คุณแม่ให้นมมีเพศสัมพันธ์ น้ำนมหายมั้ย ถ้ามีเซ็กซ์น้ำนมจะหายจริงหรือ ควรทำอย่างไรบ้าง เราไปดูกันเลยค่ะ ว่า คุณแม่ให้นมมีเพศสัมพันธ์ น้ำนมหาย จริงหรือไม่
นายแพทย์ พิเชฐ ผนึกทอง รพ.เปาโล กล่าวเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์หลังคลอด ว่า “หลังคลอดคุณแม่หายเจ็บแผลเมื่อไหร่ สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้เลย แต่ต้องดูว่าช่วงที่มีเพศสัมพันธ์ สามารถมีโอกาสมีลูกง่ายหรือไม่ เพราะหากมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่มีลูกง่าย อาจจะทำให้สุขภาพของคุณแม่อ่อนแอลง”
เพศสัมพันธ์หลังคลอด สามารถทำได้ช่วงไหน
สามารถมี เพศสัมพันธ์หลังคลอดบุตรไปแล้ว ประมาณ 4-6 สัปดาห์ เพื่อรอให้ปากมดลูกปิด เลือดหยุดไหล และแผลฉีกขาดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการคลอดนั้นฟื้นฟูและหายดีก่อน อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุด คือ ความพร้อมของคุณแม่ โดยคุณแม่บางรายอาจพร้อมมีเพศสัมพันธ์อีกครั้งหลังคลอดเพียงไม่กี่สัปดาห์ ในขณะที่คุณแม่บางรายอาจต้องใช้เวลา 2-3 เดือนหรือนานกว่านั้น ทั้งนี้ ปัจจัยต่าง ๆ อาจส่งผลกระทบต่อแรงขับทางเพศได้ เช่น ความเหนื่อยล้าจากการเลี้ยงดูบุตร หน้าที่การงาน ความเครียด และการกลัวความเจ็บปวด
คุณแม่ให้นมมีเพศสัมพันธ์ น้ำนมหายมั้ย
น้ำนมของคุณแม่ จะไม่หายไปหากคุณแม่มีเพศสัมพันธ์ แต่คุณแม่อาจจะต้องรอเวลา เพื่อให้บาดแผลเข้าที่ดีเสียก่อน เพราะในช่วงหลังคลอดใหม่ ๆ จนถึงภายในเดือนแรกหลังคลอด คุณแม่มักจะยังอ่อนเพลีย จากการเสียเลือดภายหลังคลอด และอดหลับอดนอนเลี้ยงลูก นอกจากนี้แผลฝีเย็บก็ยังเจ็บอยู่เลย แถมน้ำคาวปลา ก็ยังไม่หมดอีกด้วย ถ้าสามียังจะพยายามฝ่าด่าน เข้าไปในช่วงเวลานี้ อาจทำให้แผลฝีเย็บของภรรยาฉีกขาดได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : ท่าให้นมลูกที่ถูกต้อง จัดท่าเตรียมดูดนม จัดเตรียมอย่างไรให้ถูกต้อง
อะไรจะเกิดขึ้น เมื่อมีเพศสัมพันธ์หลังคลอด
การมีเพศสัมพันธ์อีกครั้งหลังคลอดอาจทำให้คุณแม่รู้สึกไม่สบายตัวหรือเจ็บปวดได้ ทั้งยังอาจเป็นกังวลว่าแผลจะหายดีแล้วหรือยัง ซึ่งคุณแม่ควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์หลังคลอด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น ดังต่อไปนี้
- หน้าอกของคุณแม่ที่เคยมีขนาดใหญ่และกระชับอาจเปลี่ยนไปหลังคลอด ซึ่งปัญหานี้อาจส่งผลกระทบต่อความพึงพอใจขณะมีเพศสัมพันธ์ได้
- คุณแม่อาจเป็นกังวลถึงร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากช่องคลอดขยายใหญ่ขึ้นขณะคลอด ซึ่งความวิตกกังวลนี้อาจส่งผลกระทบต่อความสุขบนเตียงได้ อย่างไรก็ตาม ช่องคลอดและอวัยวะต่าง ๆ ภายในระบบสืบพันธ์ุจะค่อย ๆ กลับคืนสู่สภาพเดิม ซึ่งการฝึกขมิบช่องคลอดอาจช่วยทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานแข็งแรงขึ้นด้วย
- นอกจากคุณแม่จะรู้สึกเป็นกังวลแล้ว ฝ่ายคุณพ่อเองก็อาจรู้สึกวิตกกังวลและกลัวเมื่อเห็นสภาพร่างกายของคุณแม่เปลี่ยนแปลงไปหลังคลอดได้เช่นกัน
มีเซ็กซ์หลังคลอดยังไงให้ปลอดภัย
