Top 10 ปัญหาช่องปากเจ้าตัวน้อย
1. เชื้อราในช่องปาก
โรคเชื้อราในช่องปากสามารถพบได้บ่อย มีสาเหตุมาจากเชื้อรา เห็นเป็นจุดหรือปื้นสีขาวในช่องปากทารก ได้รับมาจากการสัมผัสจากผู้ใหญ่ ของเล่น จุกนมที่ไม่ได้ฆ่าเชื้อหรือขาดการทำความสะอาด การรักษาอนามัยช่องปากที่ดีและการทำความสะอาดของเล่นจะช่วยป้องกันเชื้อราในช่องปากได้
วิธีการดูแล: หลังจากดื่มนมทุกครั้งให้คุณแม่ใช้ผ้าสะอาดพันที่นิ้วเช็ดที่บริเวณลิ้นและเพดานปากลูก ที่สำคัญความเชื่อแบบโบราณโดยใช้ฉี่ของเด็กเช็ดลิ้น เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องและอาจทำให้เจ้าตัวเล็กติดเชื้อจากฉี่ได้นะคะ
บทความแนะนำ หยุดกังวล…ลิ้นเป็นฝ้าขาวในเด็กเล็ก
2. ฟันน้ำนมขึ้นไม่ครบ20ซี่
ฟันน้ำนมมีพัฒนาการตั้งแต่เป็นทารกอยู่ในครรภ์ตอน 6 สัปดาห์ โดยการรวมตัวเป็นกระดูกขากรรไกรบน 10 หน่อ ก็จะทำให้จำนวนฟันน้ำนมผิดปกติไป เด็กบางคนมีฟันน้ำนมไม่ครบ 20 ซี่ หรือมีฟันแฝดคือ ฟัน 2 ซี่เชื่อมติดกัน
วิธีการดูแล : ฟันน้ำนมขึ้นไม่ครบ 20 ซี่ ไม่ต้องแก้ไขหรือรักษาค่ะ จำนวนฟันที่ไม่เท่ากันอาจมีผลต่อพื้นที่ที่กว้างไม่พอเพียงต่อขนาดของฟันแท้ที่อยู่ข้างใต้ ทำให้ฟันแท้ขึ้นซ้อนหรือเกได้
3. ฟันน้ำนมผุตั้งแต่อายุไม่ถึง1ปี
ฟันน้ำนมผุเกิดจากชั้นเคลือบฟันนมหนาเพียงประมาณครึ่งหนึ่งของฟันแท้ ทำให้ฟันน้ำนมผุง่ายกว่าฟันแท้ ฟันน้ำนมผุตั้งแต่อายุไม่ถึง 1 ปี เรียกว่าผุตั้งแต่ฟันซี่ โดยเฉพาะการปล่อยให้ทารกเผลอหลับพร้อมกับขวด นมในปาก ในขณะที่ทารกเผลอหลับ ของเหลวที่มีน้ำตาลจะเคลือบอยู่รอบฟันและ สามารถทำให้เกิดฟันผุได้ แม้แต่น้ำนมแม่ และนมสูตรที่มีน้ำตาล ฟันน้ำนมมีแร่ธาตุแคลเซียมฟอสเฟสน้อยกว่าฟันแท้ บริเวณโพรงประสาทฟันน้ำนมมีชั้นของเคลือบฟันและเนื้อฟันปกคลุมอยู่บางๆ ทำให้เมื่อฟันน้ำนมผุจึงลุกลามสู่โพรงประสาทฟันได้อย่างรวดเร็ว
วิธีการดูแล : การที่ฟันผุตั้งแต่อายุน้อยๆ จะส่งผลให้รักษายาก คุณพ่อคุณแม่จึงควรป้องกันด้วยการตรวจและดูแลรักษาความสะอาดฟันของลูกตั้งแต่ลูกอายุก่อน 1 ปี โดยเฉพาะการตรวจคราบจุลินทรีย์หรือที่เรียกว่า ขี้ฟัน ที่ติดอยู่บริเวณคอฟันของฟันหน้าบน ฟันน้ำนมที่ผุระยะเริ่มต้นจะลุกลามไปเป็นรูผุได้ในเวลา 6-18 เดือน
บทความแนะนำ อันตรายจากการปล่อยให้ลูกฟันน้ำนมผุ
หมอฟันฝากบอก : วิธีป้องกันฟันผุของเด็กเล็ก
1. สร้างนิสัยการเอาลูกเข้านอนโดยไม่มีขวดนม
