แม้ว่าการแช่น้ำเย็นในหน้าร้อนจะดูเป็นการคลายร้อนที่ชื่นใจ แต่การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิร่างกายอย่างรวดเร็ว อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ เหมือนกับตัวอย่าง เหตุการณ์ที่น่าเศร้า เมื่อเด็กหญิง วัย 3 ขวบ เล่นน้ำ ตากแดด ในกะละมังก่อนออกไปปั่นจักรยาน เมื่อกลับมาถึงบ้าน ก็เกิดอาการปวดหัว อาเจียน ก่อนจะหมดสติและเสียชีวิตทันที
สลด! เด็ก 3 ขวบ เสียชีวิตเฉียบพลัน ไม่ได้เกิดจาก เล่นน้ำ ตากแดด แต่เป็นเพราะโรคนี้
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 21 เมษายน 67 โดยผู้เป็นแม่เล่าว่า ในช่วงหน้าร้อนที่ผ่านมา ลูกน้อยของตนมักจะ แช่น้ำเล่นคนเดียวในกะละมัง พร้อมจักรยานคู่ใจที่วางอยู่ข้างกัน ซึ่งน้องมักจะสลับเล่นสองอย่างนี้ไปมา
จนวันเกิดเหตุ ขณะที่น้อง เล่นน้ำ กลางแดด ในกะละมังและออกไปปั่นจักรยานแบบที่ทำเป็นประจำจนตกเย็น น้องกลับมาถึงบ้าน ก็บอกกับคุณตาว่าตนมีอาการปวดหัว คุณตาเลยเรียกให้ไปเปลี่ยนเสื้อผ้าที่เปียก แล้วมานอนกินนม จนเวลาประมาณ 20:00 น. น้องก็ยังบ่นปวดหัวอยู่ จากนั้นก็อาเจียนออกมาถึง 4 ครั้ง แล้วจู่ ๆ ก็หมดสติไปอย่างรวดเร็ว คุณตาจึงรีบพาไปหาหมอที่ รพ.สตูล ซึ่งอยู่ห่างไม่จากที่บ้านมากนัก แต่พอถึงโรงพยาบาลก็พบว่าน้องได้เสียชีวิตแล้ว
ผู้เป็นตาเล่าว่า ปกติตนอยู่กับน้องที่บ้านหลังนี้กัน 2 คนตาหลาน เพราะคุณแม่ของน้องไปทำงานที่ต่างจังหวัด ซึ่งหลานสาวมักจะ เล่นน้ำ กลางแดด ในกะละมัง และออกไปปั่นจักรยานแบบนี้เป็นประจำอยู่แล้ว พอเจอเหตุการณ์นี้ยอมรับว่าตกใจมาก เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมากแบบไม่ทันตั้งตัว
ทางด้านของคุณแม่ เมื่อทราบข่าวการเสียชีวิตของลูกสาว คุณแม่ก็รีบเดินทางกลับมาบ้านทันที สอบถามกับทางแพทย์ จากผลการสแกนสมอง พบว่ามีน้ำในหู ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำเส้นเลือดสมองแตก ประกอบกับน้องมีอาการคล้ายปอดบวม เนื่องจากชอบเล่นน้ำและแช่น้ำนาน รวมไปถึงการปั่นจักรยานตากแดดเป็นเวลานาน ส่งผลให้ร่างกายอาจปรับตัวไม่ทัน
จนเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2567 ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านทางเอ็กซ์ (X.) ในชื่อบัญชี manopsi โดยระบุว่า
“คิดว่าเหตุคือเส้นเลือดสมองแตกจากเส้นเลือดสมองโป่งพอง (aneurysm หรือ AVM) ซึ่งอาจมีมาตั้งแต่เกิดและไม่มีอาการ พอเส้นเลือดแตกเกิดความดันในกระโหลกสูง ปวดศีรษะ อาเจียนพุ่ง และหมดสติ บางรายเกิด neurogenic pulmonary edema ทำให้มีน้ำคั่งในปอดอีก
ภาวะนี้ไม่มีทางรู้ก่อนจนกว่าจะเกิดเรื่อง (เว้นแต่มีโรคพันธุกรรม มีประวัติครอบครัว) เป็นเรื่องสุดวิสัยไม่น่าเกี่ยวกับการเล่นน้ำหรืออากาศร้อน แค่ประจวบเหมาะกัน”
ซึ่งวันนี้เราจะพาคุณพ่อคุณแม่มาทำความรู้จักกับ โรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง กันค่ะ
