เรื่องของลูกน้อยที่ค่อย ๆ เติบโตขึ้นในแต่ละวัน กลายเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ไม่ควรละเลยก็ว่าได้ค่ะ โดยเฉพาะเมื่อเวลาที่ ลูกลื่นล้ม เพราะในช่วงระหว่างที่เขาเจ็บ แล้วคุณพ่อคุณแม่โอ๋ น้องอาจจะหยุดร้องไห้ และหลงเหลือความเจ็บไว้ภายในได้ แต่เป็นภายในที่เราไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า เว้นแต่ว่าต้องพาน้องไปหาคุณหมอค่ะ
เหมือนอย่างเรื่องของคุณแม่คนนี้ ที่ได้ออกมาโพสต์อุทาหรณ์สอนคนเป็นแม่ จากผู้ใช้เฟซบุ๊ก ณัฐยานันท์ พันตรีแสง โพสต์ลงกลุ่ม Herkid รวมพลคนเห่อลูก โดยมีใจความว่า “สวัสดีค่ะแม่ ๆ วันนี้เราจะมาขอแชร์ประสบการณ์ค่ะ
เรื่องมีอยู่ว่า เมื่ออาทิตย์ที่แล้วเราอาบน้ำให้ลูก พออาบน้ำเสร็จก็หันไปหยิบผ้าเช็ดตัว พอหันกลับมาเท่านั้นแหละ ลูกเรากำลังก้าวขาเดินออกจากห้องน้ำ เราเลยร้องตามว่าอย่าเพิ่งไป แต่นางกลับคิดว่าเราเล่นด้วย นางเลยวิ่งแต่ในขณะที่วิ่งนั้นตัวนางเปียกเลยลื่นล้มหงายหลัง เราก็รีบวิ่งไปกอดลูก พอเรากอดนางก็หยุดร้องเราเลยไม่ได้ติดใจอะไรก็คิดแค่ว่าลื่นล้มธรรมดา
บทความที่เกี่ยวข้อง : เด็กจมน้ำวันลอยกระทง คาดเป็นเพราะเก็บเงิน พลาดจมน้ำหมดสติ ช็อกทั้งงาน!
แต่พอผ่านไปอาทิตย์หนึ่งนางเริ่มเปลี่ยนนิสัย เริ่มนอนดึก นอนไม่ค่อยหลับ กลางดึกก็สะดุ้งตื่นร้องไห้ เราก็คิดแค่ว่านางฝันร้าย เวลาง่วงชอบตบหัวทำร้ายตัวเอง เวลาง่วงชอบเดินเซ ๆ เหมือนคนเมาแต่นางกินได้เล่นได้ปกติไม่งอแง เราเลยคิดแค่ว่าสงสัยลูกเราเริ่มโตเลยเริ่มเปลี่ยนนิสัยแถมแอบมีโมโหลูกเพราะนางซนมาก
แต่พอมา 2 วันที่แล้วเราอาบน้ำให้ลูกเราก็สัมผัสได้กับอะไรบางอย่างบนหัวคือบวม ๆ ปูด ๆ เหมือนลูกโป่ง เราเลยโพสต์ถามเพื่อน ๆ ในกลุ่มว่ามีน้องบ้านไหนเคยเป็นบ้าง เพราะเราลืมเรื่องที่ลูกเคยลื่นล้มไปแล้ว เพราะมันผ่านไปเป็นอาทิตย์แล้ว”
ก่อนที่จะพาน้องไปหาหมอ คุณแม่ได้โพสต์ถามในกลุ่มก่อน เพราะว่าทางบ้านนั้นนับถือพระ พอหลานป่วยเลยรีบพาหลานไปหาพระ แต่คำตอบที่ได้กลับมาคือ เป็นปกติของเด็ก กระหม่อมยังปิดไม่สนิท อีกทั้งครอบครัวแฟน นั้นเป็นคนจีน คิดแต่เพียงว่ากินน้ำร้อนชงชาเดี๋ยวก็หาย เลยไม่ได้ใส่ใจว่าจะพาน้องไปหาหมอ
หลังจากผ่านมาเป็นอาทิตย์ คุณแม่เลยตัดสินใจพาน้องไปหาหมอ จึงได้ทราบว่าน้องกะโหลกแตก คนเป็นแม่ก็รู้สึกจุกในอก และโมโหตัวเองว่าที่ผ่านมา มัวแต่คิดว่าลูกลื่นล้มธรรมดา ผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวยังได้ระบุข้อความทิ้งท้าย ฝากถึงเหล่าแม่ ๆ ด้วยกันอีกว่า “บ้านไหนมีประสบการณ์แบบนี้อย่าชะล่าใจนะคะอย่าปล่อยผ่านอย่าเผลอแค่วินาทีเดียว ถ้าพลาดมาเราเสียใจและรู้สึกผิดทั้งชีวิตเลย”
ลูกลื่นล้ม หัวกระแทก อาจเลือดออกในสมองเสียชีวิตได้
การหกล้มของเด็ก ๆ โดยเฉพาะเด็กเล็กวัย 1-2 ปี ถือเป็นเรื่องปกติเนื่องจากพัฒนาการสมอง การเดิน หรือทรงตัวยังไม่สมบูรณ์ รวมทั้งร่างกายที่พัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้มีโอกาสหกล้มได้ง่าย หากไม่ได้ล้มบ่อย ๆ หรือล้มแรงหัวกระแทกจนหมดสติก็ยังไม่เข้าข่ายที่เป็นอันตรายต่อลูก แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกตกจากที่สูง หกล้มหัวฟาดพื้นแรง ๆ อาจเสี่ยงภาวะเลือดออกในสมองจนทำให้ลูกเสียชีวิตได้ ดังนั้นหากเด็ก ๆ มีอุบัติเหตุที่ศีรษะผู้ปกครองควรพามาพบแพทย์
