เหตุนี้เองปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของบมจ.ซีพี ออล์ จึงได้สนับสนุนการทำวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการศึกษาของไทยนับตั้งแต่ชั้นอนุบาล โดยการสนับสนุนการทำวิจัยในหัวข้อ “การศึกษาเปรียบเทียบ การจัดการศึกษาปฐมวัยในบริบทของประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น” ของดร. วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์
จากผลการวิจัยดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าระบบการเรียนการสอนตั้งแต่อนุบาลนับเป็นก้าวแรกที่สำคัญยิ่ง ในการพัฒนา ศักยภาพของเด็กและมีส่วนสำคัญทำให้พวกเขาเติบโตเป็นประชากรที่มีคุณภาพของชาติ โดยเราสามารถศึกษาจากอนุบาลในประเทศญี่ปุ่นเป็นแบบอย่างได้ ดังนี้
อนุบาลในญี่ปุ่นเน้นการเรียนรู้ผ่านการเล่น
เรียนรู้ผ่านการเล่น
ประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาความสามารถในการรู้คิดและพัฒนาการทางอารมณ์ผ่านกระบวนการเล่น นอกจากนี้ยังสนับสนุนการเล่นเป็นทีม โดยจะให้เด็กเล่นกันคละอายุและคละเพศ การเล่นเป็นกลุ่มจะสอนให้เด็กมีความรับผิดชอบต่อตนเอง เด็กที่อายุมากกว่าต้องคอยดูแลเด็กเล็ก ทำให้มีทักษะในด้านการจัดการและความอดทนอดกลั้น ในขณะที่เด็กเล็กเองก็จะยึดเด็กที่โตกว่าเป็นแบบอย่างหรือเป็นผู้นำ ถือเป็นการสร้างทักษะความเป็นผู้นำให้เด็กด้วยในทางหนึ่ง เด็กจะถูกสอนให้เข้าใจกระบวนการวางแผนโดยธรรมชาติ รู้จักจัดการการเล่นของตนให้มีทั้งความสนุกและมีความรับผิดชอบต่อผู้เล่นคนอื่นด้วย โดยมีครูทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำแนะนำและกระตุ้นให้เด็กคิดแก้ไขสถานการณ์ต่าง ๆ ไม่ใช่ผู้ออกคำสั่งหรือสอนหนังสือเด็กอย่างเดียว
จิตสำนึกสาธารณะ
ประเทศญี่ปุ่นถือว่า “จิตสำนึกสาธารณะ” เป็นปรัชญาหลักของการศึกษา การเรียนรู้ผ่านกระบวนการเล่นตั้งแต่วัยอนุบาลหรือปฐมวัยก็นับเป็นแนวทางหนึ่งในการปลูกฝังเรื่องจิตสำนึกสาธารณะให้กับเด็กด้วย โดยการวิจัยพบว่าช่วงปฐมวัยของเด็กเป็นช่วงเวลาทองของการสร้างคนให้มีสำนึกสาธารณะ และจิตสำนึกสาธารณะที่เห็นประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าตนเองนั้น สามารถสร้างให้เกิดได้จริงผ่านกระบวนการเล่น การเล่นที่ถูกออกแบบมาอย่างสร้างสรรค์ด้วยการคละอายุ เพศและกิจกรรมของเด็ก จะสอนให้เด็กมีความรับผิดชอบต่อตนเอง รุ่นพี่รุ่นน้อง และเพื่อนต่างเพศ สอนทักษะการเข้าสังคม การอยู่ร่วมกัน ความเมตตาต่อกัน และที่สำคัญคือการทำงานเป็นกลุ่ม อันเป็นการปลูกฝังแนวคิดเรื่องจิตสำนึกสาธารณะได้ตั้งแต่วัยอนุบาลเลยทีเดียว
จินตนาการสำคัญกว่าความรู้
นอกจากนี้หลักสูตรการสอนระดับชั้นอนุบาลของญี่ปุ่นยังไม่เน้นวิชาการหนัก ๆ แต่เน้นความสำคัญที่จินตนาการและการเล่น โดยถือว่าการเรียนนั้นเรียนเพื่อให้รู้ ไม่ใช่เรียนไปเพื่อสอบ มีวิชาเรียนเพียง 6 ด้าน คือ พลานามัย สังคมศึกษา ธรรมชาติศึกษา ภาษา ดนตรีและจังหวะ และการวาดภาพและงานฝีมือ ในส่วนของของเล่นในชั้นเรียนก็เน้นให้เด็กเล่นแต่ชิ้นที่เรียบง่ายและกระตุ้นให้เกิดจินตนาการด้วย เช่น การต่อบล็อก การวาดภาพศิลปะ เป็นต้น
เราจะเห็นได้ว่าการสอนเด็กอนุบาลในญี่ปุ่นนั้นจะต่างจากการสอนแบบไทย ที่ให้นักเรียนนั่งโต๊ะเรียน พยายามให้เด็กอ่านหนังสือให้ได้ จำให้ได้ เพื่อสอบเข้าชั้นป. 1 ให้ได้ ซึ่งนักวิชาการมองว่าเป็นการปิดกั้นจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์เด็ก ปัญญาสมาพันธ์ฯ ได้เรียกร้องให้ทั้งรัฐบาลและผู้ปกครองร่วมกันเปลี่ยนรูปแบบการสอน โดยใช้เด็กเป็นที่ตั้ง ประเมินผลงานของครูโดยการดูพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กมากกว่า
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!