ลูกน้อยมีพัฒนาการที่แตกต่างจากเด็กคนอื่น รวมไปถึงเวลาในการนอนที่ต้องการในแต่ละคนด้วย ในช่วงที่เริ่มโตขึ้นประมาณ 3 ปีขึ้นไป อาจพบว่าลูกน้อยมีความต้องการนอนน้อยลง การทำเป็นแกล้งหลับที่โรงเรียนจึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ผู้ปกครองจึงต้องสังเกตว่ามีสัญญาณใดบ้างที่กำลังบ่งบอกว่าลูกน้อยควร “เลิกนอนกลางวัน”
การนอนกลางวันของเด็ก ควรนอนกี่ชั่วโมง ?
จากข้อมูลของ น.พ.บุญรัตน์ ภัทรากุลพิเชษฐ์ กุมารแพทย์ ได้กล่าวถึงการนอนพักผ่อนของเด็กเล็กจนถึงช่วงอนุบาลเอาไว้ว่า เด็กอายุประมาณ 3 ปี หรือช่วงอนุบาล 1 ควรนอนกลางวันประมาณ 1 ชั่วโมง และเวลานอนรวมควรอยู่ที่ 12 ชั่วโมง / วัน ในส่วนของเด็กอายุ 3 – 6 ปี หรืออนุบาล 2 หรือ อนุบาล 3 เวลานอนจะลดลงเหลือ 8 – 12 ชั่วโมง / วัน จึงทำให้เด็กในช่วงอายุนี้บางคนไม่แสดงความต้องการที่จะนอนกลางวัน เนื่องจากเป็นไปตามพัฒนาการของร่างกายนั่นเอง
เด็กเล็กนอนกลางวันยาก นอนไม่ค่อยหลับต้องทำอย่างไร ?
เด็กเล็กจนถึงช่วง 4 ขวบ หรือวัยอนุบาล หากยังจำเป็นที่จะต้องนอนกลางวัน แต่ไม่สามารถนอนหลับได้ หรือนอนหลับได้ยาก ไม่ยอมนอน ซึ่งสามารถส่งผลต่อพัฒนาการของลูก และสภาพร่างกายได้ หากลูกมีอาการเหนื่อยล้า หรือต้องการนอนเร็วช่วงกลางคืน ผู้ปกครองมีความจำเป็นต้องแก้ไข เพื่อให้ลูกน้อยหลับสบายได้ ด้วยวิธีต่อไปนี้
- สร้างบรรยากาศการนอนให้ดี เช่น ปิดม่านให้มีแสงน้อย, เปิดเพลงที่ช่วยให้ผ่อนคลาย หรือเปิดนิทานให้ฟัง
- ให้เด็กที่นอนหลับยาก หรือไม่มีความต้องการนอน อยู่ใกล้กับคุณครูที่โรงเรียน หรืออยู่ใกล้ผู้ปกครองหากอยู่บ้าน เพื่อให้เด็กที่นอนหลับง่าย มีความต้องการนอนได้นอนก่อน และหลับสบาย จากนั้นหากิจกรรมเงียบ ๆ ให้เด็กที่ไม่ต้องการนอนทำ เพื่อป้องกันเสียงรบกวน
- ให้ลูกทำกิจกรรมอย่างเหมาะสม หรือเพิ่มกิจกรรมมากขึ้น เพื่อให้เด็กได้ใช้พลังงานที่มีอยู่มากขึ้น เมื่อใช้พลังงานมากจะทำให้เด็กต้องการนอนหลับในตอนกลางวัน
- เด็กบางคนอาจมีตุ๊กตาตัวโปรด บางครั้งอาจนำมาให้เด็กในช่วงเวลานอน สามารถช่วยให้เด็กเล็กหลับกลางวันได้ง่ายขึ้นเช่นกัน แต่ก็ไม่ควรให้นอนกอดตุ๊กตาตัวนั้นตลอด เพราะสุขอนามัยการนอนที่ดี เด็กควรนอนได้ แม้จะไม่มีตุ๊กตาตัวโปรด ภายหลังจึงควรค่อย ๆ แยกเด็กให้นอนได้เองด้วย
วิดีโอจาก : พี่กัลนมแม่ Pekannommae mother and child care
ลูกควรนอนกลางวันจนถึงกี่ขวบ ?
