ลูกแพ้นมวัว หรือเป็นโรค แพ้โปรตีนนมวัว เกิดจากการที่ร่างกายของทารกมีปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนในนมวัว และแสดงอาการแพ้ออกมาได้หลายรูปแบบ หลายระบบ และมีระดับความรุนแรงแตกต่างกัน โรคแพ้นมวัวพบบ่อยในวัยทารก เนื่องจากระบบย่อยอาหาร น้ำย่อยต่าง ๆ และระบบภูมิคุ้มกันของหนูน้อยแรกเกิด ยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์เท่าไรนัก
ในจำนวนของทารกเกิดใหม่ทั่วโลกจะมีเด็กที่มีอาการแพ้นมวัวอยู่ประมาณ 3% สำหรับประเทศไทยซึ่งมีอัตราการเกิดใหม่ประมาณ 600,000 (การคาดประมาณประชากรของประเทศไทยปี พ.ศ.2533 – 2563) จะพบคุณแม่ที่มี ลูกแพ้นมวัว ได้ถึงปีละมากกว่า 18,000 คน
อาการแพ้นมวัว เป็นอย่างไร ?
ทารกขวบปีแรกจะแสดงอาการแพ้โปรตีนนมวัว ได้ทั้งแบบเฉียบพลัน คือ ภายใน 1 – 3 ชั่วโมง หรือค่อย ๆ แสดงอาการอย่างช้า ๆ หลังได้รับนมวัวไป 2 – 3 สัปดาห์ และจะเกิดขึ้นหลังจากลูกน้อยได้รับนมวัวไปภายในไม่เกิน 24 สัปดาห์หรือ 6 เดือน โดยมีอาการ ดังนี้
1.อาการทางผิวหนัง เช่น ผื่นลมพิษ สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งตัว หรือมีแค่ริมฝีปากเจ่อบวม หรือเป็นผื่นเม็ดทรายขึ้นทั้งตัวเป็นหย่อมๆ รวมทั้งแขน ขา และตามข้อพับต่างๆ
2.อาการทางเดินหายใจ เช่น น้ำมูกไหล ไอแห้ง คัดจมูก นอนกรน หายใจมีเสียงหวีด หอบ มีเสมหะในลำคอ หลอดลม หรือ ปอดอักเสบจนไอเป็นเลือดสดๆ ออกมา
3.อาการทางเดินอาหาร เช่น แหวะนม สำรอกนม อาเจียน ร้องกวนตลอดคืน โคลิค ถ่ายเหลวเรื้อรัง ถ่ายมีเลือดปน หรือท้องผูกรุนแรง บางรายมีอาเจียนเป็นเลือดสดๆ หรืออาเจียนรุนแรงมากจนช็อคเพราะขาดน้ำ
ทั้งนี้ ทารกอาจมีอาการแพ้ได้มากกว่า 2 อาการ หรือ 2 ระบบ หรือมีอาการแพ้รุนแรงเฉียบพลันทั่วตัว จากการรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยเด็กในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในช่วงเวลา 8 ปี (พ.ศ.2546 – 2554) โดย ศ.พญ.จรุงจิตร์ งามไพบูลย์ พบว่าเด็กทารกที่ได้รับการวินิจฉัยว่า แพ้นมวัว มักแสดงอาการทางผิวหนังร้อยละ 20.5 ในระบบทางเดินอาหารร้อยละ 22.5 และ ในระบบทางเดินหายใจ ร้อยละ 43.2 นอกจากนี้ยังพบว่ามีอาการแพ้อาหารอื่น เช่น ไข่ แป้งสาลี ถั่ว และอาหารทะเล ร่วมด้วย
ลูกแพ้นมวัว ได้อย่างไร ? สาเหตุเพราะ แม่กินนมวัว จริงหรือ ?