คุณแม่ควรดูแลตนเองให้เป็นกิจวัตรประจำวันด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมต่อร่างกาย และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
การขมิบกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอาจทำให้กล้ามเนื้อช่องคลอดกลับคืนสู่สภาพเดิมได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเรียนรู้เทคนิคการขมิบที่ถูกต้อง
ควรเลือกช่วงเวลาที่คุณแม่ได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่แล้ว และควรเป็นเวลาที่ทั้งคู่จะไม่ถูกรบกวนจากลูกน้อย เช่น ช่วงเวลาตอนเช้าที่รู้สึกสดชื่น หรือช่วงที่ลูกน้อยกำลังหลับ เป็นต้น
นอกจากการมีเพศสัมพันธ์แล้ว การแสดงความรักต่อกันนั้นสามารถทำได้หลายวิธี ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรสื่อสาร ใช้เวลาด้วยกัน และร่วมกันหาหนทางอื่น ๆ เพื่อใช้แสดงความรักก่อนตัดสินใจมีเพศสัมพันธ์
ก่อนการสอดใส่ อาจลองใช้นิ้วมือของตนเองสอดเข้าไปในช่องคลอดเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ อาจจำเป็นต้องใช้เจลหล่อลื่นเพื่อช่วยลดการระคายเคือง เนื่องจากในช่วงหลังคลอดนั้น ระดับฮอร์โมนในร่างกายจะเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจส่งผลให้ช่องคลอดมีเมือกหล่อลื่นน้อยกว่าปกติ
- บอกสามีตามตรงเมื่อรู้สึกเจ็บ
หากรู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ ควรบอกให้สามีทราบตามตรง เพราะการฝืนทนความเจ็บปวดอาจทำให้คุณแม่รู้สึกไม่ดีกับการมีเพศสัมพันธ์ อย่างไรก็ตาม ทั้งคู่สามารถมีความสุขได้แม้จะไม่มีการสอดใส่ก็ตาม โดยอาจทำกิจกรรมทางเพศด้วยวิธีอื่น เช่น การช่วยตัวเองร่วมกัน เป็นต้น
หากคุณแม่น้ำนมน้อยควรทำอย่างไร
ธรรมชาติคุณแม่เพิ่งคลอดที่มีสุขภาพแข็งแรง จะสามารถผลิตน้ำนมได้พอเพียงต่อทารกแรกเกิด ให้ร่างกายได้เจริญเติบโตตามวัย รวมถึงมีสารอาหารจำเป็นที่ดีต่อพัฒนาการของลูกน้อยพร้อมอยู่แล้ว แต่สำหรับคุณแม่บางท่านที่มีน้ำนมออกมาน้อย จริงๆ อาจมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย
- คุณแม่ให้ลูกดูดนมครั้งแรกหลังคลอดช้าเกินไปกว่าความเป็นจริงที่ควรจะเป็น เช่น ต้องให้ภายใน 30 นาทีแรก หรือมากกว่า 2 – 3 วันหลังทารกคลอด ทำให้กระบวนการกระตุ้นการสร้างน้ำนมไม่มีประสิทธิภาพ
- ลูกน้อยดูดนมด้วยวิธีที่ผิด อมหัวนมได้ไม่ลึกถึงฐานหัวนม ทำให้แรงในการดูดนมเกิดขึ้นได้น้อย น้ำนมไม่ออกมา
- คุณแม่ให้ลูกดูดนมไม่บ่อยพอ หรือน้อยกว่าวันละ 8 ครั้ง
- มีการให้นมผง น้ำ หรืออาหารเสริมก่อน 6 เดือน ทำให้ลูกอิ่มจึงไม่ยอมดูนมแม่ต่อ
- คุณแม่ที่ต้องทำงาน อาจมีการปั๊มนมทิ้งระยะห่างนานไป เกินกว่า 3 – 4 ชั่วโมง หรือการปั๊มแต่ละครั้งจำนวนน้อยไป
- คุณแม่พักผ่อนไม่เพียงพอ มีความเครียด รวมถึงพยายามลดความอ้วนด้วยการรับประทานอาหารน้อยเกินไป
- คุณแม่รับประทานทานยาเม็ดคุมกำเนิดบางชนิด ในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด
บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีปั๊มนม เทคนิคการปั๊มให้เกลี้ยงเต้า เอาใจคุณแม่นักปั๊ม บ้านไหน ลูกไม่ดูดเต้า ปั๊มอย่างเดียว ยิ่งต้องรู้
