กล้วย (Banana) ผลไม้ที่คนนิยมรับประทานกัน ประโยชน์ของกล้วยมีอะไรบ้าง วันนี้ theAsianparent นำประโยชน์และสรรพคุณของกล้วย มาให้แม่ ๆ ได้ทราบกันค่ะ ไปดูกันเลย
กล้วย
กล้วย
กล้วย (ฺBanana) ผลไม้ที่ทุกคนคุ้นเคยกันดี นิยมรับประทานและปลูกกันในบ้าน มีหลากหลายสายพันธุ์ เช่น กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า กล้วยเล็บมือนาง แต่ที่นิยมรับประทานกันมากที่สุด ก็คือ กล้วยหอม ในกล้วยหอมอุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญต่อร่างกาย การรับประทาน กล้วยหอม 1 ลูก จะให้พลังงาน 132 กิโลแคลอรีเลยทีเดียว นอกจากนี้ในกล้วยยังมีเส้นใยและกากอาหาร รวมถึงวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย
ประโยชน์ของกล้วยมีอะไรบ้าง คนท้องกินกล้วยดีอย่างไร
ประโยชน์ของกล้วย
- กล้วยหอม สามารถช่วยเลิกบุหรี่ได้ เพราะมีวิตามินบี 6, บี 12, โพแทสเซียม และแมกนีเซียมอยู่ การกินกล้วยหอมจะช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวเร็วจากการขาดสารนิโคติน ช่วยลดอาการอยากบุหรี่
- กล้วยน้ำว้า ช่วยแก้โรคโลหิตจาง เพราะมีธาตุเหล็กในปริมาณสูงช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง และยังช่วยแก้เลือดออกตามไรฟันอีกด้วย
- กล้วยไข่ ช่วยลดริ้วรอย เพราะมีสารต้านอนุมูลอิสระ และมีฤทธิ์ป้องกันการเกิดเซลล์มะเร็ง และยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์เนื้อร้ายได้
- กล้วยหักมุก แก้โรคกระเพาะ กล้วยหักมุกช่วยบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และยังมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย สาเหตุของการท้องเสียอีกด้วย
- กล้วยสามารถนำมามาส์กหน้า ช่วยเพิ่มความชุ่มชื่นให้แก่ผิว วิธีง่าย ๆ แค่นำกล้วยสุกมาบดให้ละเอียด แล้วเติมน้ำผึ้ง 2 ช้อนโต๊ะ ผสมให้เข้ากัน พอกไว้ 15 นาทีแล้วล้างออก
- เปลือกกล้วยช่วยลดอาการคันจากยุงได้
- เปลือกกล้วยด้านใน สามารถช่วยรักษาโรคหูดบนผิวหนังได้
- หากเกิดบาดแผล สามารถใช้เปลือกกล้วยด้านในช่วยฆ่าเชื้อได้
- ยางกล้วยนำมาใช้ห้ามเลือดได้
- หากมีอาการบวมที่ฝี สามารถใช้ก้านใบตองที่ตำละเอียด มาบรรเทาอาการบวมของฝีได้
- ใบอ่อนของกล้วย นำไปอังไฟให้นิ่ม สามารถนำมาประคบแก้เคล็ดขัดยอกได้
ประโยชน์กล้วย
- หัวปลีช่วยลดน้ำตาลในเลือด และบำรุงน้ำนมหลังคลอดบุตร
- ใบตอง สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ทำกระทง ห่อขนม ห่ออาหาร ทำบายศรี บวงสรวง เป็นต้น
- กล้วยน้ำว้า ช่วยลดกลิ่นปากได้ดี ควรรับประทานหลังตื่นนอนตอนเช้าทันทีก่อนแปรงฟัน
- กล้วยช่วยควบคุมอุณหภูมิในร่างกายให้ปกติ
- กล้วยช่วยเพิ่มพลังงานให้แก่สมอง เพราะมีสารที่ทำให้เกิดสมาธิและตื่นตัว
- หากมีอาการนอนไม่หลับ แนะนำให้กินกล้วย การกินกล้วยจะทำให้นอนหลับสบาย
- กล้วยสามารถช่วยลดอาการหงุดหงิดยามเช้าได้
- รักษาอาการท้องผูก ช่วยทำให้ขับถ่ายเป็นปกติ
- กล้วยช่วยบรรเทาอาการของ ริดสีดวงทวาร หรือขณะขับถ่ายมีเลือดออกมา
- การกินกล้วยจะช่วยลดอาการเสียดท้อง กรดในกระเพาะ
- ลดโอกาสเสี่ยงเส้นเลือดแตกได้
- กล้วยช่วยรักษาแผลในลำไส้เรื้อรัง
- ช่วยรักษาโรคซึมเศร้า ภาวะเครียด เพราะกล้วยมีโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Tryptophan ช่วยในการผลิตสาร Serotonin หรือฮอร์โมนแห่งความสุข จึงมีส่วนช่วยในการผ่อนคลายอารมณ์ได้ดี
- ลดการเกิดตะคริวบริเวณมือ เท้า และน่องได้
- ช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้อง
- กล้วยช่วยบรรเทาอาการนิวในไตได้ในระดับหนึ่ง
บทความที่เกี่ยวข้อง : กล้วยบด สำหรับเด็กที่เริ่มทานอาหารเสริมได้แล้ว
