อาการสะอึก เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย และสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศ ทุกวัย เมื่อเกิดอาการสะอึก หลาย ๆ คนอาจมีวิธีรับมือที่แตกต่างกันออกไป มาดูกันว่า อาการสะอึก เกิดจากอะไร สาเหตุ และวิธีการดูแล สามารถทำได้อย่างไรบ้าง
อาการสะอึก เกิดจากอะไร?
อาการสะอึก เกิดจากการหดตัวอย่างเฉียบพลัน ของกล้ามเนื้อกระบังลม ที่อยู่บริเวณช่องอกและท้อง การหดตัวอย่างฉับพลันนี้ จะทำให้เกิดการหายใจเข้าอย่างรวดเร็ว แต่อากาศที่กลับเข้ามา จะถูกกักโดยเส้นเสียงที่จะปิดตัวลงทันที จากการหดตัวของกล้ามเนื้อกล่องเสียง ทำให้เกิดอาการสะอึกในที่สุด
อาการสะอึกมีกี่ชนิด?
อาการสะอึก มี 2 ชนิด ได้แก่
1. การสะอึกในระยะสั้น
การสะอึกในระยะสั้น ที่อาจเกิดขึ้นบ่อย และหายได้เองภายในเวลาสั้น ๆ โดยอาการจะคงอยู่ไม่เกิน 48 ชั่วโมง เป็นอาการทั่ว ๆ ไป ที่เกิดได้เป็นครั้งคราว และไม่มีผลเสีย หรือความน่ากังวลแต่อย่างใด ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย ดังนี้
- การดื่มแอลกอฮอล และสูบบุหรี่มากเกินไป
- รับประทานอาหารเร็ว และมากเกินไป
- การรับประทานอาหารเผ็ด ๆ มากเกินไป
- การดื่มเครื่องดื่มร้อน หรือ ดื่มน้ำอัดลม
- อาการท้องอืด
- การกลืนอากาศเข้าไปมากเกินไป อาจเกิดขณะเคี้ยวลูกอม หรือ หมากฝรั่ง
- เกิดการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิภายในท้อง เช่น การดื่มของร้อน แล้วดื่มน้ำเย็นตามทันที
- สาเหตุทางด้านอารมณ์ เช่น ความเครียด ความตื่นเต้น ความกลัว
- อุณหภูมิห้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหัน
2. การสะอึกต่อเนื่อง
อาจเกิดติดต่อกันเป็นเวลานาน มากกว่า 48 ชั่วโมง ซึ่งการสะอึกในลักษณะนี้ เกิดได้ไม่บ่อย และหากเกิดขึ้นกับตัว ผู้ป่วยควรเข้ารับการรักษา เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือน บ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาได้ และการสะอึกแบบต่อเนื่อง หรือ เรื้อรัง อาจะเป็นผลมาจากโรคต่าง ๆ ได้ ดังนี้
- โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น กรดไหลย้อน การติดเชื้อในช่องท้อง ลำไส้อักเสบเรื้อรัง ลำไส้เล็กอุดตัน เป็นต้น
- โรคทางระบบทางเดินหายใจ เช่น ปอดบวม เยื้อหุ้มปอดอักเสบ หอบหืด เป็นต้น
- โรคทางระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับกระบังลม เช่น คอพอก เยื่อหุ้มสมองอักเสบ คอหอยอักเสบ เป็นต้น
- โรคทางระบบประสาทส่วนกลาง เช่น ลมชัก สมองอักเสบ สมองได้รับการกระทบกระเทือน เนื้องอกที่สมอง เป็นต้น
- โรคเกี่ยวกับระบบเผาผลาญ เช่น เบาหวาน เป็นต้น
- ผลกระทบทางจิตใจ เช่น ความเศร้า ความเครียด สภาวะช็อค ความกลัว เป็นต้น
