ในโลกที่เต็มไปด้วยคำแนะนำให้ “มองโลกในแง่ดี” และ “มีทัศนคติเชิงบวก” คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจเชื่อว่า การปลูกฝังความคิดเหล่านี้ให้กับลูกเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่บางครั้ง “ความหวังดี” ที่มากเกินไป อาจกลายเป็น “ยาพิษ” ที่บั่นทอนจิตใจลูกน้อยของเราโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเราเรียกสิ่งนั้นว่า “Toxic Positivity” หรือ “พลังบวกเชิงลบ” นั่นเอง

พลังบวกเชิงลบ หรือ ภาวะคิดบวกเป็นพิษ คืออะไร?
ความหมายของคำว่า Toxic positivity หรือ ภาวะคิดบวกที่เป็นพิษ นั้นเป็นแนวคิดที่อธิบายถึงการ เน้นย้ำและคาดหวังแต่ด้านดี และความรู้สึกเชิงบวกในทุกสถานการณ์ แม้ในสถานการณ์ที่ควรจะรู้สึกเศร้า ผิดหวัง โกรธ หรือมีอารมณ์ด้านลบอื่นๆ” ค่ะ ซึ่งแม้ว่าการมองโลกในแง่ดีและความคิดบวกจะเป็นคุณสมบัติที่มีค่าที่ทุกคนควรมี แต่ก็ควรยอมรับความจริงด้วยว่า “ความสุขไม่ใช่สิ่งถาวร” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวัยเด็ก (และวัยรุ่น) ที่เพิ่งเริ่มทำความเข้าใจสภาวะทางอารมณ์อันซับซ้อน
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ การมี Toxic positivity หรือ ภาวะคิดบวกที่เป็นพิษ อาจเป็นการที่ เน้นย้ำแต่ด้านดี และมองข้าม หรือ กดทับอารมณ์ด้านลบ ที่ลูกอาจกำลังรู้สึกอยู่ ซึ่งการบังคับให้ลูกต้องรู้สึกดีตลอดเวลาอาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางอารมณ์ของพวกเขาได้ ความหวังดีของคุณพ่อคุณแม่จึงอาจกลายเป็น พลังบวกเชิงลบ ได้
|
ลักษณะสำคัญของ Toxic Positivity
|
ปฏิเสธหรือลดทอนอารมณ์ด้านลบ |
เมื่อลูกแสดงความเศร้าหรือความกังวล ผู้พ่อแม่ที่ Toxic Positivity มักตอบสนองด้วยการบอกให้ “คิดบวก” หรือ “มองโลกในแง่ดี” แทนที่จะรับฟังและเข้าใจความรู้สึกนั้น |
การบังคับให้มีความสุข |
มีความคาดหวังว่าลูกควรจะมีความสุขและมองโลกในแง่ดีตลอดเวลา โดยไม่สนใจความรู้สึกที่แท้จริงของเด็ก |
ตำหนิหรือทำให้รู้สึกผิด |
ในระหว่างพบเจอปัญหา ลูกอาจถูกทำให้รู้สึกผิดที่ไม่สามารถ “คิดบวก” ได้ |
มองข้ามปัญหาที่แท้จริง |
การเน้นแต่ด้านดี อาจทำให้ลูกไม่สามารถเผชิญหน้าและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม |
ทำให้ลูกรู้สึกโดดเดี่ยว |
ลูกจะรู้สึกแย่ อาจรู้สึกว่าไม่มีใครเข้าใจตัวเอง เพราะทุกคน แม้แต่พ่อแม่ดูเหมือนจะมีความสุขและคิดบวกอยู่ตลอดเวลา |
ทำไม? Toxic Positivity เป็นพิษ เมื่อ “มากเกินไป” กลายเป็น พลังบวกเชิงลบ
เด็กๆ นั้นมีความรู้สึกที่ลึกซึ้งเช่นเดียวกับคุณพ่อคุณแม่ และทุกๆ คนค่ะ ซึ่งความพยายามขอผู้ใหญ่ที่จะเข้าใจความรู้สึกเหล่านั้น และตอบสนองต่อเด็กให้ดีขึ้นคือสิ่งสำคัญ โดยสภาวะทางอารมณ์ที่ท้าทาย หรือไม่พึงประสงค์ เช่น ความเศร้าและความโกรธ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ลูกน้อยจึงต้องการโอกาสในการสร้างความเข้มแข็งทางอารมณ์ ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อลูกเรียนรู้ที่จะรับรู้ ประมวลผล และจัดการกับอารมณ์ที่หลากหลายด้วยวิธีที่เหมาะสม
