ปัญหาน้ำนมแม่ น้ำนมน้อย
ปัญหาน้ำนมแม่ น้ำนมน้อย เรื่องจริงหรือแม่คิดไปเอง! เพจมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย โดยแอดมินกุ๊ก #มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ได้โพสต์เรื่องความเข้าใจผิด 7 ประการที่ทำให้คิดว่าตัวเองมี #น้ำนมน้อย ซึ่ง 7 เหตุผลที่คุณแม่ชาวออสเตรเลียเข้าใจผิดคิดว่าตัวเอง “มีน้ำนมน้อย” ความเข้าใจผิด 7 ประการนี้ก็ไม่ต่างกันนักกับแม่ไทย ควรหาสาเหตุก่อนที่จะโทษตัวเองว่ามีน้ำนมน้อยนะคะ
เต้านมไม่คัด
การรู้สึกว่าเต้านมไม่คัดตึงในอาทิตย์แรก ๆ ทั้ง ๆ ที่ความจริงลูกดูดนมได้ดีและดูดบ่อย (นมระบายออกจากเต้าตลอดเวลาจึงไม่คัด) ก็เลยคิดว่าน้ำนมไม่พอ ถ้าเด็กน้ำหนักขึ้นดี ขับถ่ายปกติ ไม่มีปัญหา
ลูกหลับยาวเลยไม่ปลุก
ความจริงช่วงแรกเกิดใหม่ ๆ เป็นช่วงที่ต้องปลุกให้ลูกดูดนมบ่อย ๆ ค่ะถึงจะได้มีน้ำนมพอ ในช่วงสัปดาห์แรก ๆ ถ้าหากว่าลูกหลับนานกว่า 3 ชั่วโมงก็ควรปลุกลูกขึ้นมาดูดนมด้วยเหมือนกันเพราะลูกอาจได้รับนมไม่พอ ตัวคุณแม่เองก็อาจจะมีปัญหาเต้านมคัดและน้ำนมลดลงได้เช่นกัน
คุณแม่สามารถให้ลูกดูดนมได้บ่อยตามความต้องการของลูก เรียกว่าหิวเมื่อไรก็ให้กินเมื่อนั้น แต่โดยมากลูกจะดูดนมประมาณ 8-12 ครั้งต่อวันซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้น้ำนมมาเร็ว คุณแม่ไม่จำเป็นต้องเคร่งครัดกับการให้นมลูกตามเวลามากนักก็ได้ เพราะในแต่ละมื้อลูกอาจดูดนมได้ไม่เท่ากัน เพียงแค่หมั่นสังเกตว่า ลูกต้องการอย่างไรและเมื่อไรก็พอ เช่น บางครั้งลูกดูดนมแม่ไปสักระยะอาจผล็อยหลับได้ ก็ให้ใช้มือขยับเต้านมและบีบกดลงเบาๆ เพื่อกระตุ้นให้ลูกดูดนมต่อเนื่อง เป็นต้น
สำหรับเทคนิคปลุกลูกขี้เซาให้ลุกขึ้นมาดูดนม
- หรี่แสงไฟในห้องลง เพราะถ้าแสงจ้า ลูกจะหลับตา
- ถ้าห่มผ้าหรือสวมเสื้อหนา ให้เปลี่ยนเป็นเสื้อผ้าที่บางลง เพราะลูกจะหลับง่ายถ้าอุ่นมาก
- พูดคุยกับลูก และพยายามจ้องตาด้วย
- เขี่ยมือและเท้า หรือลูบหลังลูก
- เปลี่ยนผ้าอ้อม
- ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดบริเวณหน้าผากและแก้ม
ร้องหงุดหงิดขณะดูดนม
การที่ลูกมีอาการร้องหงุดหงิดขณะดูดนมแม่ ไม่ได้หมายความว่าแม่มีน้ำนมน้อย ยังมีหลายสาเหตุที่ทำให้ลูกร้องขณะดูดนม เช่น น้ำนมพุ่งแรงเกินไปจนลูกกลืนไม่ทัน (fast let down reflex) ดังนั้น ถ้าลูกร้องต้องหาสาเหตุก่อน
- คุณแม่ที่มีน้ำนมไหลพุ่งแรงจนทำให้ลูกกลืนไม่ทัน มีอาการสำลักและเบือนหน้าหนีออกจากเต้าไม่ยอมดูด อาจทำให้เข้าใจผิดคิดว่าตัวเองมีน้ำนมน้อยลูกจึงไม่ยอมดูด เป็นสาเหตุหนึ่งของการหันไปพึ่งนมผสมเสริม คุณแม่ที่มีน้ำนมพุ่งจะพบว่าพอลูกถอนปากเมื่อเริ่มดูดนมจะมีน้ำนมพุ่งแรงใส่หน้าลูกหรือเต้านมอีกข้างมีน้ำนมพุ่งออกแรงด้วย
- อาศัยท่าในการให้นม ให้แม่อยู่ในท่านอนหงาย ให้ลูกนอนคว่ำบนอกแม่ หรือใช้ท่ากึ่งนั่งกึ่งนอนเพราะจะทำให้น้ำนมไหลช้าลง เมื่อลูกดูดไปได้สักพัก น้ำนมจะไหลช้าลงเป็นปกติ คุณแม่ก็สามารถเปลี่ยนกลับท่าอื่นได้
- ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้บีบบริเวณลานนม หรือใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางคีบเหมือนคีบบุหรี่บริเวณลานนมเพื่อกดท่อน้ำนมทำให้น้ำนมไหลช้าลง แต่เมื่อน้ำนมไหลช้าลงแล้ว ก็เปลี่ยนมือเป็นท่าประคองเต้านมได้