โดยปกติแล้ว ควรให้ลูกนอนกลางวันไปจนกว่าจะถึงช่วง 4 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงอนุบาล จากนั้นลูกจะได้นอนอีกที่โรงเรียนตามความเหมาะสม ดังนั้นเด็กสามารถนอนกลางวันไปอย่างต่ำจนถึงช่วงอายุประมาณ 4 ขวบ และยังนอนต่อไปได้ หากร่างกายของเด็กส่งสัญญาณว่าต้องการนอน หรือต้องการพักผ่อน ซึ่งเป็นเรื่องปกติของเด็กในช่วงวัยนี้ และเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ควรพยายามให้ลูก เลิกนอนกลางวัน เมื่อยังไม่พร้อม สัญญาณที่บ่งบอกว่าลูกสามารถหยุดนอนกลางวันได้ ให้สังเกตดังต่อไปนี้
- นอนหลับกลางวันได้ยาก : หากลูกนอนกลางวันได้ยาก นอนไม่หลับ หรือรู้สึกไม่ต้องการนอน คือ สัญญาณว่าสามารถหยุดนอนช่วงกลางวัน แต่หากยังนอนอยู่อย่างน้อย 1 ชั่วโมงขึ้นไป แสดงว่ายังไม่สามารถหยุดได้
- ส่งผลต่อการนอนกลางคืน : หากลูกนอนกลางวันแล้วทำให้นอนในช่วงกลางคืนได้ลำบากเกินไป เช่น นอนไม่หลับ, นอนไม่ได้ หรือนอนกลางคืน แต่ตื่นเช้ามากเกินไป
- อดนอนกลางวันแต่ไม่ส่งผล : หากเด็กอดนอนกลางวัน หรือไม่ได้นอนกลางวัน แต่ไม่ได้ส่งผลใด ๆ ต่อการนอนช่วงกลางคืน เช่น นอนกลางคืนในเวลาปกติ ไม่ง่วงก่อนเวลา และตื่นนอนตามปกติ ไม่สายเกินไปนั่นเอง
- ระหว่างวันไม่แสดงความต้องการนอน : เด็กเล็กมักมีภาษากายที่บ่งบอกว่ามีความเหนื่อยล้า อยากนอนพักผ่อนระหว่างวัน เช่น นั่งขยี้ตา, หาว หรืออยู่ไม่นิ่งงอแง เป็นต้น หากไม่มีอาการเหล่านี้ก็สามารถหยุดนอนกลางวันได้เช่นกัน
- แข็งแรง ไม่เจ็บไม่ป่วย : หากลูกมีร่างกายแข็งแรง พัฒนาการเป็นปกติ เรียนรู้ได้ดี ไม่เจ็บไม่ป่วย ดูไม่มีอะไรผิดปกติ ทั้งร่างกาย และจิตใจ หมายความว่าลูกไม่จำเป็นต้องนอนกลางวันอีกต่อไป
ด้วยเหตุนี้เด็กเล็กช่วงอนุบาลหลายคน จึงไม่อยากนอน หรือแกล้งหลับเมื่อครูเดินผ่าน ผู้ปกครองควรถามลูกว่าได้นอนกลางวันไหม หากลูกไม่ได้นอน และไม่ได้ส่งผลใด ๆ ต่อลูกเลย แสดงว่าลูกอยู่ในช่วงที่ไม่ต้องการนอนกลางวัน อย่างไรก็ตามหากอายุยังไม่ถึงขั้นต่ำ 4 ขวบ ก็ไม่ควรห้ามให้ลูกนอนด้วยเช่นกัน
บทความที่เกี่ยวข้อง : ความสำคัญในการนอนของเด็ก มีอะไรบ้าง ทำยังไงให้ลูกหลับสบายหายห่วง
ลูกโตเข้าวัยประถมแต่หยุดนอนกลางวันไม่ได้ ควรทำอย่างไร ?
- การพักผ่อนสำหรับเด็ก ไม่ใช่แค่การนอน การหยุดใช้พลังงานอย่างหนักต่างหากคือคำตอบ หรือการหยุดนิ่งทำสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ แทน ถือเป็นการพักผ่อนแทนลูกที่กำลังปรับตัว เพื่อเลิกนอนกลางวันได้ เช่น นั่งวาดภาพระบายสี, ดูการ์ตูน หรือฟังเพลง เป็นต้น
- อย่าบังคับลูกจนเกินไป ในช่วงปรับตัวไม่สามารถทำได้ใน 1 – 2 วัน ให้เวลาลูกมากขึ้น อาจให้ลูกได้มีโอกาสได้นอนกลางวันบ้าง แล้วค่อย ๆ ลดลงจนลูกเริ่มปรับตัวได้ โดยอาจใช้เวลาหลายสัปดาห์จนถึงหลายเดือน
- หากพบว่าลูกมีอาการเหนื่อยล้า ระหว่างปรับตัวเพื่อหยุดนอนกลางวัน สามารถเลื่อนเวลานอนในช่วงกลางคืนให้เร็วขึ้นได้เช่นกัน การทำแบบนี้ยังเป็นข้อดี เพราะเป็นการฝึกให้ลูกนอนแต่หัวค่ำ ซึ่งดีต่อสุขภาพของลูกเอง
หากเทคนิคเหล่านี้ยังไม่สามารถช่วยได้ อาจปรึกษากับแพทย์เพื่อรับแนวทางเพิ่มเติม ไม่ควรปล่อยให้ลูกนอนกลางวันเรื่อย ๆ แม้จะโตเกินวัยแล้ว เพราะจะส่งผลต่อสุขภาพ และพัฒนาการของลูกได้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
6 วิธีปราบเด็กไม่ยอมนอน เด็กดื้อไม่ยอมนอนต้องลองมาเจอแบบนี้ดูบ้าง
ลูกนอนสลับเวลา นอน ตอนกลางวัน ตื่นมาเล่นตอนกลางคืน แก้ไขอย่างไรดี
การนอนกลางวันช่วยพัฒนาความจำของเด็ก
ที่มาข้อมูล : Story Rakluke Pobpad
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!