ไฟไหม้ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ซึ่งมักเกิดโดยที่เราไม่ทันตั้งตัว จึงนำมาซึ่งการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน คุณพ่อคุณแม่มักจะเห็นข่าวไฟไหม้อยู่บ่อยครั้ง แต่อาจไม่ทันระวังเพราะคิดว่าอุบัติเหตุนี้อยู่ไกลตัวลูก อย่างเช่นกรณีนี้ ไฟไหม้หอพักนักเรียน โรงเรียนประถมในประเทศจีน ทำเด็กประถมเสียชีวิต 13 ราย ล่าสุดตำรวจควบคุมตัวผู้จัดการโรงเรียนเพื่อนำไปสอบปากคำแล้ว
ไฟไหม้หอพักนักเรียน โรงเรียนประถม ทำเด็ก 13 คนเสียชีวิต
เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า สื่อจีนได้รายงานอุบัติเหตุไฟไหม้ ที่หอพักเด็กเล็กแห่งหนึ่ง ในโรงเรียนประถม ของหมู่บ้านหยานช่านผู มณฑลเหอหนาน ในคืนวันศุกร์ที่ 19 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ทำให้มีนักเรียนเสียชีวิต 13 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลอีก 1 ราย ภายหลังสามารถควบคุมเพลิงได้สำเร็จ
ตามรายงานเบื้องต้นของสื่อจีนได้เผยว่า โรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนเอกชนที่รับดูแลเด็กเล็ก เนอสเซอรี่ และเด็กประถมต้น โดยหลังจากที่เกิดเหตุไฟไหม้ครั้งนี้ ผู้จัดการโรงเรียนซึ่งอยู่ในหมู่บ้านหยานซ่านผู ในมณฑลเหอหนาน ได้ถูกควบคุมตัวไปสอบปากคำเพื่อหาสาเหตุ อย่างไรก็ตาม จากคำบอกเล่าของนักเรียนคนหนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์ ได้เผยว่า เขาถูกปลุกให้ตื่นตอนกลางคืน โดยที่อาจารย์บอกให้เขาหนีไป เพราะมีกลุ่มควันจำนวนมากลองฟุ้งอยู่ในอากาศ
ขณะที่ทางด้านผู้ปกครองของเด็กนักเรียน ได้ให้สัมภาษณ์ว่า นักเรียนในโรงเรียนประจำนี้จะได้รับอนุญาตให้กลับบ้านทุก ๆ 10 วัน เป็นเวลา 4 วัน โดยที่ลูกของเขามีกำหนดสอบก่อนวันหยุดที่จะเริ่มในช่วงสัปดาห์หน้า
ล่าสุด ทางสำนักข่าวทางการของจีนยังไม่เปิดเผยรายละเอียดใด ๆ ของผู้เสียชีวิตจากเหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้ รวมถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้หอพักที่มีเด็กเล็กหลับอยู่ และเป็นเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 13 คน ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการสอบสวนสาเหตุของเพลิงไหม้ต่อไป
ขณะที่ทางกระทรวงการจัดการเหตุฉุกเฉินของจีนได้เรียกร้องให้มีการคัดกรอง เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากไฟไหม้ที่ยังไม่ตรวจพบ โดยเฉพาะบริเวณสถานที่ที่มีผู้คนหนาแน่น ได้มีการส่งทีมงานไปแนะแนวการกู้ภัยและติดตามผลแล้ว ทั้งนี้ โรงเรียนประถมนี้ เป็นโรงเรียนประจำเอกชนที่มีนักเรียนชั้นอนุบาลและประถมศึกษา ซึ่งมีนักเรียนประจำจำนวนมากที่มาจากพื้นที่ชนบท
อย่างไรก็ตาม เรื่องความปลอดภัยจากเหตุไฟไหม้ยังคงเป็นเรื่องที่น่ากังวลสำหรับประเทศจีน โดยเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว เกิดเหตุไฟไหม้ที่โรงเรียนพยาบาลแห่งหนึ่ง ในกรุงปักกิ่ง ที่ได้มีผู้เสียชีวิต 29 คน ทำให้ผู้ป่วยที่ติดอยู่ในอาคารสูง ต้องใช้ผ้าปูที่นอนผูกเป็นเชือกและปีนออกนอกหน้าต่างเพื่อหลบหนีไฟไหม้
