มารู้จักคำลักษณนามกันเถอะ ลักษณนาม ที่เรามักพบในชีวิตประจำวัน บางครั้งเราก็ใช้ผิดโดยไม่รู้ตัว สำหรับน้อง ๆ คนไหนกำลังหาตัวอย่างคำลักษณนาม วันนี้ theAsianparent ได้รวบรวมมาไว้ให้แล้ว มาดูกันว่าลักษณนามคืออะไร แบ่งออกเป็นกี่ชนิด และมีคำไหนที่เราควรรู้บ้าง ไปดูกันค่ะ
ลักษณนาม คืออะไร
คำลักษณนาม หรือลักษณนาม คือ คำนามที่บ่งบอกถึงลักษณะคำนามที่วางไว้ข้างหน้า เพื่อใช้แสดงให้เราเข้าใจถึงประเภท ชนิด และลักษณะของสิ่งของต่าง ๆ ให้ชัดเจน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วสิ่งของต่าง ๆ มักมีลักษณนามที่แตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น ปากกา ที่เป็นอุปกรณ์สำหรับขีดเขียนตัวอักษร มีคำลักษณนาม คือ ด้าม กรรไกร ที่เป็นอุปกรณ์สำหรับการตัดหรือทำให้ขาด มีลักษณนาม คือ เล่ม เป็นต้น
ชนิดของลักษณนาม
โดยทั่วไปแล้ว คำลักษณนามมักแบ่งออกเป็น 5 ชนิด ดังต่อไปนี้
1. ลักษณนามบอกชนิด
- พระพุทธรูป ใช้ลักษณนามว่า องค์
- พระพุทธเจ้า เทวดา พระราชา เจ้านายชั้นสูง ใช้ลักษณนามว่า พระองค์
- ภิกษุ สามเณร นักพรต ชี และชีปะขาว ใช้ลักษณนามว่า รูป
- ฤๅษี ผี ยักษ์ ภูต และปีศาจ ใช้ลักษณนามว่า ตน
- มนุษย์ คน ใช้ลักษณนามว่า คน
- ขลุ่ย และปี่ ใช้ลักษณนามว่า เลา
- ใบไม้ และภาชนะบางชนิด ใช้ลักษณนามว่า ใบ
2. ลักษณนามบอกหมวดหมู่
- คนหรือสัตว์ที่อยู่รวมกันหมู่มาก ใช้ลักษณนามว่า พวก เหล่า ฝูง
- นักบวชที่นับถือศาสนาเดียวกัน หรือคนละศาสนา ใช้ลักษณนามว่า นิกาย
- ทหาร และของที่วางรวมกัน เช่น หิน ทราย หรืออิฐ ใช้ลักษณนามว่า กอง
บทความที่เกี่ยวข้อง : 50 คำศัพท์ภาษาไทย ที่คนไทยมักเขียนผิด และลูกควรเรียนรู้ไว้ก่อน
3. ลักษณนามบอกสัณฐาน
- สิ่งของที่แบน เช่น กระดาน กระดาษ หรือกระเบื้อง ใช้ลักษณนามว่า แผ่น
- สิ่งของที่กลม เช่น แหวน หรือกำไล ใช้ลักษณนามว่า วง
- สิ่งของที่ยาว เช่น ดินสอ เหล็ก หรือตะกั่ว ใช้ลักษณนามว่าแท่ง
- สิ่งของที่เป็นเส้นยาว เช่น ด้าย ลวด หรือเชือก ใช้ลักษณนามว่า เส้น
4. ลักษณนามบอกจำนวน และมาตรา
- จำนวนสิ่งของที่เท่ากับ 2 ใช้ลักษณนามว่า คู่
- จำนวนสิ่งของที่เท่ากับ 12 ใช้ลักษณนามว่า โหล
- สกุลเงินต่าง ๆ เช่น บาท เปโซ ดอลลาร์ ยูโร และปอนด์
- หน่วยวัดต่าง ๆ เช่น กิโลกรัม กิโลเมตร และมิลลิกรัม
5. ลักษณนามบอกอาการ
- สิ่งของที่ม้วนจนมีขนาดยาว ใช้ลักษณนามว่า ม้วน
- สิ่งของที่มัดรวมกันเป็นก้อน ใช้ลักษณนามว่า มัด
