เรียกได้ว่าข่าวความรุนแรงในครอบครัว หากผู้ถูกกระทำยังเป็นเด็กเล็ก ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และภายในครอบครัวไม่มีใครเข้าใจ อีกทั้งยังไม่สามารถขอความช่วยเหลือได้ อาจจะได้กลายเป็นข่าวสลดดังเช่นเด็กชายคนนี้ที่ เด็กชาย 11 ขวบ ถูกพ่อและแม่เลี้ยงทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต
เรื่องนี้เกิดขึ้นที่ประเทศเกาหลีใต้ พ่อแม่คู่หนึ่ง เป็นคู่รักพ่อแท้ ๆ วัย 39 ปี และแม่เลี้ยงวัย 42 ปี ถูกจับกุมในเมืองอินชอน เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (13 ก.พ. 66) โดยเจ้าหน้าที่ได้ระบุว่า เด็กชาย 11 ขวบ ถูกพ่อและแม่เลี้ยงทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต สาเหตุที่ตำรวจเข้าจับกุม เนื่องจากสงสัยว่ามีการทารุณกรรมเด็ก
ตามการรายงานของเว็บไซต์ koreaherald ได้ระบุว่า พ่อแม่คู่นี้ได้ทุบตีเด็กชายวัย 11 ขวบจนเสียชีวิต พ่อของเด็กได้โทรแจ้งสายฉุกเฉิน ที่เป็นกู้ภัยฉุกเฉิน เทียบเท่ากับ 911 ของสหรัฐอเมริกา เมื่อเวลาประมาณ 1.44 น. ของวันอังคารที่ผ่านมา โดยระบุว่าลูกชายไม่หายใจ เมื่อเจ้าหน้าที่มาถึง ได้ทำการ CPR ก่อนที่จะถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล บริเวณใกล้เคียง ก่อนที่จะถูกประกาศว่าเด็กชายเสียชีวิตในเวลาต่อมา
เมื่อทำการสอบสวนพ่อและแม่เลี้ยง ทั้งคู่ได้ทำการปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด โดยระบุว่าสาเหตุที่น้องเสียชีวิต เป็นเพราะทำร้ายร่างกายตัวเอง แต่ภายหลังกลับบอกว่า ถ้าพ่อแม่ตีลูกเพื่อสร้างระเบียบวินัย เป็นเรื่องที่ผิดตรงไหน จากการสืบสวนอีกครั้ง เจ้าหน้าที่พบข้อมูลว่า เด็กชายไม่ได้ไปโรงเรียน ตั้งแต่วันที่ 24 ของเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา โดยให้เด็กชายเรียนแบบโฮมสคูลแทน โดยได้อ้างว่าเพื่อเป็นการปรับพื้นฐาน ก่อนที่จะส่งลูกชายไปเรียนที่ฟิลิปปินส์
ข้อมูลจากโรงเรียนประถมได้ระบุว่า ระหว่างที่เด็กชายไม่ได้เข้าเรียน ยังมีครูประจำชั้นคอยติดตาม เผื่อต้องการความช่วยเหลือ หากลูกชายมีปัญหาเรื่องการเรียน เพราะในกรณีที่เด็กมีความต้องการอื่น ก็ยังคงมีหน่วยงานที่สามารถสนับสนุนเด็กชายได้ แต่พ่อแม่คู่นี้กลับปฏิเสธ ในขณะเดียวกันพ่อแม่ก็ยังคงทำร้ายร่างกายเด็กต่อไป
มีการตั้งข้อสงสัยในอินเทอร์เน็ตว่า เด็กชายมีรอยฟกช้ำเต็มร่างกาย พร้อมทั้งสวมเสื้อผ้าที่บางกว่าปกติ ทั้งที่มีอากาศหนาว อีกทั้งตำรวจยังมีข้อมูลว่า เด็กชายไม่ได้ไปโรงเรียน เนื่องจากผู้ปกครองไม่อนุญาตให้ไป ส่วนน้องชายอีก 2 คน เจ้าหน้าที่กันออกจากพ่อแม่ และจะอยู่ที่สถานคุ้มครองเด็ก เพื่อปกป้องจากพ่อแม่คู่นี้ ระหว่างนี้เจ้าหน้าที่จะทำการสอบสวนเพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุของการทารุณกรรม และการละเลยเด็ก ที่ส่งผลให้เด็กชายเสียชีวิต จากนั้นจะพิจารณาขอหมายจับต่อไป
จากการตรวจสอบร่างกายของเด็กชาย พบว่าเด็กชายมีรูปร่างผอม และมีการถูกทุบตีจนช้ำ เป็นเหตุให้อวัยวะภายในพังจนเสียชีวิต ด้านแม่เลี้ยงได้อ้างว่า เพียงแค่ผลักนิดหน่อย แต่เด็กล้มไปเองและไม่ลุกขึ้นมา ด้านพ่อก็โยนความผิดให้กับแม่เลี้ยง เจ้าหน้าที่จึงคาดว่าทั้งคู่ อาจจะทุบตีเด็กจนแน่นิ่งไป จึงได้มีการแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อขอความช่วยเหลือ