2. ไม่นำทารกเข้านอนพร้อมขวดนมที่เต็มไป ด้วยนม น้ำผลไม้ น้ำดื่มผสมน้ำตาล หรือน้ำโซดา หากลูกน้อยของคุณติดขวดนมเข้านอนด้วย ให้เติมน้ำลงในขวด
3. เริ่มสอนให้ลูกน้อยใช้แก้วน้ำระหว่าง 6 – 12 เดือน ยื่นข้อแลกเปลี่ยนขวดนมของลูกน้อยกับ ถ้วยฝึกหัดเมื่ออายุได้ 1 ขวบ
บทความแนะนำ 5 เคล็ดลับชวนเจ้าตัวเล็กมาแปรงฟัน
4. ฟันบนผุง่ายกว่าฟันล่าง
ตามปกติแล้วฟันน้ำนมด้านบนจะผุง่ายกว่าด้านล่าง เพราะบริเวณคอฟันที่อยู่ติดกับเหงือก เวลาที่เจ้าหนูดูดนม และเป็นบริเวณที่มีน้ำลายไหลผ่านน้อยการชะล้างของน้ำลายตามธรรมชาติจึงทำได้ไม่ดี ขณะที่ฟันด้านล่าง อยู่ใกล้รูเปิดของต่อมน้ำลายใต้ลิ้น น้ำลายจึงหลั่งออกมาชะล้างฟันได้มาก อีกจุดก็คือ กรามด้านบนเคี้ยวมีหลุมและร่องฟันสึก บริเวณซอกฟันระหว่างฟัน 2 ซี่ ก็เป็นตำแหน่งที่ผุได้ง่าย เพราะปลายขนแปรงสีฟันเข้าไปทำความสะอาดได้ยาก โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ดูดนมจากขวด ทำให้ฟันแช่อยู่ในนมนาน ยิ่งเป็นนมหวานฟันก็จะผุได้ง่าย
วิธีการดูแล : เด็กควรเลิกดื่มนมจากขวดเมื่ออายุ 12-18 เดือน ควรฝึกให้เด็กดื่มนมจากถ้วย เพราะเวลาที่นมตกค้างในช่องปากจึงน้อยกว่า และหลีกเลี่ยงนมรสหวาน
5. เสียวฟัน
ฟันผุในระยะเริ่มแรกที่ชั้นเคลือบฟันจะไม่มีอาการใดๆ เมื่ออาการผุลุกลามไปสู่ชั้นเนื้อฟันจึงเริ่มรู้สึกเสียวฟันหรือปวดฟันเวลารับประทานอาหารหรือดื่มน้ำเย็น ถ้าไม่อุดฟันจะผุเข้าสู่ชั้นโพรงประสาทฟัน อาจเกิดการติดเชื้อบวมและมีตุ่มหนองบริเวณเหงือกเหนือฟันซี่ดังกล่าว เด็กจะมีอาการปวดฟันตลอดเวลา ไม่อยากทานอะไร งอแง และอาจมีไข้ร่วมด้วย
วิธีการดูแล : เมื่อพบว่าลูกเริ่มเสียวฟันควรรีบไปพบหมอฟันเพื่อตรวจดูว่า ต้องอุดฟันหรือไม่
อ่าน Top 10 ปัญหาช่องปากเจ้าตัวน้อย ข้อ 6 – 10 คลิกหน้าถัดไป
6. ปัญหากลิ่นปาก
นมแม่มีคุณสมบัติ คือ ไม่ข้นมากและไม่เกาะติดฟัน เป็นสารอาหารที่มาจากธรรมชาติ ทำให้ไม่เกิดการสะสมของคราบฟันและแบคทีเรียได้มากเท่านมผสม ในขณะที่นมผสมมีคุณสมบัติที่เกาะติดฟัน ประกอบกับการรับประทานแบบไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น การดูดนมขวดแช่ ดูดนมคาปากจนหลับ พฤติกรรมเหล่านี้ ส่งผลต่อฟัน ทำให้ฟันผุและเกิดกลิ่นปากได้ง่าย หากเลี้ยงลูกด้วยนมผสมก็ควรมีวิธีให้นมลูกในลักษณะที่ถูกต้องด้วย
วิธีการดูแล : หลังจากดื่มนมทุกครั้งให้คุณแม่ใช้ผ้าสะอาดพันที่นิ้วเช็ดที่บริเวณลิ้นและเพดานปากลูก และเริ่มสอนให้ลูกน้อยใช้แก้วน้ำระหว่าง 6 – 12 เดือน
7. ร่องหลุมฟันดำ ใช่ฟันผุหรือไม่?
