อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอ โดยเฉพาะอุบัติเหตุทางน้ำ ข่าวการจมน้ำของเด็ก มีให้เห็นบ่อย เนื่องจากพ่อแม่บางคน อาจจะคลาดสายตาไปชั่วครู่ แต่ทำให้เกิดเหตุเศร้าได้ ดั่งเช่นเด็กคนนี้ โดยมีการนำเสนอข่าวว่า เด็ก 2 ขวบ ป่วยจมน้ำ ถูกทิ้งใน รพ. แต่ถูกแม่ทิ้งไว้ในโรงพยาบาล ติดต่อไม่ได้
เหตุนี้เกิดที่ หอผู้ป่วยกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลพังงา โดย นาวาตรีหญิงโนสะมา หลีเส็น นายกเหล่ากาชาดจังหวัดพังงา พร้อมด้วย แพทย์หญิงทิพรัตน์ ต้นตระกูลประเสริฐ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพังงา เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพังงา เข้าเยี่ยม ด.ช.เอ (นามสมมติ) อายุ 2 ขวบเศษ
นักสังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลพังงา ได้เข้าแจ้งต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองพังงา ว่า เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 ทางเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยวัดเก่าเจริญธรรม ได้นำตัว ด.ช.เอ (นามสมมติ) มาส่งรักษาตัว ในโรงพยาบาลพังงา ด้วยสาเหตุจมน้ำ เหตุเกิดในพื้นที่บ้านเขาเปาะ ม.5 ต.กระโสม อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา
โดยทีมแพทย์ให้การช่วยเหลือ เด็ก 2 ขวบ ป่วยจมน้ำ ดูแลรักษาจนอาการปลอดภัยเรียบร้อยแล้ว และมีแม่ของเด็กมาดูอาการอยู่ช่วงหนึ่ง จากนั้นได้หายตัวไป ไม่สามารถติดต่อได้ เจ้าหน้าที่จึงต้องมาแจ้งลงบันทึกประจำวัน เพื่อดำเนินการตาม พรบ. คุ้มครองเด็กต่อไป
บทความที่เกี่ยวข้อง : แม่ว่ายน้ำไม่เป็น โดดช่วย ลูกจมน้ำ สลดดับคู่
สำหรับข้อมูลของเด็กรายนี้ มีประวัติคลอดในโรงพยาบาลพังงา แม่ได้เลิกกับพ่อ และมีสามีใหม่อยู่ในพื้นที่ที่เกิดเหตุจมน้ำ คาดว่า น่าจะมีปัญหาในครอบครัว จึงทิ้งลูกชายไว้ในโรงพยาบาล หลังจากทางโรงพยาบาลทราบว่า ผู้ป่วยเด็กรายนี้ ผู้ปกครองหายตัวไป ไม่สามารถติดต่อได้ จึงได้ดำเนินการตาม พรบ.คุ้มครองเด็ก ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามผู้ปกครอง และส่งเด็กให้ทางบ้านพักเด็กดูแลต่อไป
นาวาตรีหญิงโนสะมา หลีเส็น เปิดเผยว่า เหล่ากาชาดจังหวัดพังงา มีบทบาทหน้าที่ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุข ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอยู่แล้ว ในกรณีแบบนี้ จะมีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าดูแลช่วยเหลือตาม พรบ.คุ้มครองเด็ก ในส่วนของเหล่ากาชาดจังหวัดพังงา จะเข้าไปดูแลช่วยเหลือความเป็นอยู่ ของครอบครัวเด็กอย่างไร ซึ่งเบื้องต้นนั้น จะมีการส่งตัวเด็กเข้าไปอยู่ในการดูแลของ บ้านพักเด็กจังหวัดพังงาเสียก่อน
4 นาทีชีวิต เมื่อลูกจมน้ำ
สาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่ง ของเด็กไทย คือ จมน้ำ โดยตัวเลขในปี 2559 มีเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี เสียชีวิตจากการจมน้ำถึง 700 คน และสถิติจากทั่วโลกพบเด็กจมน้ำ เฉลี่ยปีละ 135,585 คน หรือ 372 คนต่อวัน
