เป็นความจริงค่ะว่า “อาหาร” หรือแม้แต่ “ยาบางประเภท” สามารถส่งต่อผ่านทางน้ำนมของคุณแม่ไปยังลูกน้อยได้ จึงไม่แปลกที่แม่ให้นมบางคนเข้าใจผิด หรือเชื่อสิ่งที่ได้ยินมาแบบผิดๆ ว่า หากลูกน้อยวัยทารกเจ็บป่วย คุณแม่ก็สามารถกินยาแทนลูกได้ เพราะไม่ว่ายังไง…ลูกก็จะได้รับตัวยาผ่านทางน้ำนมอยู่แล้ว วิธีนี้ อย่าหาทำ! เชียวนะคะ แม่ให้นมคนไหนยังมีความสงสัยว่า ให้นมลูกกินยาแทนลูกได้ไหม ? ตามมาทำความเข้าใจไปพร้อมกันด่วนๆ ค่ะ
ให้นมลูกกินยาแทนลูกได้ไหม ? ความเชื่อจากความหวังดีแต่แฝงอันตราย
ความคิดหรือความเชื่อที่อาจบอกต่อๆ กันมาว่า การกินยาของคุณแม่ให้นมจะช่วยรักษาลูกน้อยที่กำลังป่วย อาจมาจากความปรารถนาที่จะบรรเทาความทุกข์ทรมานของลูกโดยไม่ต้องป้อนยาโดยตรง ซึ่งอาจเป็นเรื่องยากสำหรับเด็กเล็กๆ ซึ่งคุณแม่ให้นมหลายคนรักและสงสารลูก ไม่อยากให้ลูกกินยาเยอะ เลยขอกินแทนลูกเอง เพียงเพราะคิดว่ายังไงก็ให้นมลูกอยู่แล้ว ลูกรับยาผ่านทางน้ำนมแม่ก็ได้ อย่างไรก็ตาม กลไกการทำงานของยาในร่างกายแม่ และผลกระทบต่อลูกผ่านน้ำนมนั้นซับซ้อนและคาดเดาไม่ได้นะคะ บางเรื่องที่ได้ยินมาจึงควรใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบค่ะ
ให้นมลูกกินยาแทนลูกได้ไหม ?
ต่อให้รักและสงสารลูกน้อยวัยทารกมากแค่ไหน ก็อย่า! “กินยาแทนลูก” เด็ดขาดนะนะ ไม่แนะนำเลยค่ะ เพราะ “ยา” ไม่ได้สามารถผ่านไปทางน้ำนมแม่ได้ทุกชนิด มีตัวยาบางชนดเท่านั้นที่ผ่านไปได้ โดยเฉพาะ “ยาพาราเซตามอล” ลดไข้ ไม่สามารถส่งผ่านทางน้ำนมแม่ได้นะคะ ไม่ว่าแม่ให้นมจะกินยาไปมากเท่าไร คนที่ได้รับผลจากฤทธิ์ยาเต็มๆ ก็คือคุณแม่เองค่ะ ลูกไม่ได้รับการรักษาจากตัวยานี้เลย
ที่สำคัญคือ ยาตัวที่ส่งผ่านทางน้ำนมแม่ได้นั้น ส่วนใหญ่สามารถผ่านไปในปริมาณที่น้อยมากๆ ค่ะ ถือได้ว่าไม่มีฤทธิ์ทางการรักษาเลยใดๆ เลยด้วยซ้ำ และยิ่งไปกว่านั้นคือ ไม่สามารถระบุได้ด้วยว่าแต่ละรอบที่ทารกกินนมแม่นั้น จะได้รับปริมาณยาเข้าไปมากน้อยเท่าไร ดังนั้น แทนที่จะได้ประโยชน์ กลับกลายเป็นการก่อโทษต่อทั้งคุณแม่และลูกน้อย เพราะอาจได้อาการไม่พึงประสงค์ของยาแทนที่จะได้ฤทธิ์เพื่อรักษานั่นเองค่ะ

ทำไม? “กินยาแทนลูก” ถึงเป็นอันตราย
ให้นมลูกกินยาแทนลูกได้ไหม … ไม่ต้องสงสัยแล้วนะคะ เพราะ “ไม่ได้” “ไม่ควร” และ “ไม่แนะนำ” ค่ะ เนื่องจากเหตุผลที่อาจก่อให้เกิดอันตราย ดังต่อไปนี้
-
ปริมาณยาที่ไม่เหมาะสม
