เด็กในวัยทารกนั้น ยังเป็นวัยที่บอบบาง และยังไม่แข็งแรง การดูแลเด็กทารกจึงต้องมีความพิถีพิถัน และเอาใจใส่เป็นพิเศษ และแน่นอนว่าคุณแม่หลาย ๆ ท่าน อาจจะมีความจำเป็นต้อง พาลูกไปนอกบ้าน แต่ลูกกี่เดือนพาออกนอกบ้านได้ล่ะ?
การ พาลูกไปนอกบ้าน นั้นจะต้องใส่ใจอย่างละเอียดเป็นอย่างมาก เพราะเด็กในช่วงวัยทารกนี้ เป็นช่วงที่พัฒนาการทางด้านต่าง ๆ ยังไม่แข็งแรงสมบูรณ์มากนัก จึงอาจส่งผลต่อสุขภาพ และพัฒนาการด้านต่าง ๆ ต่อทารกได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพาทารกออกจากบ้านในวัยที่อายุต่ำกว่า 1 เดือน หากเดินทางไปในสถานที่ที่มีคนเยอะ ๆ ก็อาจทำให้เด็กเกิดการติดเชื้อได้
พาลูกออกนอกบ้านได้ตอนกี่เดือน
โดยปกติทั่ว ๆ ไปแล้ว ไม่มีอายุที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ทารกอายุเท่าใดถึงจะสามารถออกนอกบ้านได้ แต่ทารกที่อายุยังน้อย ในวัยทารกแรกเกิด จนถึงสามเดือน ภูมิคุ้มกันอาจยังไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ เมื่อมีการติดเชื้อต่าง ๆ จึงอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
ช่วงแรกเกิดของทารกเป็นช่วงที่พัฒนาการทางร่างกายไม่สมบูรณ์ มีโอกาสทำให้ติดเชื้อได้ง่าย ในช่วงสามเดือนแรกเป็นช่วงที่ภูมิคุ้มกันต่ำที่สุดและไม่ควรพาลูกออกนอกบ้านในระยะนี้ ควรหลีกเหลี่ยงไม่ให้ทารกสัมผัสกับเชื้อโรค ไปในสถานที่แออัด ผู้คนมาก อากาศถ่ายเทไม่สะดวก และการสัมผัสจากผู้คน เมื่อลูกถึงวัยที่มีสุขภาพดี แข็งแรง มีความพร้อมสมบูรณ์แล้ว คุณแม่ควรพาลูกออกจากบ้านเพื่อเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนบรรยากาศผ่อนคลาย และช่วยกระชับความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียมพร้อมให้ดีในการพาลูกออกนอกบ้าน ตามมาเช็กลิสต์จัดของใส่กระเป๋ากัน
นอกจากนี้เด็กเล็ก ๆ ในวัยนี้ ยังไม่ผ่านการฉีดวัคซีน หรือหากฉีดวัคซีนเพียงเข็มแรกแล้ว ก็อาจจะยังมีภูมิคุ้มกันที่ไม่ดีมากพอ จึงทำให้ร่างกายไม่สามารถต่อสู้กับโรคต่าง ๆ ได้ จึงทำให้สามารถติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่าย จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ โดนเฉพาะการติดเชื้อในกระแสเลือด และระบบประสาท
แต่เมื่อทารกอายุมากขึ้น เช่น อายุหกเดือน เด็กในวัยนี้ยังคงสามารถติดเชื้อได้ง่ายอยู่ โดยเฉพาะการติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ เนื่องจากภูมิต้านทานที่ได้จากคุณแม่เริ่มหมดไป ทารกในวัยนี้จึงจำเป็นต้องพึ่งพาภูมิคุ้มกันจากตัวเอง หรือภูมิคุ้มกันจากวัคซีนที่ได้รับ ร่วมกับภูมิคุ้มกันที่ได้จากนมแม่
เช็กความพร้อมก่อน
1. คุณพ่อคุณแม่ควรวางแผนการออกข้างนอกให้ดี ออกบ้านกี่ชั่วโมง หรือไปเที่ยวกี่วัน เพื่อจะได้จัดของลูกให้พอดี ช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สะดวกสบายขึ้น ไม่ต้องกังวลหรือต้องไปหาซื้อเพิ่มระหว่างทาง ที่สำคัญควรเตรียมของตั้งแต่ตอนกลางคืนให้ได้มากที่สุดเพื่อจะได้ไม่วุ่นวายในตอนเช้า
2. การเลือกเวลาเดินทางที่เหมาะสม อาจเลือกออกเดินทางในช่วงเวลาที่ลูกเต็มอิ่มแล้วหรือนอนระหว่างเดินทาง เพื่อให้ลูกได้มีเวลาพักผ่อนได้มากที่สุด
3. เอาใจใส่ลูก คอยสังเกตอาการลูกทุกครั้งที่ออกจากบ้าน ว่าลูกงอแง ไม่สบายตัว หิว ดูเวลาให้นม เวลานอนของให้ลูก และเวลาเปลี่ยนแพมเพิส อย่าให้ลูกสัมผัสโดนสิ่งของต่าง ๆ หรือเอามือเข้าปาก พยายามอย่าให้ใครมาใกล้ชิดลูกโดยไม่จำเป็น