เด็กกับน้ำเป็นของคู่กัน ขึ้นชื่อว่าเด็กชอบเล่นน้ำทุกคน โดยเฉพาะฤดูร้อนที่ตรงกับช่วงปิดภาคเรียน เด็ก ๆ มักชวนกันเล่นน้ำสนุกสนาน จนลืมเรื่องความปลอดภัย รวมถึงด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาจทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้นได้
หากพบเหตุการณ์เด็กจมน้ำ ต้องทำการช่วยเหลือให้เร็วที่สุด นับเวลาที่ร่างกายขาดออกซิเจน ภายใน 4 นาทีเท่านั้น เนื่องจากน้ำจะเข้าไปใน ระบบทางเดินหายใจและปอด ทำให้เกิดภาวะขาดออกซิเจนเฉียบพลัน หมดสติ และหัวใจหยุดเต้นในที่สุด
วิธีป้องกัน
- เฝ้าระวังจุดเสี่ยงในบ้าน และรอบ ๆ บ้าน เช่น สระน้ำ หรือบ่อปลา
- ฝึกให้เด็กว่ายน้ำเป็น รวมถึงการสอนให้เด็กรู้จัก ความปลอดภัยทางน้ำ ไม่ลงเล่นในแหล่งน้ำเชี่ยว และไม่เล่นน้ำโดยประมาท หรือคึกคะนอง
- ไม่ควรให้เด็กเล่นน้ำโดยลำพัง ควรมีผู้ปกครองอยู่ด้วยเสมอ
- บริเวณสระว่ายน้ำ หรือแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ ควรมีผู้ดูแลความปลอดภัย (Lifeguard) ป้ายเตือนความลึก ความแรงของกระแสน้ำ ในกรณีโดยสารทางเรือ ควรมีเสื้อชูชีพสำหรับผู้โดยสาร
การปฐมพยาบาลเด็กจมน้ำ
- สิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อพบว่า มีเด็กจมน้ำ คือการประเมินสถานการณ์ ผู้ที่จะเข้าไปช่วยเหลือเด็ก ต้องดูว่าตนเองสามารถช่วยเหลือได้มากแค่ไหน รีบขอความช่วยเหลือจากหน่วยฉุกเฉิน หรือเรียกรถพยาบาล เพื่อความปลอดภัยของเด็ก และผู้ช่วยเหลือด้วย
- เมื่อช่วยเหลือเด็กขึ้นมาจากน้ำแล้ว ควรให้เด็กนอนบนพื้นราบ แห้ง และปลอดภัย ไม่จับอุ้มเด็กพาดบ่า เพื่อเอาน้ำออก และประเมินอาการ เพื่อช่วยเหลือต่อไป
- หากเป็นการเกิดอุบัติเหตุทางน้ำ และสงสัยว่า อาจจะกระทบกระเทือนต่อกระดูกต้นคอ ต้องระมัดระวังการเคลื่อนย้ายเด็ก
- หากตรวจดูแล้วพบว่า
- ถ้าไม่หายใจแต่ยังมีชีพจร : ให้ช่วยหายใจ โดยช่วยหายใจ 1 ครั้ง ทุก 3-5 วินาที ประเมินอาการซ้ำทุก 2 นาที
- ถ้าไม่มีชีพจรหรือไม่แน่ว่ามีชีพจร : ให้ทำการกู้ชีวิต โดยกดหน้าอก 30 ครั้ง สลับกับการช่วยหายใจ 2 ครั้ง โดยประเมินอาการซ้ำทุก 2 นาที
- ถ้าเด็กที่จมน้ำรู้สึกตัวขึ้นมา ให้เด็กนอนตะแคง จัดท่าของศีรษะให้คอแหงนเล็กน้อย เพื่อเปิดทางเดินหายใจให้โล่ง แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
อย่างไรก็ตาม การที่เด็กว่ายน้ำเป็น ไม่ได้หมายความว่าเด็กจะไม่จมน้ำ การจมน้ำอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น การเป็นตะคริว หรือหมดแรงขณะว่ายน้ำ หากไม่อยากให้ลูกหลานต้องเสี่ยง กับ 4 นาทีชีวิต ที่ไม่รู้ว่าจะเป็นหรือตาย ผู้ปกครองควรให้ความรู้ ควบคู่ไปกับการป้องกัน ก่อนปล่อยลูกหลานออกไปสนุกกับการเล่นน้ำ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
เด็กจมน้ำวันลอยกระทง คาดเป็นเพราะเก็บเงิน พลาดจมน้ำหมดสติ ช็อกทั้งงาน!
ดราม่าสนั่น! เด็กเล่นน้ำริมสระ “จมน้ำ” แต่คนถ่ายยืนมองนานกว่าจะช่วย
เด็กชาวญี่ปุ่นวัย 3 ขวบ จมน้ำ ที่พูลวิลล่า บางละมุง จ.ชลบุรี โชคดี ช่วยไว้ได้ทัน !!
ที่มา : ch3plus, samitivejhospitals
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!