บทความที่เกี่ยวข้อง : ไฟไหม้!!! รู้วิธีเอาตัวรอด ก่อนจะถูกไฟคลอกทั้งแม่ทั้งลูก
5 เคล็ดลับสอนลูกเอาตัวรอดจากเหตุเพลิงไหม้
ไฟไหม้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้เสมอและไม่ทันได้ระมัดระวัง ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรสอนลูกให้พร้อมรับมือกับเหตุการณ์นี้ตลอดเวลา เผื่อว่าวันหนึ่งเกิดไฟไหม้ ลูกจะได้รู้ว่าต้องช่วยเหลือตัวเองอย่างไรบ้าง ซึ่งเคล็ดลับในการสอนลูกเอาตัวรอดจากไฟไหม้ มีดังนี้
1. สอนลูกให้จำเบอร์ติดต่อฉุกเฉิน
สิ่งสำคัญอย่างแรกเลย คุณพ่อคุณแม่ต้องสอนให้ลูกให้จำเบอร์โทรติดต่อฉุกเฉินให้ได้ โดยเป็นเบอร์ 119 หรือ 199 รวมถึงควรสอนลูกให้จดจำเลขที่บ้าน ซอย หมู่บ้าน ตำบล รวมไปถึงเบอร์โทรสำหรับติดต่อกลับ เพราะหากลูกสามารถบอกข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างแม่นยำ ก็จะมีโอกาสรอดและปลอดภัยมากขึ้น อีกทั้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงจะสามารถรู้พิกัดของเหตุเพลิงไหม้ได้ทันที
2. สอนลูกให้คลานและหมอบลงต่ำ
เวลาที่เกิดเพลิงไหม้ลูกอาจตื่นตระหนกจนขาดสติได้ ในเวลานั้นอาจทำให้ลูกสูดควันไฟเข้าไปจำนวนมาก หรืออาจเกิดอุบัติเหตุอื่น ๆ อย่างเช่น หกล้ม หรือข้าวของหล่นทับ ซึ่งอาจเป็นอันตรายมากกว่าเดิม ดังนั้น ให้คุณพ่อคุณแม่สอนลูกเสมอว่าต้องหมอบต่ำ หรือใช้วิธีคลานไปยังที่ต่าง ๆ เพื่อหลบหนีไฟ และลดความเสี่ยงที่จะหมดสติไปโดยไม่รู้ตัวจากควันไฟ
3. สอนลูกให้ออกทางหนีไฟเสมอ
สิ่งหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนลูกได้ง่ายที่สุด คือ การมองหาทางหนีไฟเสมอ อย่างเช่น ประตูหนีไฟ บันไดหนีไฟต่าง ๆ โดยอาจสังเกตจากสัญลักษณ์ทางหนีไฟ เพื่อให้ลูกรู้เสมอว่าหากเกิดเหตุเพลิงไหม้ต้องให้ออกไปทางนั้น หรือถ้าจะเกิดไฟไหม้ในบ้าน ก็ต้องบอกลูกเสมอว่าให้ออกประตูไหน ไม่ว่าจะเป็นประตูหน้า ประตูหลังบ้าน ต่าง ๆ เพื่อให้ลูกหนีออกไปได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : สอนลูกให้กล้าตัดสินใจ ทำอย่างไรให้ลูกมีความกล้า ทำอะไรได้ด้วยตัวเอง
4. ผ้าชุบน้ำคือสิ่งสำคัญที่สุด
สิ่งสำคัญในการป้องกันตัวเองมากที่สุด คือ ผ้าชุบน้ำ ที่จะช่วยให้อยู่รอดในช่วงเกิดไฟไหม้ เพราะเมื่อมีไฟก็ต้องมีควัน ซึ่งอาจทำให้ลูกสำลักควันไฟและหมดสติได้ในระหว่างรอความช่วยเหลือ คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกใช้ผ้าชุบน้ำสะอาดปิดปากและจมูกไว้ เพื่อให้หายใจต่อได้โดยไม่สำลักควัน หากมีผ้าผืนใหญ่ให้นำไปชุบน้ำและห่อหุ้มร่างกายเอาไว้ เพื่อป้องกันความร้อนและป้องกันไฟติดตามร่างกาย
5. อย่าลืมเช็กความร้อนจากลูกบิดประตู
