ตัดเล็บทารก เข้าเนื้อ เลือดออก
ยายแค่หวังดี เห็นหลานเล็บยาว กลัวทารกเล็บข่วนหน้า กลายเป็นว่า ตัดเล็บทารก เข้าเนื้อจนเลือดออก แผลลุกลาม ติดเชื้อในกระแสเลือดเสี่ยงเสียชีวิต
กลัวทารกเล็บข่วนหน้า ยายเลยตัดเล็บทารก 10 เดือน
เพจเรื่องเล่าจากโรงหมอ โพสต์เล่ากรณีคุณยายตัดเล็บทารก 10 เดือน นิ้วอักเสบและติดเชื้อในกระแสเลือด ว่า
ตัดเล็บทารก เข้าเนื้อ เลือดออก ทารก 10 เดือน แผลลุกลาม ติดเชื้อในกระแสเลือด
ตัดเล็บลูก…เรื่องไม่เล็ก…
เมื่อวาน น้องหมอเด็กส่งเบบี๋วัยสิบเดือนมาปรึกษา ประวัติว่าพ่อกับแม่ เพิ่งพากลับไปเยี่ยมคุณยายต่างจังหวัด
สองสามวันก่อน คุณยายเห็นหลานเล็บยาวจะข่วนหน้า เลยตัดให้ จากนั้นนิ้วโป้งเท้าเริ่มบวม แดง อักเสบ มีไข้สูง
พามาพบคุณหมอเด็ก ตรวจร่างกาย เจาะเลือด จำนวนเม็ดเลือดขาวต่ำเตี้ย วินิจฉัยว่า นิ้วอักเสบ และติดเชื้อในกระแสเลือด ได้ยาปฏิชีวนะมา
หนึ่งคืน บริเวณข้างนิ้วเท้าบวมขึ้น เปลี่ยนเป็นสีดำ ไข้สูงลอย 40 องศา ไม่ลดลงเลย
Dx periungual cellulitis+necrosis c sepsis
ที่ห้องตรวจนรีเวช ตรวจดูแล้วนิ้วมีเนื้อเน่าตายด้านข้าง ๆ จริง เท้าบวม เด็กซึมมาก ทำการผ่าตัดถอดเล็บบางส่วน เลาะเนื้อตาย มีหนองไม่มาก กรีดระบายหนองและเลือดออก ระหว่างทำ ซึ่งน่าจะเจ็บสุด ๆ แต่คนไข้ซึม นิ่งจนแทบไม่มีเสียงร้อง น่าเป็นห่วง
วันนี้ไปเยี่ยมเมื่อเช้า พ่อหนุ่มไข้หายวับ เท้ายุบบวม แผลสีแดงสวย เริ่มมีฤทธิ์เดชต่อต้านโวยวายหมอตอนเปิดแผลแล้ว เป็นสัญญาณที่ดีมาก
ขออนุญาตคุณพ่อคุณแม่และคุณอาที่ดูแล นำรูปมาโพส์เตือนให้พ่อแม่ทุก ๆ คนระวังกันนะครับ แค่ตัดเล็บผิด ก็ลุกลามจนติดเชื้อในกระแสเลือด อันตรายถึงชีวิตได้นะเอ้อ…
หมายเหตุ… เล็บของทารก เริ่มปรากฏให้เห็นมาตั้งแต่ในท้องช่วงต้นไตรมาสสอง แล้วพัฒนาต่อมาเรื่อย ๆ มีองค์ประกอบหลักคือ เคราติน
ช่วงเดือนแรกของขีวิต เล็บทารกจะยังอ่อนนุ่ม แล้วค่อย ๆ หนาขึ้น แข็งขึ้นตามการเจริญเติบโต คุณแม่คุณพ่อมักกังวลว่า เล็บลูกจะยาว และคมจนไปข่วนผิวหนัง จิ้มตา การดูแลเล็บให้ไม่ยาวและแหลมคมจึงมีความสำคัญ
วิธีดูแลเล็บทารก
- โดยเฉลี่ยเล็บมือทารกจะงอกยาวขึ้นวันละ 0.1 มม. ส่วนเล็บเท้าจะช้ากว่านั้น เด็กจึงควรได้รับการดูแลเล็บมือเฉลี่ย 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ และเล็บเท้า 2-3 ครั้งต่อเดือน
- ช่วงเดือนแรก เนื่องจากเล็บยังนิ่ม/เปราะ จึงแนะนำให้ใช้การตะไบ มากกว่าการตัด แต่หลังจากนั้น เล็บจะแข็งแรงขึ้น อาจใช้วิธีการตัดเล็มด้วยกรรไกรตัดเล็บเฉพาะของทารก
วิธีตัดเล็บทารก
- การตัดแต่งเล็บให้ยึดหลักว่า เล็บมือให้ตัดตามความโค้งของเล็บ
