แม่ ๆ รู้ไหม อายุครรภ์ 16 สัปดาห์ ลูกโตขนาดนี้แล้ว ช่วงนี้ทารกในครรภ์จะมีความยาว 11.6 เซนติเมตร เทียบเท่ากับลูกอะโวคาโด 1 ลูกเลยแหละ เรื่องอะไรบ้างที่คุณแม่ควรรู้ในช่วงนี้ มาอ่านกันเลย
อายุครรภ์ 16 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์เป็นอย่างไร
- ลูกกำลังเสริมสร้างกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กล้ามเนื้อบริเวณหลังและกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า
- หนูน้อยทำหน้านิ่วคิ้วขมวด และหรี่ตาได้แล้วนะ
- เปลือกตาของลูกตรวจจับแสงได้แล้วเช่นกัน
- คิ้วและขนตาของลูก งอกยาวสมบูรณ์แล้ว
- กระดูกชิ้นน้อย ๆ พัฒนาขึ้นแล้วในหูของเจ้าตัวเล็ก สอดคล้องกับพัฒนาการการได้ยินของทารกในครรภ์ที่เริ่มขึ้นแล้ว
อาการคนท้อง 16 สัปดาห์
- แม่ท้องบางท่านจะเริ่มสัมผัสได้ว่าลูกดิ้น แต่การเคลื่อนไหวของทารกน้อยนั้นก็เป็นไปอย่างเบา ๆ
- จากการขยายตัวของมดลูกไปเบียดปอด ทำให้คนท้องหายใจลำบาก หายใจได้ไม่สุด อึดอัดหน่อยนะแม่
- มดลูกจะขยายไปกดแถวลำไส้ ทำให้แม่ท้องผูกได้
- ช่วงนี้นี่เองที่เส้นผมและเล็บจะยาวเร็วขึ้น เส้นผมแม่ท้องก็จะเปล่งประกายงดงาม นี่แหละ Pregnancy Glow ที่ใคร ๆ ก็พูดถึง
การดูแลตัวเองตอนท้อง 16 สัปดาห์
- ขอแนะนำให้แม่ท้องเริ่มออกกำลังกายอย่างเบา ๆ โดยเน้นการบริหารกล้ามเนื้อหลัง และกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ค่อย ๆ ยืดกล้ามเนื้อเพื่อลดอาการเจ็บปวด
- ยังเป็นช่วงที่แม่ต้องควบคุมการรับประทานอาหาร แม้ว่าจะรู้สึกหิวบ่อยแค่ไหน ก็ต้องตั้งสติก่อนกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์นะ
- แม่ท้องอาจมีอาการคัน และมีผิวพรรณที่แห้งลอกได้ง่าย ต้องคอยบำรุงผิวอย่างสม่ำเสมอ อย่าลืมซื้อมอยส์เจอไรเซอร์ไว้ติดบ้าน
เรื่องที่ควรทำตอนท้อง 16 สัปดาห์
- ลูกในท้องเริ่มได้ยินเสียงแล้ว ตอนนี้คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยกับลูกด้วยคำไพเราะ คำหวาน ๆ เพื่อให้ลูกได้คุ้นเคยเสียงพ่อแม่กัน
- ไม่แปลกนะ ถ้าแม่ท้องจะขี้ลืม สิ่งนี้เรียกว่า Pregnancy Brain เกิดจากสมองของแม่ท้องคิดถึงแต่เรื่องลูก นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ รวมถึงฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ ทำให้ขี้ลืมมากกว่าปกติ ช่วงนี้ก็ลิสต์สิ่งที่ต้องทำ ของที่ต้องซื้อ จดใส่กระดาษ หรือบันทึกไว้ในมือถือ จะช่วยได้
ช่วง อายุครรภ์ 16 สัปดาห์ ถ้าคุณแม่ถ่ายไม่ออกหรือท้องผูก ก็ควรเลือกรับประทานผักและผลไม้ รวมทั้งอาหารที่ย่อยง่าย ๆ แม่จะได้รู้สึกสบายตัว แต่ถ้าแม่เริ่มหายใจลำบาก หายใจได้ไม่ลึก จนรู้สึกไม่สบาย อย่านิ่งนอนใจ รีบไปปรึกษาคุณหมอ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ตั้งครรภ์ 17 สัปดาห์ อาการคนท้อง และพัฒนาการของทารกในครรภ์
ทารกได้ยินตอนไหน การได้ยินของทารกหลังคลอดเป็นอย่างไร
ทารกเริ่มได้ยินเสียงได้ตั้งแต่แรกคลอด จนเมื่อทารกมีอายุได้ประมาณ 1 เดือน พัฒนาการการได้ยินของทารกก็จะมีการพัฒนาอย่างสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทารกจะสามารถได้ยินเสียงได้แล้ว แต่ทารกก็อาจจะยังไม่สามารถตอบสนองต่อเสียงได้ ยังหาต้นตอของเสียงไม่ได้ ซึ่งก็อาจจะต้องใช้เวลาสักพัก จนเมื่อทารกมีอายุได้ 9 เดือน เด็กก็จะสามารถหันหาเสียงได้ทุกทิศทาง และมีพัฒนาการการได้ยินอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นพื้นฐานต่อพัฒนาการด้านอื่น ๆ ต่อไป
