ประสบการณ์คลอดลูกคนแรก
มาลุ้นไปกับ ประสบการณ์คลอดลูกคนแรก ของคุณแม่คนนี้ เมื่อกำหนดวันคลอดใกล้เข้ามา แต่ลูกไม่มีทีท่าอยากออกมาดูโลก จนถึงวันที่ปากมดลูกเปิด พร้อมข้อมูลการคลอด
เจ็บทรมานบนความภูมิใจ
ขอแชร์ประสบการณ์การคลอดที่เจ็บทรมาน บนความภูมิใจที่ไม่มีวันลืม อยากแนะนำแม่ ๆ ว่าคลอดธรรมชาติดีที่สุด ฟื้นตัวได้เร็วที่สุด เดินได้ทันทีแต่ห้ามเดินไว ช้า ๆ ไว้ก่อน น้ำหนักลดไว ตอนนี้แม่หนัก 48 กก. จาก 59.3 เหลืออีก 10 กก. น้ำหนักจะเท่าเดิมแต่คุณหมอไม่แนะนำ เดี๋ยวไม่มีแรงดูแลลูกเพราะตอนนี้น้องหนัก 5 กก. สูง 54 ซม.ค่ะ (จะครบ1เดือน) เป็นกำลังใจให้แม่ ๆ ที่กำลังตั้งท้องและตัดสินใจคลอดเองนะคะ
…คำนวณคร่าว ๆ น้ำหนักแรกเกิดที่ รพ.แม่และเด็กบอก 2,500-3,000 กรัม ก่อนท้องแม่หนัก 38 ชั่งล่าสุด 59.3 ขึ้น 21.3 เมื่อกำหนดวันคลอดใกล้มาถึง 40 วีค น้องนาวาก็ไม่มีท่าทีจะคลอดเลย ทั้ง ๆ ที่แม่พาเดินทางตั้งแต่รู้ว่าท้องจนมาถึง 36 วีคปิดเทอมพอดี (แต่ตอนทำงานก็ลุ้นจะคลอดอยู่ปากชมไหมหน๊อ เบอร์โทรรถรีเฟอร์ก็เอาไว้แล้ว) กลับมาอยู่ขอนแก่นก็เดินห้างทุกวัน สรรหาทุกวิถีทางที่ช่วยเร่งคลอด… ท่าผีเสื้อเอย สับปะรดเอย เดินบ่อย ๆ เอย แต่ยังไม่ลองมีอะไรกับสามี
พอถึงกำหนดเลยไปพบหมอที่คลินิกตามนัด (นัดถี่เข้าทุกสัปดาห์) นั่งรอหมอตอนเช้าเพราะหมอไปทำคลอดที่ รพ.ศรีฯ เกือบ 11 โมงหมอเลยตรวจปากมดลูก อ้าว!! เปิด 1 ซม.แล้ว หมอเลยบอกให้รีบทานข้าว (อาหารอ่อน ๆ) และส่งแอดมิทที่โรงพยาบาลขอนแก่นราม เพราะซื้อแพ็คเกจคลอดที่นั่น
พอถึง รพ. ก็จัดการเปลี่ยนชุด โกนขน ก่อนจะฉีดยาเร่ง พยาบาลก็ถามว่าแน่ใจแล้วใช่ไหมจะคลอดเองเพราะท้องใหญ่มาก แล้วอธิบายว่ายาเร่งจะมีฤทธิ์เหมือนจำลองการบีบรัดตัวของมดลูก ชม.ละ ซม.น่าจะได้คลอดช่วง 2-3 ทุ่ม เลยบอกค่ะ ตัดสินใจแล้ว ถ้าไม่เวิร์คค่อยผ่าก็ได้ค่ะ (2จิต2ใจ) แล้วพยาบาลก็ลงมือฉีดยาเร่งผ่านน้ำเกลือตอน 12.30 น. ยังคงเล่นมือถืออย่างสบายใจ
- จนเริ่มเจ็บถี่ ๆ ตอน 14.00 น. ปากมดลูกเปิด 3 ซม. ยังพอทนได้เล่นมือถือต่อ
- แล้ว 15.30 น. หมอมาตรวจดู ถุงน้ำคร่ำแตกแล้ว (ความรู้สึกอุ่นมากเหมือนฉี่ราดที่กลั้นไม่อยู่) หมอเลยฉีดยาที่ตูดให้บรรเทาอาการเจ็บปวด แต่ก็นอนตะแคงซ้ายทีขวาที เริ่มท้องแข็งมากปูดนูนขึ้นมานี่น่ะหรอ…ท้องแข็ง
