ปัญหาคาใจคุณแม่เกี่ยวกับเรื่องของ “ไขทารกแรกเกิด” ไขขาวๆ ที่คุณแม่มักจะเห็นในทารกแรกคลอด ว่าแท้จริงแล้วมีประโยชน์หรือไม่? และจำเป็นไหมที่จะต้องกินอะไรล้างไขลูก ที่คนโบราณบอกว่า ถ้าดื่มน้ำมะพร้าวมากๆ จะช่วยล้างไขลูกได้หรือเปล่า เราจะมาหาคำตอบกัน
ไขทารกแรกเกิด ไขที่ตัวทารก เกิดจากอะไร
เราชวนคุณแม่มาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ไขที่ตัวทารก หรือ Vernix caseosa เกิดจากอะไร ไขทารกแรกเกิด เป็นไบโอฟิล์มสีขาวครีมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ จะปกคลุมผิวหนังของทารกในครรภ์ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์
ไขที่ตัวทารกนี้จะปกคลุมบนผิวหนังของลูกน้อยแรกเกิด เพื่อช่วยปกป้องผิวของทารกแรกเกิด และช่วยให้ผิวหนังปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมภายนอกมดลูกได้ง่ายขึ้นในสัปดาห์แรกหลังคลอดนั่นเอง
ถ้าคุณแม่ยังนึกไม่ออก ลองนึกถึงการตอบสนองของผิวเราหลังสัมผัสน้ำเป็นเวลานาน เช่น หลังว่ายน้ำหรืออาบน้ำ ผิวหนังและนิ้วมือของเรามักจะเหี่ยวย่น ในน้ำคร่ำในครรภ์มีผลต่อผิวทารกในลักษณะเดียวกัน จึงต้องมีไขตัวทารกที่ห่อหุ้มลูกน้อยอยู่นั่นเอง โดยไขนี้จะถูกสร้างขึ้นในช่วงเดือนที่ 5 ของการตั้งครรภ์
ไขทารกแรกเกิด ดีหรือไม่ดี
คุณแม่อาจจะมีคำถามนี้อยู่ในใจ แต่เราขอบอกว่าขึ้นชื่อว่าสิ่งที่ธรรมชาติสร้างมา เรามองว่ามันต้องมีเหตุผล อย่างที่เรารู้กันดีว่าผิวของลูกน้อยแรกคลอดยังละเอียดอ่อนและต้องการการปกป้อง ไขตัวทารกจึงถูกสร้างมาเพื่อเหตุผลนั้น
ประโยชน์ของไขที่ตัวทารก
ไขตัวทารกนั้นมีประโยชน์ต่อทารกหลายประการ โดยประโยชน์หลักๆ ได้แก่
-
เป็นตัวหล่อลื่นช่วยให้ทารกคลอดออกมาทางช่องคลอดได้ง่ายขึ้น
เนื่องจากความลื่นของไขตัวทารกจะเป็นสารหล่อเลื่อนจากธรรมชาติชั้นดี และยังช่วยป้องทารกจากแบคทีเรียในช่องคลอดอีกด้วย
-
ปกป้องผิวบอบบางของทารก และการลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
ทารกแรกเกิดมีระบบภูมิคุ้มกันที่ยังไม่แข็งแรง ทำให้เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ง่าย ไขตัวทารกจะช่วยปกป้องทารกแรกเกิดจากการติดเชื้อหลังคลอด เนื่องจาก ไขเคลือบนี้มีสารต้านอนุมูลอิสระ รวมถึงคุณสมบัติต้านการติดเชื้อและลดการอักเสบอีกด้วย
-
ช่วยควบคุมอุณหภูมิร่างกายของทารก
ในระหว่างตั้งครรภ์ ร่างกายของคุณแม่มีบทบาทสำคัญในการควบคุมอุณหภูมิของลูกน้อย เมื่อหลังคลอดลูกน้อยต้องใช้เวลาสักพักกว่าจะสามารถควบคุมอุณหภูมิร่างกายของตัวเองได้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ควรห่อทารกด้วยผ้าห่อตัวและรักษาอุณหภูมิห้องให้อบอุ่น การคงไขตัวทารกไว้บนผิวให้นานที่สุด จะเป็นการช่วยปรับอุณหภูมิร่างกายของทารกให้คงที่ตามธรรมชาติ
-
เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวลูกน้อย
ไขตัวทารกยังช่วยทำให้ผิวของลูกน้อยนุ่มและเรียบเนียนทั้งในตอนแรกเกิดและหลังคลอด ไขนี้ทำหน้าที่เป็นมอยส์เจอไรเซอร์ตามธรรมชาติ ช่วยปกป้องผิวของทารกจากความแห้งกร้านอีกด้วย
ทารกแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน แต่ทารกที่คลอดก่อนกำหนดมักจะมีไขทารกผิวหนังมากกว่า เพราะไขทารกนั้นมักจะหลุดลอกในน้ำคร่ำเมื่อใกล้ถึงกำหนดคลอด ดังนั้น ทารกที่คลอดก่อนกำหนดจึงมีไขเหล่านี้จะค่อนข้างมาก
ความเชื่อเรื่องการล้างไขทารกในอดีต
