เรื่องที่ทำให้คนเป็นพ่อแม่ต้องรู้สึกเสียใจ คือการที่ต้องมาเห็นลูกตัวเองต้องทรมานจากอาการเจ็บป่วย ยิ่งถ้าลูกป่วยหนักจนเสียชีวิต ก็คงไม่มีพ่อแม่คนไหนที่รับได้ เช่นกรณี สุดเศร้า ทารก 3 เดือนเสียชีวิต พ่อแม่ข้องใจวินิจฉัยผิดพลาด
สุดเศร้า ทารก 3 เดือนเสียชีวิต พ่อแม่ข้องใจวินิจฉัยผิดพลาด
พ่อแม่ใจสลายร้องขอความเป็นธรรมให้ลูกน้อยวัย 3 เดือนเสียชีวิต หมอวินิจฉัยผิด อาการหนักแต่ต้องรอการรักษานาน 8 ชม. เสียดายไม่ได้ชันสูตร ซึ่งทางพ่อแม่ของเด็กได้เข้าร้องทุกข์กับผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำรองนายกรัฐมนตรี เพื่อขอความช่วยเหลือทางกฎหมายกรณีลูกน้อยวัย 3 เดือน ป่วยเข้าโรงพยาบาล แต่ต้องรอนานเกือบ 8 ชั่วโมง โดยไม่ได้รับการรักษา แถมแพทย์วินิจฉัยพลาด อาการทรุด จนเสียชีวิต โดยผู้เป็นแม่เล่าว่า เมื่อวันที่ 10 ม.ค.67 ลูกสาววัย 3 เดือน มีอาการป่วย ไม่ยอมดื่มนม หายใจผิดปกติ ร้องไม่หยุด จึงรีบพาไปโรงพยาบาล แต่ก็เกิดความล่าช้าตั้งแต่ขั้นตอนการรับคิว ระบบคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาล แม้จะแจ้งว่าน้องป่วยอาการหนัก แต่พยาบาลบอกให้รอก่อน เมื่อเข้าพบแพทย์ก็ได้รับวินิจฉัยผิดพลาด บอกว่าน้องเป็นโรคโคลิก (ภาวะที่ทารกมีอาการร้องไห้อย่างรุนแรงมากกว่าปกติ) รักษาได้ด้วยการอุ้ม
โดยต่อมาทาง ผอ.โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี ชี้แจงว่า ก่อนอื่นต้องขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวผู้เสียชีวิต ซึ่งหลังได้รับทราบเหตุการณ์ได้ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลทั้งประวัติการรักษาของเด็ก และภาพเหตุการณ์จากกล้องวงจรปิดทันที ข้อเท็จจริงพบว่า ทารกหญิงเมื่อแรกเกิดไม่พบความผิดปกติของโรคหัวใจ แต่พบว่ามีภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ และหายใจเร็ว แพทย์ให้การรักษาด้วยการให้ออกซิเจนและให้ยาฆ่าเชื้อ เป็นเวลา 5 วัน จนอาการดีขึ้น หายใจปกติ จึงให้กลับบ้านได้ วินิจฉัยว่าเป็นภาวะหายใจเร็วชั่วคราว และนัดให้มาติดตามอาการอีกตรั้งใน 1 สัปดาห์ แต่จากการตรวจสอบเวชระเบียน ไม่พบมารับการตรวจตามนัด
โดยต่อมาวันที่ 10 ม.ค.67 แม่ของเด็กพามาโรงพยาบาลด้วยอาการร้องกวน กินนมได้น้อยลงเป็นเวลา 3 วัน โดยมาถึงแผนกผู้ป่วยนอกกุมารเวชกรรม เวลา 13.48 น. พยาบาลซักประวัติ ตรวจวัดสัญญาณชีพ พบอยู่ในเกณฑ์ปกติ และได้รับการตรวจจากแพทย์ ในเวลา 15.28 น. แพทย์ให้นอนโรงพยาบาลเพราะมีอาการหายใจแรงกว่าปกติ วินิจฉัยเป็นปอดอักเสบจากการติดเชื้อ และมีภาวะโคลิกร่วมด้วย จึงส่งไปเอกซเรย์ปอดก่อนขึ้นหอผู้ป่วยในเวลา 17.10 น. และส่งเลือดตรวจพร้อมให้การรักษาพยาบาลเบื้องต้น ผลเลือดพบว่า มีภาวะเลือดเป็นกรด แพทย์จึงสั่งการรักษาเพิ่มเติม
ต่อมาเวลา 19.30 น. แพทย์เวรมาตรวจติดตามอาการอีกครั้ง พบว่ามีภาวะหายใจลำบากและความดันโลหิตต่ำ จึงย้ายเข้าไอซียูและใส่ท่อช่วยหายใจ ให้ยากระตุ้นหัวใจ และปรึกษาแพทย์โรคหัวใจร่วมรักษาผู้ป่วย สงสัยมีปัญหาโรคหัวใจร่วมกับอาจมีภาวะหัวใจอักเสบและปอดอักเสบ
ท้ายที่สุด เมื่อเวลา 01.30 น. ของวันที่ 11 มกราคม 67 ทารกมีภาวะหัวใจหยุดเต้น 2 ครั้ง แพทย์ได้ทำการปั๊มหัวใจและให้ยากระตุ้นหัวใจ แต่ไม่มีการตอบสนอง สุดท้ายทารกเสียชีวิตเวลา 02.43 น. โดยผู้บริหารโรงพยาบาลยืนยันว่ามีการดูแลตามขั้นตอน มีการควบคุมติดตามโดยแพทย์เฉพาะทาง
ภาวะโคลิกในเด็กคืออะไร ?