การเน้นย้ำความคิดบวกมากเกินไปในการตอบสนองต่ออารมณ์ด้านลบของลูก เช่น การใช้คำพูดว่า “คนอื่นแย่กว่านี้อีก” หรือ “เดี๋ยวก็หาย” แม้จะพูดด้วยเจตนาดี แต่ก็อาจทำให้เกิดการตีตราอารมณ์เหล่านี้โดยไม่ตั้งใจ และขัดขวางโอกาสที่สำคัญสำหรับการเติบโตและการเรียนรู้ของลูกค่ะ ซึ่งความคิดบวกที่ “มากเกินไป” ในการตอบสนองต่ออารมณ์ด้านลบของลูกกนี้เอง อาจถูกตีความได้ง่ายๆ ว่าเป็นการ ละเลย หากลูกรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับการรับฟัง จะเป็นการบั่นทอนความมั่นใจของลูกว่าพ่อแม่ไม่ความสามารถช่วยเหลือได้ อาจทำให้ลูกมีการปิดบังความรู้สึก ลดการสื่อสารเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นในอนาคตค่ะ

พลังบวกเชิงลบ ผลกระทบที่ “เป็นพิษ” ต่อลูก
เมื่อ Toxic Positivity ไม่ใช่การมองโลกในแง่ดีอย่างแท้จริง แต่เป็น พลังบวกเชิงลบ ที่เปรียบเป็นการ “บังคับ” ให้ตัวเองและผู้อื่นแสดงออกถึงความสุขและความคิดเชิงบวกตลอดเวลา แม้ในสถานการณ์ที่ควรจะรู้สึกเศร้า ผิดหวัง หรือโกรธ ซึ่งคือการ “ละเลย” หรือ “กดทับ” อารมณ์ด้านลบ โดยเชื่อว่าอารมณ์เหล่านั้นเป็นสิ่งที่ “ไม่ควร” รู้สึก หรือเป็นสัญญาณของความอ่อนแอ
และสำหรับเด็กที่กำลังอยู่ในช่วงพัฒนาการทางอารมณ์ การเผชิญหน้ากับความรู้สึกที่หลากหลายเป็นเรื่องปกติและจำเป็นต่อการเติบโต การที่พ่อแม่แสดงออกถึงพลังบวกเชิงลบ หรือ Toxic Positivity อาจส่งผลเสียต่อลูกในหลายด้าน ดังนี้
-
การละเลยและลดทอนความรู้สึก
เมื่อคุณพ่อคุณแม่แสดงออกถึงการคิดบวกที่เป็นพิษ อาจทำให้ลูกรู้สึกว่าอารมณ์ด้านลบของตนเองไม่ได้รับการยอมรับหรือไม่ถูกต้อง และอาจรู้สึกว่าไม่มีใครเข้าใจสิ่งที่ตัวเองกำลังเผชิญอยู่ เช่น เมื่อรู้สึกเศร้า ผิดหวัง หรือโกรธ และพ่อแม่ตอบสนองด้วยคำพูดว่า “ไม่เป็นไรหรอก คิดบวกเข้าไว้สิลูก” หรือ “คนอื่นแย่กว่านี้อีกเยอะนะลูก” สิ่งที่ลูกรับรู้คือ ความรู้สึกของตัวเอง “ไม่ถูกต้อง” หรือ “ไม่สำคัญ” ลูกอาจเริ่มเก็บกดความรู้สึกที่แท้จริงและรู้สึกโดดเดี่ยว เพราะไม่มีใครเข้าใจสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่
-
พัฒนาการทางอารมณ์ที่หยุดชะงัก
การบังคับให้ลูกมองข้ามอารมณ์ด้านลบ ทำให้พลาดโอกาสในการเรียนรู้ที่จะจัดการและทำความเข้าใจอารมณ์เหล่านั้น ลูกอาจไม่ได้รับการสอนวิธีรับมือกับความผิดหวัง ความโกรธ หรือความเศร้าอย่างเหมาะสม ซึ่งจะส่งผลเสียต่อความสามารถในการปรับตัวและรับมือกับความท้าทายในชีวิตเมื่อเติบโตขึ้น
-
ความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดและการขาดความไว้วางใจ
เมื่อลูกรู้สึกว่าอารมณ์ของตนเองไม่ได้รับการยอมรับ อาจเกิดความลังเลที่จะเปิดใจและเล่าปัญหาให้คุณพ่อคุณแม่ฟัง เพราะกลัวว่าจะถูกตัดสินหรือมองข้าม การสื่อสารที่ขาดหายไปนี้จะนำไปสู่ความรู้สึกห่างเหินและการขาดความไว้วางใจในความสัมพันธ์ในครอบครัวได้ค่ะ
-
