ช่องทางหารายได้ช่วงลาคลอด ต้องเรียกได้ว่าในยุคของโรคระบาดแบบนี้การไม่ได้ทำงาน หรือการที่จะต้องหยุดงานชั่วคราวนั้นเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิดมากที่สุด แต่สำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์นั้นจะต้องหยุดเพราะความจำเป็น มาดูกันดีกว่าระหว่างลาคลอด คุณแม่สามารถหารายได้เข้ากระเป๋าจากช่องทางไหนได้บ้าง
ลาคลอด ได้กี่วัน?
การพักฟื้นหลังจากคลอดบุตร และการอยู่ดูแลบุตรในช่วงแรกของการเกิดนั้นเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ และความจำเป็นเป็นอย่างมาก ดังนั้นทางกฎหมายจึงได้มีมาตราเกี่ยวกับการลาคลอดบุตร เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คุณแม่ไว้ว่า
“มาตรา 41 ให้ลูกจ้าง ซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์มีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตรภรรค์หนึ่งไม่เกินเก้าสิบแปดวัน วันลาหยุดเพื่อคลอดบุตรตามาตรานี้ให้หมายความรวมถึงวันลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตรด้วย วันลาตามวรรคหนึ่ง ให้นับรวมวันหยุดที่มีในระหว่างวันลาด้วย”
หรือสรุปรวมได้ความว่า ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ขณะเป็นลูกจ้างนั้นสามารถลาคลอดได้ทั้งหมด 98 วัน รวมวันที่ขอลาไปตรวจครรภ์ หรือพบแพทย์ในวันและเวลาทำงานนั่นเอง
ช่องทางหารายได้ช่วงลาคลอด หาเงินจากไหนดี?
ถึงแม้ว่าจะได้มีเวลาอยู่กับลูก และมีเวลาพักฟื้นร่างกายหลังคลอดลูกซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ดี คุณแม่คนไหนที่ไหว และพร้อมทำงานเล็ก ๆ น้อย เพื่อให้มีรายได้บ้าง มาดูกันดีกว่าค่ะว่า คุณแม่ช่วงลาคลอดสามารถหารายได้จากช่องทางไหนได้บ้าง เพื่อไม่ให้ภาระการหาเงินไปตกอยู่ที่คุณสามีในช่วงเศรษฐกิจอันย่ำแย่แบบนี้
1. เงินจากสิทธิตามกฎหมาย
ทางรัฐบาลมีกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิของคุณแม่ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 หัวข้อดังต่อไปนี้
– เงินจากนายจ้าง
สำหรับคุณแม่ที่เป็นลูกจ้างสามารถได้รับเงินจากนายจ้างได้หากมีการใช้สิทธิในการลาคลอด นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างให้กับคุณแม่ที่ยื่นใช้สิทธิเป็นระยะเวลา 45 วัน หรือ 1 เดือน 15 วัน โดยคำนวณจากเงินเดือนของคุณแม่ อาทิ คุณแม่ได้รับเงินเดือนจำนวน 30,000 บาท เมื่อใช้สิทธิลาคลอดจะได้รับเงินจำนวน 45,000 บาทจากนายจ้าง และหากนายจ้างไม่ทำการจ่ายเงิน หรือไล่ออกคุณสามารถไปเรียกร้องสิทธิได้ที่สำนักงานแรงงานจังหวัด หรือกระทรวงแรงงานได้
– เงินสวัสดิการจากประกันสังคม
-