วิดีโอจาก : Family Man & พยาบาลแม่หนิว
วิธีเสริมพัฒนาการการได้ยินของทารกในครรภ์
- คุยกับลูกในท้องบ่อย ๆ รวมถึงการร้องเพลง หรืออ่านหนังสือ ก็จะเป็นการช่วยส่งเสริมพัฒนาการการได้ยินของทารกในครรภ์ได้เช่นกัน
- เปิดเพลงให้ลูกฟัง ไม่จำกัดว่าจะเป็นเพลงแนวไหน แค่ขอให้เป็นเพลงที่ฟังสบาย ก็จะช่วยให้ลูกรู้สึกถึงจังหวะ ซึ่งจะไปกระตุ้นพัฒนาการได้ยินของทารกในครรภ์ พัฒนาการทางอารมณ์ และพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ได้
- หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดังมาก หรือดังซ้ำ ๆ บ่อย ๆ เนื่องจากเสียงรบกวนอาจส่งผลต่อพัฒนาการของลูก และอาจทำให้ลูกน้อยที่กำลังเจริญเติบโตสูญเสียการได้ยิน
วิธีเสริมพัฒนาการการได้ยินของทารกหลังคลอด
- พูดคุยกับลูกบ่อย ๆ ร้องเพลงกล่อมก่อนเข้านอน หรือเปิดเพลงให้ฟัง
- หาของเล่นที่มีเสียงให้ลูกเล่น
- สลับให้ลูกนอนในห้องเงียบ ๆ บ้าง เพื่อหัดให้แยกแยะความแตกต่าง ระหว่างการมีเสียงและความเงียบ แต่อย่ากระตุ้นลูกด้วยเสียงดังครึกโครม เช่น การเปิดทีวี หรือวิทยุตลอดเวลา เพราะเป็นการกระตุ้นลูกที่ไม่ถูกต้อง
อาหารคนท้อง 16 สัปดาห์
คุณแม่บางคนที่รับประทานอาหารไม่ค่อยได้ ลูกน้อยในครรภ์ก็อาจพลอยได้รับสารอาหารน้อยลงไปด้วย อาจทำให้ลูกมีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ มีอัตราเสียชีวิตหลังคลอดสูงกว่าปกติ หรือมีอัตราเสี่ยงต่อการแท้งสูงขึ้น แต่สำหรับคุณแม่ที่หิวมาก กินเยอะจนมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นผิดปกติ ช่วงหลังคลอดเมื่อเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ไขมันในร่างกายส่วนหนึ่งจะถูกนำไปใช้ในการสร้างน้ำนม แต่ไขมันที่ยังเหลืออยู่บ้างและลดลงได้ยาก หลังจากเลิกให้นมลูกแล้วคุณแม่ก็ควรจะออกกำลังกายเพื่อช่วยลดน้ำหนักด้วย
ในระหว่างการตั้งครรภ์คุณแม่จะต้องกินอาหารให้ได้ในปริมาณที่เพียงพอและมีอัตราส่วนของสารอาหารที่ถูกต้อง ครบถ้วน อย่างเหมาะสม เพื่อให้ตัวคุณแม่เองแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่เหนื่อยง่าย และช่วยลดอาการแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ และเพื่อการเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์ ซึ่งความต้องการอาหารของคุณแม่อาจไม่เท่ากันตลอดระยะการตั้งครรภ์
ในขณะที่ตั้งครรภ์ ธรรมชาติจะทำให้ร่างกายคุณแม่ได้รับสารอาหารเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากฤทธิ์ของฮอร์โมนชนิดหนึ่งทำให้ลำไส้เคลื่อนไหวได้ช้าลง จึงส่งผลให้อาหารถูกดูดซึมเข้าร่างกาย แต่ผลของการที่ลำไส้เคลื่อนไหวช้านี้ก็อาจทำให้คุณแม่รู้สึกคลื่นไส้ พะอืดพะอมบ้าง ถ้าคุณแม่ได้รับอาหารที่ถูกส่วนแล้ว อาหารที่ได้เพิ่มขึ้นก็จะเพียงพอสำหรับร่างกาย
ในระยะที่ตั้งครรภ์ใหม่ ๆ และคุณแม่ควรระลึกไว้เสมอว่า “ตอนท้อง ต้องกินหนึ่งเผื่อสอง” ซึ่งหมายความว่าให้กินอาหารที่มีประโยชน์ทั้งต่อตัวแม่เองและลูกน้อยด้วย อาหารส่วนหนึ่งนอกจากจะนำไปบำรุงร่างกายของคุณแม่ให้แข็งแรงแล้ว (เพื่อเตรียมตัวคลอดและให้นมลูกหลังคลอด) อาหารอีกส่วนหนึ่งก็ยังนำไปเลี้ยงลูกน้อยในระหว่างที่อยู่ในครรภ์ด้วย เพื่อให้ลูกน้อยมีร่างกาย สมอง และระบบประสาทเจริญเติบโตสมบูรณ์และแข็งแรงดี
