจากเด็กในวัยเดียวกัน เช่น ไม่ค่อยมองหน้า ไม่สบตาเวลาคุย ชอบแยกตัวอยู่คนเดียว ไม่ค่อยสนใจคนรอบข้าง เล่นกับเด็กคนอื่น ๆ ไม่ค่อยเป็น
3. ไม่รู้จักทักทายคนอื่น บางทีอยากรู้หรืออยากถามอะไรก็ถามเลย โดยไม่ดูกาลเทศะ พูดโพล่งออกมา ไม่มีเกริ่นนำ
4. สนใจหมกมุ่นแต่เรื่องของตนเอง เรื่องที่พูดคุยมักเป็นเรื่องของตนเองมากกว่าเรื่องอื่น ๆ ไม่แสดงความใส่ใจหรือสนใจเรื่องราวของคนอื่น ขาดความเข้าใจหรือเห็นใจผู้อื่น และมักชอบพูดซ้ำ ๆ เรื่องเดิมๆ ที่ตนเองสนใจ
5. มีความสนใจเฉพาะเรื่องและชอบทำอะไรซ้ำ ๆ เช่น ถ้าเขามีความสนใจอะไรก็สนใจมากจนถึงขั้นหมกมุ่น โดยเฉพาะกับเรื่องที่ค่อนข้างมีความซับซ้อน และเป็นเรื่องที่คนอื่นไม่สนใจ เช่น วงจรไฟฟ้า ยี่ห้อรถยนต์ สุริยจักรวาล เป็นต้น
6. เด็กกลุ่มนี้จะไวต่อสิ่งเร้ามากกว่าคนทั่วไป สามารถเปลี่ยนแปลงอารมณ์ได้ค่อนข้างรวดเร็ว ทำให้ไม่มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่ทำเท่าที่ควร
7. เด็กที่เป็นแอสเพอร์เกอร์ซินโดรม มักจะมีสติปัญญาดี มีความสามารถในการช่วยเหลือตนเองในเรื่องต่าง ๆ ที่ต้องทำในชีวิตประจำวัน
อ่าน รับมือ!!!เมื่อลูกเป็นแอสเพอร์เกอร์ซินโดรม คลิกหน้าถัดไป
รับมือ!!!เมื่อลูกเป็นแอสเพอร์เกอร์ซินโดรม
นพ.จอม ชุมช่วย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์ ให้คำแนะนำในการดูแลเมื่อ ลูกเป็นแอสเพอร์เกอร์ซินโดรม ดังนี้
1. หากคุณพ่อคุณแม่พบว่า ลูกสนใจและหมกมุ่นเรื่องซ้ำ ๆ เช่น นั่งดูพัดลมหมุนได้เป็นเวลานาน ๆ ก็ควรดึงลูกออกจากการกระทำนั้นด้วยความนิ่มนวล ค่อย ๆ เบนความสนใจชวนลูกทำกิจกรรมอื่น ๆ แทน
2. ถ้าเรื่องที่ลูกสนใจและเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ เช่น ชอบไดโนเสาร์ พ่อแม่สามารถสอนเรื่องอื่นสอดแทรกไปได้ เช่น เรื่อง ชีววิทยา ธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ เป็นต้น เน้นการใช้เรื่องที่เขาสนใจเป็นฐานแล้วก็ขยายความสนใจออกไป เพื่อให้เด็กสามารถเรียนรู้ในเรื่องอื่นๆ เพิ่มเติมได้
3. เล่นกับลูกโดยเอาความสนใจของเด็กเป็นที่ตั้งแล้วค่อย ๆ ขยายความสนใจเหล่านั้นไปในแง่มุมอื่นๆ โดยมีเป้าหมายแบ่งปันความสนใจ และอารมณ์ซึ่งกันและกัน โดยคุณพ่อคุณแม่พูดคุยกับลูกด้วยคำง่ายๆ ชัดเจน และถ้าเป็นตัวอย่างก็ควรเป็นสิ่งของในสถานการณ์จริงหรือรูปภาพ จะทำให้ลูกเข้าใจง่ายและเกิดการเรียนรู้ได้เร็ว
4. สร้างบรรยากาศในการทำกิจกรรมให้รู้สึกสบายๆ ไม่เครียด มีความอบอุ่นและเป็นกันเอง เช่น ในการเล่นหรือการเรียนของเด็ก ควรจัดเป็นกลุ่มเล็กๆ เพื่อให้เด็กได้คุ้นเคยกับกฎระเบียบของกลุ่มเล็กก่อน ก่อนให้เด็กเข้าในกลุ่มใหญ่
5. ทักษะสังคมเป็นเรื่องที่ต้องคอยสอนคอยชี้แนะอยู่ตลอด และต้องสอนกันเกือบทุกเรื่อง เช่น เวลาเจอเพื่อนจะทักทายอย่างไร อยากเข้าไปเล่นกับเพื่อนต้องทำอย่างไร อย่าไปคาดหวังว่าเดี๋ยวก็รู้เอง แต่ถ้าสอนแล้วเด็กจะทำได้ในที่สุด
บทความแนะนำ ลูกเข้ากับเพื่อนไม่ได้ ทำอย่างไรให้ลูกมีทักษะสังคมที่ดี
6. สนับสนุนให้เด็กเข้าเรียนร่วม ทำให้สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ในชีวิตประจำวัน และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ สนับสนุนกิจกรรมหลากหลายเพื่อให้ลูกได้มีประสบการณ์ใหม่ๆ อย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้เพื่อลดความสนใจและความเคยชินที่ซ้ำซาก
โรคนี้หายขาดได้ไหม?
แอสเพอร์เกอร์ซินโดรม ในทางแพทย์แม้จะไม่หายขาด แต่สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้ด้วยการฝึกทักษะการดูแลตนเองในชีวิตประจำวัน ฝึกฝนทักษะทางสังคมอย่างต่อเนื่อง การพูดจาที่ไม่เหมาะสม การเข้ากับเพื่อน ปัญหาเหล่านี้คงต้องอาศัยการฝึกฝนและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
เมื่อเด็กโตขึ้นและได้เรียนหรือทำงานที่เหมาะสมกับตนเอง เขาจะสามารถใช้ความสามารถของตนเองได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเด็กที่เป็นแอสเพอร์เกอร์ส่วนใหญ่จะมีความสามารถสูง โดยเฉพาะในเรื่องที่เขาสนใจ เขาจะรู้จริง และรู้ลึกมากกว่าคนอื่น
คุณพ่อคุณแม่อย่าท้อใจไปนะคะ เพราะเด็กที่เป็นแอสเพอร์เกอร์ซินโดรม หากได้รับการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ลูกก็สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขค่ะ
ร่วมบอกเล่าและแชร์ประสบการณ์ในช่วงตั้งครรภ์ คลอดบุตร รวมถึงการเลี้ยงดูทารกน้อย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวอื่น ๆ กันนะคะ หากมีคำถามหรือข้อสงสัย ทางทีมงานจะหาคำตอบมาให้คุณ
อ้างอิงข้อมูล
https://health.kapook.com
https://www.happyhomeclinic.com
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
14 วิธีสังเกต ลูกเสี่ยงเป็นออทิสติก
5 ความเชื่อผิด ๆ ในการเลี้ยงดูส่งผลเสียต่อ IQ และ EQ ของลูกได้
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!