ปริมาณยาที่เหมาะสมสำหรับผู้ใหญ่และเด็กทารกนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงค่ะ การที่คุณแม่ให้นมกินยาแทนลูก โดยหวังว่าจะส่งผ่านไปยังลูกในปริมาณที่ถูกต้องนั้น “เป็นไปไม่ได้” และเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าลูกน้อยจะได้รับตัวยาในปริมาณเท่าไรผ่านทางน้ำนม ซึ่งอาจ น้อยเกินไปจนไม่สามารถรักษาอาการป่วย หรือ มากเกินไปจนเป็นอันตรายและเกิดผลข้างเคียง ต่อร่างกายที่ยังบอบบางของลูกค่ะ
-
ผลข้างเคียงที่ไม่คาดคิด
ยาแต่ละชนิดมีกลไกการออกฤทธิ์และผลข้างเคียงที่แตกต่างกัน แม้ว่ายาบางชนิดจะสามารถผ่านทางน้ำนมได้ในปริมาณที่น้อยและอาจไม่เป็นอันตรายต่อเด็กโต แต่สำหรับทารกแรกเกิดหรือเด็กเล็ก อวัยวะต่างๆ ยังพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้ เสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง จากตัวยาที่ได้รับผ่านน้ำนมแม่ค่ะ
-
การวินิจฉัยโรคที่ไม่ถูกต้อง
การที่ลูกน้อยป่วย จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องจากแพทย์ เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ตรงจุด การที่คุณแม่ “คาดเดา” อาการของลูกและกินยาเอง โดยหวังว่าจะส่งผ่านน้ำนมไปรักษาลูกได้ อาจเป็นการ รักษาที่ไม่ตรงกับโรคที่เป็น และอาจทำให้อาการแย่ลง หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายได้
-
การได้รับยาที่ไม่จำเป็น
ยาบางชนิดที่แม่กินอาจไม่จำเป็นสำหรับอาการป่วยของลูกน้อย การส่งผ่านยาที่ไม่จำเป็นเหล่านี้ไปยังลูก อาจเป็นการ เพิ่มภาระให้กับร่างกาย ของลูกโดยไม่สมควร
-
การพลาดโอกาสในการรักษาที่ถูกต้อง
การที่คุณแม่ให้นมพยายามรักษาลูกด้วยวิธี “กินยาแทน” อาจทำให้ เสียเวลาอันมีค่าในการพาลูกไปพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องตามหลักการแพทย์ อาจส่งผลเสียต่อการหายป่วยของลูกในที่สุด
สิ่งที่ แม่ให้นม “ควรทำ” เมื่อลูกป่วย
เมื่อลูกมีอาการป่วย สิ่งที่คุณแม่ควรทำไม่ใช่การมานั่งสงสัยว่า ให้นมลูกกินยาแทนลูกได้ไหม ? แต่ต้องทำสิ่งต่อไปนี้ค่ะ
- สังเกตอาการของลูกอย่างใกล้ชิด จดบันทึกอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่แพทย์
- พาลูกไปพบแพทย์ เพราะการวินิจฉัยโรคที่แม่นยำจากแพทย์เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการรักษาลูกน้อย
- ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ให้ลูกได้รับยาและวิธีการรักษาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
- ดูแลลูกน้อยด้วยความรักและความเอาใจใส่ ให้ลูกพักผ่อนอย่างเพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ และได้รับสารอาหารที่เหมาะสม
- ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับการใช้ยาของแม่ หากคุณแม่เองมีโรคประจำตัวหรือจำเป็นต้องใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถึงความปลอดภัยของยาต่อทารกที่ได้รับนมแม่

เทคนิค ป้อนยาลูกอย่างถูกวิธี หายป่วยไว ไม่งอแง
ถ้าลูกวัยทารกมีอาการป่วย สิ่งสำคัญคือต้องพาไปหาหมอนะคะ และต้องป้อนยาให้ตรงกับโรค อายุ น้ำหนักของลูกด้วย ซึ่งการป้อนยาเด็กเล็กที่ร่างกายยังเติบโตไม่เต็มที่ อาจต้องเพิ่มความระมัดระวังมากกว่าปกติ เพราะหากเกิดความผิดพลาด ผลเสียจะร้ายแรงกว่าที่เกิดกับผู้ใหญ่หลายเท่า และอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมกินยาแล้วลูกไม่หายป่วยสักที ดังนั้น จำเป็นต้องป้อนยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดนะคะ ซึ่งเทคนิคป้อนยาลูก ให้กินยาง่าย หายไว ไม่งอแง มีดังนี้
- ป้อนยาลูกด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม ทำเหมือนการกินยาเป็นเรื่องปกติ อย่าแสดงความเครียดหรือวิตกกังวลออกมา เพราะจะยิ่งทำให้ลูกหวาดกลัว และกินยายากขึ้น หรือไม่ยอมกินยาค่ะ
- กรณีลูกวัยแรกเกิด อาจใช้วิธีใส่ยาลงในจุกนมยางที่ลูกใช้ดูดนมเป็นประจำ โดยถอดจุกออกจากขวด แล้วใส่ยาในปริมาณที่ต้องการลงไป แล้วนำจุกนมไปใส่เข้าในปากลูก ลูกจะดูดตามสัญชาตญาณและกลืนยาเข้าไป เมื่อยาหมดให้เอาจุกออก เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกดูดลมจนท้องอืดหรือมีลมในกระเพาะ
- ลูกวัย 1 เดือนขึ้นไป สามารถใช้หลอดฉีดยาพลาสติก หรือ “ไซริงค์แบบไม่มีเข็ม” ช่วยป้อนยาได้ง่ายและแม่นยำมากขึ้นค่ะ เพราะจะมีขีดกำกับบอก โดยให้ฉีดยาไปบริเวณกระพุ้งแก้มของลูก อย่าฉีดลงคอโดยตรง เพราะจะทำให้ลูกสำลัก ที่สำคัญคือควรทำด้วยความมั่นใจ ใช้ความอดทน ไม่ขู่บังคับ เพราะลูกอาจจะร้องไห้ ขัดขืน หรืออาเจียนออกมาได้
- อย่าโกหกหรือขู่ลูก ในเด็กที่โตพอสื่อสารรู้เรื่องแล้ว อย่าโกหกลูกว่านะคะว่ายาอร่อย หวาน ถ้ายาไม่ได้หวานจริงอย่างที่บอก แต่ให้บอกลูกตามความจริงว่ากินยาแล้วจะช่วยให้ลูกดีขึ้น ช่วยให้หายป่วย ออกไปเล่นได้ ห้ามขู่ลูกว่าไม่กินยาแล้วผีจะหลอก ตำรวจจะมาจับ เพราะจะสร้างทัศนคติที่ไม่ได้ต่อการกินยาของลูกได้ค่ะ
- ชื่นชมลูก เมื่อป้อนยาลูกเสร็จ ด้วยการกอด หรือหอมแก้ม อาจชวนลูกเล่นของเล่นที่ชอบ หรือเล่านิทานเรื่องโปรดให้ฟังเป็นรางวัล

ป้อนยาลูกแบบไหน ถือว่า “ผิด”!!