เมนูอาหารสำหรับคนท้อง
- อาหารที่มีโปรตีน 3 มื้อ : เนื้อหมู, เนื้อวัว, เนื้อเป็ด, เนื้อไก่ไม่ติดมัน, เครื่องในไม่มีไขมัน 75 กรัม, เนื้อปลา 100 กรัม, กุ้ง 100 กรัม, ไข่ 3 ฟอง, นม 500 มิลลิลิตร, โยเกิร์ต 340 มิลลิลิตร
- อาหารจำพวกแป้ง 4-5 มื้อ : ข้าว, ก๋วยเตี๋ยว, ขนมปังธัญพืช, คอร์นเฟลก, ถั่วแดง
- ผักใบเขียวและผลไม้ 3 มื้อ : ผักโขมและบรอกโคลี 25 กรัม, มะเขือเทศ 150 กรัม, พริกหยวก 25 กรัม, แตงโม 50 กรัม, แคร์รอต 13 กรัม, มะม่วง, องุ่น, ส้ม, ถั่ว 250 กรัม, เงาะ, มังคุด, แอปเปิล
- อาหารที่มีแคลเซียม 4 มื้อ : นมวัว 200 มิลลิลิตร, นมเปรี้ยว 250 มิลลิลิตร, ใบชะพลู, ใบขึ้นฉ่าย, ใบยอ, ผักโขม, มะเขือพวง, กุ้งน้ำจืด, กุ้งแห้ง, ถั่วเหลือง, ถั่วเขียว, เต้าหู้, ปลาซาร์ดีนชนิดมีก้างบรรจุกระป๋อง
- อาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินซี 2 มื้อ : ฝรั่ง, ส้ม, น้ำมะนาว, องุ่น 1 พวง, มะขามป้อม, พริกหยวก 25 กรัม
- อาหารที่มีธาตุเหล็ก 2 มื้อ : ตับ, เนื้อแดง, เนื้อปลา, ไข่แดง, ใบชะพลู, ใบตำลึง, ใบกะเพรา, ใบขี้เหล็ก, ใบขึ้นฉ่าย, ชะอม, งา
- น้ำสะอาดบริสุทธิ์วันละ 8 แก้ว : ควรงดกาแฟและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
อาหารที่แม่ได้รับจะส่งผลต่อสุขภาพของลูกอย่างไร
- การพัฒนาของสมองและระบบประสาทหลังจากปฏิสนธิ ในระยะนี้สมองของลูกน้อยจะเจริญเติบโตเร็วมาก จึงต้องการสารอาหารที่จำเป็นทั้งโปรตีน วิตามิน และเกลือแร่ต่าง ๆ เพื่อช่วยในการเจริญเติบโตได้อย่างเหมาะสม
- การพัฒนาของร่างกาย สารอาหารที่ได้รับจากแม่มีความจำเป็นอย่างมากสำหรับการเจริญเติบโตของลูกน้อย เช่น กรดโฟลิกช่วยป้องกันความพิการของลูกน้อย โปรตีนช่วยสร้างกล้ามเนื้อ แคลเซียมและวิตามินดีช่วยให้กระดูกแข็งแรง เป็นต้น
- อารมณ์และจิตใจ ลูกน้อยที่เกิดจากแม่ที่ได้รับอาหารที่มีประโยชน์และสมบูรณ์จะมีอารมณ์แจ่มใส ร่าเริง ยิ้มง่าย ไม่เซื่องซึม เมื่อเทียบกับลูกที่เกิดจากแม่ที่ขาดสารอาหาร
- สุขภาพในระยะยาว อาหารที่คุณแม่ได้รับก่อนการตั้งครรภ์และในระหว่างตั้งครรภ์มีผลต่อการพัฒนาของลูกน้อยในช่วงที่เจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ถ้าคุณแม่ได้รับอาหารอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ โอกาสที่ลูกจะเกิดมาแล้วเป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง รวมทั้งมะเร็งต่าง ๆ ก็มีน้อยลงตามไปด้วย
ในช่วงไตรมาสที่ 2 อาจมีหลายอย่างที่คุณแม่ต้องหันมาเอาใจใส่มากขึ้น เพื่อตัวของคุณแม่ และทารกในครรภ์ แต่เรารับรองได้ว่า การดูแลครรภ์อย่างดีที่สุด จะนำสิ่งที่มีคุณค่ามาให้คุณแม่อย่างแน่นอน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ตั้งครรภ์ 15 สัปดาห์ อาการคนท้อง และพัฒนาการของทารกในครรภ์
ตั้งครรภ์ 18 สัปดาห์ อาการคนท้อง และพัฒนาการของทารกในครรภ์
กินอย่างไรให้ลงลูก กินแล้วแม่ไม่อ้วน ลูกได้สารอาหารครบถ้วนตั้งแต่ในท้อง
ที่มา :whattoexpect , mamastory
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!