เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด กับ เงินสงเคราะห์เด็ก ต่างกันยังไง
สำหรับคุณแม่มือใหม่ อาจจะงง ๆ ว่า เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด กับ เงินสงเคราะห์เด็ก ต่างกันยังไง บ้านเรามีสิทธิได้รับเงินตรงนี้มั้ย ต้องยื่นอันไหน ยื่นยังไง ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง เรามาทำความเข้าใจด้วยกัน จากบทความนี้ได้เลยค่ะ
เงินอุดหนุนเด็ก
โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ถือเป็นสวัสดิการของรัฐ ที่ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูกของคุณพ่อคุณแม่ โดยที่รัฐจะสนับสนุนเงินเลี้ยงดูบุตรคนละ 600 บาท ต่อเดือน ไปจนกว่าเด็กจะอายุครบ 6 ปี
ระยะเวลาการลงทะเบียนเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด
สำหรับเด็กแรกเกิด สามารถยื่นขอลงทะเบียนเงินอุดหนุนเด็กได้ตลอดทั้งปี โดยรัฐจะจ่ายเงินตั้งแต่เดือนที่ยื่นขอรับสิทธิ์ จ่ายทุก ๆ เดือน จนกว่าเด็กจะมีอายุครบ 6 ปี ดังนั้นยื่นเร็ว ก็แปลว่าจะได้รับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดเร็วด้วยเช่นเดียวกัน แต่ต้องรอคลอดก่อนจึงจะสามารถลงทะเบียนรับสิทธิ์ได้ คุณแม่ตั้งครรภ์ยังไม่สามารถยื่นได้
แต่สำหรับใคร ที่ยังไม่ได้ยื่นลงทะเบียน ก็ยังมีสิทธิยื่นขอลงทะเบียนเงินอุดหนุนเด็กได้ จนเด็กอายุ 6 ปี เพียงแต่ว่าจะไม่สามารถขอย้อนหลังได้เท่านั้นเอง จำง่าย ๆ ก็คือ “ใครมาเมื่อไหร่ ได้เมื่อนั้น จนลูกอายุ 6 ขวบ แต่ขอย้อนหลังไม่ได้”
คุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ยื่นขอรับเงินอุดหนุนเด็ก 2567
เด็กแรกเกิดที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ
- สัญชาติไทย
- พ่อและแม่ หรือคนใดคนหนึ่ง ต้องมีสัญชาติไทย
- เด็กอาศัยอยู่กับผู้ปกครองที่รายได้น้อยตามเกณฑ์ที่ระบุไว้
- เด็กไม่ได้อยู่ในสถานสงเคราะห์
ผู้ปกครองที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ
- สัญชาติไทย
- อาศัยอยู่กับเด็กแรกเกิด
- มีรายได้เฉลี่ยของทั้งครอบครัว ไม่เกิน 100,000 บาท ต่อคน (ให้เอารายได้ทั้งปีของทุกคน มาหารด้วยจำนวนสมาชิกในครัวเรือน รวมตัวเด็กด้วย เพื่อหาค่าเฉลี่ยต่อคนต่อปี)
เอกสารที่ใช้ในการยื่นขอรับเงินอุดหนุนเด็ก 2567
- แบบคําร้องขอลงทะเบียน (ดร.01)
- แบบรับรองสถานะของครัวเรือน (ดร.02)
- สำเนาบัตรประจําตัวประชาชนของผู้ปกครอง
- สำเนาสูติบัตรเด็กแรกเกิด
- สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากของผู้ปกครอง โดยต้องเป็น 3 ธนาคารที่ระบุไว้เท่านั้น ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)
- สำเนาสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก เฉพาะหน้าที่ 1 ที่มีชื่อของหญิงตั้งครรภ์
- กรณีที่ผู้ยื่นคําร้องขอลงทะเบียนและสมาชิกในครัวเรือนของผู้ยื่นคําร้องขอลงทะเบียน เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานบริษัท ต้องมีเอกสาร ใบรับรองเงินเดือน หรือหนังสือรับรองรายได้ของทุกคนที่มีรายได้ประจํา (สลิปเงินเดือน)
- สําเนาเอกสาร หรือบัตรข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ บัตรแสดงสถานะหรือตําแหน่ง หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงตนของผู้รับรองคนที่ 1 และผู้รับรองคนที่ 2
ผู้รับรองบุคคลที่ 1
- อาสาสมครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.)
- อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.)
- อาสาสมัครสาธารณสุขประจําหมู่บ้าน (อสม.)
ผู้รับรองบุคคลที่ 2
- กํานัน หรือผู้ใหญ่บ้าน หรือประธานชุมชน
- ข้าราชการสถานบริการสาธารณสุขในพื้นที่
- ข้าราชการในระดับปฎิบัติการหรือเทียบเท่าในท้องถิ่น
คุณพ่อคุณแม่ สามารถตรวจสอบสิทธิ์ว่าตัวเองลงทะเบียนผ่านแล้วหรือยัง รวมไปถึงตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ได้ที่ https://govwelfare.cgd.go.th/welfare/home
เงินสงเคราะห์เด็ก ประกันสังคม 2567
เงินสงเคราะห์เด็ก เป็นเงินที่สำนักงานประกันสังคมสนับสนุน โดยให้เดือนละ 600 บาท ตั้งแต่เด็กแรกเกิด ไปจนถึงอายุ 6 ปี เหมือนกับเงินอุดหนุนเด็ก แต่จะต่างจาก เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ตรงที่ เงินสงเคราะห์เด็ก เป็นสิทธิสำหรับผู้ประกันตนประกันสังคม โดยมีเกณฑ์ และเงื่อนไขที่ต่างจากเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด คุณพ่อคุณแม่สามารถตรวจสอบดูได้ ว่าตัวเองเข้าเกณฑ์อันไหน ก็ให้ยื่นอันนั้น ไม่สามารถยื่นทับซ้อนกันได้ค่ะ
คุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ยื่นขอรับเงินสงเคราะห์เด็ก
- เป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 คือ ผู้ที่มีรายได้ประจำ และจ่ายเงินสบทบเข้าประกันสังคม หรือ มาตรา 39 คือ ผู้ที่เคยนำส่งเงินสบทบมาแล้ว ไม่ต่ำกว่า 12 เดือน และออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน
- จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่ยื่นขอสิทธิรับเงินสงเคราะห์บุตร
- ต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ยกเว้น บุตรบุญธรรม หรือบุตรซึ่งยกให้ เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น
- ยื่นขอรับได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิด ไปจนถึงอายุ 6 ปี ครั้งละไม่เกิน 3 คน
เอกสารที่ใช้ในการยื่นขอรับเงินสงเคราะห์เด็ก
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกองทุนประกันสังคม (สปส. 2-01)
- กรณีผู้ประกันตนหญิง ใช้สำเนาสูติบัตรบุตร 1 ชุด
- กรณีผู้ประกันตนชาย ใช้สำเนาสูติบัตรบุตร 1 ชุด พร้อมสำเนาทะเบียนสมรส
- สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรกที่มีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ยื่นคำขอ จำนวน 1 ฉบับ
วิธียื่นเรื่องเพื่อรับประโยชน์เงินสงเคราะห์บุตร
- กรอกแบบ สปส.2-01 พร้อมลงลายมือชื่อ และนำมายื่นที่สำนักงานประกันสังคม
- รอเจ้าหน้าที่ตรวจสอบหลักฐาน และพิจารณาอนุมัติ
- รอรับหนังสือแจ้งผลการพิจารณาจากสำนักงานประกันสังคม
- รอรับเงินสงเคราะห์บุตร เป็นรายเดือน เดือนละ 600 บาท
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
เงินอุดหนุนบุตรไม่เข้าติดต่อที่ไหน เบอร์โทรติดต่อเจ้าหน้าที่แต่ละจังหวัด เช็กเลย!
พัฒนาการของเด็กวัยหัดเดิน ช่วงอายุ 12-18 เดือน มีอะไรบ้าง?
คุณแม่ขาชอปมาทางนี้ 8 ชุดคลุมท้อง ราคาหลักร้อย น่ารักสุด ๆ เป็นแม่ท้องก็สวยได้
ที่มา : https://www.sso.go.th/wpr/main https://www.facebook.com/ssofanpage/
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!