การท่องพยัญชนะไทยทั้ง 44 ตัว มีความสำคัญมากในห้องเรียน เป็นเรื่องพื้นฐานที่ลูกไม่สามารถเลี่ยงได้ วันนี้เราจึงจะมาแนะนำ เทคนิคช่วยลูกวัยอนุบาลจำพยัญชนะไทย ซึ่งสามารถทำได้ไม่ยาก แต่ต้องพึ่งระยะเวลาในการฝึกฝนหน่อย หรือจะทำเป็นกิจกรรมต่าง ๆ เราก็มีมาแนะนำด้วยเช่นกัน
พยัญชนะทั้งหมด 44 ตัวมีอะไรบ้าง
ในภาษาไทยมีการใช้พยัญชนะทั้งหมด 44 ตัว แม้ในปัจจุบันจะมีบางตัวที่คล้ายจะสูญพันธุ์ หรือแทบไม่ได้ใช้แล้ว แต่ก็ยังไม่มีการตัดออก ซึ่งทั้ง 44 ตัว มีดังนี้ “ก ข ฃ ค ฅ ฆ ง จ ฉ ช ซ ฌ ญ ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ ด ต ถ ท ธ น บ ป ผ ฝ พ ฟ ภ ม ย ร ล ว ศ ษ ส ห ฬ อ ฮ” ด้วยการท่องพยัญชนะเป็นปัญหาสำหรับเด็กเล็กพอสมควร ด้วยจำนวนที่เยอะ และตัวอักษรที่ถือว่าเขียนยากกว่าภาษาอังกฤษมาก เทคนิคในการจดจำพยัญชนะภาษาไทย จึงมีความสำคัญ และเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองไม่ควรมองข้าม ให้ลูกฝึกเอาไว้ก่อนเมื่อมีโอกาส
บทความที่เกี่ยวข้อง : 50 คำศัพท์ภาษาไทย ที่คนไทยมักเขียนผิด และลูกควรเรียนรู้ไว้ก่อน
วิดีโอจาก : HappyJoe
3 เทคนิคช่วยลูกวัยอนุบาลจำพยัญชนะไทย
เทคนิคที่เราจะแนะนำทั้ง 3 วิธี เป็นเทคนิคพื้นฐาน ที่มักจะทำกันเป็นปกติอยู่แล้ว ผู้ปกครองอาจหาเวลาว่างวันละนิด วันละหน่อยแทน ซึ่งมีวิธีการฝึกฝน ดังนี้
1. จดจำจากรูปภาพแทน
การนั่งท่องเฉย ๆ คงเป็นวิธีพื้นฐานที่มักใช้กัน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความน่าเบื่อมากสำหรับเด็ก เนื่องจากไม่มีลูกเล่นที่ทำให้เด็กอยากจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ตนเองท่องอยู่ การใช้รูปภาพเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับเด็กวัยเรียน ที่กำลังหัดท่องพยัญชนะไทยใหม่ ๆ เหมือนกับที่เราเคยท่องตอนเด็ก ๆ ถ้าเป็น ก. ก็เป็นรูปไก่ ถ้าเป็น ข. ในรูปก็เป็นไข่ จะช่วยให้เด็กจดจำได้ดีกว่า ยิ่งถ้ารูปภาพมีความน่ารัก จะยิ่งทำให้เด็กชอบมากขึ้นได้ อย่างไรก็ตามการใช้ภาพช่วยก็เป็นวิธีพื้นฐาน ที่ใช้กันโดยทั่วไป ควรใช้วิธีอื่นประกอบด้วย
2. หัดเขียนบ่อย ๆ
เมื่อหัดท่องแล้ว ก็ต้องหัดเขียนด้วยเช่นกัน การหัดเขียนนั้นไม่จำเป็นต้องรีบ หรือเร่งรัดให้เด็กเขียนได้ เขียนเป็น แต่ให้อาศัยเวลาในการฝึกฝนต่อไปเรื่อย ๆ เน้นให้ทำบ่อย ๆ ไม่ใช่แค่เขียนเท่านั้น หากลูกเขียนที่บ้าน ให้ผู้ปกครองช่วยลูกอ่านด้วย พอเขียนเสร็จหนึ่งตัว ก็อาจถามลูกว่าตัวนี้อ่านว่าอะไร เป็นต้น ยิ่งฝึกแต่เนิ่น ๆ จะสามารถสร้างความคุ้นเคยให้กับเด็ก ๆ ได้ดีกว่า เมื่อเด็กมีความคุ้นเคยแล้ว จะสามารถทำให้จดจำพยัญชนะไทยต่าง ๆ ได้มากขึ้นตามไปด้วย
3. ใช้เพลงช่วย
เพลงพยัญชนะไทยสามารถหาได้ตามวิดีโอสื่อออนไลน์ทั่วไปไม่ยาก เป็นเพลงที่มักใช้กับเด็กอนุบาลอยู่แล้ว การใช้เพลงช่วยจะทำให้เด็กจำทำนองได้ อาจท่องได้ทั้งหมด 44 ตัว ด้วยการจำจากการฟังเพลง แต่สำหรับการเขียนที่ถูกต้องนั้น ต้องพึ่งการฝึกคัดลายมือบ่อย ๆ ควบคู่ไปด้วย
