รับมือลูกเอาแต่ใจ เมื่อลูกเริ่มโตขึ้นปัญหาด้านอารมณ์ต่าง ๆ ก็ตามมา โดยเฉพาะการที่ลูกดื้อและเอาแต่ใจ เรามาดูวิธี รับมือลูกเอาแต่ใจ ทำอย่างไรให้ได้ผล
รับมือลูกเอาแต่ใจ จะรับมืออย่างไรดีนะ
รับมือลูกเอาแต่ใจ
พ่อแม่ควรสังเกตว่าพฤติกรรมการเอาแต่ใจของลูกมักเกิดในสถานการณ์แบบใดบ้าง และอะไรคือสิ่งเร้าหรือกระตุ้นให้ลูกมีพฤติกรรมแบบนั้น
- เลี่ยงการเผชิญที่ทำให้ลูกเกิดพฤติกรรมนั้น
เมื่อพ่อแม่ทราบแล้วว่าลูกมีพฤติกรรมเอาแต่ใจในสถานการณ์ใด ควรหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญกับสถานการณ์นั้น ๆ เช่น เมื่อเด็กอยากได้ของเล่นในห้างสรรพสินค้า แต่พ่อแม่ไม่ให้ซื้อ จึงลงไปนอนร้องดิ้นกับพื้น แบบนี้พ่อแม่ก็ควรหลีกเลี่ยงการเดินผ่านบริเวณที่ขายของเล่น เป็นต้น
ในกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเด็กแสดงพฤติกรรมเอาแต่ใจในขณะนั้น อาจเบี่ยงเบนความสนใจ หรืออาจพูดแสดงความเข้าใจ และให้เวลาลูกในการควบคุมอารมณ์ เช่น “แม่รู้ว่าลูกเสียใจมาก หนูเลยร้องไห้และดิ้นกับพื้นแบบนี้ ยังไงแม่จะอยู่ข้าง ๆ หนูนะ เดี๋ยวหนูหยุดร้องไห้แล้วเราค่อยมาคุยกัน” แต่หากอยู่ในบริเวณที่อันตรายและอาจมีของตกหล่นมาใส่เด็ก พ่อแม่อาจกอดลูกเอาไว้สักพักจนกว่าลูกจะสงบ
บทความที่เกี่ยวข้อง : การ พาลูกไปนอกบ้าน 100 สิ่งที่คุณแม่หลังคลอดต้องรู้ ตอนที่ 77
เมื่อพ่อแม่ตอบสนองต่ออาการเอาแต่ใจของเด็กอย่างเหมาะสม เด็กก็จะเรียนรู้ว่า ถ้าเอาแต่ใจ ก็จะไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ พฤติกรรมเอาแต่ใจก็จะค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ และค่อย ๆ หายไป
เมื่อลูกสงบลงแล้ว พ่อแม่ควรคุยกับลูกด้วยเหตุผลที่เข้าใจง่าย อาจกำหนดกฎ กติกาเพิ่มเติม เช่น หากเราออกไปข้างนอกแล้วหนูร้องดิ้นแบบนี้ พ่อแม่อาจจะพาหนูกลับบ้านทันที หรืออาจโดนตัดสิทธิ์อย่างอื่น เป็นต้น
- ไม่ตามใจทุกครั้งที่ร้องไห้เอาแต่ใจ
การที่ลูกร้องไห้งอแง หรืออารมณ์ร้อนเอาแต่ใจ เวลาอยากได้สิ่งที่ต้องการแล้วคุณพ่อคุณแม่ตามใจนั้น จะทำให้ลูกเข้าใจว่าเมื่อเขาต้องการก็จะต้องร้องไห้ ต้องงอแงทุกครั้งซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ผิด หากพ่อแม่สอนและฝึกไม่ตามใจลูกทุกครั้งที่ร้องไห้งอแง ฝึกให้ลูกหัดฟัง หัดพูดหรือเดินไปหยิบเองเมื่อต้องการสิ่งนั้น ลูกจะโตขึ้นมาโดยไม่ติดนิสัยเหล่านี้
- ให้ลูกหัดเรียนรู้การช่วยเหลือตัวเอง
พ่อแม่อาจจะเริ่มฝึกลูกให้เริ่มทำอะไรด้วยตัวเอง กินข้าวเองดื่มน้ำจากแก้วเอง หยิบสิ่งของ เก็บของเล่นเอง แล้วชมลูกทุกครั้งเมื่อลูกทำตาม ลูกจะรู้จักช่วยเหลือตัวเองมากกว่าการโวยวายให้คนอื่นทำให้ และควรพาลูกไปเล่นกับเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกัน เมื่อลูกไปเจอกับเพื่อนในวัยเดียวกัน ลูกจะเรียนรู้การแบ่งปัน การได้รับและการให้มากขึ้น การอยู่กับคนอื่นจะเป็นการฝึกให้ลูกควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้มากขึ้น
