วราวุธ นำคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐ ชงปรับเบี้ยเด็กแรกเกิด 600 บาทต่อเดือน เป็นแบบถ้วนหน้า ขยายรับเลี้ยงดูเด็ก 3 เดือน – 3 ปี ขณะที่เบี้ยผู้สูงอายุ เดือนละ 1,000 บาท จะปรับจากแบบขั้นบันได เป็นแบบถ้วนหน้า ส่วนเบี้ยคนพิการ เตรียมปรับจากเดือนละ 800 บาท เป็น 1,000 บาทต่อเดือน ซึ่งคณะอนุกรรมการจะเตรียมนำข้อเสนอทั้งหมดที่เห็นชอบ เข้าคณะกรรมการใหญ่ให้พิจารณา
ชงปรับเบี้ยเด็กแรกเกิด ผู้สูงอายุ คนพิการ เป็นแบบถ้วนหน้า
เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐ ได้ออกมาเปิดเผยหลังการประชุมว่า ที่ประชุมเห็นชอบในวาระสำคัญ 4 ประเด็น อันได้แก่
ประเด็นแรก คือ เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดจนถึง 6 ปี ที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน จากตอนที่ให้เงินสนับสนุน 600 บาทต่อเดือน จะเป็นไปตามเส้นความยากจน ประมาณ 4 ล้านกว่า ส่วนเงินอุดหนุนอยู่ประมาณ 2 ล้านกว่าคน แต่จากการประชุมวันนี้ จะเปลี่ยนวิธีการให้เงินสนับสนุนเป็นแบบถ้วนหน้า เพื่อให้เด็กแรกเกิดจนถึง 6 ปี ทุกคนในประเทศไทย ได้รับเงินอุดหนุนนี้
ประเด็นที่สอง คือ การขอให้ปรับศูนย์เลี้ยงดูเด็กและส่งเสริมการพัฒนาเด็ก ให้มีการดูเลี้ยงดู ซึ่งในตอนแรกเป็นเด็กตั้งแต่ 6 เดือน จนถึง 3 ปี ได้ขอปรับให้เป็น 3 เดือน จนถึง 3 ปี เพราะจะได้สอดคล้องกับกฎหมายแรงงานที่อนุญาตให้แม่สามารถลาคลอดได้ 98 วัน หรือประมาณ 3 เดือนกว่า ๆ โดยจะขอให้ศูนย์เลี้ยงดูเด็ก สามารถเลี้ยงดูได้ตั้งแต่ 3 เดือนไปจนถึง 3 ปี
ประเด็นที่สาม คือ เกี่ยวกับเรื่องเบี้ยผู้สูงอายุ จากก่อนหน้านี้ที่มีการจ่ายแบบขั้นบันได คือ 600-700-800 และ 1,000 บาทต่อเดือน จะขอปรับเป็น 1,000 บาททุกคน และจากเดิมที่ผู้สูงอายุได้แบบขั้นบันไดและไม่ถ้วนหน้า จากนี้ไปจะได้เป็นเดือนละ 1,000 บาทแบบถ้วนหน้า ทั้งนี้ เป็นการเห็นชอบของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐ จะต้องนำไปเสนอเข้าคณะกรรมการใหญ่อีกครั้ง
ประเด็นสุดท้าย คือ เกี่ยวกับเบี้ยความพิการ โดยมีการขอปรับจาก 800 บาท ต่อคนต่อเดือน เป็น 1,000 บาท โดยผู้ช่วยคนพิการ จากเมื่อก่อนได้รับค่าตอบแทนชั่วโมงละ 50 บาท ตอนแรกจะเสนอปรับเป็น 80 บาท แต่ทางที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่าควรปรับเป็น 100 บาทต่อชั่วโมง รวมถึงจัดหาการบริการกายอุปกรณ์ให้กับคนพิการทุกคน