- กรณีคลอดบุตร : สำหรับลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือ มาตรา 39 ที่จ่ายเงินสมทบทุนแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือนภายในระยะเวลา 1 ปี 3 เดือนก่อนคลอดบุตร ทางประกันสังคมจะจ่ายค่าบริการทางการแพทย์แบเหมาจ่ายกรณีคลอดบุตรให้เป็นจำนวนเงิน 15,000 บาทต่อบุตรหนึ่งคน และสำหรับผู้ประกันตนมีสิทธิรับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรแบบเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นเวลา 98 วัน (จะได้สำหรับลูก 2 คนแรกเท่านั้น) ยกเว้นแต่ในกรณีที่สามีและภรรยาเป็นผู้ประกันตนทั้งคู่ จะสามารถเบิกสิทธิค่าคลอดบุตรฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่จำกัดจำนวนบุตร/ครั้ง
บทความที่น่าสนใจ : สิทธิประกันสังคมมาตรา 33 ได้รับสวัสดิการอะไรบ้าง ใครได้บ้าง
-
- สิทธิกรณีสงเคราะห์บุตร : สำหรับลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือ มาตรา 39 ที่จ่ายเงินสมทบทุนแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือนภายในระยะเวลา 3 ปี จะได้รับสิทธิเงินสงเคราะห์บุตรแบบเหมาจ่ายรายเดือน เดือนละ 800 บาทต่อบุตรหนึ่งคน (บุตรจะต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ยกเว้น บุตรบุญธรรม หรือบุตรที่ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น) ซึ่งคุณแม่จะได้รับเงินตั้งแต่ลูกแรกเกิด จนถึงอายุ 6 ปี
2. ขายสินค้าออนไลน์
การขายสินค้าตอนนี้ถือว่าเป็นอาชีพยอดฮิตที่คนที่ว่างงาน หรือกำลังหางานอยู่นั้นกำลังทำกันเป็นอย่างมาก และสำหรับคุณแม่ที่เพิ่งคลอดลูกนั้นก็เหมาะสำหรับเป็นช่องทางหารายได้ช่วงลาคลอดได้เป็นอย่างดี คุณแม่อาจเริ่มต้นด้วยการเป็นตัวแทนจำหน่ายแบบไม่ต้องสต๊อกของก่อน เพราะว่าในการลาคลอดนั้นไม่ได้ใช้เวลานานมาก หากมีการสต๊อกของไว้อาจทำให้เกิดการค้างเหลือของสิ่งของได้ หรือหากคุณแม่อยากทำเป็นอาชีพเสริมหลังจากกลับไปทำงานแล้วก็สามารถทำได้ เพราะสามารถเป็นช่องทางการหารายได้ของครอบครัวได้อีกทางหนึ่ง
บทความน่าสนใจ : เผยผลสำรวจพฤติกรรมแม่ไทย ชอบช้อปออนไลน์และเป็นผู้ทรงอิทธิพลในบ้าน
3. รับรีวิวสินค้า
สำหรับคุณแม่ที่มีชื่อเสียง หรือมีผู้ติดตามในช่องทางออนไลน์ การรับรีวิวสินค้าเล็ก ๆ น้อย ๆ อาจพอได้ค่าของใช้ส่วนตัวของลูกเพิ่มขึ้นมาบ้างก็ได้ เพราะในยุคของ KOL (Key Opinion Leader) และ Influencer (อินฟลูเอนเซอร์) นี้ การเข้าถึงผู้คนทางออนไลน์นั้นเป็นสิ่งที่กำลังนิยมทำกัน หากลองเลื่อนไปบนหน้าโซเซียลต่าง ๆ คุณจะเห็นว่าการรีวิวของบางอย่างนั้นก็สามารถสร้างรายได้ให้กับคุณได้ โดยคุณแม่อาจเริ่มรีวิวจากสินค้าที่ทานเป็นประจำ หรือสินค้าที่คุ้นเคย หรือจากความชอบของตัวเองก่อน และค่อย ๆ ขยับไปรีวิวสินค้าของคนที่คุณรู้จักที่เขาอาจเป็นแม่ค้าออนไลน์ เพื่อสร้างเครือข่าย และยอดผู้ติดตามเพิ่มเติม สุดท้ายหากมีผู้สนใจ หรือผู้ติดตามเพิ่มเติม อาจเพิ่มโอกาสในการรับงานรีวิวที่ได้ค่าตอบแทนที่เพิ่มมากในอนาคตได้อีกด้วย