การสร้างความคาดหวังที่ไม่สมจริง
การเน้นย้ำแต่ด้านบวกตลอดเวลา อาจทำให้ลูกเชื่อว่าการมีความสุขตลอดเวลาเป็นเรื่องปกติ และเมื่อต้องเผชิญกับความยากลำบากหรือความผิดหวัง ลูกอาจรู้สึกว่าตนเอง “ล้มเหลว” หรือ “ไม่ดีพอ” เพราะไม่สามารถรักษา “พลังบวก” ได้ เป็นการสร้างความคาดหวังที่ไม่สมจริงให้กับลูกซึ่งอาจเติบโตขึ้นโดยเชื่อว่าการเผชิญกับความผิดหวังหรือความยากลำบากเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และรู้สึกด้อยค่าเมื่อต้องเผชิญกับโลกแห่งความเป็นจริง
-
ความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าที่เพิ่มขึ้น
มีงานวิจัยหลายชิ้นค่ะชี้ให้เห็นว่า หากพ่อแม่ละเลยอารมณ์ด้านลบของลูก สามารถทำให้ความทุกข์ทางจิตใจและอารมณ์รุนแรงขึ้นได้ ซึ่งการที่พ่อแม่พยายามควบคุมอารมณ์ด้านลบของลูกนั้นสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า อาการปวดเรื้อรัง และความเจ็บป่วยทางกาย เนื่องจาก เมื่อความทุกข์ถูกมองข้าม ไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม มันจะสะสมและส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเด็กในระยะยาวค่ะ

5 วิธีหลีกเลี่ยง Toxic Positivity และสนับสนุนพัฒนาการทางอารมณ์ของลูก
แล้วคุณพ่อคุณแม่ควรทำอย่างไร? เพื่อหยุด! พฤติกรรม “พลังบวกเชิงลบ” แล้วหันมาสร้างพื้นที่ปลอดภัยทางอารมณ์ให้ลูก มาดู 5 วิธีที่เรานำมาฝากต่อไปนี้กันค่ะ
-
รับฟังและยอมรับทุกความรู้สึก
สิ่งแรกที่พ่อแม่ควรทำคือ “รับฟัง” สิ่งที่ลูกกำลังรู้สึกอย่างตั้งใจ โดยไม่ตัดสินหรือพยายามแก้ไขในทันที แสดงให้ลูกเห็นว่า ทุกความรู้สึกนั้น “โอเค” และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นประสบการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคน ในขณะที่เพลิดเพลินกับความรู้สึกของความสุข ความยินดี ความหวัง และความตื่นเต้น ลูกก็ต้องสามารถเรียนรู้ที่จะยอมรับคุณค่าของความรู้สึกที่ยากลำบากในชีวิตได้ด้วย
-
แสดงความเห็นอกเห็นใจ
ควรใส่ใจและทำความเข้าใจว่าทำไมลูกถึงรู้สึกเช่นนั้น ผ่านการพูดคุยด้วยความอ่อนโยน และลูกรู้สึกว่าเกิดการรับฟังและอยู่เคียงข้าง เช่น “แม่เข้าใจนะว่าหนูเสียใจที่เกิดเรื่องนี้ขึ้น” / “แม่รักหนู ไม่ว่าหนูจะรู้สึกอย่างไร” หรือ “พ่อรู้ว่ามันยากสำหรับหนู บอกพ่อนะเมื่อหนูพร้อมที่จะคุย”
การสื่อสารระหว่างกันว่าประสบการณ์และมุมมองของลูกถูกต้อง จะช่วยรักษาความไว้วางใจและช่องทางการสื่อสารที่เปิดกว้าง ช่วยให้ลูกพัฒนาความสามารถในการจัดการกับอารมณ์ได้ ซึ่งการที่พ่อแม่ให้การตอบสนองต่อสภาวะอารมณ์ด้านลบของลูกผ่านการรับฟัง การตั้งคำถาม และการให้กำลังใจ จะส่งผลให้ลูกมีสุขภาพทางอารมณ์ที่ดีขึ้นได้ค่ะ

-
สอนวิธีจัดการกับอารมณ์อย่างเหมาะสม
แทนที่จะบอกให้ลูก “เลิกเศร้า” หรือ “อย่าโกรธ” คุณพ่อคุณแม่ควรสอนทักษะการจัดการอารมณ์ที่เหมาะสม เช่น การหายใจลึกๆ การพูดคุยถึงความรู้สึก หรือการหาทางออกของปัญหาร่วมกันค่ะ
-
เป็นแบบอย่างที่ดี
