น้องตะวัน เด็ก 9 ขวบตกบ่อ ร้างลึกกว่า 2 เมตร โชคดีมีโทรศัพท์ติดตัวมาด้วย จึงโทรเรียกยายให้มาช่วย เมื่อเวลา 18.30 น. วันที่ 7 ธ.ค.2565 กู้ชีพตำบลสาริกา ได้รับการแจ้งเหตุขอความช่วยเหลือ ว่ามี เด็ก 9 ขวบตกบ่อ ลึก ริมถนนสายสาริกา – นางรอง หมู่ 1 ตำบลสาริกา อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก จึงรีบรุดไปตรวจสอบ
เมื่อเจ้าหน้าที่ไปถึงพบกับ นาย ทวี สาลิกา อายุ 72 ปี รออยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ ทราบภายหลังว่าเป็นเพื่อนบ้าน ของเด็กชายภาณุวัฒน์ หรือ น้องตะวัน อายุ 9 ขวบ ที่ตกลงไปในบ่อ บ่อมีความลึกถึง 2 เมตร โชคดีที่ข้างในไม่มีน้ำเนื่องจากเป็นบ่อร้าง เจ้าหน้าที่ได้ทำการสอบถามกับน้องตะวัน พบว่าถามตอบรู้เรื่องมีสติดี และไม่ได้อยู่ในอาการตกใจ หวาดกลัว หรือเหนื่อยล้าแต่อย่างใด จึงได้ให้ดื่มน้ำ จากนั้นได้ส่งเก้าอี้พลาสติกลงไปในหลุมเพื่อให้น้องตะวันนำไปวางในบ่อ เพื่อช่วยพยุงตัว ก่อนจะช่วยกันดึงตัวน้องตะวันขึ้นมา โดยใช้เวลาในการช่วยเหลือไม่นาน
บทความที่เกี่ยวข้อง : นาทีชีวิต ! กู้ภัยจีนช่วยเหลือเด็กหญิงวัย 2 ขวบ พลัดตกบ่อร้าง
จากการสอบถามเพิ่มเติมทราบว่า ที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ของฟาร์มสตรอว์เบอร์รี ที่ปีนี้ไม่ได้เพาะปลูก ซึ่งลักษณะบ่อนั้นมีตาข่ายกันแสงปิดคลุม และมีหญ้าขึ้นปกคลุมทำให้ ไม่ทันสังเกตว่าเป็นบ่อน้ำ ก่อนเกิดเหตุน้องตะวันตามหายาย คิดว่ายายอยู่บ้านเพื่อนบ้าน จึงเดินไปหาโดยใช้เส้นทางลัดผ่านฟาร์มดังกล่าว จนกระทั่งพลัดตกลงไปในบ่อลึก โชคดีที่น้องตะวันพกโทรศัพท์ติดตัว จึงได้โทรเรียกยายให้มาช่วย
แต่ในขณะนั้นยายของน้องตะวัน เดินทางออกไปซื้อของในตัวเมืองนครนายก ยายน้องตะวันจึงโทรบอก นายทวี อายุ 72 ปี ซึ่งเป็นเพื่อนบ้าน ให้ไปช่วยตามหาน้องตะวัน นายทวี จึงออกตามหาน้องตะวัน ตามจุดใกล้เคียงกับที่น้องตะวันบอกกับยาย โดยใช้ไฟฉายส่อง ก่อนได้ยินเสียงเรียกจากน้องตะวันร้องเรียกว่า ตาวี ตาวี จึงได้แจ้งเจ้าหน้าที่มาช่วยเหลือ ณ จุดเกิดเหตุ หลังจากที่พาน้องตะวันขึ้นมาได้ ตรวจดูตามร่างกายพบว่าไม่ได้รับบาดเจ็บมาก ครอบครัวจึงพาน้องกลับบ้านเพื่อพักผ่อน
สอนให้ลูกเอาตัวรอดจาก 7 สถานการณ์อันตราย
1 . หน้ามืด คล้ายจะเป็นลม
