พ่อแม่ที่มีลูกน้อยวัยเริ่มทานอาหารเสริม มักจะคอยสังเกตว่า ทารกฟันขึ้น แล้วหรือยัง เพื่อที่จะได้ปรับเปลี่ยนอาหารให้เหมาะสม หรือบางคนอาจจะเป็นกังวลเพราะว่า ทารกร้องไห้มาก งอแงไม่หยุด บางครั้งก็เป็นไข้ นั่นเป็นเพราะฟันขึ้นหรือเปล่า แล้วเวลาทารกฟันขึ้นจะมีอาการอย่างไร มีวิธีรับมืออย่างไรบ้างบทความนี้จะทำให้คุณเข้าใจพัฒนาการของฟันลูกมากขึ้นค่ะ
ทารกฟันขึ้น ตอนกี่เดือน
โดยทั่วไปแล้ว ทารกจะเริ่มมีฟันน้ำนมขึ้นเมื่อมีอายุได้ประมาณ 6 เดือน แต่ทารกบางคนก็อาจจะขึ้นเร็วกว่านี้ บางคนก็อาจจะเกิดมาพร้อมกับฟันเลยก็เป็นไปได้ ในขณะที่บางคน ฟันก็อาจจะขึ้นช้า หรือทารกบางคน ฟันน้ำนมอาจจะขึ้นหลังจาก 1 ขวบไปแล้วก็มี
ทารกฟันขึ้นมีอาการอย่างไร
- เริ่มมีน้ำลายเยอะ เนื่องจากเหงือกได้รับการกระตุ้นด้วยฟันที่เริ่มงอก
- มีผื่นแดง ๆ แห้ง ๆ ขึ้นบริเวณหน้าและลำคอ เนื่องจากมีน้ำลายไหลออกมามาก
- ชอบกัดสิ่งของที่อยู่ใกล้ตัว เนื่องจากเด็กจะรู้สึกรำคาญ ไม่ว่าจะเป็นของเล่น หรือแม้แต่หัวนมของคุณแม่
- เหงือกบวมแดง และจะเริ่มร้องไห้ งอแง เพราะอาการเจ็บเหงือก
- ทารกบางคนอาจมีอาการไข้ แต่จะมีไข้ไม่มาก และมักจะเป็นไข้ไม่เกิน 3 วัน ซึ่งหากลูกเป็นไข้นานกว่านั้น ควรพาลูกไปพบคุณหมอ
- ชอบเอามือมาจับที่แก้ม เพราะรำคาญที่เหงือก หรือขากรรไกร
ทารกฟันขึ้น งอแง ร้องไห้ รับมืออย่างไร
ลูกฟันขึ้น ฟันซี่แรก
1. ใช้ยางกัด
เมื่อทารกฟันขึ้น เด็กก็มักจะชอบกัดทุกอย่างที่ขวางหน้า ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจจะใช้ยางกัด หรือของเล่นสำหรับเคี้ยวแบบปลอดสาร BPA ซึ่งจะสามารถบรรเทาอาการเจ็บปวดได้ เพราะการเคี้ยวจะช่วยให้เนื้อเยื่อที่เหงือกแยกออก และฟันก็จะแทงขึ้นมาได้ง่ายขึ้น
2. นวดเหงือกทารก
ก่อนที่จะนวดเหงือกให้ลูก ต้องล้างมือให้สะอาด และเหงือกของลูกต้องไม่บวม หรือเจ็บมาก ถ้าลูกยอมให้คุณสอดนิ้วเข้าไป ให้นวดเหงือกของลูกเบา ๆ อย่างช้า ๆ
3. ความเย็นช่วยลดอาการบวม
คุณพ่อคุณแม่อาจจะใช้ยางกัดในข้อ 1 หรืออาจจะใช้จุกนมหลอก แช่ตู้เย็นไว้ แต่อย่าให้เย็นจัดจนเกินไป หรืออาจจะใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำเย็นแล้วบิดหมาด ๆ เพื่อบรรเทาอาการปวดบวมของเหงือกทารกก็ได้นะครับ
4. ใช้ยาแก้ปวด
แต่ก่อนที่จะใช้ยาแก้ปวด-ลดไข้สำหรับเด็กนั้น ควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง และหากอาการปวด บวม หรืออาการไข้ของลูกยังไม่บรรเทาลง ควรพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อตรวจอาการต่อไป
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
7 วิธีที่ทารกใช้บอกรักคุณ “แม่จ๋าหนูรักแม่นะ”
ถุงเท้าทารก รองเท้าเด็กอ่อน ยังเดินไม่ได้ จะให้ใส่ทำไม?
หลังจากให้นมแม่แล้ว ควรให้ทารกกินน้ำตามไหม?
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!