คุณพ่อคุณแม่เองก็มีสิทธิ์ที่จะรู้สึกเศร้า โกรธ หรือผิดหวังค่ะ สิ่งสำคัญคือ ควรแสดงวิธีจัดการกับอารมณ์เหล่านั้นอย่างเหมาะสม ให้ลูกได้เห็นและเรียนรู้ค่ะ เพราะพ่อแม่เป็นแบบอย่างที่ทรงพลัง การแสดงออกทางอารมณ์และการรับมือกับความรู้สึกอย่างเหมาะสม จะช่วยปลูกฝังทักษะที่มีค่าให้กับลูก ทำให้พวกเขาสามารถเผชิญกับความท้าทายด้วยความยืดหยุ่นและปรับตัวได้
-
สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยทางอารมณ์
สร้างบรรยากาศในครอบครัวที่ลูกรู้สึกว่า “ปลอดภัย” ที่จะแสดงออกทุกความรู้สึกได้ทุกรูปแบบ โดยไม่ต้องกลัวการถูกตัดสินหรือลงโทษ การสนับสนุนให้ลูกได้พูดคุยเกี่ยวกับทั้งประสบการณ์ด้านบวกและด้านลบจะช่วยเสริมสร้างความไว้วางใจและความเข้มแข็งทางอารมณ์ให้ลูกค่ะ การสร้างพื้นที่ให้ลูกได้รู้สึกเศร้า กลัว หรือโกรธ และแสดงออกอย่างเหมาะสม จะนำไปสู่การควบคุมอารมณ์และความเข้มแข็งทางจิตใจที่มากขึ้น
โดยคุณพ่อคุณแม่ควรระมัดระวังการพูดที่จะไม่เชื่อมโยงสภาวะอารมณ์ด้านลบกับความล้มเหลว และแทนที่จะกด หรือจำกัดสภาวะอารมณ์เหล่านี้ อาจแสดงให้ลุกเห็นว่าการถอยออกมาพิจารณาความรู้สึกเหล่านั้น และทำความเข้าใจความหมายที่อาจเกิดขึ้น อาจช่วยให้ลูกเข้าใจตัวเองได้มากขึ้นค่ะ

แยกให้ออก “คิดบวก” หรือ Toxic Positivity
ในความเป็นจริงแล้ว “การคิดบวก” ถือเป็นสิ่งที่ดีต่อการดำเนินชีวิตของคนเราอย่างมากนะคะ เพราะมีส่วนช่วยให้คนเราข้ามผ่านเรื่องแย่ๆ และมองเห็นแง่มุมดีๆ ของสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ต้องเป็นการคิดบวกอย่างธรรมชาติ ไม่ใช่การฝืนใจตัวเอง หรือบังคับให้คนอื่นต้องมองโลกในแง่ดี เพื่อปิดบังความเศร้าหรือความเจ็บปวดภายในค่ะ
การแยกให้ออกระหว่าง “ความคิดบวก” (Positive Thinking) กับ ‘ภาวะคิดบวกเป็นพิษ’ (Toxic Positivity) อย่างชัดเจนจึงไม่ใช่เรื่องง่ายค่ะ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องพิจารณาถึงการกระทำ คำพูด และความรู้สึกของตัวเองอย่างรอบคอบ ไม่เมินเฉยต่อความรู้สึกด้านลบของลูก จนทำให้ลูกรู้สึกเหมือนถูกบังคับให้มองโลกในแง่ดีตลอดเวลา จนกลายเป็นสัญญาณของภาวะคิดบวกเป็นพิษค่ะ
การเลี้ยงดูด้วยความเข้าใจและยอมรับทุกอารมณ์ของลูก คือรากฐานสำคัญของการสร้างเด็กที่มีความเข้มแข็งทางจิตใจและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพจิตที่ดีนะคะ ดังนั้น หยุดการใช้พลังบวกเชิงลบที่เป็นพิษ แล้วหันมาเป็นผู้ฟังที่ดี เป็นที่พักพิงทางใจ และเป็นคู่มือในการเรียนรู้โลกแห่งอารมณ์ให้กับลูกน้อยของเราอย่างแท้จริงกันดีกว่าค่ะ
ที่มา : www.psychologytoday.com , Mirror Thailand
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ฮาร์วาร์ดชี้! เดือนเกิดลูกมีผลต่อสติปัญญา เด็กเกิด 3 เดือนนี้จะฉลาด!?
9 ข้อควรทำ! การสร้างวินัยในตนเองให้ลูก เริ่มได้ตั้งแต่วัยเยาว์
10 วิธี สอนลูกสาวให้รักตัวเอง สร้างเกราะอันแข็งแกร่ง มีภูมิคุ้มกันทางใจ
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!