วันที่ 10 พฤษภาคม 2566 มีข่าวสุดช็อกบนเว็บไซต์ Sinchew รายงานว่า เกิดอุบัติเหตุที่น่าตกใจขึ้นที่เมืองลังกาวี ประเทศมาเลเซีย เมื่อเวลาประมาณ 23.15 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พบรถยนต์ต้องสงสัยคันหนึ่ง โดยคาดว่าเป็นรถยนต์ที่มาจากการเมาแล้วขับ เพราะอยู่ในสภาพที่สูญเสียการควบคุม ก่อนเสียหลักพุ่งชนเข้ากับเสาไฟข้างทาง ภายหลังพบว่ารถคันดังกล่าวไม่ใช่คนเมา แต่เป็น เด็ก 6 ขวบพาน้องวัย 3 ขวบขับรถเล่น ไกลกว่า 2.5 กิโลเมตร
หลังจากเข้าไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ ตำรวจได้เปิดเผยว่า บริเวณที่เกิดเหตุเป็นถนนเส้นตรงยาว ส่วนสภาพสองข้างทางนั้นค่อนข้างมืด รถที่ประสบเหตุเป็นรถเก๋งสีขาว ซึ่งความเสียหายส่วนใหญ่จะเป็นฝั่งคนขับ โดยคนพี่ที่อายุ 6 ขวบ ได้รับการบาดเจ็บที่ใบหน้า ส่วนน้องชายวัย 3 ขวบ ไม่ได้รับบาดเจ็บอะไร อย่างไรก็ตาม ทั้งสองคนก็ได้ถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจสอบร่างกายอีกที
อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นคดีอุบัติเหตุจากการขับขี่โดยประมาท ทำให้ตนเองและผู้อื่นตกอยู่ในอันตราย จึงจำเป็นต้องดำเนินคดีทางกฎหมาย รวมทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กด้วย ที่จะถูกตั้งข้อหาประมาทเลินเล่อในการดูแลบุตรของตนจนทำให้ได้รับอันตราย ซึ่งในขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการสอบสวนเพิ่มเติม
บทความที่เกี่ยวข้อง : อย่าให้เด็กนั่งอยู่ในรถคนเดียว! แค่ 15 นาที เด็กอาจเสียชีวิตได้
เด็ก 6 ขวบพาน้องวัย 3 ขวบขับรถเล่น ได้รับโทษยังไงบ้าง ?
เราน่าจะเห็นข่าวกันบ่อยเกี่ยวกับเยาวชนที่ทำผิดบ่อย ๆ โดยเฉพาะเรื่องการขับรถ วันนี้ชวนมาดูโทษและกฎหมายว่าเด็กทำผิดแล้วมีโทษอะไรบ้าง
1. บทลงโทษประมวลกฎหมายอาญา (ม.73-76)
- อายุไม่เกิน 12 ปี ถ้าเด็กทำผิด จะไม่ได้รับโทษอะไรเลย
- อายุระหว่าง 12 – 15 ปี ถ้าเด็กทำผิด ไม่ต้องรับโทษ แต่ศาลมีอำนาจสั่งมาตรการพิเศษ เช่น การกล่าวตักเตือน การส่งตัวไปยังสถานอบรม หรือการคุมประพฤติ
- ช่วงอายุ 15 – 18 ปี ถ้าทำผิด ศาลอาจตัดสินลงโทษหรือไม่ก็ได้ ถ้าลงโทษจะได้ลดโทษกึ่งหนึ่ง แต่ถ้าเกิดไม่ได้รับการลงโทษ ให้กำหนดมาตรการฟื้นฟู
- และอายุ 18 – 20 ปี ถ้าทำผิด ต้องรับโทษ แต่ศาลอาจจะลงโทษ 1/3 หรือไม่ก็ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง
2. นิยามของเด็กและเยาวชน
- พ.ร.บ. ศาลเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 สำหรับเด็กอายุไม่ถึง 15 ปี หรือ เยาวชนระหว่าง 15 – 18 ปี
- พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 เด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี (ไม่รวมผู้ที่บรรลุนิติภาวะจากการสมรส)
หากเด็กกระทำผิด พ่อแม่จะต้องร่วมรับโทษทางแพ่ง โดยการชดใช้สินไหมทดแทน เว้นแต่ดูแลด้วยความระมัดระวังแล้ว ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ม.420,429)