วิธีเพิ่มน้ำนมสำหรับคุณแม่มือใหม่
- หลังคลอดลูกควรให้ลูกดูดนมเลยใน 30 นาทีแรก เพื่อเป็นการกระตุ้นน้ำนมครั้งแรก
- ให้เอาลูกเข้าเต้าอย่างถูกวิธี โดยให้ลูกอมหัวนมได้ลึกพอ เพื่อมีแรงดูดนมออกมา และได้จำนวนเพียงพอ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายคุณแม่สร้างน้ำนมออกมาอย่างสม่ำเสมอ
- ให้ลูกดูดนมนานขึ้นและบ่อยขึ้น โดยไม่ควรน้อยกว่าวันละ 8 ครั้ง
- คุณแม่ที่ต้องออกไปทำงาน ควรปั๊มนมออกให้หมดเต้าทุกๆ 3 ชั่วโมง เพื่อช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนมให้มากขึ้น
- ใช้ผ้าอุ่นประคบเต้านม หรือนวดเต้านมเบาๆ ก่อนและขณะที่กำลังให้ลูกดูดนม จะช่วยทำให้น้ำนมไหลได้ดีขึ้น
- งดการให้นมผสมหรืออาหารเสริมในช่วงอายุ 6 เดือนแรก เพราะน้ำนมแม่เพียงพอ ที่จะเลี้ยงให้ลูกน้อยเติบโตตามวัย โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งอาหารจากที่อื่น
- หากพบปัญหา ลูกมักจะหลับขณะดูดนม คุณแม่ควรพยายามให้ลูกดูดนม ต่อด้วยการขยับเต้านม จากนั้นบีบน้ำนมเข้าปากลูกช้าๆ จนกว่าลูกจะคายปากออกเองเพราะอิ่มแล้ว
- หลีกเลี่ยงความเครียดต่าง ๆ โดยเฉพาะคุณแม่ที่คิดไปเองว่ามีน้ำนมไม่เพียงพอจะเลี้ยงลูกน้อย
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ งดอาหารไขมันสูง เน้นผักผลไม้ และดื่มน้ำมากๆ ไม่ควรอดอาหาร หรือทำการลดน้ำหนักอย่างเด็ดขาด
- การนวดเต้านมอย่างถูกวิธี จะช่วยกระตุ้นให้น้ำนมไหลดีได้เช่นกัน เริ่มต้นด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบทิ้งไว้ประมาณ 3-5 นาที จากนั้นใช้นิ้วโป้ง นิ้วชี้ และนิ้วกลาง วางลงบนเต้านม ค่อยๆ คลึงเป็นวงกลมเบาๆ จากบริเวณฐานเต้านมไปจนใกล้หัวนม
บทความที่เกี่ยวข้อง : นวดเปิดท่อ เทคนิคนวดเปิดท่อด้วยตนเองทีละขั้นตอน อย่างละเอียด
ลูกควรกินนมแม่ มากน้อยแค่ไหน
- ช่วงเดือนแรกลูกจะกินนมวันละ 8-12 ครั้ง หลังจากนั้นลดความถี่ลงประมาณ 6-10 ครั้งต่อวัน
- ลูกน้อยควรฉี่ออกอย่างน้อย 6 ครั้งต่อวัน รวมถึงอึอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน
- ลูกน้อยดูมีท่าทางพอใจ เมื่อใกล้เวลาดูดนมสิ้นสุด
- เมื่อผ่านไป 2 สัปดาห์ ลูกควรมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และมีผิวพรรณเปล่งปลั่ง
- ลูกดูดนมมีจังหวะและออกแรง ที่ไม่ทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บมากเกินไป
- คุณแม่จะรู้สึกว่า เต้านมโล่งเบาขึ้น หลังลูกดูดนมเสร็จแล้ว
สัญญาณที่กำลังบอกว่าลูกได้รับนมไม่เพียงพอ
- ลูกร้องไห้กวนตลอดเวลา บางครั้งอาจมีอาการหงุดหงิดหลังจากกินนมแล้ว
- ลูกดูดนมไม่ถูกวิธี โดยสังเกตได้จากลูกดูดเสียงดัง หรือไม่ได้ยินเสียงกลืนขณะกินนม
- ปัสสาวะน้อย และมีสีเหลืองเข้ม
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
มีเซ็กซ์ขณะตั้งครรภ์อันตรายไหม ทำได้แค่ไหน มีอะไรที่ควรรู้บ้าง?
คุณแม่ให้นม ลดน้ำหนักได้ไหม เคล็ดลับเผาผลาญวันละ 500 แคลอรี่
แม่ให้นมลูกกินขนุน ได้ไหม กลิ่นจะติดนม หรือลูกเหม็นหรือเปล่า?
ที่มา : (1),(2)
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!