- ครอบครัวจากพันธุกรรม โดยเฉพาะพ่อแม่ มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้
- คุณแม่มีประวัติทานนมวัวในช่วงตั้งครรภ์มากกว่าปกติ จนไปกระตุ้นให้เกิดการแพ้ในทารก
- ทารกทานนมได้น้อย ทำให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้น้อยมาก
- มีประวัติเปลี่ยนนมหลายยี่ห้อ
- ในกรณีที่ ทารกทานนมแม่อย่างเดียว อาจมีประวัติแม่ทานนมวัวมากกว่าปกติในขณะให้นมบุตร โปรตีนนมวัวที่ทารกได้รับผ่านน้ำนมแม่ จะไปกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ในทารกได้
เลือกป้องกันไม่ให้ลูกแพ้โปรตีนนมวัว ควรดูแลอย่างไร ?
- ให้ทารกทานนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก เพราะนมแม่ช่วยลดโอกาสเสี่ยงการเกิดโรคภูมิแพ้ และยังมีโปรตีนที่ผ่านการย่อยบางส่วน ทำให้ขนาดโมเลกุลเล็กลง จึงไม่กระตุ้นให้เกิดการแพ้ อีกทั้งยังมี จุลินทรีย์ที่ดี บิฟิดัส บีแอล ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
- เพื่อป้องกันการแพ้โปรตีนนมวัวที่อาจปะปนมาในนมแม่ ตลอดช่วงให้นมบุตร แม่ไม่ควรดื่มนมวัว และทานผลิตภัณฑ์จากนมวัวเป็นประจำในทุกๆวัน เนื่องจากโปรตีนนมวัวทั่วไปที่ชื่อ เบต้าแลคโตกลอบูลิน (Beta Lactoglobulin) จะมีขนาดใหญ่ เป็นสาเหตุให้ลูกน้อยมีโอกาสเสี่ยงที่เกิดโรคภูมิแพ้ เพราะโปรตีนแปลกปลอมนี้จะไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มร่างกายในระบบทางเดินอาหารให้เกิดกลไกการต่อต้าน ทำให้แสดงอาการแพ้ออกมาในระบบต่าง ๆ ดังนั้นจึงควรทานอาหารให้มีความหลากหลายแบบสมดุล ไม่จำเป็นต้องงดอาหารกลุ่มเสี่ยงใดๆ เพราะจะทำให้คุณภาพของสารอาหารในนมแม่ลดลง
- ในกรณีที่ไม่สามารถให้นมแม่ได้ หรือมีความจำเป็นต้องใช้นมผสม สามารถขอรับคำปรึกษาจากแพทย์เกี่ยวกับ โปรตีนที่ผ่านการย่อยแล้วบางส่วน Hypoallergenic (HA) ซึ่งช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคภูมิแพ้ได้ ตามคำแนะนำแนวทางป้องกันโรคภูมิแพ้จากสมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืด และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย
ลูกแพ้โปรตีนนมวัว รักษาหายขาดได้หรือไม่ ?
อาการแพ้นมวัวจะค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น จนสามารถหายขาดจากการแพ้โปรตีนนมวัวได้ ถ้าได้รับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างถูกต้องโดยเร็วที่สุด โดยทั่วไปถ้ามีอาการแพ้ทางระบบทางเดินอาหารมักจะหายภายในอายุ 1-2 ปี แต่ถ้าเป็นทางระบบทางเดินหายใจและทางผิวหนังส่วนใหญ่จะหายภายในอายุ 3-5 ปี ในกรณีที่แพ้แบบรุนแรงหรือแพ้อาหารหลายชนิดร่วมกันอาจใช้เวลานานจนถึงอายุ 10 ปีได้
ดังนั้น หากสงสัยว่า ลูกแพ้นมวัว ให้รีบพาไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยทันที เพราะการได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง จะทำให้สามารถดูแลลูกได้อย่างเหมาะสม และหายขาดจากอาการแพ้โปรตีนนมวัวได้รวดเร็ว โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และการเจริญเติบโตของร่างกายและสมองในระยะยาว
หากคุณแม่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องแพ้ ๆ เพิ่มเติม สามารถหาข้อมูลด้วยตัวเองได้เลยที่
https://www.nestlemomandme.in.th/sensitive-expert
แหล่งอ้างอิง
allergy , samitivejhospitals
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!