เทคนิคสอนลูกอย่างไรให้เชื่อฟังไม่ต่อต้าน
ยิ่งลูกเริ่มโตมากเท่าไร เขาก็จะมีความคิดเป็นของตัวเอง และในบางครั้งเขาก็สนใจสิ่งที่อยู่ตรงหน้ามากกว่า ไม่อยากทำในสิ่งที่พ่อแม่ต้องการ เราจึงได้รวบรวมเทคนิคการสอนลูกให้เชื่อฟังมาฝาก ดังนี้
1. สอนด้วยการเป็นแบบอย่างให้ลูกเห็น
เด็กวัย 3-6 ขวบ เป็นวัยที่เริ่มลอกเลียนแบบพฤติกรรมของคนใกล้ชิด โดยเขาจะยังไม่สามารถแยกแยะได้ ว่าอะไรคือสิ่งที่ควรหรือไม่ควรเลียนแบบ ทำให้หลายครั้งเด็ก ๆ เผลอลอกเลียนพฤติกรรมไม่ดีของผู้ใหญ่หรือคุณพ่อคุณแม่ และเมื่อถูกตำหนิหรือต่อว่า ลูกจึงไม่เข้าใจว่า ทำไมคุณพ่อคุณแม่ยังทำได้เลย จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลูกเริ่มไม่อยากที่จะเชื่อฟังพ่อแม่อีกต่อไป
2. สอนด้วยคำพูด น้ำเสียง และสายตาแห่งความรัก
เมื่อไรก็ตามที่ลูกทำผิด หรือไม่ได้ทำตามสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่บอก บางครั้งอาจจะทำให้คุณอดไม่ได้ที่จะตะคอกใส่ลูกด้วยคำพูดแรง ๆ และไม่สนใจฟังในสิ่งที่ลูกอยากอธิบายเท่าไร ซึ่งการขึ้นเสียงหรือตะคอก อาจทำให้ลูกสงบลงได้ก็จริง แต่ในอนาคตลูกก็จะทำผิดซ้ำอีกอยู่ดีค่ะ
3. สอนด้วยการมีข้อตกลงร่วมกัน
เด็กวัย 2-3 ขวบ เป็นวัยแห่งการต่อต้านที่สุด การให้ข้อเสนอเพื่อเป็นข้อตกลงร่วมกันถือเป็นทางออกที่ดีมาก เพราะมันช่วยลดการโต้เถียง หรือการชวนทะเลาะลงได้ เช่น “ถ้าลูกช่วยเก็บของเล่น แม่จะเล่านิทานให้ฟัง” หรือให้ทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่การลงโทษพวกเขา เช่น “ถ้าไม่ทำแม่จะตี” เป็น “ถ้าช่วยแม่ พ่อกลับมาเราจะได้ดูการ์ตูนด้วยกัน”
4. สอนให้ลูกใช้ความคิดแก้ปัญหาด้วยตัวเอง
ห้ามใช้ประโยคคำสั่ง อย่า! ไม่! ห้าม! เพราะมันทำให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เรื่อง ทำอะไรก็ไม่ดี เพราะรู้สึกว่าโดนห้ามตลอด ส่งผลให้ลูกขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง กลายเป็นคนไม่มั่นใจ กลัวผิด และไม่กล้าที่จะทำอะไรใหม่ ๆ ด้วยตัวเอง ดังนั้น ควรฝึกให้ลูกใช้ความคิดและแก้ปัญหาด้วยตัวเอง นอกจากนี้ ก็ควรจะหากิจกรรมสนุก ๆ ทำร่วมกันกับลูกบ้าง เมื่อเห็นว่าลูกทำไม่ถูกต้อง จะได้สอนลูกให้คิดแก้ปัญหาได้ทันที
5. ฟังสิ่งที่ลูกต้องการจะบอก
พยายามถามให้รู้ว่าลูกคิดอะไร และทำไปเพราะอะไร มีอะไรอยู่ในใจหรือเปล่า และตั้งใจฟังสิ่งที่ลูกพูดเพื่อช่วยให้ลูกผ่อนคลายความกังวล และค่อย ๆ เปลี่ยนความคิดของลูกให้ถูกต้อง
การเลี้ยงลูกให้เชื่อฟังคำสอนของคุณพ่อคุณแม่นั้นไม่ใช่เรื่องยาก หากคุณพ่อคุณแม่มีเวลาให้พวกเขาเพียงพอ และพยายามรับฟังในสิ่งที่พวกเขาพูด ไม่ต้องต่อต้าน ไม่ต้องดุหรือทำโทษ แต่ให้ตั้งใจฟังเขาอธิบาย และพยายามสอนให้เขาเข้าใจในสิ่งที่ถูก เพื่อที่เด็ก ๆ จะได้เชื่อฟังพ่อแม่มากขึ้น
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ที่มา :
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!