4. ความปลอดภัยสำคัญที่สุด ระหว่างการเดินทางควรให้ลูกนั่งคาร์ซีท เลือกสถานที่ที่ไปให้เหมาะสมกับวัยของลูก และดูแลเขาให้ดีตลอดเวลาที่อยู่ออกบ้าน อย่าให้คลาดสายตาเด็ดขาด หากต้องค้างคืนควรเลือกโรงแรมหรือห้องพักที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก
Checklist เตรียมก่อนพาลูกเที่ยว
คาร์ซีท หรือเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็ก เพื่อความปลอดภัยคุณพ่อคุณแม่ควรฝึกให้ลูกนั่งคาร์ซีทระหว่างเดินทางตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะเดินทางใกล้หรือไกล เพื่อช่วยลดโอกาสการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ควรเลือกคาร์ซีทให้เหมาะกับขนาด น้ำหนักตัว ความสูง และอายุของลูก และควรติดตั้งและจัดท่านั่งให้ถูกต้อง แค่นี้ก็ปลอดภัยหายห่วงระหว่างเดินทาง
เซ็ตนมผง สำหรับคุณลูกที่ทานนมผงสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ นมผง คุณแม่ควรแบ่งแต่ละมื้อใส่กระปุกเล็ก ๆ จะได้ไม่ต้องพกกระป๋องใหญ่ให้หนัก และอุปกรณ์ในการชงอย่างขวดนมหรือกระติกน้ำร้อนไว้ชงนม คุณแม่อาจเลือกใช้แบบขนาดพกพาเพื่อสะดวกและที่สำคัญควรเตรียมให้พอดีสำหรับลูกทานหรือเกินไว้ก่อนก็ไม่เสียหาย
กระเป๋าเก็บอุณหภูมิหรือผ้าคลุมให้นม เหมาะสำหรับลูกที่ยังทานนมแม่ ควรพกกระเป๋าเก็บความเย็น/ร้อนไว้ใส่ถุงเก็บน้ำนม หรือคุณแม่ที่สะดวกใช้ผ้าคลุมให้นมเวลาให้นมหรือปั๊มลูกข้างนอกบ้านจะได้ไม่เขินอาย
ผ้าอ้อมสำเร็จรูป อุปกรณ์ที่จำเป็นและอำนวยความสะดวกให้กับคุณพ่อคุณแม่ที่สุด ควรพกให้เหมาะกับระยะเวลาการอยู่นอกบ้าน และเปลี่ยนบ่อยตามอายุของลูก ให้ลูกไม่รู้สึกอึดอัดไม่สบายตัว เมื่อใช้เสร็จควรเก็บทิ้งถังขยะให้เรียบร้อย
ชุดสำรอง ถุงเท้า ถุงมือ และผ้าห่ม เพื่อปกป้องลูกจากแสงแดดหรืออุณหภูมิที่เย็น ชุดสำรองไว้เปลี่ยนเวลาฉุกเฉิน อย่างการเลอะจากการอ๊อกนม การทานอาหาร การเล่นซน หรือการขับถ่าย คุณพ่อคุณแม่จะได้สบายใจ มีชุดเปลี่ยนเวลาลูกไม่สบายตัว
ผ้าขนหนูหรือผ้าอ้อม สำหรับเช็ดทำความสะอาดหรือเช็ดตัว ใช้กันเปื้อนเวลาลูกแหวะหรือน้ำลายไหล หรือทิชชู่เปียกสำหรับเด็กสารพัดประโยชน์ ใช้เช็ดทำความสะอาดปาก เช็ดหน้า หรือเช็ดก้น สะดวกสบาย
ครีมโลชั่นและยาที่จำเป็น ที่สำคัญที่สุดเลย คือ ยาประจำตัวของลูก (ถ้ามี) และยาป้องกันต่าง ๆ อย่างแอลกอฮอล์ล้างมือสำหรับเด็ก ยาแก้แพ้ ยาลดไข้ ยาทากันยุง ขี้ผึ้งทาตุ่มคัน ก็ควรพกไปด้วย
ขนม ของเล่น หรือจุกหลอก เตรียมของที่ลูกชอบติดตัวไปด้วยระหว่างเดินทางไว้เวลาลูกเบื่อหรือช่วยเบี่ยงเบนความสนใจ สร้างความเพลิดเพลิน เป็นตัวช่วยที่ดีเลย
ขวดน้ำ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะอากาศร้อนหรือลูกวิ่งเล่นเหนื่อยจนเสียเหงื่อ ต้องเติมน้ำให้ร่างกายเพื่อพิ่มความสดชื่นไม่ให้ลูกงอแง อาจพกกระติกแบบหลอดดูดที่ใช้งานง่ายไม่หกเลอะเทอะ หากเดินทางไกลหรือหลายวันคุณพ่อคุณแม่ควรพกอุปกรณ์ทานข้าวสำหรับลูก อย่างจาน ช้อน ส้อมที่ลูกคุ้นเคย เพื่อให้เขาทานข้าวได้ปกติแม้จะอยู่นอกบ้าน
เท่านี้คุณพ่อคุณแม่ก็พาลูกออกไปเที่ยวได้อย่างไร้กังวล
วิธีป้องกันการติดเชื้อ เมื่อต้องพาลูกออกนอกบ้าน
การพาลูกออกนอกบ้าน สิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือเรื่องสุขอนามัยของลูกน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องเดินทางไปในที่ที่มีผู้คนพลุกพล่าน ลูกอาจเกิดการติดเชื้อจากน้ำลาย น้ำมูก เสมหะ จึงควรต้องเตรียมตัวและป้องกัน โดยเรามีวิธีป้องกันการติดเชื้อในเด็กทารก ดังนี้