เมื่อรู้สึกจะเป็นลมหรือหน้ามืด ให้กำชับให้เด็กขอความช่วยเหลือจากคนที่อยู่ใกล้มากที่สุด แต่ถ้าตอนนั้นไม่มีใครอยู่ข้าง ๆ ก็ให้ยืนพิงกำแพงหรือวัตถุที่แข็งแรง เพื่อพยุงตัวไม่ให้ล้มลงไปที่พื้น หากเป็นไปได้ให้นอนลงและเหยียดขาขึ้นที่สูง หรือนั่งกอดเข่า โดยเอาหน้าแนบที่เข่า เพราะจะทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น จากนั้นให้สูดลมหายใจเข้าลึก ๆ โดยห้ามอ้าปาก
บทความที่เกี่ยวข้อง : 5 ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่ต้องรู้จัก และการเอาตัวรอดฉบับหนูน้อย
2. ฝนตก ฟ้าผ่า
ให้ลูก ๆ หมั่นสังเกตอยู่เสมอ ว่าตนเองขนลุกชันผิดปกติ หรือรู้สึกเสียวซ่านที่บริเวณผิวหนังหรือไม่ เมื่อพบว่าตนเองอยู่ในบริเวณที่มีฟ้าผ่า ให้ก้มตัวลงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ไม่ควรนอนราบที่พื้น จากนั้นให้แนบศีรษะไว้ระหว่างเข่าของตัวเอง และใช้มือปิดหูทั้งสองข้าง เพื่อไม่ให้สูญเสียการได้ยิน หากเดินอยู่ให้เขย่งเท้าเดิน โดยให้อุ้งเท้าสัมผัสพื้นเพียงอย่างเดียว และให้ยืนด้วยเท้าข้างเดียวเท้าอีกข้างไว้บนเท้าที่ยืน เพื่อไม่ให้ไฟฟ้าเข้าสู่ร่างกายเยอะเกินไป
3. เป็นตะคริวตอนที่ว่ายน้ำ
สิ่งนี้เกิดอาจจะขึ้นได้กับทุกคน และเด็กหลาย ๆ คนก็คงชอบเล่นน้ำไม่ต่างกัน เพื่อช่วยให้เด็กเอาตัวรอดและรับมือกับเหตุการณ์นี้ได้ ขณะว่ายน้ำควรสอนให้นอนหงาย และงอขาข้างที่เป็นตะคริวขึ้นมาแนบกับหน้าท้อง จากนั้นให้เริ่มนวดคลึงบริเวณที่เป็นตะคริวเบา ๆ และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เป็นตะคริวได้ง่าย ควรให้เด็กดื่มน้ำก่อนลงเล่นน้ำทุกครั้ง เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำจนอาจเป็นตะคริว
4. หลงป่า
สิ่งแรกที่ควรสอนให้เด็ก ๆ ทำเมื่อหลงป่า คือให้เด็กสำรวจบริเวณรอบ ๆ ว่ามีแหล่งแม่น้ำ หรือลำธารหรือไม่ หากหลงทางอยู่ในภูเขา ให้มองหาน้ำที่บริเวณเชิงหน้าผา หรือจะลองมองหารอยเท้าของสัตว์ เพื่อช่วยให้ตามหาแหล่งน้ำหรืออาหารได้ง่ายขึ้น และเมื่อตามหาแหล่งน้ำจนเจอ ให้เก็บน้ำไว้ในกระบอกน้ำ และเปลี่ยนน้ำทุก ๆ วัน จากนั้น ให้พยายามกลุ่มควัน เพื่อขอความช่วยเหลือจากที่อาจจะสังเกตเห็นกลุ่มควัน โดยใช้กิ่งไม้ขนาดเล็กและขนาดใหญ่ปน ๆ กัน หากมีหม้อ ก็ให้ใช้หม้อคลุมกองไฟไว้ประมาณ 3-4 วินาที แล้วเอาหม้อออก เพื่อให้ควันลอยสู่ท้องฟ้าได้มากยิ่งขึ้น
5. ติดอยู่ในที่แห้งแล้ง