ถ้าในฟันกราม น้ำนมที่ชั้นเคลือบฟันมีการเปลี่ยนเป็นสีดำบริเวณหลุมร่องฟัน แต่ยังไม่เป็นรูนั้นยังไม่ต้องรักษา แต่ต้องดูแลแปรงฟันให้สะอาดอยู่เสมอเพื่อยับยั้งไม่ให้ลุกลามเป็นรูและคอยตรวจดูเป็นระยะ
วิธีการดูแล : หากฟันผุลุกลามจนเกิดเป็นรู แต่ไม่ลุกลามถึงโพรงประสาทฟัน คุณหมอจะรักษาด้วยการอุดฟัน ส่วนการผุที่ลุกลามถึงโพรงประสาทฟันต้องรักษารากฟัน พร้อมทั้งรักษาให้ฟันน้ำนมให้อยู่สภาพเดิมโดยการใส่ครอบฟันซึ่งเป็นเหล็กไร้สนิมเพื่อให้เด็กใช้ฟันเคี้ยวอาหารได้ตามปกติ
8. แผลร้อนใน
ลักษณะของแผลในปากเด็ก จะมีลักษณะเป็นแผลขาวๆ สามารถเกิดได้ที่ริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม เพดานปาก ลิ้น หรือแม้กระทั่งเหงือก หากมีแผลเพียง 1 แผล และไม่มีอาการเป็นไข้ร่วมด้วย แต่ถ้ามีไข้ควรพาไปพบคุณหมอนะคะเพราะอาจเกิดการติดเชื้อได้
วิธีการดูแล : ล้างมือให้สะอาด เช็ดหรือทำความสะอาดช่องปาก สำหรับลูกที่เลี้ยงด้วยนมแม่ ไม่ควรใช้น้ำเพื่อล้างคราบนมออก เนื่องจากน้ำนมแม่มีสารต้านการเติบโตของเชื้อรา ส่วนเด็กที่ดื่มนมผสมควรให้ดื่มน้ำตามมาก ๆ เพื่อล้างคราบนมออก เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยดูแลรักษาความสะอาดในช่องปาก
บทความแนะนำ ลูกร้อนใน แม่ร้อนใจ
9. ฟันบิ่น-ฟันหัก
ถ้าความซนของลูกทำให้ฟันของลูกไปกระแทกกับสิ่งของแข็งๆ จนฟันแตกหักหรือบิ่น หลังจากรักษาแผลและห้ามเลือดแล้ว ควรทำอย่างไรกับฟันที่บิ่นและหัก
วิธีการดูแล : ส่วนใหญ่ฟันที่ได้รับการกระแทกมักเป็นฟันหน้า ถ้าฟันที่ถูกกระแทกนั้นบิ่นไปเพียงเล็กน้อย เลือดไม่ออกที่ฟันแสดงว่าฟันยังไม่หักจนทะลุโพรงประสาทที่อยู่ในฟัน กรณีนี้ให้พาลูกไปพบหมอฟัน โดยพยายามหาเศษฟันที่แตก เพราะอาจทำฟันขึ้นมาใหม่ได้ แต่ถ้าฟันบิ่นมาก มีจุดเลือดออกที่บนฟัน นั่นแสดงว่าฟันหักจนทะลุโพรงประสาท ต้องรีบไปพบหมอฟันทันที
10. แง ๆๆ หนูกลัวหมอฟัน!!!!
เด็กๆ ส่วนใหญ่จะกลัวหมอฟัน เนื่องจากเด็กจะจินตนาการว่า หมอฟันน่ากลัว รวมไปถึงการทำฟันจะทำให้เด็กเจ็บปวดได้
วิธีการดูแล : ควรเริ่มต้นพาลูกไปพบหมอฟันตั้งแต่ลูกยังไม่มีฟันผุ เพื่อให้เด็กคุ้นเคยกับหมอฟัน เก้าอี้ทำฟัน และเครื่องมือชนิดต่างๆ ของคุณหมอ ในการตรวจครั้งแรกลูกจะได้นั่งเก้าอี้ของหมอฟัน หมอจะเปิดไฟส่องดูฟัน และใช้กระจกเล็ก ๆ ช่วยเข้าไปส่องดู และคุณหมอจะขัดฟันให้เด็กด้วยหัวขัดยางกับผงขัด เพื่อให้เด็กเริ่มรู้จักเครื่องมือที่หมุน ๆ มีเสียง และการใส่เครื่องมือเข้าไปในช่องปาก เมื่อคุ้นเคยและไม่ได้เจ็บตัวตั้งแต่พบกันครั้งแรก ก็จะช่วยทำให้อาการกลัวหมอฟันไม่เกิดขึ้นได้ เพียงใส่ใจดูแลกันสักนิดลูกตัวน้อยของคุณก็จะเป็นเจ้าของฟันแข็งแรง ยิ้มสวยมั่นใจแล้วล่ะค่ะ
บทความแนะนำ ลูกฟันผุ ลูกไม่แปรงฟัน ทำไงดี? อ่านคำตอบจากทันตแพทย์ได้ที่นี่
ปัญหาช่องปากของเจ้าหนูแม้จะมีเรื่องจุกจิกมากมาย แต่สิ่งสำคัญที่สามารถป้องกันได้ตั้งแต่เริ่มต้น คือ การรักษาความสะอาดของช่องปาก ที่สำคัญไม่ควรให้เด็กหลับคาขวดนม เด็กควรเลิกดื่มนมจากขวดเมื่ออายุ 12-18 เดือน และพาเจ้าหนูไปพบหมอฟันตั้งแต่เนิ่น ๆแม้ว่าฟันยังไม่ผุก็ตาม จะได้ป้องกันปัญหาการกลัวหมอฟันได้นะคะ
ร่วมบอกเล่าและแชร์ประสบการณ์ในช่วงตั้งครรภ์ คลอดบุตร รวมถึงการเลี้ยงดูทารกน้อย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวอื่น ๆ กันนะคะ หากมีคำถามหรือข้อสงสัย ทางทีมงานจะหาคำตอบมาให้คุณ
อ้างอิงข้อมูลจาก
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
การดูแลช่องปากและฟันสำหรับเด็ก
ประโยชน์ของฟันน้ำนมที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน