มีวิธีไหนบ้างที่จะ สอนลูก ให้มีไหวพริบ และ ปลอดภัยจากคนแปลกหน้า
การสอนลูกให้รู้จักระวังภัยจากคนแปลกหน้าไว้เป็นเรื่องไม่เสียหาย แต่อย่างไรก็ดี เรากำชับลูกถูกจุดหรือเปล่า? การบอกห้ามลูกพูดกับคนแปลกหน้าทุกคนไม่ใช่จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด วันนี้เราจะมาแนะนำวิธีที่จะ สอนลูก ให้เค้ามีไหวพริบ และ ปลอดภัยจากคนแปลกหน้า ที่อาจเข้ามาปฏิสัมพันธ์กับลูกๆ ได้
สอนลูกให้ปลอดภัยจากคนแปลกหน้า
เรามักได้ยินข่าวเกี่ยวกับการลักพาตัวเด็ก การกระทำอนาจารกับเด็ก หรือผู้ที่มีปัญหาทางจิตที่เชื่อว่าลูกคนอื่นเป็นลูกตัวเองอยู่บ่อย ๆ ในฐานะผู้ปกครอง เรามักรู้สึกกังวลทุกครั้งที่ได้ยินข่าวทำนองนี้ และสอนลูกไปต่าง ๆ นานา แต่เรากำลังสะกดจิตให้ตัวเราเองและตัวเด็กกลัวมากเกินไปหรือเปล่า? แน่นอนว่าคนแปลกหน้าส่วนใหญ่ไม่ใช่คนร้ายที่จู่ ๆ จะเที่ยวไปลักพาตัวเด็ก อันที่จริง การสอนให้ลูกระมัดระวังคนแปลกหน้าเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าคุณกรอกหูลูกแต่เรื่องร้าย ๆ มากเกินไปก็อาจทำให้เด็กมีปัญหาด้านการเข้าสังคม และอาจยิ่งเป็นภัยต่อตัวเด็กมากขึ้น
สอนลูก ปลอดภัยจากคนแปลกหน้า
ความเชื่อผิด ๆ 3 ข้อที่ผู้ปกครองชอบสอนเด็ก ๆ กัน
ความเชื่อข้อที่ 1: อย่าคุยกับคนแปลกหน้า
คนแปลกหน้ามีอยู่ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนบ้านที่เราไม่เคยทักทาย หรือคนที่กำลังซื้อของในห้าง คนขายกับข้าวหน้าปากซอย หรือแม้กระทั่งเด็ก ๆ ที่อยู่ห้องเดียวกับลูกคุณวันที่ไปโรงเรียนวันแรก การสอนลูกไม่ให้คุยกับคนแปลกหน้าจะทำให้เด็กไม่กล้าเข้าสังคม แต่ในความเป็นจริง ลูกคุณต้องพยายามเรียนรู้วิธีรับมือกับคนแปลกหน้าไปตลอดชีวิต
ความเชื่อข้อที่ 2: อย่าไปไหนคนเดียว
ส่วนหนึ่งของพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กคือการที่เขาได้ออกไปสำรวจโลกด้วยตัวเอง เมื่อถึงจุดหนึ่งลูกของคุณจะโตพอที่จะดูแลตัวเองได้ การห้ามไม่ให้ลูกออกไปไหนคนเดียวจะทำให้ลูกกล้าออกไปเผชิญโลกช้าลงและทำให้เกิดปัญหาเรื่องเด็กติดพ่อแม่
ความเชื่อข้อที่ 3: โจรผู้ร้ายมีอยู่ทุกที่
ข่าวที่สื่อต่าง ๆ นำเสนอเกี่ยวกับเด็กหายไม่ได้มีจุดประสงค์เพียงเพื่อที่จะตามหาเด็กเท่านั้น แต่ยังเป็นการขายความดราม่าเพื่อดึงดูดผู้ชมอีกด้วย ทางการก็มักพยายามตีข่าวให้ใหญ่และเยอะเพื่อให้คนกลัว ซึ่งเป็นวิธีลดเหตุที่ง่ายที่สุด
แต่คุณรู้หรือไม่ว่า เด็กมีโอกาสที่จะถูกคนใกล้ชิด ญาติ หรือเพื่อนของครอบครัวลักพาตัวมากกว่าคนแปลกหน้าเสียอีก
ปลอดภัยจากคนแปลกหน้า
เอาล่ะ เมื่อเรารู้แล้วว่ามีจุดไหนที่เราควรระวังเวลาสอนลูกแล้ว
เรามาดูข้ออื่นๆ ที่น่าสนใจกันต่อดีกว่า
เข้าใจธรรมชาติของ สิ่งที่เด็กรู้ และ สิ่งที่ควรจะรู้
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ จะพูดคุย สอนลูก ให้ ปลอดภัยจากคนแปลกหน้า ปัจจัยหนึ่งที่ควรคำนึงคือ 'อายุของลูก'
อย่างเช่น ในเด็กอนุบาล เขาอาจยังไม่รู้ว่า คนแปลกหน้า คืออะไร ไม่สามารถที่จะแยกได้ว่า คนไหนที่อยู่ด้วยแล้วปลอดภัย หรือ คนไหนที่อาจมาทำอันตราย ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ สามารถเริ่มปลูกฝังเรื่องความปลอดภัยเบื้องต้นกับลูกได้ แต่เขาอาจยังไม่พร้อม ที่จะลงรายละเอียดในการรับมือกับคนแปลกหน้า
ส่วนเด็กในวัยประถม ช่วงอายุ 5 - 8 ขวบ เขาอาจเริ่มได้ยินเรื่อง คนแปลกหน้า ที่อาจเป็นอันตราย บ้างแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม เขาอาจประเมินผู้ใหญ่ทุกคนที่ใจดี ว่า จะไม่ทำอันตราย
ซึ่งในเด็กช่วงวัยนี้ เริ่มที่จะไปโรงเรียน ไปสวนสาธารณะ ทำกิจกรรมต่าง ๆ ในระแวกบ้าน หรือ เข้าห้างสรรพสินค้า จึงมีโอกาสที่เขาจะอยู่ในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยคนแปลกหน้า นั้นจึงเป็นสาเหตุที่เด็ก ๆ ต้องเริ่มเรียนรู้ที่จะแยกแยะคนแปลกหน้าได้อย่างชัดเจนขึ้น
แล้วเราจะเริ่มคุยกับลูก ๆ ในเรื่องของ คนแปลกหน้า ได้อย่างไรบ้าง?
