ฝอยทอง ขนมไทยความหมายมงคล รสชาติหวานฉ่ำชื่นใจ ฝอยทอง ขนมไทยสุดโปรดของใครหลายคนที่ชอบความหวาน หาซื้อได้ง่าย รสชาติถูกปากสายหวานที่แท้ และสามารถดัดแปลงให้เข้ากับเมนูของหวานอื่น ๆ ได้ง่าย
ฝอยทอง คือ?
ขนมฝอยทอง มีวัตถุดิบหลักคือไข่แดง มีลักษณะเป็นเส้นฝอย ๆ ยาวๆ โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะทบฝอยทองจนเป็นแพ มีกรรมวิธีโดยการโรยให้เป็นเส้นลงไปในน้ำเชื่อมเดือดเพื่อให้ไข่แดงสุก และหอมหวาน ฝอยทองนั้นนิยมนำมาใช้งานในงานมงคลต่าง ๆ โดยเฉพาะงานแต่งงาน เพื่อสื่อความหมายถึงการครองรัก ครองเรือนที่ยืนยาวเหมือนกับเส้นของฝอยทองนั่นเอง นอกจากนี้ยังเหมือนเป็นการอวยพรให้อายุยืนด้วยเช่นกัน
บทความที่น่าสนใจ : 15 ขนมไทย น่าทาน รูปร่างสวยแปลกตา รสชาติอร่อย แต่คนไทยอาจจะไม่รู้จัก
ฝอยทอง มีต้นกำเนิดจากโปรตุเกส?
หลายคนคงจะเคยได้ยินที่มาของฝอยทองมาบ้างแล้วจากละครที่เป็นกระแสดังอย่าง “บุพเพสันนิวาส” ที่เป็นกระแสดังจนคนไทยหันมาใส่ชุดไทยไปเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ กันเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด โดยส่วนหนึ่งของละครได้มีฉากที่ ท้าวทองกีบม้า ได้ทำขนมจากไข่แดง หรือที่ปรากฏเป็นทองหยิบ ทองหยอด และฝอยทองนั่นเอง เราลองมาศึกษาเพิ่มกันอีกนิดว่าความจริงแล้วฝอยทองนั้นมาจากประเทศโปรตุเกสจริงหรือไม่กันดีกว่า
ฝอยทอง หรือในภาษาโปรตุเกสนั้นเรียกว่า fios de ovos เป็นขนมที่ได้รับต้นแบบมาจากเมืองอาไวโร่ (Aveiro) เมืองชายฝั่งทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศโปรตุเกส โดยมีลักษณะและกรรมวิธีทำเหมือนกับฝอยทองของไทยเรานี่เอง แต่ชาวเมืองโปรตุเกสนั้นไม่ได้ทานฝอยทองเป็นขนมหวานแบบบ้านเรา โดยเขามักจะทาน fios de ovos หรือฝอยทองกับอาหารมื้อหลักร่วมกับเนื้อสัตว์ และขนมปังนั่นเอง
โดยฝอยทองได้เข้าสู่ประเทศไทยในช่วงรัชสมัยของพระนารายณ์มหาราช ในสมัยอยุธยา ผู้ที่นำขนมฝอยทองมาเผยแพร่คือนาง ดอนญ่า มารี กีมาร์ เดอปิน่า หรือ ท้าวทองกีบมา ภรรยาของ เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ หรือคอนสแตนติน ฟอลคอน นั่นเอง เดิมท้าวทองกีบมาเป็นลูกครึ่งญี่ปุ่น-โปรตุเกส จึงทำให้มีความรู้ทางด้านของฝอยทองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และที่ทำให้ฝอยทองกลายมาเป็นที่รู้จักของคนไทยสืบเนื่องมาจาก ครั้งหนึ่งท้าวทองกีบมาได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าห้องเครื่องต้น จัดเตรียมอาหารทั้งคาว และหวาน เพื่อเลี้ยงต้อนรับคณะราชทูตที่มาจากประเทศฝรั่งเศสในครั้นสมัยที่มาเยือนประเทศไทย โดยท้าวทองกีบมาได้แสดงฝีมือ และสอนให้แม่ครัวชาวไทยได้รู้จักกับขนมที่ใช้ไข่มาเป็นวัตถุดิบ และการอบครั้งแรก เพราะในสมัยนั้น คนไทยนิยมทำของหวานด้วย กะทิ มะพร้าว แป้ง น้ำตาลนั่นเอง แต่ถึงอย่างไรก็ตามก็ยังมีข้อถกเถียงกันว่าฝอยทองนั้น แท้จริงแล้วท้าวทองกีบมาได้สูตร และวิธีการทำมาจากประเทศใดกันแน่ เพราะมีการคาดเดาว่านางได้รับการถ่ายทอดสูตรมาจากแม่ชาวญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังปรากฏขนมในลักษณะ และวิธีการทำใกล้เคียงกันที่ยังคงเหลือกันอยู่ในเกียวโต และคิวชูประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย แต่ถึงอย่างไรก็ตามข้อถกเถียงนั้นก็ได้ยุติลง เนื่องจากการรวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมาย ทำให้พบว่าแท้จริงแล้ว ในยุคสมัยที่ใกล้เคียงกันนั้น ชาวโปรตุเกสได้มีการติดต่อข้าขายกับประเทศญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก จึงเป็นเหตุทำให้แท้จริงแล้วต้นกำเนิดที่แท้จริงนั้นคงเป็นของชาวโปรตุเกสนั่นเอง
ไข่เป็ด หรือไข่ไก่ดีกว่ากัน?
