การเป็นคุณแม่ตั้งครรภ์ บางครั้งเราจะสัมผัสถึงการเติบโตของลูกในครรภ์ได้ ไม่ว่าจะเป็นลูกดิ้น ลูกเตะ รวมไปถึงการสะอึก ลูกสะอึกในท้อง เกิดจากอะไร อันตรายไหม ต้องทำยังไงเมื่อลูกในท้องสะอึก หาคำตอบได้ในบทความนี้ค่ะ

ลูกสะอึกในท้อง เกิดจากอะไร
คุณแม่ตั้งครรภ์มักจะสัมผัสได้ถึงการสะอึกของทารกในครรภ์ ในช่วงไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 โดยจะรู้สึกกระตุก หรือเกร็งเล็กน้อยที่บริเวณท้อง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ และเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการของทารกในครรภ์ โดยการสะอึกของทารกในครรภ์ สามารถเกิดขึ้นได้จากหลาย ๆ สาเหตุค่ะ
1. การเติบโตของปอด
การที่ ลูกสะอึกในท้อง อาจเกิดจากพัฒนาการในด้านการเติบโตของปอด เนื่องจากทารกฝึกหายใจ และฝึกระบบทางเดินหายใจ โดยทารกในครรภ์จะเริ่มหายใจเอาน้ำคร่ำเข้าไปในปอด ตั้งแต่อายุครรภ์ประมาณ 28 สัปดาห์
2. การตอบสนองของทารกในครรภ์
การสะอึกของเด็กในท้อง อาจเกิดจากการตอบสนองของลูกต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ เช่น เสียงดัง แสงแดด การขยับตัวของแม่
3. กล้ามเนื้อกระบังลมหดตัว
การสะอึกของทารกในครรภ์ อาจเกิดจากการที่ของเหลวไหลเข้า และออกจากปอดของทารก ทำให้กล้ามเนื้อกระบังลม มีการหดตัวอย่างรวดเร็ว จนทำให้ลูกสะอึกในท้องได้

ลูกสะอึกในท้อง อันตรายไหม
การสะอึกของทารกในครรภ์ ถือเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ ไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายต่อคุณแม่และลูกค่ะ แถมยังเป็นสัญญาณที่ดี ในด้านพัฒนาการของทารกในครรภ์อีกด้วย ซึ่งโดยปกติแล้ว ทารกจะสะอึกไม่นาน และไม่รุนแรง แต่หากทารกสะอึกทุกวัน โดยมีอาการนานกว่า 15 นาที หรือสะอึก 3 ครั้งขึ้นไป ในหนึ่งวัน ควรพบแพทย์ เพื่อตรวจโดยละเอียด และขอคำแนะนำเพิ่มเติม เพราะในบางกรณี อาการสะอึกถี่ ๆ ของทารกในครรภ์ อาจเป็นสัญญาณบอกถึงปัญหาของการตั้งครรภ์ได้เช่นเดียวกันค่ะ

วิธีทำให้ลูกในท้องหยุดสะอึก
การสะอึกของทารก แม้ว่าจะไม่ได้เป็นอันตรายต่อคุณแม่ และลูกน้อย แต่บางครั้งก็อาจทำให้คุณแม่ไม่สบายใจ หรือรู้สึกไม่สบายตัวได้ เราจึงมีวิธีการทำให้ลูกในท้องหยุดสะอึก และเคล็ดลับการลดความไม่สบายตัวของคุณแม่ จากการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์มาฝากกัน
1. ดื่มน้ำให้เพียงพอ
การดื่มน้ำให้เพียงพอ จะช่วยลดการสะอึกของลูกในท้องได้ เพราะจะไปช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในถุงน้ำคร่ำ ทำให้ทารกหายใจสะดวกขึ้น
2. ออกกำลังกายระดับปานกลาง
การออกกำลังกาย จะช่วยกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อ ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น และกระตุ้นฮอร์โมน เพิ่มการสูบฉีดของเลือด
3. งีบหลับช่วงกลางวัน
การงีบหลับพักผ่อนในช่วงกลางวัน จะช่วยให้ร่างกายกระชุ่มกระชวยขึ้น ส่งผลให้คุณแม่ และทารกในครรภ์ผ่อนคลาย
4. หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด
หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหาร หรือเครื่องดื่ม ที่มีรสเผ็ดจัด และรสเปรี้ยวจัด เพราะอาจทำให้ทารกสะอึกมากขึ้น
5. ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
การทานอาหารที่มีประโยชน์ ทานอาหารครบ 5 หมู่ จะช่วยให้ทั้งคุณแม่ และทารกในครรภ์สมบูรณ์แข็งแรง
6. นอนตะแคงซ้าย
แนะนำให้แม่ท้องนอนตะแคงซ้าย และใช้หมอนรอง เพื่อรองรับการกระแทก และบรรเทาแรงกดจากกระดูกสันหลัง การนอนแบบนี้ จะช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย ทำให้เลือดสามารถไปหล่อเลี้ยงหัวใจได้ง่ายขึ้น พอร่างกายผ่อนคลาย ก็จะช่วยให้ทารกสะอึกน้อยลงได้
7. เข้านอนให้ตรงเวลา
การเข้านอนให้ตรงเวลา นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ช่วยให้ทั้งคุณแม่ และทารกในครรภ์ผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ลดอาการสะอึกได้

รู้ได้อย่างไรว่า ทารกสะอึก หรือเตะ ?
การเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นการเตะ หรือการสะอึก มักจะคล้าย ๆ กัน แต่ก็พอมีวิธีสังเกต โดยให้ดูตำแหน่งของการเคลื่อนไหวของลูกน้อยเป็นหลัก หากรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวในส่วนต่าง ๆ ของท้อง แล้วการเคลื่อนไหวนั้นหยุด เมื่อคุณแม่ขยับตัว อาจจะเป็นการเตะของทารก แต่ถ้าหากคุณแม่นั่งนิ่ง ๆ แล้วรู้สึกว่ามีการกระตุกเป็นจังหวะ มาจากบริเวณใดบริเวณหนึ่งของท้อง สิ่งนี้อาจจะเป็นเพราะทารกในครรภ์สะอึกได้
โดยปกติแล้ว ทารกสามารถเริ่มมีอาการสะอึกได้ เมื่ออายุครรภ์เข้าสู่ ไตรมาสที่ 2 หรือไตรมาสที่ 3 ซึ่งอาจทำให้คุณแม่รู้สึกไม่สบายตัวอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด ทั้งนี้ คุณแม่ควรสังเกตอาการของลูกน้อยด้วย หากทารกสะอึกนานเกินไป หรือตัวคุณแม่เอง มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ควรพบแพทย์ เพื่อขอคำแนะนำในการรักษาต่อไปค่ะ
ที่มา: healthline , topclinic
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ตารางบันทึกลูกดิ้น พร้อมวิธีนับลูกดิ้น นับอย่างไร บันทึกอย่างไร แบบไหนผิดปกติ
ลูกดิ้นในท้องบอกอะไร ? เรื่องน่าอัศจรรย์ของการที่ลูกเตะในครรภ์
ตั้งครรภ์ 1-9 เดือน อาการคนท้องที่สำคัญ และพัฒนาการทารกในครรภ์
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!