ความรุนแรงในครอบครัว ภัยร้ายที่ทรมาน
ความรุนแรงในครอบครัว นับเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้ในทุกความสัมพันธ์แบบครอบครัว ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เป็นความรุนแรงในครอบครัวขึ้น ทุกคนในครอบครัวมักได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม การเรียนรู้วิธีรับมือและป้องกันตนเอง รวมถึงหมั่นสังเกตและช่วยเหลือคนรอบข้าง จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะอาจช่วยให้ผู้ที่กำลังเผชิญเหตุการณ์ดังกล่าว ผ่านพ้นปัญหานี้ไปด้วยดี และปรับความเข้าใจใช้ชีวิตร่วมกับสมาชิกในครอบครัวได้อย่างปกติสุข
ผลการสำรวจความรุนแรงในครอบครัว
ผลการสำรวจสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กและสตรี พบว่ามี หญิงไทยถูกล่วงละเมิดจากการถูกทำร้าย ทางร่างกายและจิตใจ ไม่ต่ำกว่า 7 คนต่อวัน และมีผู้หญิงที่เข้ารับการบำบัดรักษา แจ้งความร้องทุกข์ประมาณปีละ 30,000 ราย ถือเป็นสถิติความรุนแรงต่อผู้หญิงที่สูงติด 1 ใน 10 ของโลก โดยสามารถแบ่งประเภทความรุนแรงออกได้เป็น
- ความรุนแรงทางด้านจิตใจ คิดเป็น 32.3%
- ความรุนแรงทางร่างกาย คิดเป็น 9.9%
- ความรุนแรงทางเพศ คิดเป็น 4.5%
ความรุนแรงที่กล่าวมานั้น เป็นเพียงตัวเลขจากรายการที่มีการร้องทุกข์เข้ามา ยังมีความรุนแรงในครอบครัวอีกมากมายที่ไม่ได้รับการแจ้ง ด้วยสาเหตุ เช่น ไม่กล้าแจ้งความ ถูกขู่หากมีการแจ้งความ หรืออายไม่อยากเปิดเผยเรื่องราวให้คนอื่นรับรู้
บทความที่เกี่ยวข้อง : ความรุนแรงในครอบครัว เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง
ประเภทของความรุนแรงในครอบครัว
1. ความรุนแรงทางร่างกาย
เป็นการทำร้ายโดยใช้กำลัง เช่น ตบ ตี ทุบ ผลัก กัด เตะ หรือใช้กำลังเพื่อข่มขู่ เป็นต้น รวมถึงการขว้างปาข้าวของจนเสียหาย และการทำร้ายสัตว์เลี้ยงด้วย
2. ความรุนแรงทางคำพูด
อาทิ การพูดโดยใช้อารมณ์ ตะคอก พูดจาหยาบคาย ใช้ถ้อยคำทำร้ายจิตใจ เหยียดหยาม ข่มขู่ ทำให้กลัวหรืออับอาย
3. ความรุนแรงทางเพศ
ใช้กำลังหรือข่มขู่เพื่อลวนลามทางเพศ เช่น จับของสงวนหรือสัมผัสร่างกายส่อไปในเรื่องทางเพศ โดยผู้ถูกกระทำไม่เต็มใจ ข่มขืน หรือบังคับให้ดูขณะมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น
4. ความรุนแรงทางอารมณ์
ผู้กระทำอาจพยายามใช้อารมณ์เพื่อควบคุมอีกฝ่ายโดยไม่รู้ตัว เช่น กล่าวหาว่าคนรักนอกใจ พยายามเช็กโทรศัพท์มือถือ ใช้คำว่ากล่าวที่รุนแรงเมื่ออีกฝ่ายทำไม่ได้ดั่งใจ วิพากษ์วิจารณ์การแต่งตัว บุคลิก และลักษณะการใช้ชีวิต โดยห้ามอีกฝ่ายตอบโต้เพื่อให้อยู่ภายใต้การควบคุม เป็นต้น นอกจากนี้ ความรุนแรงทางอารมณ์ยังรวมไปถึง การเพิกเฉยและไม่สนใจจนทำให้คุณภาพชีวิตของอีกฝ่ายแย่ลง
ผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว
เหยื่อที่เผชิญความรุนแรง อาจเกิดความเครียดอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลต่อสุขภาพในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะเด็กที่บางครั้งก็เป็นเหยื่อเอง หรือบางครั้งก็ได้รับผลกระทบทางจิตใจ จากการเห็นพ่อแม่ทะเลาะหรือใช้กำลังทำร้าย ซึ่งมักเป็นผลกระทบในระยะยาว อาจกินเวลานานจนกระทั่งเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ การถูกใช้ความรุนแรงหรือเห็นผู้อื่นเผชิญความรุนแรง อาจทำให้เด็กรู้สึกหวาดกลัว เศร้า สับสน และไม่มีความสุข เพราะไม่รู้ว่าจะป้องกันและหาทางแก้อย่างไร รวมทั้งอาจรู้สึกกังวลถึงความปลอดภัย และยังมีเด็กอีกหลายคนที่โทษตัวเองว่า เป็นสาเหตุของความรุนแรงที่เกิดขึ้นด้วย
วิธีรับมือเมื่อเผชิญความรุนแรง
- ขอความช่วยเหลือ : หากตนเองหรือบุตรหลานถูกทำร้ายร่างกาย ควรขอความช่วยเหลือจากตำรวจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที เช่น มูลนิธิปวีณาเพื่อเด็กและสตรี สายด่วนโทร. 1134 เป็นต้น
- ปฏิเสธและป้องกันตัว : พึงระลึกไว้เสมอว่าเราทุกคนมีสิทธิในร่างกายของตนเอง ผู้อื่นไม่มีสิทธิมาทำร้ายหรือล่วงละเมิดหากเราไม่ได้อนุญาตหรือเต็มใจ และควรป้องกันตนเองจากการถูกทำร้ายร่างกายด้วย
- ไม่กล่าวโทษตนเอง : การใช้ความรุนแรงเป็นสิ่งที่ผิด และถือเป็นอาชญากรรมรูปแบบหนึ่ง แม้คนที่กระทำจะเป็นคนในครอบครัวก็ตาม
- อย่าเชื่อคำข่มขู่ของผู้ก่อความรุนแรง : อย่ากลัวหากถูกข่มขู่ว่าจะถูกทำร้ายหากนำเรื่องที่เกิดขึ้นไปบอกคนอื่น เพราะมีคนที่พร้อมจะรับฟังและให้ความช่วยเหลือเสมอ การปกปิดจะยิ่งทำให้เกิดอันตราย เพราะเมื่อนานไปก็อาจทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นได้
- เล่าเรื่องราวให้คนที่เชื่อใจได้และยินดีรับฟัง : อาจปรึกษาปัญหากับคนในครอบครัว เพื่อนสนิท องค์กรที่ให้คำปรึกษา หรือผู้ใหญ่ที่จะช่วยปกป้องได้ และพยายามบอกเล่าให้หลาย ๆ คนฟัง จนกว่าจะได้รับการช่วยเหลือ และมั่นใจได้ว่าปลอดภัยแล้ว
เป็นเรื่องปกติที่ทุกครอบครัวจะต้องมีปัญหา มีปากเสียง มีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันบ้าง แต่ในครอบครัวที่ไม่ปกติ จะมีการใช้ความรุนแรงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งเมื่อเกิดความรุนแรงในครอบครัวขึ้นแล้ว สมาชิกทุกคนล้วนแต่ได้รับความบอบช้ำ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ความรุนแรงในครอบครัวคือเหตุผลหลัก ที่นำไปสู่การเป็นปัญหาสังคม หรือทำให้เกิดโรคทางจิตใจต่าง ๆ เช่น โรคซึมเศร้า โรคเครียด
ดังนั้น ผู้ที่เผชิญความรุนแรงควรถอยห่าง และหาทางออกมาจากสถานการณ์โดยเร็ว ส่วนคนรอบข้างที่ทราบเรื่องก็ควรใส่ใจ และพยายามให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ อย่าเลิกยุ่งเกี่ยวเพียงเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัว โดยให้ตระหนักไว้ว่า เหยื่อความรุนแรงควรได้รับความช่วยเหลือในทุกกรณี เพราะความรุนแรงเป็นอาชญากรรม ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของสามีภรรยา หรือคนในครอบครัวเท่านั้น เหยื่อไม่ควรถูกละเลยหรือไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างถูกต้อง
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
เลี้ยงลูกอย่างไรให้ห่างความรุนแรง เลี้ยงลูก อย่างไร? ไม่ให้ลูกตกเป็นเหยื่อ
ความรุนแรงในคราบไม้เรียว ทำไมเด็กไทย พ่อแม่ไทย ถึงหงอกับครูขนาดนี้
จิตแพทย์แนะนำ! วิธีป้องกันและช่วยเหลือ เด็กก่อความรุนแรง
ที่มา : koreaherald, pobpad
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!