- ความปลอดภัยขั้นพื้นฐานของร่างกาย
ให้คุณพ่อคุณแม่ เริ่มพูดคุยกับลูกเกี่ยวกับความปลอดภัยขั้นพื้นฐานของร่างกายเรา ในกรณีที่ลูก เริ่มรู้เรื่องบ้างแล้ว อาจเริ่มสอนและสร้างความเข้าใจ เกี่ยวกับอวัยวะเพศ ว่า มันไม่โอเคที่จะให้คนอื่นๆ มาสัมผัสบริเวณนั้น
- พูดคุยเรื่อง ความหมายของ 'คนแปลกหน้า'
เด็กๆ ในช่วงวัย 4 ขวบ เริ่มจะตั้งคำถาม และ เริ่มสงสัยในสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ดี ที่จะชวนลูกคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่น อาจลองถามลูกว่า 'หนูรู้ไหมว่า คนแปลกหน้า คืออะไร?'
ถ้าลูก ๆ ไม่แน่ใจว่าคืออะไร ก็ขอให้อธิบายลูกอย่างชัดเจน แต่ควรระวังไม่พูดเกินจริง ใส่อารมณ์ ที่จะสร้างความหวาดกลัวเกินไปให้ลูก แค่บอกว่า 'คนแปลกหน้าคือ คนที่ลูกไม่รู้จัก พ่อแม่ไม่รู้จักเขา' ก็เพียงพอแล้ว
ปลอดภัยจากคนแปลกหน้า
- ยกตัวอย่างของผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้
ให้คุณพ่อ คุณแม่ ลองยกตัวอย่างของผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้ นอกจาก ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้าน ลุง ป้า น้า อา แล้ว เพื่อช่วยให้เด็ก ๆ เริ่มฝึกจำแนกผู้ใหญ่ได้ดีขึ้น เช่น คุณพ่อคุณแม่ของเพื่อนสนิทลูก คุณครูที่โรงเรียน หรือ ใช้เรื่องของลักษณะอาชีพมาช่วย เช่น เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย คุณหมอ พนักงานในห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร
- พูดคุยถึงสิ่งที่ควร และ ไม่ควรทำ
ลองอธิบายข้อตกลงบ้างอย่างสำหรับในการรับมือกับคนแปลกหน้าให้ลูกฟัง ด้วยวิธีที่ไม่ทำให้เขาหวาดกลัว เช่น ลองพูดเรื่อง 'สมมติ' ให้เขาได้ฟังสถานการณ์ต่าง ๆ และ วิธีการรับมือ เช่น "สมมติว่า ลูกไปห้างกับพ่อแม่ แล้วเกิดหลงทางกัน หาแม่ไม่เจอ ให้ลูกพยายามหา ที่จ่ายตังค์ แล้วบอกพี่พนักงานว่า หนูหลงทางกับพ่อแม่ บอกชื่อหนูกับพี่เค้าไว้ แล้วรออยู่ตรงนั้นอย่าไปไหนจนกว่าแม่กับพ่อจะตามมาเจอหนู"
ปลอดภัยจากคนแปลกหน้า
คำแนะนำเหล่านี้ หากคุณพ่อคุณแม่นำไปปรับใช้ ก็ขอให้ใจเย็นๆ พูดคุยกับลูกด้วยเหตุผล อย่าใช้อารมณ์ และ หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน เวลาลูกหลงทาง เมื่อเจอกันแล้วอย่าดุ ตี หรือ โมโหใส่เขา ขอให้ปลอบเขาดีๆ กอดเขา และลองมาคุยถึงแนวทางเวลาเกิดเหตุการณ์นั้น แล้วอย่าลืมพูดชื่นชมเขาหากลูกสามารถหาวิธีขอความช่วยเหลือจากคนอื่น ๆ ได้ นะคะ
แหล่งที่มาของบทความ
https://kidshealth.org
https://www.babycenter.com
https://www.parents.com
บทความอื่น ๆ ที่คุณอาจสนใจ
สอนลูกให้รู้จักเห็นใจผู้อื่น
ลูกขี้กลัว กลัวคนแปลกหน้า กลัวไปหมดทุกอย่าง พ่อแม่ต้องทำยังไง?
ลูกขี้อายแก้ไขได้อย่างไร ทำยังไงให้ลูกเข้าสังคมเก่ง ไม่เขินไม่อายเวลาคนเยอะๆ
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!