4. เขียนบทความ หรือนิยายออนไลน์
ช่องทางการหาเงินสำหรับคุณแม่สายเขียน ที่ชอบการเขียนเป็นชีวิตจิตใจ การอยู่บ้านเลี้ยงลูกอาจทำให้คุณรู้สึกเหนื่อยล้า และต้องการออกจากโลกความเป็นจริงเพียงชั่วครู่ แต่จะไปอ่านนิยายที่คนอื่นเขียนไว้ก็ไม่ได้ดั่งใจ คุณอาจจะลองเริ่มเขียนนิยาย หรือบ่นเรื่องของการเลี้ยงลูกผ่านตัวอักษร เพื่อให้ตัวเองหายเครียดได้ เพราะปัจจุบันคุณสามารถหารายได้จากเขียนนิยายออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ได้แล้วที่ Joylada และ readAwrite ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถเขียนนิยายในรูปแบบที่คุณต้องการได้ โดยการเขียนของคุณแม่นั้นสามารถกลายมาเป็นอีกหนึ่งช่องทางได้อย่างง่ายดาย เพียงแค่ลงทะเบียนเป็นนักเขียน ถ้าหากนิยายของคุณแม่มียอดคนอ่าน และการได้รับของขวัญจากผู้อ่านเยอะ ก็ถือว่าได้เงินมาเป็นค่าขนมให้เด็ก ๆ ในอนาคตแล้วกันนะคะ
บทความที่น่าสนใจ : readawrite คืออะไร เว็บไซต์แต่งนิยาย วิธีหารายได้ทำได้ง่ายๆ ที่บ้าน
5. เทรดหุ้น หรือเหรียญ Cryptocurrency
คุณแม่สมัยใหม่ ที่สนใจเรื่องการลงทุน หากคุณพอจะมีความรู้เกี่ยวกับการเล่นหุ้น หรือกำลังศึกษาเกี่ยวกับเหรียญ Cryptocurrency แล้วหละก็ไม่เสียหายเลยหากคุณจะใช้ช่วงเวลาในการลาคลอดนี้ในการศึกษาเพิ่มเติม และเริ่มลงทุนทีละน้อย เพราะเป็นการหารายได้ที่คุยไม่จำเป็นจะต้องออกแรง หรือใช้พลังงานที่เหลือเพียงน้อยนิดจากการเลี้ยงลูกไปลงกับมันมากนัก แต่อาจจะต้องใช้การศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมมากหน่อย คุณอาจใช้เวลาที่ลูกหลับ หรือขณะกำลังนั่งพักหลังจากโอ๋ลูกทั้งวันมาการศึกษา และเริ่มลงทุนทีละน้อย แต่ที่สำคัญที่สุดสำหรับอาชีพเสริมอันนี้ก็คือ คุณอย่าลืมเด็ดขาดว่า “ทุกการลงทุนคือความเสี่ยง”
เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับช่องทางหารายได้ช่วงลาคลอด ถึงแม้ว่าการพักฟื้นตัวของคุณแม่หลังคลอดเวลาจะผ่านไปอย่างรวดเร็วเพราะคุณอาจจะยุ่งจนไม่มีเวลาทำอะไรเลย แต่ถ้าหากคุณแม่พร้อมแล้วหละก็ การหารายได้เสริมเพื่อมาเป็นทุนในช่วงนี้ก็ไม่ได้แย่นะคะ
บทความที่น่าสนใจ :
สิทธิลาคลอด การเลี้ยงดูลูกของสวีเดน VS ไทย ทำไมต่างกันขนาดนี้!!
คุณแม่ทราบหรือไม่ ค่าใช้จ่าย ตั้งท้องลูก 1 คน ใช้เงินเท่าไหร่
ออมเงินอย่างไร ให้ได้เงินล้าน เทคนิคออมเงิน ง่าย ๆ นำไปใช้ได้เลย
ที่มา : sso, kapook
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!