- ส่วนเล็บเท้าให้ตัดเป็นเส้นตรงระหว่างจมูกเล็บทั้งสองข้าง และอาจตะไบมุมเพื่อลบคม
- ห้ามตัดชิดเข้ามาลึกเกินไป ควรเว้นขอบเล็บด้านนอกสีขาวๆ ห่างจากเนื้อด้านใน 1-2 มม.เสมอ
ที่มา : เพจเรื่องเล่าจากโรงหมอ
การตัดเล็บทารกและเด็กอ่อน
- เลือกใช้กรรไกรสำหรับตัดเล็บเด็กโดยเฉพาะ ปัจจุบันมี 3 แบบ คือ แบบกรรไกรตัดเล็บผู้ใหญ่ แบบกรรไกรตัดกระดาษ ทั้งสองแบบนี้ขึ้นอยู่กับว่า คุณแม่ใช้แบบไหนแล้วถนัดกว่ากัน ที่ตัดเล็บอัตโนมัติ ทำหน้าที่เหมือนตะไบเล็บ ไม่ต้องกลัวว่าจะตัดเข้าเนื้อลูก
- เวลาที่เหมาะสำหรับการตัดเล็บทารกที่สุด คือ ตอนที่ลูกหลับ แต่ไม่ควรตัดเล็บเวลากลางคืนที่แสงสว่างไม่เพียงพอ เพราะมีโอกาสที่จะตัดถูกนิ้วของลูกได้
- ทำความสะอาดกรรไกรตัดเล็บด้วยแอลกอฮอล์ก่อนตัด
- ทาโลชั่นที่เล็บ หรือตัดเล็บทารกหลังอาบน้ำ เพื่อให้เล็บอ่อนนุ่มตัดง่าย
- ตัดตรง ๆ ทีเดียวให้ขาด แล้วเล็มมุมที่เหลือให้มน
- ใช้มือลูบเพื่อสำรวจว่าตรงไหนยังคม จากนั้นใช้ตะไบตะไบขอบเล็บเบาๆ
คำเตือน ไม่ควรกัดเล็บลูก เพราะแบคทีเรียจากปากคุณแม่จะเข้าสู่ผิวหนังลูกผ่านบาดแผลเล็กๆ ที่อาจมองไม่เห็นบนนิ้วลูกได้
ตัดเล็บทารกเข้าเนื้อต้องทำยังไง
สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่เผลอตัดเล็บเข้าเนื้อเบบี๋เลือดออก ขอให้ตั้งสติ ไม่ต้องตกใจ และทำดังนี้
- ห้ามเลือด โดยใช้ผ้าแห้งกดเบาๆ บริเวณแผล หรือใช้ผ้าพันนิ้วไว้
- ระวังอย่าให้ลูกเอานิ้วเข้าปาก
- เมื่อเลือดหยุดให้ใช้น้ำสะอาดล้างแผลให้สะอาด
- ระวังไม่ตัดซ้ำที่เดิม แผลลูกจะหายเองตามธรรมชาติ
- แต่หากเลือดไม่ยอมหยุด ควรพาไปพบคุณหมอ
อย่าประมาทนะคะ ตัดเล็บเล็ก ๆ ของลูก ไม่ใช่เรื่องเล็ก อาจลุกลามเป็นแผล ติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ยิ่งวัยทารก ยิ่งต้องระวังมาก ๆ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
วิธีเลี้ยงทารกให้ฉลาด อารมณ์ดี โดยใช้อ้อมกอดของพ่อแม่
10 วิธีดูแลทารกแรกเกิด พ่อแม่ควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไรบ้าง
สิ่งที่หมอสูติอยากให้แม่รู้ก่อน ดูแลทารกแรกเกิด และการดูแลทารกแรกคลอดในห้องคลอด
ลูกเป็นหวัด ทำอย่างไรให้หายป่วยเร็ว แม่สงสารจับใจ ตัวเล็กแค่นี้ป่วยบ่อยเหลือเกิน เมื่อไหร่จะหาย
*ภาพและข้อมูลมีลิขสิทธิ์เจ้าของโดย บริษัท ทิคเกิ้ลมีเดีย จำกัด ไม่อนุญาตให้คัดลอกข้อมูล และนำรูปภาพไปเผยแพร่ต่อไม่ว่าวิธีใด ๆ หากฝ่าฝืน ทางบริษัทฯจะดำเนินการตามกฎหมาย เว้นแต่ได้มีการขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรกับทางบริษัทฯเรียบร้อยแล้ว
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!