- พอ 16.30 น. เริ่มทนไม่ไหวตัวบิดตัวงอ ท้องแข็งถี่เข้าเรื่อย ๆ แต่พยาบาลดูแลดีมาก ๆ ทั้งนวดทั้งบีบขาให้ พยาบาลมาตรวจอีกทีปากมดลูกเปิด 9 ซม.แล้ว เตรียมเข็นเข้าห้องคลอด
- 17.00 น. ซ้อมการเบ่งอยู่ 3 ทีตอนท้องแข็ง แม่นี่เบ่งก็เบ่งไม่เป็น ทีมพยาบาลก็เชียร์ช่วยเบ่งอีกที โห้วว…ความทรมานตอนนั้นสุดยอดมาก เจ็บปวดสุด ๆ พอหมอมาหมอก็เอามือล้วงเข้าไปในตอนนั้นไม่รู้ว่ากรีดแผลหรืออะไร ไม่เจ็บ แต่เจ็บเพราะท้องแข็งและอยากเบ่งมากกว่า หมอกับพยาบาลก็นับช่วยหายใจเข้าลึกครั้งเดียวแล้วกลั้นหายใจ เบ่งยาว ๆ ห้ามหายใจต่อเนื่องกัน อือๆๆๆๆๆ…..เบ่ง 5 ครั้ง
- จนเวลา 17.32 น. หมอบอกหยุด หัวลูกออกมาแล้ว ทำความสะอาดดูดสเลด น้ำคร่ำออก
หลังจากนั้น หมอก็ดึงออกพรวด ออกมาเองและวางไว้บนอกแม่ และนำไปทำความสะอาด ได้ยินแต่บอกว่า ตัวใหญ่นะ หนัก 3,396 กรัม ยาว 50 ซม. และแม่ก็หมดแรงแต่โล่งมาก หมอก็เย็บแผลไป แม่เลยขอผ้าห่มเพิ่มเพราะคลอดเสร็จหนาวจนสั่นทันที และเผลอหลับในห้องคลอดไปเกือบ 2 ชม. สะดุ้งตื่นมาเจอหน้าสามีและยายที่มาเฝ้าอยู่ข้างเตียง พยาบาลถึงย้ายมาอยู่ห้องพิเศษ
เป็นเรื่องราวดี ๆ ที่คนเป็นแม่จะเข้าใจอย่างซาบซึ้ง ทางทีมงานดิเอเชี่ยนพาเร้นท์ ขอแสดงความยินดีกับคุณแม่ด้วยนะคะ และขอบคุณที่มาแบ่งปันประสบการณ์คลอดลูกคนแรกกับเราค่ะ
ระยะคลอด 4 ระยะ
ระยะคลอด (Labor)
พญ. เกษมศรี ศรีสุพรรณดิฐ ได้อธิบายว่า ตามคำจำกัดความของการเข้าสู่ระยะคลอด (Labor) หมายความถึงการที่มีการหดรัดตัวของมดลูกที่สามารถทำให้ปากมดลูกมีการบางตัวและเกิดขยายได้ แต่โดยทั่วไปแล้ว การที่สตรีตั้งครรภ์เข้าสู่ระยะคลอดนั้น อาจมีอาการหรืออาการแสดงได้หลายประการ เช่น การเจ็บครรภ์ น้ำเดิน หรือมีมูกเลือดออกจากปากมดลูก และการที่จะวินิจฉัยว่าสตรีตั้งครรภ์รายใดมีการหดรัดตัวของมดลูกที่จะนำไปสู่การเข้าระยะคลอดอย่างแท้จริง (True labor) นั้น มีความจำเป็นต้องจำแนกภาวะเจ็บครรภ์เตือน (False labor) ออกให้ได้ เนื่องจากในช่วงไตรมาสท้ายของการตั้งครรภ์ กล้ามเนื้อมดลูกจะมีการเตรียมความพร้อมสำหรับการคลอด ดังนั้นจึงอาจมีอาการบางอย่างที่คล้ายคลึงกับการเจ็บครรภ์จริงได้
ถ้ามีการซักประวัติ ตรวจร่างกาย อย่างละเอียด จะสามารถแยกการเจ็บครรภ์จริงออกจากอาการเจ็บเตือนได้ไม่ยากนัก เนื่องจากลักษณะอาการเจ็บครรภ์ของ 2 ภาวะนี้ต่างกัน ได้แก่