– เลือกสถานที่ที่ปลอดโปร่ง คนไม่เยอะ ไม่แออัด เพื่อป้องกันการติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจและเชื้อโรคอื่น ๆ
– ไม่อนุญาตให้ใครเข้าใกล้ทารกโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะผู้ที่กำลังป่วย
– ดูแลทารกไม่ให้เอามือ หรือหยิบสิ่งของต่าง ๆ เข้าปาก
– ล้างมือให้สะอาดทั้งคุณแม่ และลูกน้อย
– เลือกเสื้อผ้า ที่ให้ความอบอุ่นมากเพียงพอแก่ลูกน้อย
เพิ่มความปลอดภัยขณะเดินทาง
การเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว จะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อลงได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณแม่ต้องเตรียมคาร์ซีท เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย
คาร์ซีทนั้นมีความสำคัญอย่างมากขณะเดินทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคาร์ซีท ทารกแรกเกิด เพื่อป้องกันอันตราย ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ และลดโอกาสที่กระดูกต้นคอหัก อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุอีกด้วย
คาร์ซีทที่เราแนะนำนั้น ควรเป็นคาร์ซีทที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน มีความแข็งแรงทนทาน และสามารถโอบรับรอบศีรษะของเด็กทารกได้อย่างพอดี
คำแนะนำในการใช้คาร์ซีท
ในการให้เด็กทารกนั่งคาร์ซีทนั้น ควรปรับตำแหน่งสายคาดนิรภัยของรถยนต์ให้พอดีกับลำตัวของเด็ก เพื่อกระจายแรงกระแทกและไม่ให้เด็กทารกได้รับอาการบาดเจ็บมาก ตำแหน่งเข็มขัดนิรภัยที่เหมาะสมคือพาดเฉียงข้ามไหล่และต้องอยู่ในตำแหน่งกึ่งกลางของไหล่ด้านที่สายพาดผ่านกึ่งกลางหน้าอก ห้ามพาดอยู่บนคอเด็ก ส่วนสายพาดบริเวณหน้าตักห้ามพาดอยู่บนสะโพกของเด็ก
การติดตั้งคาร์ซีทที่ถูกต้องคือการติดตั้งที่เบาะหลัง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ปลอดภัยกว่าเบาะหน้า และป้องกันการกระแทกจากถุงลมนิรภัยเมื่อเกิดอุบัติเหตุ
ยาที่ต้องเตรียมเมื่อพาลูกออกจากบ้าน
เมื่อพาลูกออกจากบ้าน สิ่งหนึ่งที่คุณแม่ต้องระวัง คืออาการเจ็บป่วยของลูกน้อย การเตรียมกระเป๋ายาเบื้องต้น จะเป็นการเตรียมตัวรับมือกับอาการเจ็บป่วยได้อย่างทันท่วงที ยาที่ต้องเตรียมระหว่างเดินทาง มีดังนี้
- ยาแก้ปวดลดไข้
- ยาบรรเทาอาการหวัดคัดจมูก
- ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน
- น้ำเกลือแร่
- ยาแก้แพ้สำหรับผื่นคัน
- ยาทาแก้ผื่นแพ้
- ยาปฏิชีวนะแบบที่ใช้ทา
- อุปกรณ์อื่น ๆ เช่น พลาสเตอร์ยา สำลี เป็นต้น
เมื่อเตรียมพร้อมครบทุกอย่างแล้ว การพาลูกน้อยออกจากบ้านก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แต่อย่าลืมนะคะ ว่าการพาลูกออกนอกบ้านนั้น จำเป็นต้องระมัดระวังเรื่องความสะอาด สุขอนามัย และความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากภายนอก ถึงแม้ว่าจะไม่มีการระบุอย่างชัดเจนว่าลูกกี่เดือนพาออกนอกบ้าน แต่การรอให้เด็กโตขึ้นสักหน่อย ภูมิคุ้มกันจะทำงานได้ดียิ่งขึ้น และเสี่ยงต่อการติดเชื้อน้อยลงค่ะ
ที่มา : paolohospital , สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ , caringmybabies , thailandexhibition
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
พาลูกไปเที่ยว และเรียนรู้ ที่ คาเฟ่ ร้านอาหารมี กิจกรรมเสริมสำหรับเด็ก
พาลูกเล็กไปเที่ยว พาลูก 7 เดือนไป สถานที่ ท่องเที่ยวไหนดี สนุก ถ่ายรูปได้
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!