ภาวะสายสะดือย้อย ช่วยไม่ทัน ทารกในครรภ์เสียชีวิต
อันตรายจากสายสะดือย้อย ลูกในท้องเหมือนโดนปิดปากปิดจมูก ภาวะสายสะดือย้อย ทำลูกขาดออกซิเจน ไม่มีเครื่องมือใดป้องกันภาวะนี้ได้ อย่าลืมนะแม่! ต้องนับลูกดิ้น
เพจเมื่อหมอเป็นแม่ ได้โพสต์ถึงเรื่อง สายสะดือย้อย หรือ Prolapse cord ไว้ว่า
แม่ ๆ หลายคน เวลามาอัลตราซาวด์กับแม่หมอช่วงปลาย ๆ ไตรมาสที่ 3 มักจะถามแม่หมอว่า มีสายสะดือพันคอลูกไหมคะ? ที่ถามนี้ก็เพราะเป็นห่วง ว่าจะมีอันตรายกับลูกเราใช่ไหมคะ แม่หมอจะขอบอกตรงนี้เลยว่า มีอีกภาวะหนึ่ง ที่เมื่อเกิดแล้ว ถือเป็นเรื่องฉุกเฉิน ต้องช่วยลูกน้อยกันเร่งด่วนกว่าสายสะดือที่พันคอ มันก็คือ สายสะดือย้อยนี่แหละค่ะ
สายสะดือย้อย คือ การที่สายสะดือไหลมาอยู่ต่ำกว่าส่วนนำของลูกในท้องในเชิงกราน บางคนหลุดออกมาอยู่ในช่องคลอดกันเลย หากเกิดภาวะนี้แล้ว มีโอกาสที่ส่วนนำของเด็กจะกดลงไปที่สายสะดือ แล้วแย่ตรงไหน? ก็ตรงที่สายสะดือ เป็นสิ่งที่ส่งออกซิเจน อาหารไปให้ลูกน้อยในท้องเรา ดังนั้น เมื่อสายสะดือโดนกด ลูกเราก็อยู่ในภาวะขาดออกซิเจน เป็นอันตรายไม่ต่างจากโดนปิดปากปิดจมูกนั่นเองค่ะ
ทีนี้ ภาวะนี้ มักจะเกิดกับแม่ ๆ ที่มีน้ำเดินก่อนกำหนด โดยที่ส่วนนำของลูกยังไม่กระชับลงมาในเชิงกราน ที่สำคัญ ไม่มีเครื่องมือใดป้องกันภาวะนี้ได้ ย้ำ!! ป้องกันไม่ได้ ดังนั้น หากแม่ๆมีน้ำเดิน คือ น้ำใส ๆ ไหลออกทางช่องคลอดกลั้นไม่ได้ ควรรีบมา รพ.ให้เร็วที่สุดค่ะ!! เพื่อให้ลูกน้อยอยู่ในภาวะขาดออกซิเจนสั้นที่สุด ยิ่งถ้าเห็นเป็นสายสะดือย้อยลงมานอกช่องคลอด ให้นอนยกก้นสูง หายใจลึก ๆ นับลูกดิ้น แล้วให้คนพาส่งรพ.เพื่อช่วยคลอดทันทีค่ะ
แต่แม่ ๆ อย่าเพิ่งกังวล หรือจิตตกกับภาวะนี้มากเกินไปค่ะ อย่าลืมว่าเราต้องท้องอย่างมีความสุขด้วย การที่เราจะรู้ว่าลูกในท้อง โอเคอยู่หรือไม่ ก็คือ การนับลูกดิ้นนั่นเอง (ตามดูย้อนหลังเรื่องนับลูกดิ้นได้ค่ะ) ถ้ายังดิ้นดี ไม่ต้องกังวลอะไร ท้องต่อไปสวย ๆ ค่ะ
ที่มา : https://www.facebook.com/DoctorAsMother
สายสะดือย้อย อาจทำให้ทารกขาดออกซิเจน
สายสะดือย้อย คืออะไร
ภาวะสายสะดือย้อย หรือสายสะดือพลัดต่ำ เป็นภาวะที่สายสะดือย้อยลงมาอยู่ข้างๆ หรือต่ำกว่าส่วนนำของทารก มีอยู่ 3 ลักษณะ
- Overt prolapsed cord ในกรณีที่ถุงน้ำคร่ำแตก และพบสายสะดือย้อยลงมาอยู่ในช่องคลอด หรือโผล่ออกจากช่องคลอด
- Forelying cord หรือ Funic presentation เป็นภาวะที่สายสะดือถูกกดกับทางช่องคลอดได้เมื่อทารกเคลื่อนต่ำลง
- Occult prolapsed cord เป็นภาวะที่สายสะดือย้อยลงมาต่ำกว่าปกติ หรืออยู่ด้านข้างๆ ส่วนนำของทารก
สายสะดือย้อย เกิดจากอะไร
ภาวะสายสะดือย้อยไม่มีสิ่งบอกเหตุล่วงหน้า แต่สามารถเกิดได้เมื่อมีปัจจัยส่งเสริมเหล่านี้ที่ขัดขวางการเคลื่อนต่ำลงของส่วนนำของทารกไม่ให้กระชับกับส่วนล่างของมดลูก
สายสะดือย้อย ปัจจัยที่เกิดจากแม่
- ตั้งครรภ์มาแล้วหลายครั้ง
- อุ้งเชิงกรานผิดปกติ หรือแคบ
สายสะดือย้อย ปัจจัยที่เกิดจากทารก
- ส่วนนำผิดปกติ เช่น ทารกอยู่ในท่าก้น ท่าขวางหรือเฉียง หรือท่าที่ไม่เสถียร
- ทารกน้ำหนักน้อย เช่น น้อยกว่า 1,500 กรัม
- คลอดก่อนกำหนด
- ครรภ์แฝด
- ครรภ์แฝดน้ำ
- สายสะดือยาวผิดปกติ