การเจ็บครรภ์จริง
- เกิดขึ้นสม่ำเสมอ
- ระยะห่าง (interval) ถี่ขึ้นเรื่อยๆ
- ความแรง (intensity) เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
- รู้สึกปวดบริเวณหลังและท้อง
- ไม่สามารถบรรเทาการปวดด้วยยาแก้ปวด
- มีการเปิดขยายของปากมดลูก
การเจ็บครรภ์เตือน
- เกิดขึ้นไม่สม่ำเสมอ
- ระยะห่างยังคงห่างๆ เหมือนเดิม
- ความแรงยังคงเหมือนเดิม
- รู้สึกปวดบริเวณท้องน้อยเป็นส่วนใหญ่
- บรรเทาอาการได้ด้วยยาแก้ปวด
- ปากมดลูกไม่เปิดขยาย
ระยะของการคลอด (Stage of labour) ขบวนการคลอดทั้งหมดสามารถแบ่งได้เป็น 4 ระยะ ได้แก่
1. ระยะที่ 1 ของการคลอด (First stage of labour)
นับตั้งแต่สตรีตั้งครรภ์เริ่มมีการเจ็บครรภ์จริง (True labour pain) จนถึง มีการเปิดขยายของปากมดลูก จนหมด 10 เซนติเมตร (Fully dilatation of cervix) เรียกได้ว่าระยะนี้เป็นช่วงที่สตรีตั้งครรภ์อยู่ในระหว่างการรอคลอด
2. ระยะที่ 2 ของการคลอด (Second stage of labour)
เริ่มนับตั้งแต่สตรีตั้งครรภ์มีการเปิดขยายของปากมดลูก 10 เซนติเมตร จนถึงระยะที่ทารกคลอด หรือเรียกได้ว่าสตรีตั้งครรภ์อยู่ในระหว่างการเบ่งคลอด
3. ระยะที่ 3 ของการคลอด (Third stage of labour)
เริ่มตั้งแต่หลังจากทารกคลอดจนถึงรกคลอด หรือเรียกได้ว่าเป็นระยะเด่นของการทำคลอดรก
4. ระยะที่ 4 ของการคลอด (Fourth stage of labour)
เป็นชั่วโมงแรกหลังจากที่รกคลอดเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากว่าเป็นระยะที่มีความสำคัญ ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการตกเลือดหลังคลอดมักเกิดขึ้นได้บ่อยในช่วงเวลานี้
อ่านเพิ่มเติม https://www.med.cmu.ac.th
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
แพ้ท้อง อยากกินดิน อยากกินงู เหม็นผัว อาการคนท้องไตรมาสแรก แม่ท้องจะกินสามีห้ามขัด
ท้องแข็งแบบต่างๆ แยกอย่างไร แบบไหนลูกโก่งตัว แบบไหนมดลูกบีบ แบบไหนใกล้คลอด
นับถอยหลังสู่วันคลอด คุณหมอแนะ ใกล้คลอดแล้ว ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
ตกเลือดหลังคลอดเพราะรกค้าง ต้องสังเกต สีของเลือดหลังคลอดให้ดี
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!