ที่มา: Khaosod
เส้นเลือดสมองโป่งพอง คืออะไร
โรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง หรือ Cerebral Aneurysm เกิดจากการเสื่อมสภาพของผนังเส้นเลือดเฉพาะจุด ทำให้ผนังเส้นเลือดบริเวณนั้นมีลักษณะที่บางกว่าบริเวณอื่น เมื่อเกิดแรงความดัน หรือมีกระแสเลือดไหลผ่านไปในระยะเวลาหนึ่ง ความดันนั้นก็จะไปทำให้บริเวณผนังหลอดเลือดที่บางนั้นโป่งพองขึ้นลักษณะคล้ายบอลลูน และอาจแตกออกได้ในเวลาต่อมา ก่อให้เกิดการเลือดออกในชั้นใต้เยื่อหุ้มสมอง ซึ่งภาวะนี้สามารถเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้อีกเช่นกัน เช่น โรคถุงน้ำที่ไต ภาวะเส้นเลือดแดงใหญ่ตีบ และอุบัติทางสมองที่มีการบาดเจ็บของเส้นเลือดสมอง เป็นต้น
ที่สำคัญคือโรคนี้อาจเกิดขึ้นได้ทันทีทันใดโดยไม่มีอาการเตือน ทำให้เกิดความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เส้นเลือดที่โป่งพองนั้นแตกได้ และทำให้เสียชีวิตได้อย่างกะทันหันได้ทันที
อาการของโรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง
อาการของโรคนี้ สามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 กลุ่มค่ะ โดยมีดังนี้
1) กลุ่มที่มีการแตกออกของเส้นเลือดสมองโป่งพอง
อาการนี้จะทำให้เกิดภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง ก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะโดยเฉพาะบริเวณต้นคออย่างรุนแรงและเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และในผู้ป่วยบางรายอาจหมดสติหลังจากปวดศีรษะ เมื่อฟื้นขึ้นมาจะยังคงมีอาการปวดศีรษะและต้นคออย่างรุนแรง ซึ่งถ้าหากเกิดอาการดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุดค่ะ
2) กลุ่มที่มีเส้นเลือดสมองโป่งพองขนาดใหญ่
หากผู้ป่วยมีเส้นเลือดโป่งพองขนาดใหญ่ แล้วความดันนี้ได้ไปกดทับเนื้อเยื่อสมองหรือเส้นประสาทสมอง อาการที่แสดงออกมานั้น จะขึ้นอยู่กับบริเวณที่ถูกกดทับ อย่างเช่น หากถูกกดทับบริเวณเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 หรือส่วนที่ใช้สำหรับควบคุมกล้ามเนื้อใบหน้า ผู้ป่วยก็จะมีอาการปวดร้าวบริเวณใบหน้า หรือในบางกรณีเมื่อเกิดเส้นเลือดสมองโป่งพองขนาดใหญ่ ก็จะทำให้เลือดไหลวนอยู่ภายในจนอาจมีลิ่มเลือดหลุดไปอุดตันในเส้นเลือดสมองส่วนปลายก่อให้เกิดการขาดเลือดในช่องสมอง อาการที่แสดงออกจะเป็นไปตามบริเวณของสมองที่ขาดเลือด
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็น เส้นเลือดโป่งพองในสมอง
โดยปกติแล้ว โรคนี้จะรู้ตัวได้ก็ต่อเมื่อมีอาการปวดศีรษะ หรือเกิดอาการที่แสดงออกมากแล้วเท่านั้น เพราะฉะนั้นการตรวจสุขภาพจะเป็นหนึ่งในตัวช่วย ที่จะทำให้เราสามารถตรวจพบเจอโรคเส้นเลือดสมองโป่งพองได้เร็วที่สุด ซึ่งโดยส่วนมากแล้ว กลุ่มที่ตรวจพบว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองโดยบังเอิญ มักเป็นกลุ่มที่ไม่มีการแสดงอาการใด ๆ ตั้งแต่แรก แต่กลับมาตรวจพบเจอโรคเมื่อได้ทำการตรวจสมอง เช่น การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองความเร็วสูง (CT Scan) เป็นต้น