ควรสอนเด็ก ๆ ว่าไม่ควรเคลื่อนไหวร่างกายในช่วงตอนกลางวัน และให้อยู่ในที่ร่ม เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ หากต้องการออกไปหาอาหารหรือน้ำ ให้ออกไปในช่วงตอนกลางคืนแทน และเมื่อต้องออกไปหาน้ำหรืออาหาร ก็ให้ลองมองหารอยเท้าสัตว์ หรือดูว่าตรงไหนที่ต้นไม้ขึ้นเยอะ เพราะบริเวณดังกล่าวมักมีน้ำอยู่ ทั้งนี้ ไม่ควรเข้าใกล้พืชที่มีหนาม เพราะอาจทำให้เป็นแผลจนติดเกิดการติดเชื้อได้ และหากเดินจนเหนื่อยแล้วก็ให้กลับมาพักก่อน ไม่ควรฝืนตัวเอง
6. เอาตัวรอดจากนกกระจอกเทศ
หากวันไหนเด็ก ๆ บังเอิญไปเดินป่าแล้วเจอนกกระจอกเทศ ห้ามวิ่งหนีโดยเด็ดขาด เพราะนกกระจอกเทศเป็นสัตว์ที่วิ่งได้ไวมาก สิ่งที่ต้องทำคือหาที่หลบซ่อนที่ใกล้ที่สุดก่อนเป็นอันดับแรก หรือหากอยู่ใกล้ต้นไม้ก็สามารถปีนขึ้นต้นไม้ได้ แต่หากบริเวณนั้นไม่มีที่กำบังหรือต้นไม้ให้ปีนป่าย ให้นอนราบที่พื้น และใช้มือกำบังศีรษะและคอเอาไว้
7. กระโดดจากที่สูง
แม้จะเป็นเหตุการณ์ที่ฟังดูแล้วไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ แต่ก็ควรให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ไว้เพื่อป้องกันตัวเอง หากเด็ก ๆ ต้องเจอเข้ากับสถานการณ์ที่ต้องกระโดดจากที่สูง ให้หามุมกระโดดลงไป โดยอาจเป็นพุ่มไม้หรือพุ่มหญ้าเพื่อรองรับน้ำหนักตัว จากนั้นให้กระโดดลงมา พร้อมกับหันหน้าและอกขนานกับพื้น ขณะกระโดดให้กางแขนและขาออกทำมุม 90 องศา เมื่อใกล้จะร่วงลงสู่พื้น ก็ให้เก็บคองอเข่า ใช้แขนและมือล็อกป้องกันศีรษะตัวเองเอาไว้ เพื่อไม่ให้ศีรษะกระแทกพื้น
การฝึกให้เด็ก ๆ รู้จักกับสถานการณ์อันตราย และวิธีการเอาตัวรอด จากเหตุการณ์ไม่คาดฝัน อาจจะดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่บางเหตุการณ์ สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน หากเราสอนให้เขารู้จักปรับใช้และรับมือล่วงหน้ากับสิ่งเหล่านี้ได้ก็ถือว่าไม่เสียหายค่ะ ป้องกันไว้ดีกว่าแก้นะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ตกน้ำ ตกเรือต้องทำยังไง วิธีเอาตัวรอดเมื่อเกิดอุบัติเหตุทางน้ำ
ทริค เอาตัวรอด จากเหตุการณ์อันตราย สอนให้ลูกรักปลอดภัยจากเหตุการณ์ร้าย
เผยการเอาตัวรอดในป่า 10 วันของทีมหมูป่า! และวิธีเอาตัวรอดเมื่อติดถ้ำ
ที่มา : news.ch7, thairath
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!