ในอดีต หลายวัฒนธรรมเชื่อว่าไขทารกเป็นสิ่งสกปรก จึงต้องรีบล้างออกเพื่อให้ทารกสะอาด บางความเชื่อก็เชื่อมโยงการล้างไขทารกเข้ากับโชคลาง เช่น เชื่อว่าการล้างไขจะทำให้เด็กมีผิวพรรณผ่องใส สุขภาพแข็งแรง หรือมีโชคลาภ ในขณะที่บางศาสนามีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการล้างไขทารก เชื่อว่าจะช่วยชำระล้างสิ่งไม่ดีและนำพาความเป็นสิริมงคลมาสู่เด็ก การล้างไขทารกจึงเป็นการปฏิบัติตามประเพณีที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น
วิธีการล้างไขทารก
วิธีการล้างไขทารกแตกต่างกันไปในแต่ละวัฒนธรรม แต่โดยทั่วไปจะใช้น้ำอุ่นและผ้าสะอาดเช็ดเบาๆ บริเวณที่เปื้อนไข บางครั้งอาจใช้น้ำมันมะกอกหรือผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กอ่อนช่วยในการทำความสะอาด
ความเชื่อเรื่องการล้างไขทารกในปัจจุบัน
ในปัจจุบัน แนวคิดเกี่ยวกับการดูแลทารกแรกเกิดมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าไขทารกมีประโยชน์ต่อผิวหนังของทารก จึงไม่จำเป็นต้องรีบล้างออกทันทีหลังคลอด แพทย์ส่วนใหญ่แนะนำให้ปล่อยให้ไขทารกค่อยๆ หลุดออกไปเอง หรืออาจเช็ดเบาๆ ด้วยน้ำอุ่นเมื่อจำเป็น
ข้อดีและข้อเสียของการล้างไขทารก
- ข้อดี:
- ทำให้ทารกดูสะอาดและน่ารัก
- เป็นการปฏิบัติตามประเพณีและวัฒนธรรม
- ข้อเสีย:
- อาจทำให้ผิวหนังของทารกแห้งและระคายเคือง
- ทำให้ไขทารกที่ทำหน้าที่ป้องกันผิวหลุดออกไปเร็วเกินไป
- อาจทำให้เกิดการติดเชื้อหากใช้อุปกรณ์ที่ไม่สะอาด
ความเชื่อเรื่องการล้างไขทารกเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและสังคมมาช้านาน แม้ว่าในปัจจุบันจะมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนให้ปล่อยให้ไขทารกอยู่ตามธรรมชาติ แต่การตัดสินใจว่าจะล้างไขทารกหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความเชื่อส่วนบุคคลและคำแนะนำของแพทย์
จำเป็นไหมต้องกินอะไรล้างไขลูก
เป็นความเชื่อผิดๆ อีกความเชื่อหนึ่งที่คุณแม่มักได้ยินกัน โดยเฉพาะช่วงใกล้คลอดว่า “ดื่มน้ำมะพร้าวขณะตั้งครรภ์จะช่วยให้ลูกคลอดออกมาไม่มีไข” แท้จริงแล้วความเชื่อนี้เป็นความเชื่อที่ผิด เพราะการดื่มน้ำมะพร้าวไม่ได้เกี่ยวข้องอะไร ซึ่งจริงๆแล้วน้ำมะพร้าวมีไขมันทั้งอิ่มตัวและไม่อิ่มตัว เมื่อดื่มน้ำมะพร้าวแล้วทำให้ไขสีขาวขึ้น แต่ไม่ได้ช่วยให้ไขลดน้อยลง
อีกหนึ่งความเชื่อของน้ำมะพร้าวคือ ความเชื่อว่า “คนท้องดื่มน้ำมะพร้าวจะทำให้แท้งลูก” เพราะในน้ำมะพร้าวมีฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงมาก ทำให้ฮอร์โมนในร่างกายแปรปรวน ส่งผลให้ผลให้มดลูกบีบตัวและส่งผลให้แท้งได้นั้น เป็นความเชื่อที่ผิด เพราะในน้ำมะพร้าวมีฮอร์โมนเอสโตรเจนจริงแต่ในปริมาณที่น้อยมากๆ เพราะปกติในขณะตั้งครรภ์ คุณแม่จะมีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรนในร่างกายจะสูงมากอยู่แล้ว ส่วนในน้ำมะพร้าวมีฮอร์โมนเอสโตรเจนอยู่ก็จริง แต่มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงไม่มีผลต่อการบีบตัวมดลูกรุนแรงที่ทำให้แท้งบุตรได้
อาหารการกินของแม่ท้องกับไขทารก
นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อเรื่องอาหารการกินของแม่ท้องที่มีผลต่อไขทารก ที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ โดยมีหลากหลายวัฒนธรรมที่เชื่อว่าอาหารที่แม่ท้องรับประทานจะส่งผลต่อลักษณะของทารก เช่น สีผิว ความขาวเนียนของผิว หรือแม้กระทั่งปริมาณของไขทารก