ลูกล้มหัวฟาดพื้น ควรสังเกตดังนี้
อาการที่ลูกน้อยบาดเจ็บจากการลื่นล้ม คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นเช็กอาการ Concussion Syndrome ที่สมองอาจได้รับการกระทบกระเทือน ซึ่งกลุ่มอาการนี้ประกอบด้วย
- อารมณ์เปลี่ยนแปลง สับสน หงุดหงิดง่าย งอแง หรือเรียกร้องมากผิดปกติ
- ไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่สามารถทนต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ ได้ เช่น ที่ที่มีคนพลุกพล่าน หรือเสียงดัง
- นอนหลับไม่สนิท มีผวาตื่น หรือฝันร้าย
- มีปัญหาเกี่ยวกับความจำ การเรียน คิดช้าทำช้าและไม่มีสมาธิ
- ปวดศีรษะไม่รุนแรง นอนพักหรือกินยาพาราเซตามอลก็หายได้เอง
- การมองเห็นไม่เป็นปกติ พูดไม่ชัดหรือติดขัดในการคิดคำพูด
- อาเจียนเล็กน้อย เช่น 1-2 ครั้งต่อวัน มักเป็นเวลาเหนื่อย หรือปวดศีรษะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : พ่อลืมลูกไว้ที่ปั๊ม จอดรถแวะเข้าห้องน้ำ ไม่รู้ลูกลงรถตามไปด้วย เด็กตอบพ่อรีบไปนอน !
อาการผิดปกติ ที่ต้องไปโรงพยาบาลทันที
- เมื่อสลบและตื่นขึ้นมาโดยไม่มีอาการบ่งชี้ใด ๆ ต้องคอยสังเกตอาการข้างเคียง เพราะลูกมีความเสี่ยงภาวะเลือดออกในสมองแม้ตอนแรกจะยังรู้สึกตัวปกติ แต่นานไปสมองอาจบวมมากขึ้นและลูกอาจเสียชีวิต
- ศีรษะมีแผลบวม โน ฉีกขาด
- มีก้อนบวมโตบริเวณหู
- บริเวณศีรษะมีรอยช้ำ
- ลูกมีอาการซึม
- ลูกไม่สามารถตอบสนอง ไม่ทำตามคำสั่งหรือพูดคุยได้
- อ่อนแรง เดินเซ
- มีอาการชักหรือช็อก
- มีเลือดไหลออกจากจมูกหรือหู
- เด็กมีอาการปวดศีรษะ อาเจียน
- เด็กเล็ก ร้องกวนตลอดเวลา
ควรพาเด็กไปโรงพยาบาลทันที หรือโทร 1669 เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ดังนี้
- เด็กประสบอุบัติเหตุค่อนข้างรุนแรง เช่น ตกจากที่สูง หรือประสบอุบัติเหตุจราจร
- หลังเกิดเหตุเด็กสลบ (หมดสติ) ปลุกไม่ตื่น หรือมีอาการชัก
- เด็กมีอาการป่วยมากหลังจากประสบเหตุ เช่น ซึมมาก ลูกอาเจียนมากกว่า 5 ครั้ง หรือมีอาการทางระบบประสาท เช่น ตามัว พูดไม่ชัด หน้าเบี้ยว หรือแขนขาอ่อนแรง
- หากเด็กมีอาการรุนแรง หรือแย่ลงอย่างรวดเร็ว โทร 1669 หรือ ไปโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที
เพราะในบางครั้งอุบัติเหตุสำหรับเด็ก อาจไม่ทิ้งร่องรอยแผลเป็นให้เห็น แต่การบาดเจ็บจากภายในเด็กอาจจะยังไม่สามารถบ่งชี้ได้เท่าที่ควร คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรชะล่าใจจนเกินไป เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะตามมาได้ค่ะ ทั้งนี้การป้องกันอุบัติเหตุสำหรับลูกน้อย ควรเป็นเรื่องที่คำนึงถึงเป็นอันดับแรก ไม่ควรปล่อยให้อยู่ตามลำพังหรือไกลสายตา เพราะอุบัติเหตุเกิดได้แบบไม่ทันตั้งตัว
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
คลอดลูกสาว 4 คน สะใภ้จีนถึงกับน้ำตาตก เมื่อสามีขอหย่าตอนท้องคนที่ 5!
แม่จัดวันเกิดให้ลูก เชิญเพื่อนลูกมา 27 คน สุดท้ายไม่มีใครมาสักคน…
เด็ก 10 ขวบ สภาพโดนมัดมือมัดเท้า กุเรื่องถูกลักพาตัว เหตุเพราะกลัวถูกตี!
ที่มา : ejan, Samitivej Hospitals
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!