การสำลักและอาหารติดคอ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถเคี้ยวและกลืนอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหตุการณ์เหล่านี้อาจสร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้ปกครองอย่างมาก และอาจส่งผลร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที เหมือนกับข่าวนี้ที่ล่าสุด เกิดเหตุการณ์ระทึกขวัญ เด็กกิน ขนมปังติดคอ หายใจไม่สะดวก ซึ่งการรู้ถึงสัญญาณเตือน และ วิธีช่วยเหลือเบื้องต้นอาจช่วยชีวิตลูกน้อยของเราได้ทันเวลา วันนี้ทาง theAsianparent จึงจะมาพูดถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการที่อาหารติดคอเด็ก รวมไปถึงวิธีการช่วยเหลือเบื้องต้นที่ผู้ปกครองควรรู้ไว้ค่ะ
ชั่วพริบตา! ขนมปังติดคอ เด็กน้อยหายใจไม่ออก แขนขาเริ่มอ่อนแรง เกือบสิ้นใจ สุดท้ายรอดชีวิตหวุดหวิด
เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2567 โลกออนไลน์ลุ้นระทึก เมื่อมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง นามว่า “เอมอร สีหอม” ได้โพสต์คลิปวิดีโอวินาทีบีบหัวใจ เด็กกินขนมปังติดคอ โดยระบุข้อความว่า “น้องกินขนมปังติดคอโชคดีทีแม่น้องโซเฟียช่วยได้ทัน###น่าสงสารมาก”
จากคลิปวิดีโอ จะเห็นได้ว่าเด็กน้อยกำลังอยู่ในอาการสำลักขนมปัง ร่างกายเริ่มอ่อนแรง แขนและขาห้อย ผู้ที่เข้าช่วยพยายามอย่างเต็มที่ พยายามอุ้มเด็ก และใช้มือกระแทกบริเวณหน้าอกและท้องเพื่อช่วยให้เศษขนมปังที่ติดคอหลุดออกมา โดยแต่ละวินาทีช่างตึงเครียด เด็กน้อยยิ่งอ่อนแรงลง จนศีรษะเริ่มตกลงมา โชคดีที่รถพยาบาลมาถึงทันเวลา เด็กน้อยได้รับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และนำส่งโรงพยาบาล ล่าสุดทราบมาว่าเด็กปลอดภัยแล้ว
หลังจากคลิปวิดีโอเหตุการณ์เด็กกิน ขนมปังติดคอ ได้เผยแพร่ออกไป ก็ได้กลายเป็น ไวรัลบนโลกออนไลน์ ก่อให้เกิดความวิตกกังวลให้กับผู้คนเป็นอย่างมาก ผู้คนบนโลกออนไลน์ต่างเข้ามาชื่นชมผู้ที่เข้ามาช่วยชีวิตเด็กได้ทัน แต่ในขณะเดียวกัน ประเด็นสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม คือ ความรู้ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ไม่ว่าจะเป็น ผู้ปกครอง ครู หรือ พี่เลี้ยง ที่จำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์แบบนี้
ซึ่งล่าสุดทางเจ้าของเฟซบุ๊กก็ได้ออกมาชี้แจงเพิ่มเติมว่า ขณะนี้อาการของเด็กน้อยปลอดภัยแล้ว
ที่มา: Khaosod
Facebook: เอมอร สีหอม
เมื่ออาหารติดคอลูก ควรทำไง?
การเสียชีวิตจากการ “สำลัก” หรือ “สิ่งแปลกปลอมอุดกั้นทางเดินหายใจ” นั้นพบได้บ่อยในเด็กเล็ก ซึ่งสาเหตุหลักมาจากเด็กวัยนี้ชอบหยิบของเล่นหรือสิ่งของเล็ก ๆ เข้าปาก ซึ่งถ้าหากผู้ปกครองไม่ทันระวัง หรือขาดความรู้ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น อาจส่งผลร้ายแรงถึงชีวิตได้
อย่างไรก็ตาม ภัยร้ายนี้สามารถป้องกันได้ โดยผู้ปกครองควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีป้องกันและช่วยเหลือเด็กสำลักอาหาร
สังเกตสัญญาณเตือน เมื่อลูก “อาหารติดคอ”
จากเหตุการณ์ที่เด็ก ขนมปังติดคอ เราสามารถเห็นได้ว่า เด็กน้อยมีอาการอ่อนแรง ศีรษะเริ่มตกลงมา ซึ่งในกรณีนี้เราสามารถเห็นได้ชัดถึงอาการ แต่ในบางกรณีเราอาจไม่สามารถเห็นได้ชัด หรือรับรู้ได้ว่าลูกของเรากำลังมีอาการ อาหารติดคอ เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนว่า อาการสำคัญอะไรบ้างที่สามารถบ่งบอกได้ว่าลูกของคุณกำลังสำลักอาหาร
- มีอาการสำลัก หรือมีอาการไออย่างรุนแรงและต่อเนื่อง
- หายใจไม่ออก หายใจเสียงดังเหมือนคนเป็นโรคหอบหืด หรือหายใจเป็นระยะ
- พูดไม่มีเสียงออกมา หรือพูดได้ลำบาก