- บีบน้ำนมออกเล็กน้อยก่อนให้ลูกดูด แต่อย่าบีบออกเยอะ มิฉะนั้น เต้านมจะสร้างน้ำนมมากขึ้น น้ำนมอาจพุ่งมากขึ้น
อ่านปัญหาน้ำนมแม่ น้ำนมน้อย ต่อหน้าถัดไป
ดูดนมแม่บ่อย+ดูดนาน
การดูดนมบ่อยหรือดูดนมนานในคู่แม่ลูกแต่ละคนแตกต่างกันไป ไม่ได้แปลว่าเพราะแม่มีน้ำนมน้อย ตราบใดที่ลูกกินนมแล้วแสดงอาการว่าได้รับน้ำนมเพียงพอ เช่น ถอนปากเอง ฉี่บ่อย 6-8 ครั้งต่อวัน อึอย่างน้อย 1 ครั้งทุกวัน น้ำหนักขึ้นปกติ แต่ถ้ากินไปหลับไปไม่ดีแน่
พญ.ปิยาภรณ์ บวรกีรติขจร อธิบายไว้ว่า แม่เห็นลูกหลับจึงเอาลูกออกจากเต้าเพราะเข้าใจว่าลูกอิ่มแล้ว พอจะเอาออกก็ร้องขอดูดต่อ หรือหลับได้ครู่เดียวก็ร้องหิวใหม่อีก ทำให้เข้าใจผิดคิดว่าตนเองน้ำนมน้อย แนะนำให้คุณแม่สังเกตว่าถ้าลูกหลับขณะกินนมและคายหัวนมออกเอง แสดงว่าลูกกินอิ่ม แต่ถ้ายังไม่คาย เพียงแต่อมหัวนมไว้ หรือดูดแค่เบาๆ คุณแม่ควรกระตุ้นให้ลูกดูดต่อโดย
- ใช้นิ้วชี้ที่ประคองด้านล่างของเต้านมเขี่ยริมฝีปากล่างของลูกเบาๆ เพื่อกระตุ้นให้ดูดต่อ
- ใช้ มือบีบเต้านมเพื่อไล่น้ำนมเข้าปากลูก ลูกจะกลืนน้ำนมและดูดต่อ เมื่อลูกหยุดดูด ก็บีบใหม่ ทำเป็นระยะๆ จนกว่าลูกจะอิ่ม และคายปากออกเอง แต่ถ้าบีบไล่น้ำนมสักพักแล้วไม่ได้ผล อาจเป็นเพราะน้ำนมในเต้านั้นลดน้อยลงและไหลช้าลง ก็ให้เปลี่ยนไปอีกเต้าหนึ่ง ทำเป็นระยะ ๆ จนกว่าลูกจะอิ่ม และคายปากออกเอง
- ถ้าไม่ยอมตื่นดูดต่อ ให้เอาลูกออกจากเต้า และปลุกให้ตื่นก่อน จึงนำเข้าเต้าเพื่อดูดนมอีกครั้ง
www.facebook.com/Thaibf/photos/a.387000974740813.1073741830.210210932419819/408890799218497/?type=3&theater
บีบน้ำนมได้น้อย
การดูดของลูกเป็นการเอาน้ำนมออกจากเต้าดีที่สุด การบีบน้ำนมเป็นทักษะที่แม่ต้องฝึก บีบผิดวิธีนมก็ออกน้อย แม่มักจะมีน้ำนมมากตอนเช้ามากกว่าตอนสาย ๆ ช่วงก่อนลูกดูดนมและหลังดูดนมก็ต่างกัน ดังนั้น การบีบน้ำนมได้น้อยไม่ได้หมายถึงมีน้ำนมน้อยเสมอไป วิธีบีบนมด้วยมือที่ถูกต้องทำตามนี้ค่ะ
www.facebook.com/Thaibf/photos/a.387000974740813.1073741830.210210932419819/504564392984470/?type=3&theater
ดูดนมขวดต่อได้
ถึงแม้ลูกจะดูดนมแม่ได้เพียงพอแล้ว แต่ถ้าแม่ให้นมขวดเพิ่ม ลูกสามารถดูดนมต่อได้อีกจนได้รับปริมาณนมมากเกินต้องการ แต่แม่มักจะคิดว่านมตัวเองมีไม่พอ กลับสร้างปัญหาใหม่จากการเสริมนมผสม
อยู่ ๆ ก็ไม่ยอมดูดนมทั้งที่ยังหิว
ลูกอายุ 5 สัปดาห์ กำลังดูดนมแม่แล้วอยู่ ๆ ก็ไม่ยอมดูดนม ทั้ง ๆ ที่มีอาการหิวนมอยู่ เลยคิดว่านมแม่ไม่พอ ลูกเดือนแรกมักจะหลับคาอกแม่ หลังจากหนึ่งเดือนแล้ว ถ้าน้ำนมแม่ไหลช้าลง ลูกอาจยังหิวนมอยู่ อาจจะร้องขณะดูดนม ทำให้แม่ไม่มั่นใจคิดว่านมแม่ไม่พอ แม่สามารถช่วยด้วยการทำ breast compression (บีบด้านบนเต้า) หรือเปลี่ยนให้ลูกดูดนมอีกข้างค่ะ
ที่มา : เพจ มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ทารกท้องเสียจากน้ำนมแม่ ลูกถ่ายจนก้นแดง เป็นสิบครั้ง ทั้งที่กินนมแม่อย่างเดียว
ลูกอาเจียน แหวะนม สำรอกนม ภาวะแหวะนมในทารก อันตรายร้ายแรงแค่ไหน
ลูกบ้านไหนชอบ หลับคาเต้า ทำไมน้า เด็กๆ เข้าเต้าแล้วเฝ้าพระอินทร์ตลอด
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!