เวลาที่ลูกร้องไห้ เมื่อไม่ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการสิ่งแรกที่ต้องทำคือ การเข้าไปอุ้มลูก กอดลูกไว้ โดยไม่ต้องไปดุลูก แค่กอดลูกไว้เฉย ๆ แล้วพาลูกออกมาจากสิ่งที่เขาต้องการ เช่น ร้านขนม ร้านของเล่น การที่เราโวยวายตอบโต้กับลูกนั้น ถือเป็นการเปิดสงครามเลยก็ว่าได้ ลูกจะยิ่งอารมณ์ร้อนตามเราและเมื่อเป็นบ่อย ๆ ลูกก็จะยิ่งเป็นหนักมากขึ้น ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรใจเย็นเข้าสู้ นิ่งและพูดกับลูกดี ๆ ถึงลูกจะยังเล็กแต่ลูกก็สามารถรับรู้ถึงอารมณ์ที่ผู้ใหญ่สื่อสารได้ ยิ่งวัยเริ่มจดจำต้องระวังให้มาก ๆ
การชวนลูกคุย เป็นการฝึกให้ลูกรู้จักแสดงอารมณ์ และความต้องการ ถึงลูกจะยังพูดได้ไม่มากแต่การที่ลูกแสดงท่าทางเพื่อที่จะสื่อสารนั้น เป็นการเริ่มต้นที่ดีเลยค่ะ พยายามถามลูกบ่อย ๆ ว่าชอบอันนี้ไหม เอาอันนี้รึเปล่า เมื่อลูกรู้สึกต้องการลูกก็จะเริ่มรู้จักการถาม และการแสดงอารมณ์ที่ดี มากกว่าการโวยวายและร้องแบบไม่มีเหตุผล
หากรู้ว่า ลูกชอบร้องโวยวายเมื่อไม่ได้ดั่งใจ การฝึกสมาธิเป็นสิ่งที่ดีมาก คุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกให้ลูกมีสมาธิได้ตั้งแต่เล็ก ๆ โดยการทำอะไรเป็นอย่าง ๆ ทำนาน ๆ เช่น การวาดรูประบายสี การอ่านหนังสือ การเล่านิทาน การนับหนึ่งถึงสิบ การทำกิจกรรมเหล่านี้ ถือเป็นการฝึกให้ลูกมีสมาธิที่ดี รู้จักกล้าแสดงออก และยังได้ฝึกให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีไปด้วย หากลูกไม่ยอมอยู่กับอะไรนาน ๆ คุณพ่อคุณแม่ก็อย่างบังคับ เพียงแค่ชวนเล่นบ่อย ๆ ค่อย ๆ ปรับพฤติกรรมลูกก็จะทำได้เอง
บทความที่เกี่ยวข้อง : เมื่อลูกเอาแต่ใจ : 100 เรื่องพ่อแม่ต้องรู้ก่อนลูก 1 ขวบ
ใช้เทคนิคเพิกเฉย เมื่อลูกร้องไห้เอาแต่ใจ
รับมือลูกเอาแต่ใจ
เทคนิคนี้ สามารถทำได้เมื่อลูกอายุประมาณ 1 ขวบขึ้นไป เทคนิคการเพิกเฉย ขณะที่ลูกร้องไห้เอาแต่ใจ เป็นการเปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้การควบคุมตนเอง ไม่ใช่การทอดทิ้งลูก และบ่อยครั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้เราได้สงบสติอารมณ์ตนเองด้วยเช่นกัน การพยายามโอ๋ลูกอย่างที่พ่อแม่หลายคนชอบทำ นอกจากไม่ช่วยให้เด็กพัฒนาตนเองแล้ว ยังส่งผลเสียต่อพ่อแม่ เพราะเด็กจะมองไม่เห็นความชัดเจนของการเป็นผู้นำและไม่เห็นความเข้มแข็งของเรา
เริ่มจากตัวคุณเองต้องอารมณ์เย็นเสียก่อน (เทคนิคนี้ห้ามทำตอนเรามีอารมณ์ เพราะจะกลายเป็นเราทอดทิ้งลูก)
คุณต้องมองหน้าสบตาลูกให้ได้ และพูดด้วยเสียงนิ่ง สีหน้าเรียบอย่างจริงจัง “แม่จะรอหนูเงียบ เราถึงจะคุยกัน”