- ผิดเวลา ยาแต่ละชนิดที่ต้องกำหนดเวลากินว่าก่อนอาหาร หลังอาหาร ก่อนนอน เพราะจะทำปฏิกิริยาในร่างกายต่างกัน จึงต้องกินตามที่หมอสั่งอย่างเคร่งครัด ดังนั้น หากลืมให้ลูกกินยาก่อนอาหาร อย่า! ให้กินหลังอาหารแทนนะคะ เพราะอาจมีผลกับฤทธิ์ยาได้
- กินยาซ้ำ หากลืมกินยา เช่น ยาก่อนอาหาร ให้ข้ามไปมื้อถัดไปเลยค่ะ แต่ถ้าเป็นยาหลังอาหาร ยังไม่เกิน 30 นาที ยังให้กินได้ แต่ถ้าเกินแล้วก็ควรรอมื้อถัดไปเช่นกัน
- ลูกอาเจียนแล้ว แต่ให้กินยาซ้ำ ถ้าลูกกินยาแล้วอาเจียนออกมาทันที สามารถให้ยาซ้ำได้ แต่ถ้าผ่านไปสักพักลูกถึงอาเจียน ไม่จำเป็นต้องให้ยาเพิ่มค่ะ เพราะตัวยาอาจดูดซึมเข้าร่างกายแล้ว
- ให้กินยาพร้อมนม ไม่ควรผสมยากับนมทั้งขวด เพื่อให้ลูกดูดยาจากขวดนม เพราะหากลูกกินไม่หมด จะทำให้ได้รับยาไม่ครบขนาด และยาหลายชนิดมีฤทธิ์ลดลงเมื่อทำปฏิกิริยากับโปรตีน หรือจับกับแคลเซียมในนม อีกทั้งยาจะทำให้นมมีรสเปลี่ยนไป ลูกอาจไม่ยอมกินนมอีกเลยก็ได้ค่ะ
- กินยาไม่ครบโดส ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) หรือยาฆ่าเชื้อ จำเป็นต้องกินให้ครบตามจำนวนที่แพทย์หรือเภสัชกรสั่งค่ะ แม้ลูกจะหายป่วยแล้วก็ตาม เพราะการกินยาไม่ครบอาจทำให้เชื้อโรคกลับมาใหม่ หรือมีอาการดื้อยา ทำให้การใช้ยาในครั้งต่อๆ ไปไม่ได้ผล
แม่ให้นม กินยาแทนลูก ไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง! นะคะ ความรักและความห่วงใยที่แท้จริงคือการดูแลลูกน้อยอย่างถูกวิธี พาไปพบแพทย์เมื่อเจ็บป่วย และปฏิบัติตามคำแนะนำทางการแพทย์อย่างเคร่งครัดดีที่สุด อย่าหลงไปกับความเชื่อผิดๆ ที่อาจนำมาซึ่งอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพของลูกน้อยเด็ดขาด จำไว้ว่า… สุขภาพของลูกน้อยอยู่ในมือของคุณแม่ การตัดสินใจที่ถูกต้องและปลอดภัยเท่านั้นที่จะปกป้องลูกได้นะคะ
ที่มา : เภสัชแม่ลูกอ่อน , คู่มือเลี้ยงลูกอย่างมีความสุข , www.gedgoodlife.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
นมสำหรับเด็กเป็น G6PD เลือกยังไง ปลอดภัยกับลูกที่มีภาวะพร่องเอนไซม์
แม่ลูกอ่อนกินโยเกิร์ตได้ไหม ? 10 ลิสต์อาหารที่เหมาะกับแม่หลังคลอด
ทำไม? อยู่ดีๆ ลูกไม่ยอมเข้าเต้า วิธีแก้ไขให้ลูกน้อย ยอมกลับมากินนมแม่
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!