อย่างที่ทราบกันเป็นอย่างดีว่า ฝอยทองนั้นทำมาจากไข่แดงของไข่ และไข่ของสัตว์ชนิดไหนกันหละที่ทำให้ฝอยทองของเรานั้นออกมาอย่างสมบูรณ์แบบ ไปดูคุณสมบัติของแต่ละไข่กันเลย
ไข่เป็ด
โดยส่วนมากเรานั้นไม่ค่อยนิยมใช้กันมากนักในชีวิตประจำวันด้วยความที่หายาก และมักจะถูกนำไปทำไข่เค็ม ไข่เยี่ยวม้า หรือไข่ที่ต้องใช้เวลาในการหมักดองเสียมากกว่า เนื่องจากเปลือกของไข่เป็ดมีรูพรุนเป็นจำนวนมาก จึงสามารถดูดซึมสารอาหารได้มากกว่านั่นเอง อีกทั้งไข่แดงของไข่เป็ดยังมีสัดส่วนที่เยอะกว่าไข่ขาวอีกด้วย ถึงทำให้มีปริมาณไขมันที่มากกว่าไข่ไก่ และนิยมใช้ในการทำขนมมากกว่า
ไข่ไก่
เรามักพบไข่ไก่กันได้ตามท้องตลาดทั่วไป หรือหาซื้อได้ง่าย ๆ ตามร้านสะดวกซื้อ โดยเปลือกของไข่ไก่นั้นมีรูพรุนที่น้อยกว่าไข่เป็ด และสัดส่วนของไข่แดงมีน้อยกว่าไข่ขาว นอกจากนี้ยังมีปริมาณไขมันที่น้อยกว่าไข่เป็ดอีกด้วย ดังนั้นไข่ไก่จึงนิยมทานกันมากในหมู่ผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักนั่นเอง
บทความที่น่าสนใจ : ไข่ต้มเมนูง่ายๆ ชวนสวยประโยชน์ครบ เมนูไข่ ใส่ใจคนในบ้าน
วิธีทำฝอยทอง
ส่วนใหญ่แล้ววิธีกี่ทำฝอยทองของแต่ละคนคงไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ที่มักจะปราบเซียนก็คือการทำให้ฝอยทองเป็นเส้นยาวไม่ขาดนี่แหละยากที่สุด เพราะแต่ละคนก็จะมีกรรมวิธีที่แตกต่างกันออกไป วันนี้เราจะมาบอกสูตรทำฝอยทองที่ใช้ทั้งไข่เป็ดและไข่ไก่กัน
อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม
- กระทะทองเหลือง
- กรวยใบตอง หรือกรวยโลหะ หากใครหาไม่ได้ก็สามารถใช้ถุงและตัดก้นได้
- ไม้แหลมยาว หรือตะเกียบ
- ตะแกรง
- ถาดรองเพื่อรองน้ำเชื่อม
- ผ้าขาวบาง
ส่วนผสมของฝอยทอง
- ไข่เป็ด 6 ฟอง
- ไข่ไก่ 3 ฟอง
- น้ำตาลทรายขาว 1 กิโลกรัม
- น้ำเปล่า หรือน้ำลอยดอกมะลิ 1 ลิตร
- ใบเตย 3-4 ใบ
วิธีการทำ
- เริ่มด้วยการนำกระทะตั้งบนเตา เพื่อทำในส่วนของน้ำเชื่อมก่อน ใส่น้ำตาลและน้ำเปล่าลงไป อัตรา 1 ต่อ 1 โดยใช้ไฟกลาง ค่อย ๆ เคี่ยวจนน้ำตาลละลายเข้ากับน้ำ และใส่ใบเตยลงไป (มัดใบเตยให้เป็นปมก่อนใส่ลงไป) และเคี่ยวต่อด้วยไฟอ่อนอีกครั้งจนน้ำเชื่อมเริ่มเหนียว
- แยกไข่แดงออกจากไข่ขาว ทั้งไข่เป็ดและไข่ไก่ ตีให้เข้ากัน (พยายามอย่าให้เกิดฟอง) หลังจากคนเข้ากันเป็นที่เรียบร้อยแล้วให้นำไข่ไปกรองที่ผ้าขาวบาง
- ตักไข่แดงที่กรองใส่กรวยที่เตรียมไว้ และค่อย ๆ โรยไข่แดงลงในน้ำเชื่อมที่กำลังเดือด วนให้รอบกระทะจนเต็ม และก็ยกกรวยออก
- รอจนไข่แดงสุก หรือคอยสังเกตว่าไข่แดงเริ่มจับตัวกันเป็นเส้นแล้วก็ใช้ไม้แหลม หรือตะเกียบเกี่ยวและพับฝอยทองพักไว้บนตะแกรง (อย่าลืมนำถามมารองใต้ตะแกรง เนื่องจากน้ำเชื่อมจากฝอยทองจะหยดลงมาระหว่างพัก)
- รอจนฝอยทองเย็นตัวแล้วก็ทานได้เลย หรือใครชอบที่นำฝอยทองไปทานกับอาหารชนิดอื่นก็ตามสบายเลยค่ะ
ที่มา : silpa-mag, museumthailand, kapook, ginnginn
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!