มีไหมผู้ปกครองคนไหนกำลังคิด อยากให้ลูกเลิกกับแฟน ทำอย่างไรดี หากพบว่าแฟนลูกทำเรื่องไม่ดีมาก ๆ ก็คงต้องบอกลูกตรง ๆ แต่ถ้าหากแฟนของลูกยังไม่ได้ทำอะไรผิด เพียงแต่เราไม่ชอบเท่านั้น มาอ่านบทความนี้กัน แล้วทำความเข้าใจใหม่ว่าเราควรเข้าไปบังคับ หรือกดดันลูกจริงมากแค่ไหนกันแน่
5 ข้อต้องคิดก่อน อยากให้ลูกเลิกกับแฟน
แน่นอนว่าคำพูดของผู้ปกครองมีผลต่อความคิดของลูกเป็นอย่างมาก การกดดันลูกในเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ดังนั้นก่อนตัดสินใจพูดอะไรกับลูกออกไป ควรคิดพิจารณาสิ่งเหล่านี้ก่อนไปทีละข้อ ดังนี้
1. คิดถึงความรู้สึกของลูก
การบังคับ หรือกดดันลูกในเรื่องต่าง ๆ ยิ่งถ้าเป็นเรื่องของความรักแล้ว คงเป็นเรื่องใหญ่ในความคิดของเด็ก ๆ อยู่แล้ว หากคนอื่นบอกให้ลูกเลิกกับแฟน ลูกอาจไม่ได้คิดมาก แต่แน่นอนว่าไม่ใช่กับพ่อแม่แน่นอน เพราะวัฒนธรรมของไทย หากพ่อแม่ไม่ชอบแฟน ก็จะทำให้มีโอกาสไปต่อได้ยาก ผู้ปกครองอาจมีเหตุผลในใจ แต่ความรู้สึกของลูกเองก็สำคัญ ให้ลองเอาใจเขามาใส่ใจเราดูว่า ถ้าหากตัวของเราเองตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับลูก จะรู้สึกเสียใจ หรือกดดันมากแค่ไหน ดังนั้นหากไม่ใช่เหตุผลที่มีความจำเป็นจริง ๆ ก็ควรดูท่าทีต่อไปก่อน
บทความที่เกี่ยวข้อง : เลิกกับแฟนดีไหม เมื่อไหร่ควร หยุดความสัมพันธ์ แยกกันอยู่ได้แล้ว
2. สังเกตความเป็นไปก่อน
การรู้จักเพียงไม่กี่ด้านอาจทำให้ทั้งลูก และผู้ปกครองมองเห็นในมุมมองที่แตกต่างกัน หากไม่ได้มีอะไรร้ายแรง การคอยสังเกตลูกกับแฟนไปก่อน ดูว่าแฟนของลูกมีข้อเสียอะไร มีการปรับปรุงตัวหรือไม่ หรือสังเกตว่ามีข้อดีอะไรบ้าง หากหลาย ๆ อย่างไม่ค่อยชัดเจน ผู้ปกครองไม่ควรใช้อารมณ์ร้อนกดดันลูก แต่ควรให้เวลาในการสังเกตมากขึ้น ไม่แน่ว่าเมื่อเวลาผ่านไป ผู้ปกครองอาจได้เห็นมุมอื่น ๆ ที่ดี ของแฟนลูกได้เช่นกัน
3. ความเหมาะสมวัดจากอะไร
ผู้ปกครองอาจวางมาตรฐานของคนที่จะมาเป็นแฟนลูกเอาไว้ โดยอาจวัดจากความต้องการของเราเองว่าแบบไหนดี แบบไหนไม่ดี เมื่อลูกมีแฟนที่มีคุณสมบัติแตกต่างจากที่เราวางเอาไว้ เราก็รู้สึกไม่ยอมรับ ด้วยความคิดที่ว่า “สิ่งที่เรากำหนดไว้ดีที่สุดแล้ว” แต่เราอาจไม่ได้มองในมุมของลูก ว่าสิ่งที่เราวางเอาไว้เป็นสิ่งที่ลูกต้องการเหมือนกันหรือไม่ ลูกจะมีความสุข อย่างที่เราคิดไหม หากต้องปล่อยให้ลูกเลือกแฟนเองตามเกณฑ์ของลูก จะเป็นผลดีกับตัวของลูกมากแค่ไหน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองจะต้องไตร่ตรองให้ละเอียด
4. เกิดจากความกลัวหรือไม่
หลายครั้งที่ความต้องการของผู้ปกครองอาจมาจากความกลัวในบางเรื่องที่มีผลร้ายต่อตัวของผู้ปกครอง แต่ไม่ได้ส่งผลเสียต่อตัวของลูก ที่เห็นได้ชัด คือ ผู้ปกครองต้องมานั่งคิดว่าที่เราอยากให้ลูกเลิกกับแฟน เป็นเพราะเราไม่อยากเสียลูกให้กับคนอื่นหรือไม่ เกิดจากความกลัวที่ว่าลูกจะห่างจากผู้ปกครองมากขึ้นหรือเปล่า ซึ่งผู้ปกครองต้องมีความเข้าใจว่าการที่ลูกมีแฟนไม่ได้หมายความว่าจะเกิดการตัดสายสัมพันธ์ และวันหนึ่งลูกก็ต้องมีครอบครัวของตนเองเช่นกัน
5. เราติดวิจารณ์มากเกินไป หรือพอดี ?