บทความที่เกี่ยวข้อง : คำราชาศัพท์ หมวดเครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับ
ตัวอย่างคำลักษณนาม
หลายครั้งที่เรามักใช้ลักษณนามผิดบ่อย ๆ จนทำให้เกิดความสับสนในการเรียกสิ่งของต่าง ๆ เรามาดูลักษณนามที่มักพบในชีวิตประจำวันกันค่ะ
|
ตัวอย่างคำลักษณนามที่พบได้บ่อย
|
ลักษณนาม |
ตัวอย่าง |
วง |
แหวน วงกลม ตะกร้อ สักวา มโหรี เพลง |
แผ่น |
ขนมปัง กระดาษ กระดาน กระเบื้อง อิฐ |
ผืน |
ผ้า เสื่อ พรม กระแชง หนังสัตว์ (ที่ใช้ปู) ธง |
บาน |
ประตู หน้าต่าง กระจกเงา กรอบรูป |
ใบ |
บัตรประจำตัว ถาด จาน |
แท่ง |
เหล็ก ตะกั่ว ดินสอ ทอง ครั่ง |
ก้อน |
สบู่ ถ่าน อิฐ เนื้อ |
ต้น |
ส้ม เสา ซุง เทียนพรรษา |
ลำ |
ไม้ไผ่ อ้อย เครื่องบิน จรวด เรือ |
เส้น |
เชือก ลวด ด้าย ผม สร้อย เข็มขัด |
กอง |
ลูกเสือ อิฐ ทราย ผ้าป่า |
ฝูง |
วัว ควาย ปลา นก |
โขลง |
ช้าง |
สำรับ |
กระดุม กับข้าว เครื่องเรือน เครื่องแต่งกาย |
ชุด |
เครื่องแต่งกาย การแสดง ข้อสอบ |
แบบ |
ทรงผม เครื่องแต่งกาย ตัวอักษร ตัวพิมพ์ |
ฉบับ |
จดหมาย เอกสาร นิตยสาร วารสาร หนังสือพิมพ์ |
คู่ |
รองเท้า ถุงเท้า แจกัน เชิงเทียน ช้อน ส้อม เขาสัตว์ |
โหล |
ดินสอ สมุด ไม้หนีบผ้า ของใช้ |
กล่อง |
นม ของขวัญ |
มัด |
ฟืน ข้าวต้มผัด อ้อย ไม้รวก |
ม้วน |
ผ้า กระดาษ ผ้า กระดาษ แพร ริบบิ้น ฟิล์ม เชือก |
พับ |
ผ้า กระดาษ |
องค์ |
เจดีย์ พระทนต์ พระบรมราโชวาท |
รูป |
ภิกษุ สามเณร ชี |
ตัว |
สุนัข แมว โต๊ะ เก้าอี้ ม้านั่ง |
ใบ |
ส้ม ตู้ หม้อ กระโถน ตุ่ม หมอน |
สิ่ง |
กับข้าว ของ สิ่งของ |
อัน |
ไม้บรรทัด คีม แปรงสีฟัน ที่เขี่ยบุหรี่ |
เล่ม |
หนังสือ เกวียน เทียน เข็ม กรรไกร สิ่ว ดาบ ขวาน หอก |
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ ตอนนี้น้อง ๆ ก็คงเข้าใจลักษณนามกันมากขึ้นแล้ว เชื่อว่าต่อไปทุกคนคงจะเรียกสิ่งของ หรือผู้คนกันได้ถูกต้องมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ลักษณนามบางคำ อาจใช้กับสิ่งของหลายสิ่ง หรือหลายคน ดังนั้นอย่าจำสับสนกันนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
คำราชาศัพท์ หมวดพระสงฆ์ คำศัพท์เพื่อการเรียนรู้
คำพ้อง คำพ้องรูป คำพ้องเสียง ในภาษาไทยคืออะไร มาเรียนรู้กัน!
รวม 52 คำทับศัพท์ภาษาไทย ใช้กันเยอะ ใช้กันบ่อย เขียนถูกหรือเปล่า?
ที่มา : 1, 2
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!