หากต้องหลบหนีไปยังห้องอื่น หากเราเปิดประตูเลยก็อาจจะเจอกับไฟไหม้ที่อยู่อีกห้องก็ได้ และอาจถูกควันไฟพุ่งเข้าใส่จนทำให้หมดสติ คุณพ่อคุณแม่ต้องสอนให้ลูกระมัดระวังก่อนเปิดประตู ด้วยการแตะที่ลูกบิดของประตู หรือจับบานประตูดู หากลูกบิดไม่ร้อน ก็สามารถเปิดออกได้ แต่หากแตะแล้วรู้สึกว่าร้อน ต้องรีบถอยห่างทันที เพราะอาจมีไฟไหม้อยู่อีกห้องก็ได้
หากไฟติดตัวหรือเสื้อผ้าควรทำอย่างไร
ในกรณีที่เกิดเหตุร้าย อย่างเช่นไฟไหม้ติดตัวหรือติดเสื้อผ้า หากไม่รู้วิธีการดับไฟที่ถูกต้องก็อาจทำให้ไฟลุกลามมากกว่าเดิม และเสี่ยงต่อการบาดเจ็บหรือถูกไฟคลอกได้ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องสอนให้ลูกรู้จักวิธีการดับไฟติดตัวหรือติดเสื้อผ้าด้วย 3 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้
- หากไฟลุกไหม้ติดเสื้อผ้าหรือร่างกาย ต้องหยุดวิ่งทันที เพราะการวิ่งจะทำให้มีลดพัดจนโหมให้ไฟแรงมากยิ่งขึ้น
- ให้นอนราบไปที่พื้น เพื่อหยุดไฟไม่ให้ลามไปยังส่วนอื่นของร่างกาย
- กลิ้งหรือหมุนตัวกับพื้นจนกว่าไฟจะดับ ระหว่างนั้นให้เอามือปิดใบหน้าเอาไว้เพื่อป้องกันการถูกไฟคลอก
บทความที่เกี่ยวข้อง : เคล็ด(ไม่)ลับ! จัดบ้านให้ปลอดภัยสำหรับเด็ก ป้องกันอุบัติเหตุในบ้าน
วิธีใช้ถังดับเพลิงอย่างถูกวิธี
การใช้ถังดับเพลิงเป็นอีกสิ่งสำคัญที่ช่วยดับไฟได้ หากในกรณีที่เกิดไฟไหม้ที่ไม่รุนแรงมาก เราสามารถดับไฟได้ด้วยตัวเอง ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรรู้จักวิธีการใช้ถังดับเพลิงอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันความเสียหายต่อทั้งร่างกายและทรัพย์สิน ซึ่งวิธีการใช้ถังดับเพลิงและการดับไฟ มีดังนี้
- จับถังดับเพลิงไว้ในด้านที่ถนัด โดยหันด้านฉลากเข้าหาลำตัว จากนั้นให้ดึงสลักนิรภัยออก และหิ้วถังดับเพลิงไปยังจุดเกิดไฟไหม้ ให้ยืนห่างจากกองไฟประมาณ 3-4 เมตร และยืนเหนือทิศทางลม
- ปลดสายออกจากถัง จับปลายสายให้แน่น แล้วเล็งไปที่ฐานของกองไฟ ห้ามฉีดที่เปลวไฟ
- กดคันบีบของถังดับเพลิงให้สุด เพื่อให้เคมีออกมาอย่างต่อเนื่อง
- พยายามส่ายปลายถังดับเพลิงไปมา เพื่อให้สารเคมีครอบคลุมไปทั่วกองไฟ ซึ่งระวังดับไฟให้ย่อตัวลงเล็กน้อยเพื่อหลบเปลวไฟ และฉีดจากตำแหน่งไกล ๆ เมื่อเห็นว่าไฟดับสนิทแล้วให้ถอยออกจากกองไฟ
การเอาตัวรอดจากเหตุไฟไหม้ เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูกอยู่เสมอ เพราะเราไม่รู้ว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ได้ตอนไหน ซึ่งหากลูกรู้จักวิธีการเอาตัวรอด ก็จะช่วยให้เขารู้จักวิธีการหนีจากไฟ และสามารถป้องกันความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
วิธีป้องกันสัตว์มีพิษ เข้าบ้านในช่วงน้ำท่วม ทำอย่างไร?
น้ำท่วมบ้าน ทำยังไงดี? วิธีรับมือ และป้องกันไม่ให้น้ำท่วมบ้าน
5 ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่ต้องรู้จัก และการเอาตัวรอดฉบับหนูน้อย
ที่มา : english.news, thairath.co.th, khaosod.co.th, news.ch7.com, allwellhealthcare.com, parentsone.com
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!