การฝึกวิธีทั้ง 3 นี้เป็นวิธีที่ทำได้ง่าย แต่ไม่ควรยึดวิธีใดวิธีหนึ่งมากจนเกินไป ควรทำหลายเทคนิคควบคู่กันไป เพื่อให้ลูกน้อยมีความคุ้นชินมากขึ้น สามารถจดจำได้มากขึ้น
3 กิจกรรมช่วยลูกวัยอนุบาลจำพยัญชนะไทย
การเรียนรู้ผ่านกิจกรรมเป็นสิ่งที่ดีสำหรับพัฒนาการของเด็กมาก เพราะนอกจากจะได้การเรียนรู้แล้ว ยังได้ประโยชน์ไปด้วยในเวลาเดียวกัน เด็ก ๆ จะไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองกำลังนั่งเรียน แต่เหมือนนั่งเล่นเกมการแข่งขันมากกว่า ยิ่งถ้ามีของรางวัลด้วย จะยิ่งส่งเสริมให้เด็ก ๆ สนใจมากขึ้นด้วย โดยเราจะแนะนำกิจกรรมง่าย ๆ ทั้ง 3 กิจกรรม ดังนี้
1. วงกลมซ้ำได้รางวัล
เป็นกิจกรรมที่สามารถทำได้ง่าย ด้วยการเขียนพยัญชนะต่าง ๆ ประมาณ 6 – 7 ตัว ลงในกระดาษ โดยในนั้นจะต้องมีพยัญชนะที่ต้องการให้ฝึกแฝงอยู่ 1 – 3 ตัว เพื่อให้ลูกวงคำตอบที่ถูกต้อง ตัวอย่างเช่น มีพยัญชนะ “ก ค ส ก ง ย ก” โดยมีโจทย์ว่าให้วงกลม “ก” ทั้งหมด ผู้ปกครองอาจตั้งโจทย์ 5 – 6 ข้อ และวางเกณฑ์คะแนนไว้ หากสามารถทำได้ถูกต้องทั้งหมด จึงให้รางวัล อาจเป็นขนมก็ได้
2. ทายพยัญชนะ
กิจกรรมพื้นฐานที่นิยมใช้กัน นั่นคือ การเขียนพยัญชนะต่าง ๆ ลงในกระดาษตัวใหญ่ ๆ ใบละ 1 ตัว และเปิดให้ลูกทาย อาจจำกัดเวลาเพื่อเพิ่มความสนุกให้กับลูก เช่น มีเวลาคิดแต่ละใบ 5 วินาที หากจำไม่ได้สามารถขอข้ามไปก่อนได้ อาจจำกัดเวลาว่าเล่น 1 รอบมีเวลา 5 นาที หรือ 10 นาที พอทายหมดแล้วให้เอาใบที่ลูกข้ามไปกลับมาทาย เมื่อทายได้ถูกต้องทั้งหมด จึงจะได้ของรางวัล เป็นต้น
3. เขียนตามที่บอกชิงรางวัล
การทำกิจกรรมนี้จะคล้ายกับการเขียนตามคำบอกของเด็กวัยประถม แต่เปลี่ยนจากคำมาเป็นพยัญชนะในภาษาไทยทั้ง 44 ตัวแทน โดยไม่จำเป็นต้องนำมาเขียนทั้งหมดก็ได้ อาจเลือกมาสัก 10 – 15 ตัว และบอกให้ลูกเขียนให้เวลาแต่ละตัว 10 วินาที จากนั้นให้บอกตัวพยัญชนะต่อไปเลย หลังจากบอกจนครบแล้ว ก็นำมาตรวจหากเขียนผิด หรือลูกเขียนไม่ทัน ก็อธิบายให้ลูกฟัง หากเขียนถูกได้ถึงกำหนด จึงจะได้คะแนน เป็นต้น
การทำกิจกรรมเหล่านี้หากผู้ปกครองมีลูกมากกว่า 1 คน อาจให้ช่วยกัน โดยเพิ่มความยากของกิจกรรมขึ้น หรือจะให้ลูก ๆ แข่งกันทำคะแนนเพื่อชิงขนมก็ได้เช่นกัน ทั้งนี้กติกาการทำกิจกรรมต่าง ๆ สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม
การฝึกในรูปแบบต่าง ๆ หรือผ่านการทำกิจกรรม ไม่ควรกดดันลูก เนื่องจากลูกวัยนี้ ก็จะได้ฝึก และเรียนจากในห้องเรียนร่วมด้วยอยู่แล้ว หากลูกจำไม่ได้ให้ใจเย็น ๆ และฝึกไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวลูกก็เริ่มจำได้เอง
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
รวม 52 คำทับศัพท์ภาษาไทย ใช้กันเยอะ ใช้กันบ่อย เขียนถูกหรือเปล่า ?
คำพ้อง คำพ้องรูป คำพ้องเสียง ในภาษาไทยคืออะไร มาเรียนรู้กัน !
รู้จัก “คำสุภาพ” ในภาษาไทย ใช้อย่างไร และมีคำไหนที่เด็ก ๆ ควรรู้
ที่มา : youngciety, twinkl
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!