โดยสรุปทั้ง 4 ประเด็นนี้ เป็นข้อสรุปที่ทางคณะอนุกรรมการได้เห็นชอบ เกี่ยวกับการดูแลพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก เยาวชน สตรี คนพิการ และคนสูงอายุ แต่ทั้งหมดนี้ เป็นการเห็นชอบของคณะอนุกรรมการ ตามที่ทางคณะทำงานนำเสนอมา ขั้นตอนต่อไปคณะอนุกรรมการจะต้องนำเสนอข้อเสนอทั้งหมด เข้าคณะกรรมการใหญ่เพื่อดำเนินการพิจารณาต่อไป
บทความที่เกี่ยวข้อง : เงินอุดหนุนทารกแรกเกิด คืออะไร? ทำอย่างไรถึงได้สิทธิ อัปเดต 2567
เงินอุดหนุนบุตร คืออะไร
เงินอุดหนุนบุตร เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด หรือเบี้ยเด็กแรกเกิด คือ โครงการที่ช่วยเหลือในเรื่องของค่าใช้จ่ายแก่ครอบครัวจากรัฐบาล โดยจะมีการจ่ายเงินให้ทุกเดือนเดือนละ 600 บาท ให้แก่ครอบครัวที่มีเด็กแรกเกิด ไปจนถึงอายุ 6 ขวบ ผู้ปกครองสามารถลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ์ได้ตั้งแต่คลอดบุตรเป็นต้นไป และไม่มีวันหมดเขตการลงทะเบียนจนกว่าเด็กจะมีอายุครบ 6 ปี ปี ตามที่รัฐได้กำหนดไว้
เงื่อนไขการรับเงินอุดหนุนบุตร
- เด็กมีอายุ 0-6 ปี
- เป็นเด็กแรกเกิดที่มีสัญชาติไทย
- เด็กต้องอาศัยอยู่ร่วมกับผู้ยื่นขอสิทธิ์
- พ่อ แม่ หรือคนใดคนหนึ่งมีสัญชาติไทย
- ผู้ยื่นขอสิทธิ์เป็นผู้รับเด็กแรกเกิดไว้ในอุปการะ
- สมาชิกในบ้านมีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาท ต่อคนและต่อปี
การลงทะเบียนขอรับเงินอุดหนุนบุตรนั้น ผู้ปกครองต้องนำเอกสารเข้าไปยื่นขอลงทะเบียน และแสดงตัวตนครั้งแรกที่สถานที่ลงทะเบียนได้กำหนดไว้ในพื้นที่ ที่เด็กและผู้ปกครองต้องอาศัยอยู่จริง โดยจะมีการเข้าไปลงทะเบียนเพียงครั้งเดียว จากนั้นรอฟังผลการพิจารณายื่นขอรับสิทธิ์ ซึ่งเมื่อผ่านการพิจารณาแล้วก็จะสามารถรอรับเงินโอนต่อเนื่องในทุก ๆ เดือนได้
โดยสถานที่ลงทะเบียนขอรับเงินอุดหนุนบุตรแบ่งออกเป็น 3 สถานที่ ได้แก่ พื้นที่กรุงเทพมหานคร สามารถลงทะเบียนได้ที่สำนักงานเขต พื้นที่เมืองพัทยา สามารถลงทะเบียนได้ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา และพื้นที่ส่วนภูมิภาค สามารถลงทะเบียนได้ที่องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาลที่เด็กและผู้ปกครองอาศัยอยู่จริง
บทความที่เกี่ยวข้อง : อัปเดตล่าสุด! เงินอุดหนุนบุตร ประจำปี 2567 เริ่มโอนวันไหน?