วิธีการรักษา เส้นเลือดสมองโป่งพอง
วิธีการรักษาโรคนี้มีหลายรูปแบบ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาและการวินิจฉัย จาก ตำแหน่ง ขนาด และรูปร่างของเส้นเลือดที่โป่งพอง รวมถึงอายุ และสุขภาพของผู้ป่วยอีกด้วย โดยเส้นเลือดสมองโป่งพองในสมองจะมีวิธีการรักษา ดังนี้
1) การใส่ขดลวด (coil) หรือคลิปหนีบที่บริเวณเส้นเลือดโป่งพอง (clipping)
วิธีนี้จะช่วยห้ามไม่ให้มีเลือดผ่านเข้าไปบริเวณที่มีการโป่งพอง เพื่อป้องกันไม่ให้หลอดเลือดขยายใหญ่มากขึ้นไปอีก จนอาจทำให้เกิดการแตกออกของเส้นเลือดได้
2) การผ่าตัดสมอง
วิธีการนี้จะช่วยปิดซ่อมผนังหลอดเลือดที่โป่งพอง และหากผู้ป่วยมีก้อนเลือดในสมอง แพทย์ก็จะทำการผ่าตัดเอาก้อนเลือดในเนื้อสมองออกไป
3) ยาต้านแคลเซียม (Calcium channel blockers)
การให้ยาต้านแคลเซียมจะช่วยลดการเกิดภาวะสมองขาดเลือด ซึ่งเป็นผลมาจากการหดเกร็งของหลอดเลือดในสมองค่ะ
อย่างไรก็ตาม แม้อุทาหรณืครั้งนี้จะไม่ได้มีสาเหตุมาจากการ เล่นน้ำ ตากแดด แต่ด้วยสภาพอากาศร้อนจัดในปัจจุบัน กิจกรรมกลางแจ้งแบบนี้ก็สามารถส่งผลต่อสุขภาพของเด็กได้โดยตรง เราจึงมีทริคเล็ก ๆ น้อย ๆ มาฝากคุณพ่อคุณแม่เพื่อช่วยคลายร้อนให้ลูกน้อยกันค่ะ
วิธีคลายร้อนสำหรับเด็ก ๆ
แม้จะอยู่ในร่ม อากาศร้อนอบอ้าวก็ยังทำร้ายเด็กได้! บทเรียนสะเทือนใจ จากเหตุการณ์เด็ก 3 ขวบ เสียชีวิตหลัง เล่นน้ำ ตากแดด เตือนใจให้ผู้ปกครองตระหนักถึงอันตรายแฝงจากอากาศร้อน แม้จะไม่ได้อยู่กลางแจ้ง หน้าร้อนนี้ เราจึงมีวิธีช่วยคลายร้อนสำหรับเด็กๆ มาฝากกัน แต่จำไว้ว่า การดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด สำคัญที่สุด! จะมีอะไรบ้าง มาดูกันค่ะ
1) เลือกใส่เสื้อผ้าที่ช่วยระบายอากาศได้ดี
คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกให้เด็ก ๆ สวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน เนื้อผ้าฝ้าย ระบายอากาศได้ดี และหลีกเลี่ยงเสื้อผ้ารัดรูป
2) ดื่มน้ำเยอะ ๆ
เด็ก ๆ มีโอกาสที่จะสูญเสียเหงื่อและน้ำได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ ควรให้เด็กดื่มน้ำสะอาดบ่อย ๆ และอย่าให้เด็ก ๆ ดื่มน้ำหวานหรือน้ำอัดลมมากจนเกินไป
3) เช็ดตัวลดอุณหภูมิระหว่างวัน
สามารถทำได้ง่าย ๆ โดยใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุณหภูมิห้อง หรือ น้ำที่ไม่เย็นมากจนเกินไป บิดหมาด ๆ แล้วนำมาซับตัว เช็ดตัวให้ลูกน้อยรู้สึกสบายตัวขึ้นระหว่างวัน เพื่อช่วยลดอุณหภูมิร่างกายค่ะ
4) ลดกิจกรรมกลางแจ้ง
หากไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกข้างนอก กลางแจ้ง คุณพ่อคุณแม่ก็ควรจะให้ลูกอยู่ในที่ร่มที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก แต่ถ้าหากต้องออกกลางแจ้ง ควรเลือกที่จะสวมหมวกหรือกางร่ม หรือหาจังหวะมาพักในที่ร่มบ้าง ที่สำคัญควรหมั่นทาครีมกันแดดที่มี SPF 30 ขึ้นไป ให้เด็ก ๆ ก่อนออกจากบ้านทุกหครั้ง และควรทาซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง
5) เล่นน้ำอย่างปลอดภัย
หากจะพาลูกไปเล่นน้ำ ควรให้ลูกสวมใส่เสื้อชูชีพ และดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ที่สำคัญต้องระวังไม่ให้ลูกว่ายน้ำกลางแดดนานจนเกินไป ควรมีช่วงจังหวะเวลาขึ้นมาพักในที่ร่มบ้าง
6) รับประทานผลไม้ คลายร้อน
ผลไม้บางชนิดสามารถช่วยทำให้เรารู้สึกคลายร้อนและทำให้รู้สึกสดชื่นได้ เช่น แตงโม มะพร้าว หรือ สับปะรด สามารถช่วยทำให้เรารู้สึกเย็นสดชื่นขึ้นมาได้
บทความที่เกี่ยวข้อง: แม่ท้องกินผลไม้ทำให้ลูกฉลาดได้จริงหรือ คนท้องกินผลไม้อะไรดี และวิธีเล่นกับลูกในท้องเสริมความฉลาด
7. สวมรองเท้าที่ช่วยระบายอากาศและเลี่ยงการสวมถุงเท้า
เท้าถือเป็นอีกหนึ่งอวัยวะที่มีส่วนช่วยในการระบายความร้อนออกจากร่างกายได้เป็นอย่างดี ในช่วงที่อากาศร้อน ๆ ทางที่ดีควรให้ลูกสวมรองเท้าที่ระบายอากาศได้ง่าย เพื่อช่วยให้เท้าไม่เหม็นอับและจะช่วยให้ร่างกายระบายความร้อนผ่านทางเท้าได้ดีขึ้นอีกด้วยค่ะ
แม้จะปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้แล้ว ผู้ปกครองก็ยังควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด อย่าปล่อยให้เด็กเล่นน้ำหรือตากแดดตามลำพัง สังเกตอาการของเด็ก หากเด็กมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดหัว อาเจียน อ่อนเพลีย รีบพาเด็กไปพบแพทย์ทันทีค่ะ
จากกรณีเด็ก 3 ขวบ เสียชีวิตกะทันหันหลังเล่นน้ำ แพทย์ชี้แจงว่า สาเหตุการเสียชีวิตไม่ได้มาจากการ เล่นน้ำ ตากแดด แต่อาจเป็นผลมาจากโรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้น้อยในเด็ก แต่มีความรุนแรงและอันตรายถึงชีวิต เหตุการณ์นี้กระตุ้นให้ผู้ปกครองตระหนักถึงอันตรายของโรคเส้นเลือดสมองโป่งพองในเด็ก แม้ว่าจะพบได้น้อย แต่ก็ควรสังเกตอาการผิดปกติ และควรรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ สภาพอากาศร้อนจัดในปัจจุบัน ยังส่งผลต่อสุขภาพของเด็กได้โดยตรง ผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด หลีกเลี่ยงให้อยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี ให้ดื่มน้ำสะอาดอย่างเพียงพอ และหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของเด็ก ๆ ค่ะ
ที่มา : Petcharavej Hospital, Lingo Ace
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
ชุดว่ายน้ำ สีฟ้าเพิ่มความเสี่ยงเด็กจมน้ำ รู้ก่อน ปลอดภัยกว่า!
ใจสลาย! เด็กชาย 3 ขวบ เล่นซน แกะเทปพันสายไฟ ถูก ไฟดูด เสียชีวิต!
สุดสยอง! หญิงสาวกดกาแฟ ตู้กดอัตโนมัติ พบเจอสิ่งไม่คาดฝัน อาการทรุดเข้าห้องไอซียู
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!