การวิจารณ์ หรือบ่นทุกสิ่งที่ลูกทำ อาจเป็นเรื่องปกติของบางครอบครัว หลายครั้งลูกก็ฟัง หลายครั้งลูกก็ไม่ฟัง แน่นอนว่าเรื่องความรักก็ไม่ต่างกับเรื่องอื่น ๆ ผู้ปกครองต้องมานั่งคิดเหมือนกับข้อที่แล้วเช่นกันว่า สิ่งที่เราพูดบอกกับลูกไป เป็นสิ่งที่เราอยากจะตักเตือนจริง ๆ หรือเป็นเพียง “ความอยาก” ที่จะติทุกสิ่งที่ลูกทำเหมือนกับเรื่องอื่น ๆ เท่านั้น ลองคิดว่าประเด็นที่เราติไปสมเหตุสมผลที่ควรบอกลูกไปหรือเปล่า
บอกลูกอย่างไรให้คิดใหม่เรื่องแฟน
หากพบว่าแฟนของลูกมีคนอื่น มีการทำร้ายร่างกาย หรือทำผิดกฎหมายใด ๆ ก็สามารถพิจารณาบอกกับลูกได้โดย ดร.ซูซาน เดจเจส ไวต์ (Dr.Suzanne Degges-White) ที่ปรึกษาด้านความสัมพันธ์จากมหาวิทยาลัยนอร์ธเทิร์น อิลลินอยส์ กล่าวถึงการตักเตือนเรื่องความสัมพันธ์ลูกกับแฟนจากพ่อแม่ หลายครั้งก็เกิดจากเหตุผลที่สามารถเข้าใจได้หลายอย่าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ลูกอาจไม่ได้สังเกตเห็นได้ด้วยตนเอง เพราะอยู่ในช่วงที่มีความรัก แต่การเลือกวิธีตักเตือนลูกที่ไม่ถูกต้อง ก็เพิ่มโอกาสที่ลูกจะต่อต้านจนเกิดผลเสียต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวได้เช่นกัน ดังนั้นเราจึงแนะนำ ดังนี้
- พูดคุยกับลูกด้วยเหตุและผลเท่านั้น ด้วยปกติแล้ววัยรุ่นมีความคิดของตนเอง มีการต่อต้านตามวัยอยู่แล้ว หากบังคับโดยยึดจากความอยากเท่านั้น โดยไม่มีเหตุผลยิ่งทำให้โอกาสต่อต้านมีมากขึ้น
- ให้โอกาสลูกได้อธิบายเหตุผล และบอกความรู้สึก หรือสิ่งที่อยากจะบอกให้ผู้ปกครองเข้าใจด้วย และคิดตามสิ่งที่ลูกบอกมา
- ให้เวลาลูกในการตัดสินใจ และให้อิสระกับลูกในการเลือกว่าจะเลิกกับแฟนหรือไม่ หลังจากพูดคุยกันด้วยเหตุผลไปแล้ว ผู้ปกครองควรเคารพการตัดสินใจของลูกด้วย
ถ้าลูกไม่ยอมฟัง ไม่ยอมเลิกกับแฟนควรทำอย่างไร ?