- กินไข่จะได้ลูกผิวขาว ความเชื่อนี้เชื่อว่าการรับประทานไข่จะทำให้ทารกมีผิวขาวเนียน ซึ่งอาจเป็นเพราะ ไข่มีโปรตีนสูงที่จำเป็นต่อการสร้างเซลล์ผิว
- กินผักใบเขียวจะได้ลูกผมดกดำ ผักใบเขียวอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม จึงมีความเชื่อว่าการรับประทานผักใบเขียวจะทำให้ทารกมีผมดกดำ
- กินปลาจะได้ลูกผิวมันวาว ปลาเป็นแหล่งของกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งมีส่วนช่วยในการบำรุงผิวพรรณ จึงมีความเชื่อว่าการรับประทานปลาจะทำให้ทารกมีผิวพรรณผ่องใส
- ห้ามกินอาหารรสจัด ความเชื่อนี้เชื่อว่าการรับประทานอาหารรสจัด เช่น เผ็ด เค็ม จะทำให้ทารกมีผิวแห้ง หรืออาจทำให้เกิดผื่นแพ้ได้
- ห้ามกินอาหารดิบ อาหารดิบอาจมีเชื้อโรคปนเปื้อน ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพของทั้งแม่และลูก จึงมีความเชื่อว่าควรหลีกเลี่ยงอาหารดิบทุกชนิด
ความเชื่อเหล่านี้มีพื้นฐานมาจากอะไร?
ความเชื่อเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดจากการสังเกตและการถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันได้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม อาหารที่แม่ท้องรับประทานมีผลต่อการเจริญเติบโตของทารกอย่างแน่นอน แต่ผลกระทบจะอยู่ในเรื่องของสารอาหารที่ส่งผ่านไปยังทารก เช่น โปรตีน วิตามิน แร่ธาตุ ซึ่งจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของอวัยวะต่างๆ ของทารกมากกว่าลักษณะภายนอก
มุมมองทางวิทยาศาสตร์
ปัจจุบันแพทย์แนะนำให้แม่ท้องรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ได้สารอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการของทั้งแม่และลูก โดยเน้นอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ นม และธัญพืช ซึ่งจะช่วยให้ทารกเจริญเติบโตได้สมบูรณ์แข็งแรง
วิธีการดูแลไขที่ตัวทารก
คุณแม่ได้เห็นแล้วว่า การที่ลูกมีไขที่ตัวไม่ใช่เรื่องผิดปกติ และไม่จำเป็นต้องล้างไขลูก เพียงแต่ควรดูแลความสะอาด ดังนี้
- ทำความสะอาดลูกน้อยตามปกติ คุณแม่ไม่จำเป็นต้องขัดผิวแรงๆ เพื่อให้ไขที่ตัวลูกหายไป การทำแบบนี้จะเสี่ยงทำให้เกิดรอยถลอกและติดเชื้อที่ผิวหนังได้
- ไขตัวทารกเป็นไขมันที่ปกคลุมตามธรรมชาติ ไม่ใช่เกิดจากความสกปรก ไม่จำเป็นต้องอาบน้ำลูกบ่อยเกินไป
- หากมีกลิ่นไม่พึงประสงค์บ้าง ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพียงอาบน้ำลูกตามปกติก็จะลดกลิ่นที่เกิดขึ้นได้
คุณแม่คงได้รับคำตอบแล้วว่าไขขาวๆ บนตัวลุกน้อยนั้นไม่ได้อันตรายและไม่ได้สกปรก แต่ยังเป็นตัวช่วยปกป้องลูกน้อยอีกด้วย รวมถึงไม่จำเป็นที่จะต้องล้างไขลูกด้วยวิธีการต่างๆ เพราะเป็นสิ่งที่ดีตามธรรมชาติ รวมถึงความเชื่อเรื่องน้ำมะพร้าวล้างไขลูก นั้นเป็นความเชื่อผิดๆ ที่คุณแม่ควรปรับความเข้าใจใหม่อีกด้วย
ที่มา : โรงพยาบาลกรุงเทพขอนแก่น, NIH , HealthLine , The Bump
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
เรื่อง(ไม่)ลับ สิ่งที่แม่ผ่าคลอดอยากบอก กับคนที่ไม่เคยผ่า
ของใช้เตรียมคลอด มีอะไรบ้าง เตรียมของก่อนคลอด จะเป็นลางไม่ดี จริงไหม
คนท้อง ติดเข็มกลัด ทำไม ? เพราะความเชื่อ หรือความจำเป็น !
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!