คนท้องกินกล้วยได้หรือไม่
คนท้องสามารถรับประทานกล้วยได้ตามปกติ ไม่มีข้อห้ามอะไร แต่ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม เพราะหากรับประทานมากเกินไป จะทำให้คุณแม่ได้รับปริมาณน้ำตาลที่สูง แนะนำให้คุณแม่รับประทานกล้วยในช่วงของการตั้งครรภ์ เนื่องจากจะได้รับสารอาหารไม่ว่าจะเป็น ไฟเบอร์ โพแทสเซียม วิตามินซี และวิตามินบี 6 ด้วย ซึ่งมีส่วนช่วยทำให้อาการแพ้ท้องดีขึ้น คุณแม่ตั้งครรภ์ควรซื้อกล้วยติดบ้านไว้
บทความที่เกี่ยวข้อง : กินผลไม้ระหว่างตั้งครรภ์วิจัยเผย ทำให้ลูกฉลาด ผลไม้ทำให้ลูกในท้องฉลาด
วิธีการปลูกกล้วยน้ำว้า ปลูกยังไงให้มีขายตลอดปี
กล้วย
- วิธีการปลูกกล้วยน้ำว้า ควรเริ่มจากคัดเลือกพันธุ์ที่มีขนาดความสูง 15 เซนติเมตรขึ้นไป หรือมีเส้นรอบวงต้นมากกว่า 3.5 เซนติเมตร หากเป็นต้นเล็กจะมีอัตราการตายสูง
- เตรียมแปลงสำหรับปลูกกล้วย ระยะ 3×3 หรือ 4×4 เมตร ขนาดหลุมปลูก 50×50×50 เซนติเมตร เพื่อให้ระบบรากเดินดี ขึ้นโคนช้า ระยะปลูกขึ้นอยู่กับการดูแล ถ้าดูแลดี กอกล้วยใหญ่ ควรปลูกระยะ 4×4 เมตร 1 กอ ควรไว้เพียง 4 ต้นเท่านั้น
- คลุกเคล้าปุ๋ยคอกผสมดินประมาณหลุมละ 2 กิโลกรัม รองก้นหลุมขึ้นมาประมาณ 30 เซนติเมตร แล้วจึงปลูกต้นกล้วยและกลบบริเวณโคนต้นให้แน่น ทำแอ่งดินรอบต้นเพื่อเก็บน้ำรักษาความชื้นของดิน และควรรองก้นหลุมด้วยสารป้องกันหนอนกอในต้นกล้วยประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ ต่อหลุม
- เมื่อปลูกต้นกล้วยเสร็จให้รดน้ำทันทีให้ชุ่มชื้นเพียงพอ หากรดน้ำน้อยจะทำให้ต้นกล้วยเหี่ยวเฉา ใบแห้งและยุบตัว ถ้าต้นไหนไม่แข็งแรงก็จะล้มตาย หรือแตกต้นใหม่แทน ทำให้อายุต้นไม่สม่ำเสมอกัน
- ในระยะเดือนแรก ต้องใส่น้ำสม่ำเสมอ ดินต้องมีความชุ่มชื้น เรียกได้ว่าเป็นเดือนที่ต้องเอาใจใส่อย่างมาก บ้านไหนใช้เป็นน้ำสปริงเกอร์ จะทำให้ต้นโตเร็ว สร้างใบและลำต้นใหม่ได้ดี โอกาสรอดสูงกว่าการรดน้ำแบบสายยาง
- เริ่มให้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ประมาณ 100-150 กรัม ต่อต้น หลังปลูกได้ 1 เดือน และเดือนที่ 2 ส่วนเดือนที่ 3 ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักแทน
- เดือนที่ 2 และ 3 ต้นกล้วยจะมีต้นและใบใหม่ทั้งหมด ในช่วงนี้จะต้องฉีดยาฆ่าหญ้า และต้องระวังอย่าให้ละอองยาโดนต้นกล้วย จะทำให้ต้นตายได้
- เดือนที่ 4 ต้นกล้วย จะเจริญเติบโตอย่างเห็นได้ชัด ทั้งความสูงและเส้นรอบวงของต้น ถือว่าเดือนนี้เป็นเดือนที่ต้นรอดตาย การดูแลให้ปุ๋ย โดยให้ปุ๋ย 15-15-15 หรือ 16-16-16 ประมาณ 100-150 กรัม ต่อต้นในเดือนที่ 4 และ 5 ส่วนเดือนที่ 6 ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักแทนและงดใส่ปุ๋ยจนกว่าจะแทงปลี ถึงจะใส่ปุ๋ยเคมีอีกครั้ง จนกระทั่งหลังเก็บเกี่ยวถึงจะเริ่มให้ปุ๋ยในรอบใหม่
- เดือนที่ 6 หรือ 7 กล้วยจะเริ่มแตกหน่อ
- เดือนที่ 9 กล้วยจะเริ่มตกเครือ จะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับขนาดของลำต้น และการดูแลรักษา หากต้นพันธุ์ที่มีขนาดความสูง 15 เซนติเมตรขึ้นไป หรือมีเส้นรอบวงต้นมากกว่า 4 เซนติเมตร การตกเครือใกล้เคียงกับหน่อพันธุ์ ขนาด 1 เมตร หากต้นมีขนาดใหญ่กว่านี้ การตกเครือจะเร็วกว่าหน่อพันธุ์ และหากเล็กกว่านี้การตกเครือจะช้ากว่าหน่อพันธุ์ อายุเครือกล้วยจากการแทงปลีจนกระทั่งเก็บเกี่ยวมีอายุประมาณ 4 เดือน เท่ากับหน่อพันธุ์กล้วยน้ำว้าทั่วไป
บทความที่เกี่ยวข้อง : เมนูกล้วย ยิ่งกินยิ่งฉลาด เมนูง่าย ๆ คุณแม่ทำได้คุณลูกชอบทาน
ที่มา : Sentangsedtee,Chiangmainews,Medthai
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!