บทความแนะนำ ท่าทารกในการคลอด
ปัจจัยอื่นๆ
- ถุงน้ำคร่ำแตกขณะที่ส่วนนำยังไม่กระชับกับเชิงกราน
- การทำ amnioinfusion หรือการใส่สายวัดความดันในโพรงมดลูก
- การหมุนกลับท่าเด็กทางหน้าท้อง
จะทราบได้อย่างไรว่าคุณแม่มีภาวะสายสะดือย้อย
การวินิจฉัยภาวะนี้สามารถทราบได้จากการตรวจภายใน เมื่อสอดนิ้วเข้าไปและสัมผัสกับสายสะดือ หรือมองเห็นว่าสายสะดือโผล่พ้นช่องคลอดออกมา
อันตรายจาก ภาวะสายสะดือย้อย
ภาวะสายสะดือย้อยไม่เป็นอันตรายต่อคุณแม่ แต่เป็นอันตรายโดยตรงต่อทารกในครรภ์ เนื่องจากหากสายสะดืออยู่ก่อนส่วนนำของทารก จะทำให้เมื่อทารกเคลื่อนตัวลงมา สายสะดือจะถูกศีรษะหรือส่วนนำของทารกกดทับกับช่องทางคลอด ทำให้การไหลเวียนของเลือดไปสู่ตัวเด็กไม่ดี ส่งผลให้ทารกขาดออกซิเจน หากช่วยเหลือไม่ทันเวลาทารกอาจเสียชีวิตได้
ในกรณีที่พบสายสะดือย้อยในคุณแม่ที่อายุครรภ์น้อยกว่า 24 สัปดาห์ คุณหมอจะพิจารณาเป็นรายๆ ไป โดยอาจให้ทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์ หรือสังเกตอาการภายใต้การดูแลที่เหมาะสม
การช่วยเหลือเมื่อเกิดภาวะสายสะดือย้อย
การช่วยเหลือแบบฉุกเฉิน ได้แก่
- จัดให้คุณแม่นอนในท่ายกก้นสูง หรือใช้หมอนหนุนให้ก้นสูง เพื่อช่วยป้องกันส่วนนำไม่ให้ลงมากดสายสะดือ
- สอดมือเข้าไปในช่องคลอดแล้วดันส่วนนำไว้ไม่ให้เคลื่อนลงมากดสายสะดือ
- ให้ออกซิเจนแก่คุณแม่ เพื่อให้ทารกได้รับออกซิเจนมากขึ้น
- ให้สายสะดือย้อยอยู่ในช่องคลอด ซึ่งอุ่นและไม่แห้ง
- ทำให้กระเพาะปัสสาวะโป่งตึงดันมดลูกและหัวเด็กไม่ให้กดทับสายสะดือ โดยการใส่น้ำเกลือ 500-700 มล. ทางสายสวนปัสสาวะ
การผ่าตัดคลอด
ควรได้รับการผ่าตัดคลอดให้เร็วที่สุด เพราะความรวดเร็วในการทำคลอดเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการลดอัตราการเสียชีวิตของทารก หากระยะเวลาตั้งแต่วินิจฉัยโรคได้ จนถึงคลอดเกินกว่า 30 นาที อัตราการเสียชีวิตของทารกพบประมาณร้อยละ 50 แต่หากใช้เวลาน้อยกว่า 30 นาที อัตราการเสียชีวิตจะลดเหลือร้อยละ 15 เท่านั้น
ภาวะสายสะดือย้อยป้องกันได้หรือไม่
คุณหมอจะทำการอัลตราซาวนด์คุณแม่กลุ่มเสี่ยง เช่น ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด ส่วนนำผิดปกติ ทารกอยู่ในท่าก้น ท่าขวางหรือเฉียง หรือท่าที่ไม่เสถียร เพื่อดูตำแหน่งของสายสะดือ ช่วยลดอัตราการเกิดสายสะดือย้อยได้ หากสงสัยว่ามีภาวะสายสะดือย้อยคุณหมออาจพิจารณาให้คุณแม่นอนโรงพยาบาลเพื่อตรวจติดตามการเต้นของหัวใจทารก การหดรัดตัวของมดลูก และพิจารณาให้ผ่าตัดคลอดในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น
แม้ภาวะสายสะดือย้อย หรือสายสะดือพลัดต่ำ จะเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ แต่เป็นปัญหาที่พบไม่บ่อย และหากถึงมือแพทย์เร็ว ก็จะสามารถช่วยเหลือให้ทารกรอดชีวิตได้อย่างปลอดภัยค่ะ
ที่มา www.medicine.cmu.ac.th, drseri
ภาพประกอบ DeCherney AH, Nathan L, Laufer N, Roman AS: CURRENT Diagnosis & Treatment: Obstetrics & Gynecology, 11e: www.accessmedicine.com
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
5 อาการแทรกซ้อนแบบนี้ไม่ดีแน่แม่ท้องต้องระวัง
ภาวะเสี่ยงขณะตั้งครรภ์ ที่แม่ท้องไม่ควรมองข้าม