ต่อมาให้คุณเพิกเฉยลูก ทั้งคำพูด ท่าที สายตา ไม่พูดซ้ำว่าลูกต้องเงียบ เพราะจะเป็นการเพิกเฉยไม่จริง รวมทั้งไม่เช็ดน้ำตาหรืออุ้ม ถ้าลูกพยายามเข้ามาให้กอดหรือให้อุ้ม ก็ควรลุกขึ้นยืนและหันไปทำอย่างอื่นแทน แต่อย่ามีท่าทีทอดทิ้งลูกไป ต้องเป็นท่าทีว่าเรามีงานอื่นที่ต้องทำ หากเราหวั่นไหวและลูกก็สามารถจับไต๋ได้ ให้เบี่ยงเบนตัวเองออกจากตรงนั้นด้วยการทำงานง่าย ๆ ใกล้ตัวแทน เช่น พับผ้า ล้างจาน
กรณีที่ลูกทำร้ายตัวเองหรือทำร้ายคนอื่น รวมทั้งการทำลายข้าวของ อนุญาตให้หยุดเพิกเฉยชั่วคราว ถ้าลูกทำเช่นนั้นให้หันกลับไปจับมือลูกแน่นๆ ประมาณ 10 วินาที และมองหน้าลูกพร้อมพูดด้วยเสียงเรียบนิ่งว่า “ไม่ตีแม่/ไม่โยนของ” แล้วแกะของออกจากมือ จากนั้นปล่อยมือลูกและเฝ้าดูอีกสักครู่ หากลูกลุกขึ้นมาตีหรือโยนของอีกให้ทำซ้ำแบบเดิมจนกว่าลูกจะหยุด แล้วให้กลับไปเพิกเฉยต่อ
เมื่อลูกเงียบแล้ว ให้คุณกลับไปหาลูก จำเป็นอย่างยิ่งที่คุณต้องเข้าไปหาลูกเพื่อตอกย้ำเขาว่า เขาจะได้รับความสนใจก็เมื่อมีพฤติกรรมที่ดี เงียบ และจะถูกเพิกเฉย เมื่อมีพฤติกรรมร้องไห้เอาแต่ใจ โดยควรพูดกับลูก ดังนี้
-
- ชม ให้ชมลูกแบบบรรยายพฤติกรรม เช่น “หนูเงียบแล้ว หนูเก่งค่ะลูก”
- คุย ถามลูกว่า “เมื่อกี้นี้เกิดอะไรขึ้น” เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกได้ทบทวนเรื่องราวด้วยตัวเองก่อน ซึ่งจะช่วยให้ลูกเข้าใจตัวเองได้ดีกว่าการรอคำสอนอย่างเดียว และยังเป็นการกระตุ้นความฉลาด ด้านการเข้าใจตนเองของลูกไปด้วยในตัว แต่หากลูกยังเล็ก และตอบไม่ได้ เราจะต้องเป็นคนค่อย ๆ เรียบเรียงเรื่องให้ลูกเข้าใจ
- ตบบวก คือการหากิจกรรมที่ลูกชอบให้เขาทำเพื่อเป็นการปลอบลูก เช่น เล่านิทานให้ฟัง เล่นด้วยกัน แต่ไม่แนะนำให้เป็นสิ่งของ เพราะเด็กอาจเชื่อมโยงการหยุดร้องไห้กับการได้สิ่งของแทน
โดยทั่วไป เมื่อเริ่มทำเทคนิคเพิกเฉยในครั้งแรก การร้องไห้จะรุนแรงขึ้นและยาวนานกว่าปกติที่ลูกเคยงอแง แต่ไม่ต้องตกใจ เข้าใจผิด คิดว่าเราทำอะไรที่ไม่ถูกต้องหรือเปล่า ที่เป็นเช่นนี้ เพราะลูกรู้สึกได้ว่าพ่อแม่ไม่ง่ายเหมือนเดิม จึงแสดงอาการมากขึ้นเพื่อเรียกร้องให้เรากลับไปตอบสนองเขาแบบเดิม ขอให้อดทนไว้ก่อน อย่าใจอ่อนง่าย ๆ เพราะครั้งต่อ ๆ ไป อาการของเขาจะเบาลงเรื่อย ๆ
ต้นเหตุของเด็กเอาแต่ใจที่ควรรู้
รับมือลูกเอาแต่ใจ
ได้แก่ ผู้ปกครองอายุน้อยขาดความอดทนต่อการแสดงออกของเด็ก, ชีวิตคู่ไม่ราบรื่น, มีปัญหาทางสังคมเศรษฐกิจ, ขาดความรู้ความเข้าใจพฤติกรรมเด็ก, มีปัญหาจิตเวช หวาดระแวง ซึมเศร้า, มีความกดดันและเครียดเกี่ยวกับลูกที่ต้องดูแลตลอดเวลาและขาดการพักผ่อน, ตั้งความหวังกับเด็กสูงเกินไป, ไม่ต้องการเลี้ยงดูเด็ก
ได้แก่ พื้นฐานอารมณ์เป็นเด็กเลี้ยงยาก, ซนมาก, จิตวิทยาและพัฒนาการไม่สมวัย
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกร้องเอาแต่ใจ ทําไงดี วิธีแก้ปัญหาลูกเอาแต่ใจ แต่ละช่วงวัย ทำไมลูกชอบกรี๊ด ลงไปดิ้นกับพื้น
ที่มา : (Phyathai),(2),(gorillasis)
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!