วันที่ 16 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา มีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ มนตรี ไตรรักษ์ กำนันแมน เปิดเผยเรื่องราวเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองใน เด็ก 6 ขวบ ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ได้มาเห็นและได้สัมผัสน้ำทะเล เม็ดทราย เป็นครั้งแรกเพราะน้องเคยบอกกับคุณพ่อคุณแม่เอาไว้ว่าอยากมาเที่ยวทะเล
นาย มนตรี ไตรรักษ์ กำนันแมน เป็นหนึ่งในหน่วยกู้ภัยมังกรชลบุรี ได้เล่าเรื่องราวเอาไว้ว่า ทางหน่วยกู้ภัยได้รับการร้องขอรถพยาบาล เพื่อพา เด็ก 6 ขวบ ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ได้เห็นน้ำทะเลสักครั้งในชีวิต โดยมีเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 2 คัน พร้อมเตรียมอุปกรณ์การช่วยเหลือบนรถแบบสมบูรณ์ให้มากที่สุด เพื่ออำนวยความสะดวกหากเกิดกรณีฉุกเฉิน
วินาทีที่น้องได้เห็นทะเลกับตาตัวเองตามความฝัน น้องยิ้ม และแสดงอาการดีใจมาก ๆ และทางคุณพ่อได้ถามน้องว่า อยากเอาขาจุ่มน้ำไหม น้องก็พยักหน้าตอบ คุณพ่อไม่รอช้ารีบอุ้มน้องลงแล้วเอาขาจุ่มน้ำทะเล พร้อมทั้งยังคอยหอมแก้มน้องตลอดเวลา เป็นการแสดงความรักออกมาให้น้องได้สัมผัส และแววตาของคุณพ่อมีน้ำตาไหลออกมาตลอด
ต่อมาน้องบอกอยากกินกุ้ง ทุกคนไม่รอช้ารีบไปหาซื้อกุ้งเผามาให้น้องทันที น้องถือกุ้งเผาไว้ในมือตลอดเวลาและได้สัมผัสรสชาติของกุ้งเผานิดหน่อยจากคุณพ่อคุณแม่ที่ป้อน และไก่เหลืองอาหารขึ้นชื่อของบางแสนน้องก็ได้แค่สัมผัสเท่านั้น ในแววตาที่ไร้เดียงสาของน้องมันแสดงออกมาว่าน้องน่าจะกำลังมีความสุขมาก ๆ ในตอนนี้
นอกจากนี้ นาย มนตรี ไตรรักษ์ กำนันแมน ยังได้ขอบคุณทุกคนที่มาช่วยส่งต่อความฝันของน้องอีกด้วย เพราะการได้มาเห็นทะเลสักครั้งถือเป็นความฝันของน้อง ภารกิจมาน้องมาเที่ยวทะเลผ่านไปได้ด้วยดี น้องปลอดภัยดี พร้อมยังทิ้งท้ายข้อความให้กำลังใจครอบครัวของน้องอีกด้วย ซึ่งเรื่องราวและรูปภาพทั้งหมดจนได้ขออนุญาตครอบครัวของน้องเรียบร้อยแล้ว
ซึ่งหลังจากเรื่องราวดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ก็มีหลายคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่เข้ามาขอบคุณทางเจ้าของโพสต์ เจ้าหน้าที่กู้ภัยทุก ๆ คน พร้อมช่วยกันส่งกำลังใจถึงน้องวัย 6 ขวบ และครอบครัวอีกด้วยค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : มะเร็งต่อมหมวกไต มะเร็งร้ายที่พบบ่อยในเด็ก
การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย
1. การดูแลแบบประคับประคอง
การมุ่งเน้นเพื่อบรรเทาความเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน ป้องกันภาวะแทรกซ้อน และช่วยส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเน้นสภาพจิตใจ อารมณ์ รวมไปจนถึงจิตวิญญาณของผู้ป่วยและญาติ ๆ ซึ่งการดูแลแบบประคับประคองสามารถทำได้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกระยะเลยค่ะ ถือเป็นบทบาทที่สำคัญมาก ๆ เพราะอยู่ในช่วงสุดท้ายของชีวิตผู้ป่วย และผู้ป่วยกับครอบครัวต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจร่วมกับทางทีมแพทย์เพื่อวางเป้าหมายการรักษาไปในทิศทางเดียวกันด้วยค่ะ
2. ความต้องการครั้งสุดท้าย