- การเปลี่ยนแปลงของสารเคมี ที่อาจเกิดจากแอลกอฮอล ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ภาวะขาดแคลเซียม หรือ โพแทสเซียมในเลือด เป็นต้น
นอกจากนี้ อาการสะอึกเรื้อรัง อาจเกิดจากการรับประทานยาบางชนิด ที่มีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการสะดึกได้ เช่น ยาชา ยาระงับประสาท ยาลดอาการบวมอักเสบ ยาป้องกันอาการชัก ยารักษาความดันโลหิตสูง ยาระงับปวดบางชนิด ยารักษาทางเคมีบำบัด เป็นต้น
วิธีแก้อาการสะอึก
อาการสะอึกระยะสั้น
อาการสะอึกระยะสั้น สามารถใช้วิธีแก้ได้หลากหลาย ซึ่งแต่ละคนมีวิธีการแก้แตกต่างกันออกไป แต่การรักษาอาการสะอึก ยังไม่มีวิธีการรักษาที่ชัดเจน หรือ มีผลวิจัยว่าช่วยรักษาให้หายได้ แต่วิธีที่เชื่อกันว่า สามารถทำแล้วช่วยให้อาการสะอึกหายได้ มีดังนี้
- การจิบน้ำเย็นจัด
- การกลั้นหายใจ แล้วนับ 1 ถึง 10 ช้า ๆ
- การหายใจในถุงพลาสติก หรือ ถุงกระดาษปิด
- การกลั้วคอด้วยน้ำเย็น
- การกลืนน้ำตาลเม็ด โดยไม่ดื่มน้ำตาม
- การจิบน้ำมะนาว หรือ น้ำส้มสายชู
- การดึงเข่าให้ติดหน้าอก หรือ เอียงตัวไปด้านหน้า เพื่อกดหน้าอกลง
- การทำให้ตกใจ ด้วยการตบหลัง หรือ หลอดให้ตกใจ
- การจาม เพื่อให้เกิดการสูดหายใจเข้าแรง ๆ
- อุดหูทั้ง 2 ข้าง แล้วบีบจมูกไว้ จากนั้นจิบน้ำในแก้ว ประมาณ 2 อึก
อาการสะอึกต่อเนื่อง
อาการสะอึกต่อเนื่อง หรือ เรื้อรัง แตกต่างจากอาการสะอึกระยะสั้น เนื่องจากอาการสะอึกระยะสั้น จะสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา แต่การสะอึกระยะยาว จะต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์ เนื่องจากอาจเป็นผลมาจากปัญหาทางสุขภาพ โดยแพทย์จะทำการวินิจฉัย ถึงที่มาของอาการ โดยอาจเป็นผลมาจากโรค หรือ ผลข้างเคียงจากยา แต่หากแพทย์ไม่พบปัญหาสุขภาพ ที่เป็นสาเหตุของอาการสะอึก แพทย์อาจใช้ยาในการช่วยรักษา ซึ่งหากการใช้ยารับประทานไม่ได้ผล แพทย์อาจใช้การฉีดยาชา เพื่อทำให้เส้นประสาทที่ควบคุมการหดตัวของกระบังลม หยุดการทำงาน หรือ ใช้การกระตุ้นไฟฟ้าอ่อน ไปยังเส้นประสาทเวกัส เพื่อช่วยหยุดอาการสะอึก
อาการสะอึก ไม่ได้ส่งผลร้ายแรงต่อร่างกาย แต่หากอาการเรื้อรัง และไม่หายไป ก็อาจเป็นตัวบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพได้ ผู้ที่มีอาการสะอึกแบบเรื้อรัง ควรพบแพทย์ เพื่อช่วยตรวจดูอาการ และวินิจฉัยโรค เพื่อทำการรักษาต่อไป
ที่มาข้อมูล pobpad
บทความที่น่าสนใจ
ท้องอืดทำอย่างไร อาหารและเครื่องดื่มอะไรที่ช่วยลดอาการท้องอืดได้?
ตดบ่อย เรอบ่อยตอนท้อง ทำไงดี แบบนี้มีวิธีแก้อย่างไร
10 อาหารที่ทําให้ท้องอืด อาหารที่ทำให้ปวดท้อง ยิ่งกินยิ่งปวดท้อง!
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!