โคลิก คือ อาการร้องไห้หนักของทารกที่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ ลูกจะร้องไห้ไม่ยอมหยุดและอาจมีการผายลมด้วย ลูกจะร้องในช่วงเวลาเดิมเป็นประจำ โดยเฉพาะช่วงเย็นหรือค่ำ ๆ ซึ่งจะร้องนานมากกว่าปกติ สามารถพบได้ทั้งเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง จากข้อมูลสถิติอาการนี้มักเกิดขึ้น 20-30% ของทารกแรกเกิด ทั้งในกลุ่มเด็กที่กินนมแม่และเด็กที่กินนมผงจากขวด
โคลิค เกิดจากอะไร
ปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปได้ว่า จริง ๆ แล้วโคลิกเกิดจากอะไร แต่ก็มีข้อสันนิษฐานจากแพทย์ว่าสาเหตุที่ทำให้ทารกมีอาการโคลิก มีดังนี้
- อาจเกิดจากการกินนมมากเกินไป จนทำให้ท้องอืด
- ทารกรับรู้ถึงความกังวลของคุณพ่อคุณแม่
- ฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลงจนทำให้เกิดอาการปวดท้อง
- ร่างกายของเด็กไวต่อสภาพแวดล้อม เช่น แสง สี เสียง หรืออากาศ เป็นต้น
- การแพ้อาหาร เช่น แพ้น้ำผลไม้ แพ้โปรตีนในนมวัว หรือมีภาวะย่อยแล็กโทสผิดปกติ
- เด็กไม่ยอมเรอ เนื่องจากคุณพ่อคุณแม่ไม่จับลูกเรอ จนทำให้เกิดอาการท้องอืด แน่นท้อง
- ระบบย่อยอาหารยังไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร จนเกิดอาการไม่สบายท้อง
เมื่อลูกมีอาการโคลิก ควรทำอย่างไร
ถึงแม้จะกล่าวว่าปัจจุบันยังไม่มีรักษาอาการโคลิคให้หายขาด แต่คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถนำวิธีบางอย่างไปปรับใช้กับลูกน้อยได้ โดยให้คุณพ่อคุณแม่ลองปรับใช้ เพื่อช่วยให้ลูกหายร้องไห้ โดยวิธีรับมือกับอาการโคลิกในทารก มีดังนี้
- เช็กผ้าอ้อมของลูก หากเกิดความชื้นสะสมก็อาจทำให้ลูกรู้สึกไม่สบายตัวได้ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตความชื้นของผ้าอ้อมของลูกบ่อย ๆ
- อุ้มลูกบ่อย ๆ ช่วยให้ลูกหยุดร้องได้ ระหว่างที่ลูกร้องไห้อยู่ให้คุณพ่อคุณแม่อุ้มลูกให้ชิดหน้าอก เพื่อให้เขาได้ยินเสียงเต้นของหัวใจ และลองโยกตัวเบา ๆ
- นวดผ่อนคลายให้ลูก การนวดผ่อนคลาย ช่วยให้ลูกหยุดร้องโคลิกและกระตุ้นระบบย่อยอาหารให้ดีขึ้น โดยสามารถใช้วิธีนี้หลังจากลูกอายุ 6 เดือนขึ้นไป
- จับลูกเรอหลังกินนม การจับลูกเรอเป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างมาก คุณพ่อคุณแม่ควรจับลูกเรอหลังให้นมเสร็จ โดยเวลาให้นมอาจเปลี่ยนท่าให้นมด้วยการอุ้มลูกนั่ง ให้นมลูกแบบเอียง หรือตั้งลูกขึ้น ก็จะช่วยให้นมไหลลงกระเพาะได้ง่ายขึ้น
- สร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม อีกหนึ่งปัจจัยที่อาจทำให้ลูกมีอาการโคลิก คือ สภาพแวดล้อมที่ไม่ดี เช่น มีแสงจ้าเกินไป หรือมีเสียงที่ดังเกินไป เพราะฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรเปลี่ยนห้องนอนของลูกให้มีความน่าอยู่มากขึ้น
ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อลูกร้องไห้ไม่หยุด และหาสาเหตุไม่ได้ ทางที่ดีคือการที่คุณพ่อ คุณแม่พาลูกไปพบหมอ เพื่อทำการตรวจและรักษาต่อไปหากมีความผอดปกติ และสุดท้าย ทางเราขอแสดงความเสียใจกับการสูญเสียครั้งนี้ด้วย
บทความที่น่าสนใจ :
อาการโคลิคในทารก เป็นอย่างไร ลูกร้องไห้ไม่หยุดทำไงถึงจะหาย
โคลิคเกิดจากอะไร? เกี่ยวกับสิ่งลี้ลับไหม ทำไมทารกร้องไม่หยุดยามค่ำคืน
อาการโคลิค Vs ความเชื่อโบราณ อะไรคือความจริง!! สิ่งที่พ่อแม่หลายคนต้องเจอ
ที่มา : news.ch7.com, nestlemomandme.in.th
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!