เบี้ยผู้สูงอายุ คืออะไร
เบี้ยผู้สูงอายุ หรือ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ คือ สวัสดิการที่รัฐจัดสรรให้แก่ผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพื่อเป็นเงินช่วยเหลือ และแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายค่าครองชีพในแต่ละเดือน เพราะรายได้ของอาชีพผู้สูงอายุที่ทำในแต่ละเดือนนั้น อาจไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ซึ่งในแต่ละปี จะเปิดให้ผู้ที่มีคุณสมบัติรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุรายใหม่ ลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ์
เงื่อนไขการรับเบี้ยผู้สูงอายุ
- สัญชาติไทย
- อายุ 59 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป สามารถลงทะเบียนล่วงหน้าได้ก่อนอายุครบ 60 ปี
- ผู้สูงอายุที่มีลูกทำงานในหน่วยงานรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และได้รับเงินบำนาญพิเศษตลอดชีวิต จากการที่บุตรไปปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศจนร่างกายพิการ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต ยังสามารถรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้ด้วย รวมถึงผู้สูงอายุที่ได้รับบัตรสวัสดิการคนจนจากรัฐ ก็สามารถขอรับสิทธิ์รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้อีกเช่นกัน
ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นผู้สูงอายุที่ได้รับสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต.หรืออบจ.) เช่น เบี้ยหวัด เงินบำนาญ และเงินอื่น ๆ ที่คล้ายกับเบี้ยยังชีพ เช่น ผู้สูงอายุที่เคยทำงานและได้รับเงินเดือน รายได้ประจำ หรือผลตอบแทนอื่น ๆ จากหน่วยงานรัฐ หรือส่วนปกครองท้องถิ่น
โดยสถานที่ลงทะเบียนขอรับเบี้ยผู้สูงอายุ พื้นที่กรุงเทพมหานคร สามารถลงทะเบียนได้ที่สำนักงานเขต 50 เขต และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ขณะที่พื้นที่ส่วนภูมิภาค สามารถลงทะเบียนได้ที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต.) หรือเทศบาลที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
บทความที่เกี่ยวข้อง : เทคนิค ออมเงินก่อนเกษียณ ต้องทำอย่างไร ให้มีเงินใช้สบายหลังเกษียณ
เบี้ยความพิการ คืออะไร
เบี้ยความพิการ หรือเงินคนพิการ จะได้จากการมีบัตรคนพิการ ซึ่งเป็นบัตรที่ยืนยันสถานะพิการ เป็นบัตรที่ทำให้ผู้พิการได้รับสิทธิต่าง ๆ ที่ควรได้รับ ทั้งในเรื่องของเบี้ยเลี้ยง เงินผู้พิการที่จะได้ถูกเดือน รวมถึงเงินกู้คนพิการ เงินสงเคราะห์คนพิการ สิทธิการใช้ขนส่งสาธารณะฟรี และอื่น ๆ การได้รับเงินคนพิการ จะได้เป็นเงินที่ได้รวมกันจาก 2 ส่วน คือ เบี้ยความพิการ และจากสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้พิการที่มีอายุ 18 ปี จะได้รับเบี้ยความพิการ 800 บาท ต่อเดือน
ทั้งนี้ ผู้พิการที่จะได้รับเบี้ยความพิการ จะต้องเป็นความพิการโดยประจักษ์ คือสภาพความพิการที่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนโดยไม่มีข้อกังขา ตัวอย่างเช่น หูหนวกไม่มีรูหูทั้งสองข้าง ตาบอดไม่มีลูกตาทั้งสองข้าง หรือคนพิการทางร่างกายที่แขนขาดตั้งแต่ข้อมือขึ้นไป และขาขาดตั้งแต่ข้อเท้าขึ้นไป เป็นต้น
ทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐจะร่วมกันผลักดันให้เกิดขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยในทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเด็ก เยาวชน สตรี ผู้พิการ และผู้สูงอายุ ซึ่งจะต้องเป็นการเห็นชอบของคณะอนุกรรมการ และนำเสนอเข้าคณะกรรมการใหญ่เพื่อดำเนินตามขั้นตอนต่อไป
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ประกันสุขภาพเด็ก ดีอย่างไร? ทำไมคุณพ่อคุณแม่ควรทำ
ข้อควรรู้! อยากทำประกันชีวิตให้พ่อแม่ ต้องรู้อะไรบ้างและควรระวังเรื่องใด
เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดเข้าเมื่อไหร่ ลงทะเบียนที่ไหน ถ้าเงินไม่เข้าทำอย่างไร
ที่มา : thaipbs.or.th, rabbitcare.com, portal.info.go.th, rabbitcare.com
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!