ต้องมีการพูดคุยกันในครอบครัวเสมอเกี่ยวกับการรักษา และควรเตรียมเอกสารระบุความต้องการของผู้ป่วยด้วย เพื่อเป็นแนวทางสำหรับตัดสินใจในอนาคตสำหรับการรักษา โดยเฉพาะในช่วงที่ใกล้จะเสียชีวิตแล้ว เพราะไม่มีความสามารถพอที่จะตัดสินใจเองได้ จึงจำเป็นต้องใช้หัตถการเพื่อยื้อชีวิต เช่น ปั๊มหัวใจ ใส่ท่อช่วยหายใจ การผ่าตัดเยื่อหุ้มปอด หัวใจ การเจาะท้องเพื่อระบายน้ำ เป็นต้น ดังนั้น ผู้ป่วยควรจัดทำเอกสารฝากไว้กับญาติหรือเพื่อนผู้ใกล้ชิดเอาไว้ เพื่อให้ทีมแพทย์ยึดเป็นแนวทางในการรักษาหากผู้ป่วยไม่สามารถสื่อสารได้แล้วนั่นเองค่ะ เพราะถ้าไม่มีเอกสารเพื่อยืนยันการรักษา แพทย์จะขอความคิดเห็นจากญาติ ๆ แทนค่ะ
อาการที่อาจเปลี่ยนไปในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต
- อุณหภูมิร่างกาย เมื่อการไหลเวียนเลือดลดลง มือ และเท้าของผู้ป่วยจะเริ่มเย็นขึ้น สีผิวเริ่มเปลี่ยนเป็นสีคล้ำหรือซีด และเมื่อเวลาผ่านไปจะเริ่มเกิดขึ้นที่ใบหน้า ดังนั้น จำเป็นต้องให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายอย่างต่อเนื่อง
- การรับรู้ ผู้ป่วยจะมีอาการสับสนระดับการรับรู้ลดน้อยลง แต่ยังรับรู้การฟังหรือการสัมผัสได้นะคะ เพียงแต่ไม่สามารถโต้ตอบกลับมาได้ ครอบครัวจึงควรให้เวลากับผู้ป่วยมากขึ้น และพยายามย้ำบ่อย ๆ ว่ายังมีเราอยู่เคียงข้างเสมอเพื่อแสดงความรักให้เขารับรู้ค่ะ
- การรับอาหาร เริ่มมีความอยากอาหารน้อยลง และไม่จำเป็นต้องให้อาหารแข็ง เว้นแต่ว่าผู้ป่วยจะต้องการ เช่น ก้อนน้ำแข็ง น้ำเปล่า หรือน้ำผลไม้ แต่ถ้าเริ่มกลืนลำบากหรือสำลักต้องหยุดให้ทันที
- การหายใจ หากสังเกตว่าผู้ป่วยเริ่มมีการหายใจในรูปแบบที่แปลก ๆ เช่น มีเสียงครืดคราดจากเสมหะบาง ๆ ให้เปลี่ยนท่านอน ซึ่งท่านอนหงายหรือท่าตะแคงเป็นท่าที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย หรือจะปรับเป็นท่านั่งก็ได้ค่ะ โดยให้ยึดตามความรู้สึกผ่อนคลายและความสบายของผู้ป่วยเป็นหลักค่ะ สำหรับออกซิเจนแนะนำให้แบบทีละน้อย ๆ เพื่อช่วยลดความเหนียวของเสมหะลง และเพิ่มความชุ่มชื้นภายในห้องแทน
- ความผิดปกติทางระบบประสาท ในกรณีนี้ผู้ป่วยอาจมีการเคลื่อนไหวแบบแปลก ๆ ทั้งแขน ขา หรือบริเวณใบหน้าบาง อาจมาจากอาการควบคุมการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะและลำไส้ไม่ได้ แนะนำให้ใส่ผ้าอ้อมให้กับผู้ป่วย หรือถ้าผู้ป่วยไม่สามารถปัสสาวะได้ด้วยตัวเองอาจต้องใช้สายสวนช่วยร่วมด้วยค่ะ
- เมื่อผู้ป่วยหยุดหายใจและหัวใจหยุดเต้น หากพบผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ลูกตาหยุดนิ่ง และรูม่านตาขยาย แปลว่าผู้ป่วยได้เสียชีวิตลงแล้ว หากเกิดเหตุการณ์นี้ในที่พักอาศัยควรเรียกหาความช่วยเหลือ หรือขอคำแนะนำจากทีมแพทย์หรือบุคลากรในที่มาดูแล เพราะมีผู้ป่วยระยะสุดท้ายหลายรายที่เลือกจะรักษาตัวอยู่ที่บ้านของตนเอง จนกระทั่งเสียชีวิต เนื่องจากรู้สึกสบายกว่าหากได้อยู่ในที่ที่คุ้นเคยและเต็มไปด้วยญาติมิตรผู้เป็นที่รัก
การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายนั้น ครอบครัวควรให้เวลากับเขาให้มากที่สุด เพื่อให้เขาได้รับรู้ถึงความรักที่มีให้ และพยายามรักษาสุขภาพจิตใจของเขาให้ดีอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้เขาคิดมาก และไม่ให้ร่างกายทรุดตัวเร็วค่ะ หากผู้ป่วยเป็นเด็กก็ต้องค่อย ๆ อธิบายให้เขาเข้าใจกับโรคนี้ โดยสามารถให้เหตุผลต่าง ๆ ตามระดับอายุของเด็กได้เลยค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
11 สัญญาณเสี่ยง ลูกอาจเป็นมะเร็ง
Top 3 มะเร็งในเด็ก ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ ภาวนาไม่อยากให้เป็นลูกเรา
โรคมะเร็งปอด สาเหตุที่ทำให้คนไทยเสียชีวิต อาการป่วยที่ไม่สูบบุหรี่ก็เป็นได้ !
ที่มา :
thairath.co.th
chulacancer.net
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!