ให้เวลากับลูกในการคบหาแฟนต่อไปหากลูกยืนยันแบบนั้น แต่ในระหว่างนั้นผู้ปกครองต้องคอยดูสิ่งผิดปกติ หรือความไม่เหมาะสมในหลาย ๆ อย่าง พร้อมกับพูดคุยกับลูกอยู่เสมอ หากเจอเรื่องร้ายแรง เรื่องไม่ดีต่าง ๆ เกี่ยวกับแฟนของลูกก็ต้องบอกต้องเตือนลูกตามตรงเพื่อให้ลูกได้รับรู้ ผู้ปกครองต้องเข้าใจว่าแม้ลูกจะอายุไม่ได้มากเท่ากับเรา แต่เด็ก ๆ วัยรุ่น หรือวัยทำงานก็มีความคิดเป็นของตัวเอง และคิดได้เองเป็น หากมีเรื่องที่ไม่สามารถรับได้ เช่น แฟนมีคนอื่น หรือทำผิดกฎหมาย ลูก ๆ จะสามารถรับรู้ได้ว่าควรยุติความสัมพันธ์ก่อนที่ผู้ปกครองจะแนะนำด้วยซ้ำ ดังนั้นกุญแจสำคัญ คือ การคอยสนับสนุนช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับลูกจะดีกว่าไปบังคับจนเกิดการแตกแยกภายในครอบครัว
เลี่ยงการปะทะกับแฟนของลูก
การปะทะกันโดยตรงทำให้สถานการณ์ทุกอย่างแย่ลง อาจถึงขั้นมีปากเสียงกัน ไม่ชอบกันอย่างเปิดเผย หากอยู่ในระหว่างให้เวลาแฟนของลูกในการพิสูจน์ตัวเอง กำลังเรียนรู้แฟนของลูกในด้านต่าง ๆ ผู้ปกครองควรระวังในเรื่องเหล่านี้
- อย่าพยายามเอาชนะให้ได้ทุกเรื่อง บางเรื่องที่เล็กน้อยไม่ได้ส่งผลอะไร หรือไม่เกี่ยวข้องกับนิสัยใจคอ หรือพฤติกรรมของแฟนลูกเลย การพยายามติเตียนต่อว่าจึงไม่ต่างอะไรจากการคอยจับผิดทุกอย่าง จนเกิดความไม่พอใจกับทั้ง 2 ฝ่าย
- หากรู้ว่าอะไรที่ควรแก้ไข ควรบอกผ่านลูกมากกว่าบอกกับแฟนของลูกตรง ๆ เพราะลูกจะรู้วิธีในการเข้า และพูดคุยได้มากกว่าผู้ใหญ่เข้าไปคุยเอง
- หากรู้ว่าแฟนของลูก และผู้ปกครองมีปัญหากันอยู่ อาจอยู่ในช่วงที่ยังปรับตัวเข้าหากันไม่ได้ ควรเลี่ยงการเจอกันบ่อย ๆ ไปก่อน จนกว่าจะเริ่มปรับตัวได้ เพื่อเลี่ยงปัญหาการกระทบกระทั่งกัน
ทั้งนี้เรื่องความสัมพันธ์ ความรักของลูก ตัวของลูกควรเป็นคนที่ตัดสินใจเองว่าจะคบหรือจะเลิก หากไม่ใช่ปัญหาที่ร้ายแรง เช่น การมีคนอื่น การทำร้ายร่างกาย หรือทำผิดกฎหมายใด ๆ ผู้ปกครองอย่างเราก็ควรยินดีกับคนที่ลูกเลือก และคอยสนับสนุน รวมถึงช่วยเป็นหูเป็นตาให้ก็เพียงพอแล้ว
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
50 ข้อดีของการมีแฟน มีแฟนดีอย่างไร? มีแฟนแล้วจะมีข้อดีอะไรมาดูกัน !
บอกลา 8 นิสัยแย่ ๆ ตัวบ่อนทำลายชีวิตคู่
ทำใจยังไงเมื่อจับได้ว่าแฟนนอกใจ ?
ที่มา : psychologytoday
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!