- หายใจเร็วผิดปกติ
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่ออาหารติดคอลูก
สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เด็กปลอดภัยจากการสำลัก คือการที่ผู้ปกครองควรเรียนรู้วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น ฝึกฝนทักษะการ “ไฮม์ลิช” และเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อช่วยให้เด็กได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที โดยเราสามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 กรณี ดังนี้
เด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี
- กรณีที่เด็กไม่หมดสติ ให้ตรวจดูอาการทางเดินหายใจอุดกั้น เช่น ร้องไม่มีเสียง ไอไม่ออก
- จับตัวเด็กคว่ำ แล้วตบหลัง 5 ครั้ง สลับกับนอนหงาย แล้วกดหน้าอก 5 ครั้ง
- ใช้ฝ่ามือรองเพื่อซัพพอร์ตคอเด็กขณะตบหลัง
- ทำซ้ำจนสิ่งแปลกปลอมออกมา
เด็กโต
- พยายามเข้าข้างหลังเด็กและให้เขานั่งพิงตัวเรา โดยที่เราสามารถอ้อมตัวเด็กเข้าไปได้
- รัดกระตุกที่ท้อง เหนือสะดือใต้ลิ้นปี (Abdominal Thrust)
- ทำซ้ำจนสิ่งแปลกปลอมออกมา
- กรณีหมดสติ ให้ทำปฏิบัติการกู้ชีพ และขอความช่วยเหลือ
- ถ้าเห็นสิ่งแปลกปลอมค่อยดึงเอาสิ่งแปลกปลอมออกมา
- ทำการปฏิบัติการชีพจนความช่วยเหลือมาถึง
หากคุณพ่อคุณแม่ได้ลองปฐมพยาบาลอาหารติดคอเบื้องต้นแล้ว แต่อาหารยังคงไม่หลุดออกจากทางเดินหายใจหรือหากลูกหมดสติไป ควรเริ่มทำการกู้ชีพขั้นพื้นฐาน CPR และโทรหาสายด่วน 1669 ทันทีเพื่อเข้ารับการรักษาต่อไป
วิธีป้องกันไม่ให้ อาหารติดคอลูก
- เก็บอาหารชิ้นเล็ก ๆ เช่น เมล็ดถั่ว เมล็ดข้าวโพด ลูกอม ข้าวโพดคั่ว องุ่น ลูกเกด ขนมเยลลี่ ให้พ้นมือเด็ก เพื่อหลีกเลี่ยงการที่เด็กอาจจะหยิบกินโดยที่ไม่ได้อยู่ในสายตาและความดูแลของพ่อแม่
- ควรสอนให้เด็กเคี้ยวอาหารช้า ๆ เคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน ไม่กินอาหารขณะนอนราบ รวมถึงไม่ให้พูด หัวเราะ หรือวิ่งเล่นขณะที่มีอาหารอยู่ในปาก
- ไม่ควรให้เด็กเล็กกินอาหารที่มีลักษณะเป็นเส้น มีขนาดกลมหรือเป็นก้อน ลื่นและแข็ง เช่น ขนมปังชิ้นใหญ่ ๆ ลูกชิ้น ไส้กรอก รวมไปถึงปลาที่มีก้าง เนื้อสัตว์ที่ติดกระดูก และผลไม้ที่มีเม็ดขนาดเล็ก ควรเอาเม็ดออกพร้อมตัดแบ่งเป็นคำเล็กพอที่เด็กจะสามารถเคี้ยวได้ เนื่องจากเม็ดของผลไม้มีความลื่นและมีโอกาสหลุดเข้าหลอดลมได้ง่าย
บทความที่เกี่ยวข้อง: อาหารติดคอ ช่วยลูกอย่างไรดี พ่อแม่ควรรู้ไว้ อย่ารอให้สายเกินไป
เหตุการณ์เด็ก ขนมปังติดคอ นี้สะท้อนให้เห็นถึงอันตรายของการสำลักอาหาร โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ที่ยังไม่สามารถเคี้ยวและกลืนอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขนมปัง เป็นหนึ่งในอาหารที่เด็ก ๆ มักนิยมทาน แต่มีความเสี่ยงสูงต่อการสำลัก เพราะสามารถจับตัวเป็นก้อนได้ง่ายอย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะขณะรับประทานอาหาร เลือกอาหารให้เหมาะสมกับวัย ตัดอาหารเป็นชิ้นเล็ก ๆ และสอนให้เด็กเคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน ที่สำคัญ ควรเรียนรู้วิธีการช่วยเหลือเด็กสำลักอาหารเบื้องต้น เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉิน
ที่มา: Samitivej, Paolo Hospital, Chulalongkorn Hospital
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ทารกสำลักนมจนเสียชีวิต เกิดขึ้นได้อย่างไร
ปฐมพยาบาลเบื้องต้น กับ 5 อาการที่เกิดบ่อยของลูกวัยซน
ก้างติดคอ ทําไง ก้างปลาติดคอ ก้างติดคอลูก วิธีแก้ทำอย่างไร เอาแมวมาเขี่ยคอ ดื่มน้ำมะนาว หรือกลืนข้าวคำโต
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!